สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จากคนที่เกือบบ้า! กลายมาเป็นปราชญ์ชาวบ้าน เพราะคำสอนของ พ่อ : ขนิษฐา มะโนสมบัติ

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

เราอาจได้ยินได้ฟังมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วนว่าแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงนั้น ได้เปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตของใครต่อใครให้ดีขึ้น น่าชื่นชม และนี่ก็คืออีกหนึ่งเรื่องราวที่กล่าวย้ำถึงความยอดเยี่ยมของแนวคิดแนวปฏิบัติดังกล่าวนั้น

เล่าให้ฟังคร่าวๆ ในเบื้องต้น “ขนิษฐา มะโนสมบัติ” หรือ “ครูรุ่ง” คือเกษตรกรในจังหวัดเชียงราย ที่เดินทางสายเกษตรอย่างต่อเนื่องจริงจังในช่วงระยะเวลา 9 ปี เป็นอีกหนึ่งบุคคลซึ่งได้รับการยอมรับนับถือในฐานะของปราชญ์ชาวบ้าน ด้วยการศึกษา ลงมือทำ กระทั่งสามารถชี้แนะชี้นำให้กับคนอื่นๆ


อย่างไรก็ตาม ย้อนกลับไปในวันคืนก่อนหน้านั้น หลายคนอาจไม่รู้ว่า เธอคือลูกสาวของครอบครัวชาวนา แต่ทำนาไม่เป็น! ด้วยเหตุผลที่พ่อแม่ไม่อยากเห็นลูกลำบากเช่นเดียวกับตน จนเธอเติบโตมาแบบคนที่พูดได้ว่า “ทำอะไรไม่เป็น!” ซ้ำมิหนำ หลังจากมีครอบครัว มีลูก ยังดำเนินชีวิตแบบไม่เป็นโล้เป็นพาย กระทั่งเกิดเจ็บป่วยทางร่างกาย ขณะที่จิตใจก็ย่ำแย่ เคยคิดแม้แต่จะฆ่าตัวตาย ฆ่าลูก!

เกิดอะไรขึ้นกับผู้หญิงคนนี้? นี่คือบทเรียนชีวิตชั้นดีที่เราอยากนำเสนอเป็นอุทาหรณ์และแบบอย่าง คนคนหนึ่งแทบจะล้มลงไปแล้ว เธอลุกขึ้นมาได้อย่างไร? ฟังเธอเล่าไป แม้แต่เราเองยังทึ่ง “เศรษฐกิจพอเพียง” เปลี่ยนชีวิตคนหนึ่งคนได้อย่างมีพลัง! อีกทั้งยังเป็นกำลังช่วยขับเคลื่อนสังคมไปสู่จุดที่เธอใช้คำว่า “รอด” ในการดำเนินชีวิต...


• จากขุมนรก จากอบาย เกือบฆ่าตัวตาย คล้ายๆ บ้า! 

“โดยพื้นฐาน เราก็เป็นลูกชาวนา แต่ไม่ได้ถูกปลูกฝังให้มาเป็นชาวนา เพราะว่า พ่อแม่ทุกคนก็อยากจะให้ลูกเป็นเจ้าคนนายคน แม้กระทั่งในครอบครัวของเราเอง พ่อแม่ก็ไม่ได้ปลูกฝังให้เรามาทำอาชีพเกษตรหรอก ท่านก็บอกว่า ให้อยู่กับบ้าน ทุกอย่างท่านก็ทำให้หมด เพราะว่าเราเป็นลูกสาวคนโต แต่ว่าร่างกายไม่ค่อยแข็งแรงเท่าไหร่ พอเราแต่งงาน เราก็แต่งงานกับลูกชาวนาเหมือนกัน แต่ว่าเราก็ทำอะไรไม่เป็น ไม่ได้ช่วยครอบครัวเขาในเรื่องพวกนี้หรอกค่ะ ก็เป็นแม่บ้านเฉยๆ

