สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ราคา มะพร้าว พุ่ง4ปีติด จ่อขึ้นแท่นพืชเศรษฐกิจ

จากประชาชาติธุรกิจ

ราคามะพร้าวดีต่อเนื่อง เกษตรกรหันมาปลูกเพิ่มปีละ 20% รวมกว่า 1 ล้านไร่ นายกสมาคมสวนมะพร้าวไทยเผยไทยรั้งปลูกมะพร้าวอันดับ 6 ของโลก ส่งออกตีตลาดจีน ยุโรป อเมริกา ชี้ผู้บริโภคมั่นใจผลผลิตมะพร้าวน้ำหอม-กะทิจากไทย คาดปี 2561 เติบโตต่อเนื่อง ตลาดต้องการสูง เชื่ออีก 5 ปี มะพร้าวขึ้นแท่นพืชเศรษฐกิจแทนที่สวนยาง-ปาล์ม

นายวนิชย์ ปักษ์กิ่งเมือง นายกสมาคมสวนมะพร้าวไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นับตั้งแต่ปี 2556 ราคามะพร้าวเป็นกราฟที่สูงขึ้นในทุกปี เฉลี่ยแล้วไม่ต่ำกว่า 10 บาท/ลูก สวนทางกับพืชเศรษฐกิจชนิดอื่น เกษตรกรหลายรายเริ่มโค่นสวนยางพาราและสวนปาล์มหันมาปลูกมะพร้าวแทน เพราะมะพร้าวสามารถขายได้ทุกส่วนของผลผลิต ทั้งยังเป็นสินค้าบริโภคที่รัฐบาลให้การสนับสนุน คาดว่าอีกประมาณ 5 ปีในอนาคต มีแนวโน้มจะเข้ามาแทนที่การทำสวนยางพาราหรือสวนปาล์มได้ และจะกลายมาเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ

ปัจจุบันราคามะพร้าวแก่ที่นำมาทำกะทิราคา 21-22 บาท/ลูก มะพร้าวน้ำหอมราคาประมาณ 7 บาท/ลูก ถือว่าราคาดีตามฤดูกาล ทั้งนี้เกษตรกรเริ่มหันมาปลูกมะพร้าวเพิ่มขึ้นหลายหมื่นไร่ทั่วประเทศ หรือประมาณ 20% ต่อปี นับตั้งแต่ปี 2558 มาจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากการส่งออกยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะมะพร้าวที่นำมาทำเป็นกะทิเพื่อส่งออก ประเทศไทยต้องนำเข้าจากประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และเมียนมา ตลอดทั้งปีตั้งแต่ปี 2559 กว่า 50% ซึ่งประเทศเหล่านี้มีส่วนแบ่งการตลาดกับประเทศไทยพอสมควร ขณะที่ประเทศไทยปลูกมะพร้าวเป็นอันดับ 6 ของโลกแต่ได้รับการยอมรับด้านคุณภาพและความเชื่อมั่นจากผู้บริโภคมากกว่า

“ปัจจุบันเวียดนามและอินโดนีเซียเริ่มหันมาทำกะทิส่งออกเอง แต่ยังไม่มียอดขายมากนัก เพราะผู้บริโภคเชื่อมั่นผลผลิตจากประเทศไทยมากกว่า และประเทศไทยเองกลับมีโรงงานแปรรูปไม่เพียงพอต่อผลผลิต ถึงกระนั้นมะพร้าวน้ำหอมของประเทศไทยยังคงคุณภาพ 100% และเป็นผู้ส่งออกเบอร์ 1 ของโลก ยากที่ประเทศคู่แข่งจะเทียบได้” นายวนิชย์กล่าว

