สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ตลาดกลางข้าวสาร เกิดหรือล่ม

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ แตกประเด็น

กลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์สำหรับจุดประกายจัดตั้ง “ตลาดกลางข้าวสาร” เป็นไอเดียที่เกิดขึ้นระหว่างที่นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นำคณะเยือนจีนเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2559 ซึ่งได้มีโอกาสเยี่ยมชมตลาดกลางข้าวสาร ซึ่งรัฐบาลจีนให้การสนับสนุนที่ดิน และให้ภาคเอกชนเป็นผู้ดำเนินการ 100% ทั้งยังวางระบบการขนส่งเชื่อมโยง ทั้งระบบรถไฟ รถยนต์ สร้างความสะดวกต่อผู้ซื้อ ช่วยให้สามารถกระจายสินค้าไปยังพื้นที่ใกล้เคียงได้

เดิมประเทศไทยไม่เคยมีตลาดกลางข้าวสารมาก่อน แต่เคยมี “ตลาดนัดข้าวเปลือก” ซึ่งจัดขึ้นปีละครั้งในช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปี เป็นเวทีที่เปิดให้ผู้ซื้อสามารถเลือกซื้อข้าวเปลือกจากโรงสี และเกษตรกรนำออกมาขาย เมื่อถูกใจจะเจรจาต่อรองซื้อขายได้ทันที ตลาดนัดข้าวเปลือกที่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง คือ ท่าข้าวกำนันทรง จ.นครสวรรค์ เป็นแหล่งที่นิยมมาซื้อ-ขาย เพราะมีระบบขนส่ง การกระจายข้าวได้ง่าย ซึ่งดำเนินการลักษณะนี้เรื่อยมา แต่ภายหลังระบบการซื้อขายข้าวเปลี่ยนไป ตลาดนี้ซบเซาลง

ถึงสมัย นางพรทิวา นาคาศัย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ปัดฝุ่นแนวคิดจัดตั้ง “ตลาดกลางค้าข้าวอาเซียน” โดยปรับรูปแบบการซื้อขายในท่าข้าวกำนันทรง มาเป็นประมูล เพื่อให้ผู้ซื้อ-ผู้ขายมีโอกาสพบปะกันโดยไม่ผ่านคนกลาง แต่ยังไปไม่ถึงไหนเกิดปัญหาสัญญาขายข้าวรัฐบาลต่อรัฐบาล (จีทูจี) ระหว่างไทยกับจีนขึ้น ตามด้วยปัญหากับโครงการรับจำนำข้าว โครงการจึงเลือนหายไป

กระทั่งนางอภิรดีเข้ามารับตำแหน่ง และมอบหมายให้กรมการค้าภายใน ซึ่งขณะนั้น นางนันทวัลย์ ศกุลตนาค เป็นอธิบดีก่อนที่จะรับตำแหน่งปลัดกระทรวงพาณิชย์ ประกาศหลักเกณฑ์คัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติ เพื่อเปิดรับสมัครผู้สนใจทำตลาดกลางข้าวสาร “แห่งแรก” ในประเทศไทย โดยมีเงื่อนไขว่าผู้ประกอบการจะต้องลงทุนเองทั้งหมด รัฐบาลจะเข้าไปสนับสนุนช่วยด้านการทำประชาสัมพันธ์ การทำตลาด และเริ่มประกาศรับสมัครตั้งแต่เดือนมิถุนายนจนถึงวันที่ 12 กรกฎาคม 2560 มีผู้สมัคร 3 ราย บริษัท ไทย แอ็กโกร เอ็กซเชนจ์ หรือตลาดไท, บริษัท ตะวันนา ไนท์บาซาร์ จำกัด หรือตลาดตะวันนา ในกลุ่มเดียวกับบริษัท TCC Land Asset World หรือตลาดต่อยอด ของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี และบริษัท บูรณากาญจน์ จำกัด หรือท่าข้าวเขาใหญ่

หลังจากแสดงวิสัยทัศน์รอบแรกคัดเลือกเหลือเพียง 2 ราย คือ ตลาดไท และตลาดต่อยอด จากนั้นคณะกรรมการให้ 2 ตลาดแสดงวิสัยทัศน์อีกครั้ง แต่ผลการพิจารณาเป็นไปอย่างยืดเยื้อหลายเดือน กระทั่ง “นางอภิรดี” ได้แถลงข่าวเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560 ก่อนอำลาตำแหน่งว่าได้คัดเลือกผู้ชนะทั้ง 2 ตลาด

โดยให้เหตุผลว่า ทั้ง 2 ตลาดมีคุณสมบัติที่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ในการคัดเลือก โดย “ตลาดไท” มีเครือข่ายที่เป็นซัพพลายเออร์ในประเทศจำนวนมาก ขณะที่ “ตลาดต่อยอด” เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการทำตลาดต่างประเทศ หากได้ทั้งสองตลาดมาร่วมจะช่วยสร้างกลไกการแข่งขัน ถ่วงดุลอำนาจระหว่างชาวนา และโรงสี ซึ่งมีหลักพันโรง ที่มักจะถูกผู้ส่งออก ซึ่งมีเพียงหลักร้อยรายครอบงำตลาด

ทำให้ผู้ส่งออกค้านหัวชนฝาว่าตลาดนี้ “ไม่เวิร์ก” ไทยไม่มีความสามารถทำอย่างจีนได้ เพราะไม่มีระบบโลจิสติกส์เหมือนจีน และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้พ่อค้าไม่เดินตลาดแล้ว

แต่หลังจากผลพิจารณาออกมา เริ่มมีสัญญาณว่าแต่ละรายต่างไม่พอใจ เตรียมจะอุทธรณ์ ทางกรมการค้าภายในจึงพยายามให้ 2 ตลาด เข้ามาบันทึกความเข้าใจร่วมกัน เพื่อให้เดินหน้าโครงการต่อไปได้

แต่จังหวะนั้นมีการปรับคณะรัฐมนตรี “ประยุทธ์ 5” เสียก่อน นางอภิรดีจึงต้องส่งไม้ต่อให้กับนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์คนใหม่พิจารณาสานต่อโครงการนี้

เป็นที่น่าสนใจมากว่า งานนี้ “ตลาดกลาง” จะเกิดหรือล่ม ! หรือไม่…เพราะในสมัยนายสนธิรัตน์ เป็น รมช.พาณิชย์ เห็นว่าการสร้างเครือข่ายตลาดและร้านค้าปลีกชุมชน เป็นประเด็นที่ควรผลักดันมากกว่าการสร้างสิ่งปลูกสร้างหรือตลาด แต่เชื่อมั่นว่า หากโครงการนี้ให้ประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างแท้จริง คงจะต้องมีการเดินหน้าต่อไป เพื่อให้เป็นไปตามแผนที่จะเห็นตลาดในปี 2561


#eosgear,#ถุงมือกันบาด,#อะไหล่ victorinox,#victorinox มือสอง,#cutting resistance glove,ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : ตลาดกลางข้าวสาร เกิดหรือล่มจากประชาชาติธุรกิจ #eosgear , #ถุงมือกันบาด , #อะไหล่ victorinox , #victorinox มือสอง , #cutting resistance glove , ไร่รักษ์ไม้ , สวนศิริผล , อุปกรณ์แค้มปิง , อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย , เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

view