“จนกระทั่ง ปี 2536 ก็มีลูกคนแรก เราก็ยังอาศัยอยู่กับพ่อแม่ แต่เนื่องจากเรามีครอบครัวแล้ว แล้วยังอยู่กับพ่อแม่ แถมยังทำอะไรไม่เป็น ฉะนั้น กุศโลบายของพ่อแม่ในตอนนั้นก็คือ ต้องให้ออกเรือน ถึงจะช่วยเหลือตัวเองได้ ท่านก็ให้เราออกเรือน ไปอยู่ในบ้านหลังเล็กๆ แต่ทั้งเราและแฟนก็ไม่ได้ทำอะไร อยู่บ้านเฉยๆ แฟนก็ตีไก่ เราก็เล่นการพนันแบบโดมิโน่ แล้วก็กินจ่ายในท้องตลาด ทั้งๆ ที่เราเป็นคนยากจนนะ เงินทองก็ไม่มี แม้แต่ค่าไฟก็ยังไม่มีจ่ายเลยในสมัยนั้น แฟนก็สละตัวเองด้วยการไปทำงานก่อสร้างที่ต่างประเทศ แรกสุดก็ไปสิงคโปร์กับมาเลเซีย ไปโรงงานทำเขียง ซึ่งก็ลำบากนะคะ แต่สิ่งหนึ่งที่เขาบอกเรา คือให้อยู่บ้านเฉยๆ ไม่ต้องทำอะไร พี่จะเลี้ยงให้อยู่สุขสบาย

“โดยเราในตอนนั้น มีอยู่แค่ 3 อย่าง คือ กิน หลับ เล่น (หัวเราะเบาๆ) วนอยู่อย่างนั้น จนกระมั่งเขากลับมา แต่เงินทองก็ไม่มีเก็บ ซึ่งถ้าตีเป็นค่าได้ เราก็สามารถที่จะเก็บเงินซื้อเป็นที่ไร่ที่นาได้ แต่เราไม่เก็บ แฟนก็กลับมาอยู่บ้าน 1 ปี จนกระทั่งมีลูกสาวคนที่ 2 และลูกอายุได้ 9 เดือน แฟนก็สละตัวเองไปทำงานอีก เพราะว่าเงินไม่มี ครั้งนี้ไปทำงานที่ไต้หวัน 7 ปี ซึ่งในช่วง 4 ปีแรก เราก็ใช้ชีวิตเหมือนเดิม กิน หลับ เล่น ใช้ชีวิตวนอย่างงี้อีกแล้ว

“จนกระทั่งป่วย มีอาการอ่อนแรง อ่อนล้า เจ็บนู่น ปวดนี่ ไปหาหมอทุกเดือน เอายามากินก็ไม่หาย ทีนี้หนักกว่านั้นคือ มีการป่วยทางจิต ตั้งแต่ปีที่ 5 เริ่มมีอาการเครียด เพราะเรารู้แล้วว่า เงินทองที่ได้มาใช้จ่ายในเรื่องดีๆ มันไม่ได้สร้างความสุขให้เราเลย คือมันซื้อความสบายได้ แต่มันไม่สามารถซื้อความสุข มันกลายเป็นความทุกข์ คือ ทุกข์กายเพราะเราป่วย ทุกข์ใจเพราะเราเครียด ตรงนี้คือทำให้เรารู้สึกว่า เราไม่ต้องการเงินแล้ว เดือนละ 20,000 - 30,000 บาทในตอนนั้น มันไม่ได้สร้างความสุขให้เราเลย สิ่งที่เราต้องการคือความอบอุ่นในครอบครัว อยากให้แฟนกลับบ้าน อย่างตอนที่เขาทำงานแล้วไม่โทรกลับมา เราก็เกิดอาการเครียด จนทำร้ายลูก จนต้องโทรศัพท์หาแฟน เพื่อให้เขาโทรกลับมา พอเขาโทรมา เราก็ร้องไห้ฟูมฟาย วันหนึ่งเป็นชั่วโมง แล้วตอนนั้นคิดเป็นนาทีเกือบ 30 บาท