ทั้งนี้ การปลูกมะพร้าวแก่เพื่อทำกะทิใช้เวลาปลูกประมาณ 5 ปีกว่าจะได้ผลผลิตเดือนละ 1 ครั้ง เฉลี่ยต้นละ 8 ผล/เดือน ส่วนมะพร้าวน้ำหอมจะใช้ระยะเวลาสั้นกว่าประมาณ 3 ปี และให้ผลผลิตประมาณ 15 ผล/ปี เป็นพืชที่ตายยาก อายุเฉลี่ยประมาณ 40 ปี หรือมากกว่านั้นก็ยังคงให้ผลผลิตต่อเนื่อง โดยใน 1 ไร่ เกษตรกรจะปลูกประมาณ 20 ต้น ส่วนปัญหาในการปลูกมีเพียงภัยแล้ง และโรคหนอนเล็กน้อย

ด้านนายพินิจ เจริญเร็ว เกษตรจังหวัดราชบุรี เปิดเผยว่า มะพร้าวน้ำหอมของประเทศไทยจากราชบุรียังคงคุณภาพนับเป็นอันดับหนึ่งของโลก มีตัวเลขที่เกษตรกรขึ้นทะเบียนประมาณ 4.3 หมื่นไร่ หากเป็นมะพร้าวแก่รวมกันทั้งหมดประมาณ 6 หมื่นไร่ แม้ในความเป็นจริงพื้นที่ปลูกที่เกษตรกรไม่ได้ลงทะเบียนมากกว่านั้น โดยมีประเทศจีนเป็นตลาดใหญ่ของการส่งออก ถัดมาจะเป็นยุโรป และอเมริกา ขณะที่การส่งออกและการแปรรูปเพื่อการส่งออกมีมูลค่าประมาณหลักพันล้านขึ้นไป แต่ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดเกี่ยวกับตัวเลขดังกล่าว แนวโน้มในปี 2561 จะมีราคาสูงขึ้นตามฤดูกาล โดยเฉพาะหน้าแล้งราคาพุ่งขึ้นถึงลูกละ 30 บาท

โดยจังหวัดราชบุรีมะพร้าวน้ำหอมส่วนใหญ่เป็นมะพร้าวน้ำหอมพันธุ์ก้นจีบ หนึ่งต้นจะให้ผลผลิตเฉลี่ย 12-15 ทะลาย/ปี ประมาณ 10 ลูก/1 ทะลาย มีประมาณ 45 ต้น/ไร่ ราคาต่ำสุดจะอยู่ที่ 7 บาท/ลูก นอกจากนี้ยังมีลูกมะพร้าวน้ำหอมที่นำไปเพาะพันธุ์เป็นต้นกล้าสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรสูงมากเช่นเดียวกัน เพราะมียอดการสั่งจองล่วงหน้า 5-6 เดือน ราคาต้นละ 80-100 บาท

ขณะที่นายณรงค์ศักดิ์ ชื่นสุชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น ซี โคโคนัท จำกัด ผู้ส่งออกมะพร้าวน้ำหอม กล่าวว่า ราคามะพร้าวน้ำหอมของไทยมีความสมดุลในตลาด มีผลผลิตเข้าสู่ตลาดประมาณ 1 ล้านลูกต่อวัน และมีตลาดจีนมารองรับ ส่วนผลผลิตที่ไม่ผ่านมาตรฐาน ก็มีกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปมารองรับ ส่วนคู่แข่งอย่างประเทศเวียดนามเริ่มเข้าไปแข่งกับประเทศไทยที่ตลาดอเมริกามากขึ้น ขณะที่ตลาดจีนยังไม่ยอมรับผลผลิตจากเวียดนามมากเท่าไร ซึ่งในปี 2561 ประเทศไทยจะยังคงเป็นผู้นำในการส่งออกมะพร้าวน้ำหอมอยู่ ทั้งด้านคุณภาพ รสชาติ และปริมาณ มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ไม่มีล้นตลาดแน่นอน แต่ต้องรักษาคุณภาพ และป้องกันไม่ให้มะพร้าวพันธุ์ก้นจีบออกจากเมืองไทย


#eosgear,#ถุงมือกันบาด,#อะไหล่ victorinox,#victorinox มือสอง,#cutting resistance glove,ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : ราคา มะพร้าว พุ่ง4ปีติด จ่อขึ้นแท่นพืชเศรษฐกิจ

view