สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน รัฐ-ราษฎร์ วิน-วิน ลดเสียงต่อต้าน

จากประชาชาติธุรกิจ

 

โครงการขนาดใหญ่ทุกยุค-ทุกสมัย มักถูกต่อต้านจากประชาชนทั้งในพื้นที่-นอกพื้นที่ หรือ กลุ่มเอ็นจีโอจนหลายรัฐบาลต้องพับโครงการเก็บใส่ลิ้นชัก ไม่มีข้อยกเว้นแม้กระทั่งรัฐบาลรัฏฐาธิปัตย์-คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ในวันที่รัฐบาล-หน่วยงานภาครัฐยังหัวหมุน-หาทางออกในการขึ้นโครงเมกะโปรเจ็กต์ โดยการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น-ทำความเข้าใจประชาชนในพื้นที่ มูลนิธิปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ พาไปเปิดหู-เปิดตา รับฟังเสียง-ใจของประชาชน

นายชูชาติ ฉุยกลม ที่ปรึกษาโครงการพัฒนาตามพระราชดำริ กรมกิจการในพระบรมวงศานุวงศ์ สำนักพระราชวัง-นายช่างใหญ่ หัวหน้าคุมงานการก่อสร้างเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ถอดประสบการณ์ออกมาเป็นบทเรียนเป็นฉาก ๆ

โครงการก่อสร้างเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน-โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดพิษณุโลก เมื่อปี 2525 เริ่มก่อสร้างปี 2546 แล้วเสร็จเมื่อปี 2554 ก่อนมหาอุทกภัยปี 2554 งบประมาณ 8,881 ล้านบาท

วัตถุประสงค์หลักการก่อสร้างเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน คือ การชลประทาน-เพาะปลูกในฤดูแล้ง 32155,166 ไร่ และช่วยรับมวลน้ำกว่า 939 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ ร้อยละ 65 จาก 1,400 ล้าน ลบ.ม.ก่อนไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัย

การเริ่มโครงการเรื่องใหญ่ที่สุด คือ เรื่องที่ดินเพราะต้องใช้ที่ดินถึง 38,000 ไร่ โดยเฉพาะที่ดินชาวบ้านที่มีเอกสารสิทธิ-ชาวบ้านไม่ยอม

อย่างไรก็ตามที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิกลับสร้างปัญหาให้ “นายช่างใหญ่” มากกว่าที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ เพราะเป็นพื้นที่ที่ทุกคนต่างแสวงหาผลประโยชน์

“แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าพื้นที่ตรงไหนทำประโยชน์หรือไม่ทำประโยชน์ พื้นที่ทำประโยชน์เป็นสิ่งที่มนุษย์ทำขึ้นต้อง 1.เป็นรูปทรงเรขาคณิต 2.ต้นไม้ที่มนุษย์ปลูกต้องเป็นแถว ถึงแม้ไม่เป็นแถว แต่สีจากภาพถ่ายทางอากาศจะสามารถบอกได้-เป็นสีเดียวกัน”

สุดท้ายถ้าไม่มั่นใจให้เข้าไปดูในพื้นที่…แต่เมื่อเข้าไปชาวบ้านไปถางพื้นที่-ปลูกต้นละหุงในพื้นที่ดักทางไว้ล่วงหน้าแล้ว อย่างไรก็ตามเมื่อนำมาเทียบกับแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศแล้วเป็นพื้นที่ป่าที่ชาวบ้านมาทำประโยชน์ภายหลัง

จากประสบการณ์ดังกล่าว “นายช่างใหญ่” ให้มุมมองต่อรัฐบาลในการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ ว่า ถึงแม้หลายคนจะบอกว่า การแก้ปัญหา คือ การสร้างความเข้าใจ แต่จากประสบการณ์ เขาเชื่อว่า ไม่สามารถทำให้ทุกคนเห็นตรงกันได้ทั้งหมด

เนื่องจากเป็นเรื่องของการได้ประโยชน์-เสียประโยชน์เพราะการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่เสียพื้นที่มาก ทั้งของชาวบ้าน-สิ่งแวดล้อม ฉะนั้นต้องชั่งน้ำหนักระหว่างได้กับเสีย เพราะคนเสียไม่ได้ประโยชน์ คนได้ประโยชน์ไม่ได้เสีย

ที่ปรึกษาโครงการพัฒนาตามพระราชดำริ บอกว่า ในแง่ของคน ชาวบ้านบริเวณที่ก่อสร้างอ่างเสียประโยชน์-ไม่ได้อะไรเลย คนข้างล่างในเมือง น้ำก็มี ที่ดินก็เพิ่มขึ้น จึงต้องเกิดการ “ชดเชย” ชดเชยให้ชาวบ้านเห็นว่า สิ่งที่เขาเสียไปได้รับการตอบแทนที่คุ้มค่า