“คือเป็นอะไรที่แย่มาก เราถึงขั้นไปรักษากับหมอจิตเวช ไปรักษาที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ตอนแรกก็รักษาที่โรงพยาบาลแถวบ้านก่อน แต่มีความรู้สึกอาย กลัวชาวบ้านจะรู้ เพราะคนที่เข้าไปโรงพยาบาลแผนกจิตเวช ชาวบ้านทั่วไปก็จะมองแบบแปลกๆ ว่า มีการบกพร่องทางจิตมั้ย เป็นบ้าหรือเปล่า ซึ่งก่อนหน้านี้ พวกเขามองเราในภายนอกว่าเราดูดี สุขสบาย เพราะเราออกมานอกบ้านก็ยังปกติ ไม่ได้แสดงให้ใครเห็นว่าเราทุกข์เลยนะ ออกมานอกบ้าน ก็มาเล่นการพนันที่บ่อน หรืออยู่กับเพื่อนบ้าน ชาวบ้านปกติเลย แต่เราจะอยู่แบบไม่มีสังคม เพราะพ่อแม่ก็เลี้ยงแบบไม่ให้เราไปไหน งานจิตอาสาก็ไม่เคยทำ ไม่เคยไปช่วย อยู่เหมือนคนไม่มีสังคม


“จุดที่ร้ายแรงที่สุดในช่วงเวลานั้น คือเคยมีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย เราชอบทำร้ายลูกหนักมาก ตอนนั้นคนกลางยังเล็กๆ อยู่ เรารู้สึกว่าเราผ่ายผอมและเจ็บป่วยบ่อย เรารู้สึกว่าชีวิตนี้ไม่มีอะไร มีแค่กินแล้วนอน และหลับทั้งวัน กลางคืนไม่หลับก็ซัดยานอนหลับไป เรามาคิดแล้วว่า อย่างที่บอกคือ เงินมีมากหรือไม่มีเงิน ก็ไม่เห็นมีความสุขเลย เพราะเราเจอมาหมดแล้ว ชีวิตเราไม่มีคุณค่าอะไรเลย ชีวิตเหมือนกันซ้ำๆ ซากๆ ตายดีกว่า เคยคิดจะเอาน้ำยาล้างห้องน้ำใส่กล่องนมแล้วดูด แล้วก็เคยคิดว่า ใส่ให้คนกลางดูดด้วย ตายๆ ไปซะ แล้วยิ่งตอนที่แฟนไม่โทรมา เคยเอามีดจี้คนโต แล้วขู่ลูกว่า ถ้าพ่อมึงไม่กลับมา กูจะฆ่ามึง เพราะช่วงนั้นก็ใกล้ครบสัญญา คือจะได้เงินก็ต้องครบสัญญา แต่พอแฟนเราคุยทางโทรศัพท์ จะเห็นเป็นเรื่องตลก แล้วบอกเราว่า อดทนหน่อย เดี๋ยวเราก็รวยแล้ว ทั้งๆ ที่ทางนี้คือจะเป็นจะตายแล้ว แต่เขายังตลกอยู่เลย

“ชีวิตในตอนนั้นเรียกได้ว่ามืดมนจริงๆ เราเคยคิดฆ่าตัวตายหลายครั้ง เรามีเพื่อนที่เราอยากคุยก็คุยไม่ได้ เรามีคำพูดซ้ำๆ ซากๆ มีพี่สาวคนหนึ่งที่เราเคารพมาก แกมีลูก 3 คน เรายึดเขาเป็นไอดอล แต่เขาก็ต้องทำการทำงาน เราโทรไปหาเขา 4 - 5 รอบ จนเขาต้องปิดโทรศัพท์หนี โทรไปร้องไห้ฟูมฟายให้เขาฟัง เพ้อเจ้อให้เขาฟังว่าเป็นนี่นั่นหรือเปล่า เราเป็นคนวิตกจริต เครียด จนเขาปิดโทรศัพท์หนีแล้วไปโกรธเขาอีกว่า ทำไม เราไม่มีใครเลย นอกจากแฟนที่อยู่ต่างประเทศ ถึงบอกว่าตอนนั้น ชีวิตไม่มีค่าอะไรแล้ว อย่าอยู่เลย ตายไปเหอะ จนก็เท่านี้ รวยก็เท่านี้ หาจุดยืนไม่ได้ ไม่มีประโยชน์อะไรกับชีวิตที่ซ้ำๆ ซากๆ นั่นคือสิ่งที่หนักในชีวิต

“หลังจากนั้นก็รักษาที่โรงพยาบาลบ้านตัวเอง ก็ไปรักษาที่โรงพยาบาลศูนย์ เพราะที่บ้านเขาห่วงว่า ถ้าไปโรงพยาบาลบ้าบ่อยๆ เขาจะคิดว่าเราบ้า ไปรับยามากิน ตอนนั้น รพ. พญาเม็งราย ติดอันดับยอดคนฆ่าตัวตาย ในช่วงปี 2547 - 48 มีเยอะ แต่เราก็ต้องไปรักษา เพราะเรามีความรู้สึกกลัว มีความคิดที่จะอยากฆ่าตัวตายตลอดเวลา ส่วนฐานะเราก็ผ่านทั้งความร่ำรวยและความยากจนมาหมดแล้ว แต่เราไม่มีความสุขเลย เราก็ถามตัวเองว่า ความสุขมันอยู่ตรงไหน เราโหยหาความอบอุ่น เราเลยพบว่า เงินไม่ใช่คำตอบของความสุขแล้ว

“ทีนี้ พอเราไปเอายาที่โรงพยาบาล กินเสร็จก็หลับ พอตื่นขึ้นมา มันก็มีความเบลอ ตื่นสาย กินข้าว เริ่มจำอะไรไม่ค่อยได้ ซึ่งถ้ามีการกินต่อไปเรื่อยๆ คิดว่าไม่พ้นในเรื่องของการฆ่าตัวตายแน่ๆ เพราะว่าเราไม่เปลี่ยนพฤติกรรม แล้วเราก็ไม่รู้จะเปลี่ยนยังไง แต่เราเริ่มรู้สึกแล้วว่า ถ้าขืนกินยาต่อไป แย่แน่ๆ แล้วเกิดความโชคดีอยู่อย่างหนึ่ง คือมีวันหนึ่งที่เราไปโรงพยาบาล ได้เจอผู้ชายคนหนึ่ง ผู้ชายคนนี้เขาแต่งตัวดีนะ แต่พอหันมาหาเรา หน้าของเขามีแผลเต็มเลย เขาถามเราว่า มาสวนปรุงกี่ครั้งแล้ว พอเราได้ยินคำว่า สวนปรุง ปุ๊บ มันเหมือนถูกขึ้นมาจากหลุมลึกๆ เลย

“ณ ตอนนั้นคือเริ่มรู้สึกตัวแล้วว่า คนที่มาเอายา เขาป่วยนี่หว่า แล้วเราเป็นคนดีๆ จะมาอยู่ตรงนี้ทำไม เดี๋ยวคนอื่นเขาจะตราหน้าเราว่าเป็นผีบ้าสวนปรุงหรอก เราเลยกลับบ้าน ทั้งๆ ที่ไม่ได้เข้าห้องตรวจเลย ซึ่งตอนนั้นหมอก็เรียกเราแล้วนะ แต่เราเดินหันหลัง แล้วขึ้นรถเมล์กลับบ้านเลย พอกลับมาถึงปุ๊บ ก็มีเสียงตามสายประกาศ ม.ราชภัฎพระนคร เขามาเปิดหลักสูตร มหา’ลัยชีวิตที่เชียงราย เราก็รู้สึกว่า เราอยากที่จะหลุดพ้นจากวงเวียนที่เราเจออยู่ตลอด มีสังคมที่ดีกว่านั้น ก็เลยตัดสินใจไปสมัครเรียน เพราะยังมีวุฒิแค่ กศน. ม.6”