แต่ตอนนี้การชดเชยของภาครัฐ ชดเชยภายใต้หลักเกณฑ์ที่ “ต่ำมาก”…อย่าลืมว่า แต่ถ้าเราชดเชยให้ต่ำเขาก็ต้านแน่นอน

สำหรับในแง่ของสิ่งแวดล้อมก็ต้องทำความเข้าใจ-ชดเชยในสิ่งที่สามารถทดแทนได้ ไม่เช่นนั้นจะทำอะไรไม่ได้เลย

“เหมือนกับเขื่อนแม่วงก์ ตอนนั้นการก่อสร้างที่วางไว้ยังเป็นป่าอยู่ เขาก็ค้านกัน พอค้านไปเรื่อย ๆ คนก็บุกเข้าไป จนเดี๋ยวนี้เป็นบ้านหมดแล้ว ไม่ได้อะไรเลยสักอย่าง ค้านก็ไม่ได้ แล้วจะมาไล่คนออก จะไล่ออกยังไง ถ้าจะไล่ออกก็ต้องให้ผลตอบแทนที่เขาพอใจ”

จึงขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะยอมที่จะชดเชยให้เขาสูง ๆ หรือไม่

“ชูชาติ”-นายช่างใหญ่ ถอดบทเรียนครั้งคุมงาน-คุมคนเพื่อผลักดันโครงการการก่อสร้างเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ว่า รัฐบาลไม่กล้าจ่ายชดเชยให้จำนวนมากเพราะเกรงว่าจะไม่สามารถควบคุมการทุจริตได้

“ไม่ได้พอใจ รู้สึกอึดอัดกับการคิดคำนวณค่าชดเชยเพื่อให้ชาวบ้านพอใจ พยายามหาค่าชดเชยพิเศษ เพื่อทดแทนการอพยพอย่างเหมาะสมเพื่อให้ชาวบ้านได้สิ่งที่ดีที่สุด”

เขายืนยันว่า ค่าชดเชยที่จ่ายไปเกือบ 700 ล้านบาท ได้ป้องกันการรั่วไหลไว้อย่างรัดกุม ไม่เป็นช่องทางให้เกิดการแสวงหาผลประโยชน์ได้

“ผมไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง ทำให้ชาวบ้าน เอาค่าลงทุนในแปลงอพยพ ทั้งโรงเรียน บ้าน อนามัย ชุมชน ถนน ผมเอามาคิดให้ชาวบ้านหมดเลย เป็นตัวเงินหมด ถ้าเขาไม่ไปสร้างหมู่บ้านตรงที่จะสร้างเขื่อน เขาต้องได้เงินเท่าไร เพื่อให้เขาได้สิ่งที่ดีที่สุด ถ้าให้แพงแล้วเกิดประโยชน์กับชาวบ้านโดยตรงไม่เป็นไร”

การคำนวณ-ชดเชยเป็นตัวเงินในแปลงอพยพจึงเป็นทริกที่ทำให้การก่อสร้างเขื่อนแควน้อยบำรุงแดนลุล่วง-ประสบความสำเร็จได้ เพราะเป็นการสร้างแรงจูงใจ-ลดการต่อต้านลงไปส่วนหนึ่ง สำหรับคนที่ต่อต้านชนิดหัวชนฝา ก็จะมีไม่มากและจะลดลงไปเรื่อย ๆ

“เหมือนกับตอนนี้ การจะทำโครงการขนาดใหญ่ สู้กันสองทาง ทางที่ 1 สู้กับประชาชน สู้กับผลตอบแทนที่เราจะให้ ทางที่ 2 สู้กับสิ่งแวดล้อม ประชาชนที่ไม่พอใจและคิดว่าถูกรังแก จนกระโจนเข้าไปต่อต้านเรื่องสิ่งแวดล้อม”

ความคิดที่ตกผลึกมาจากการสร้างเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน คือ หากมองเป็นปัญหาใหญ่-มหึมาจะทำอะไรไม่ได้เลย ฉะนั้นต้องดึงปัญหาออกมาทีละส่วน แก้ปัญหาไปทีละปัญหาเพราะงานก่อสร้างถ้ามองทุกอย่างเป็นปัญหาทั้งหมดจะทำอะไรไม่สำเร็จ

“ทุกคนค้านหมด แต่ท่ามกลางคนค้านยังมีคนที่ก้ำกึ่ง-คนที่ต้องการ จึงต้องแยกออกมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งส่วนที่เห็นด้วย-ก้ำกึ่งเห็นด้วย ส่วนคนที่ไม่เห็นด้วยจริง ๆ ก็ต้องแก้ปัญหาไป”

เพราะสุดท้ายปลายทางต้อง วิน-วิน ทั้งสองฝ่าย ทั้งรัฐ-ราษฎร์ จนไม่เกิดการต่อต้านอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

 

 


eosgear,#สวนศิริผล,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน รัฐ-ราษฎร์ วิน-วิน ลดเสียงต่อต้าน

view