• ห้องเรียนของ “พ่อ” เรื่องพอเพียง พลิกฟื้น หล่อเลี้ยง ชีวิตใหม่

“ตอนแรกก็ไปเรียนแค่หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง ร.9 แต่ตอนนั้นมีความคิดแค่ว่าอยากจะได้ปริญญาสักใบมาประดับฝาบ้าน อาจารย์บินมาจากกรุงเทพฯ มาสอนเรื่องภูมิปัญญาชาวบ้าน 50 ปีที่แล้ว พญาเม็งรายเป็นยังไง ก็ให้ไปหาข้อมูลภูมิปัญญาชาวบ้านเพิ่มเติม ใครเก่งเรื่องศาสตร์คนโบราณ เรื่องการรักษาโรค เรื่องการผลิตของใช้ในบ้าน หรือเรื่องล้านนาที่เขามีวิชาที่ว่าศิลปินศิลปะที่คนอนุรักษ์ไว้ สอนปลูกผักทำสวน ทำปุ๋ย เลี้ยงสัตว์ ให้ช่วยเหลือตัวเองได้ ตอนนั้นเราคิดในใจเลยว่า เรียนอย่างงี้ จบปริญญาสายนี้จะไปพัฒนาอะไรใครได้ ถอยหลังเข้าคลองแน่ๆ (หัวเราะเบาๆ)

“เพราะหลักสูตรที่เน้นสอนเรื่องหลักเศรษฐกิจพอเพียง แถมเป็น ดร. มาจากกรุงเทพฯ แล้วมาสอนสิ่งเหล่านี้ จะไหวเหรอ ก็ไปขอลาออก แต่ ผอ. ก็มาเบรกไว้ว่า มาอยู่ด้วยกันก่อนเถอะ เพราะว่าออกไปกันเยอะแล้วนะ ไม่งั้นจะถูกปิดนะ เราก็เกิดความสงสาร ผอ. ก็เลยเรียนต่อ ช่วงนั้นแฟนก็กลับมาจากทำงานเมืองนอก ได้เงินมาล้านนึง แต่อยู่ได้แค่ปีเดียว เงินก็หมดเกลี้ยง เพราะว่ายังคงใช้ชีวิตแบบเดิมอยู่ แฟนก็ไม่ได้ทำอะไร แต่ก็มีซื้อบ้านหลังเล็กๆ หลังหนึ่ง มีที่ติดถนน นอกนั้นก็กินใช้จนหมด แล้วตอนนั้น เราก็มีลูกคนที่สามได้ 1 ปี แฟนก็บอกว่าไม่ไหวแล้วนะ เพราะเราเอาเงินของ ธกส. มาใช้ 3 แสน

“แฟนก็ต้องออกไปทำงานอีกแล้ว เราก็มีความรู้สึกเครียดอีกแล้ว เขาก็ไปทำงานที่เกาหลีใต้ ครั้งนี้เขาขอไป 5 ปี ช่วงนั้นตรงกับ 2549 - 2550 พอดี ซึ่งแฟนเขาก็มีอคติกับหลักสูตรนี้เหมือนกันนะ มันจะไปทำอะไรได้ แกก็ต่อต้านให้ไปลาออก เราก็ถูกดูถูกจากแฟนเหมือนกันว่า จบไปแล้วจะไปทำอะไรได้ แต่เราก็ดั้นด้นเรียน แล้วช่วงที่เรียน เราก็ท้องด้วย เพื่อนๆ ก็ดูแลกัน จนคลอดลูก เราก็เอาไปเลี้ยงที่ อบต. แฟนก็เดินทางไปทำงานต่อปี 2550 ไป 5 ปี ทีนี้ เราก็เรียนไปเรื่อยๆ จนจบ


“พอถึงช่วงปี 2552 ลูกคนเล็กก็อายุขวบเศษแล้ว ส่วนเราเอง ตอนนั้น คนจบปริญญายังไม่ค่อยเยอะด้วย เขาก็ขอให้ไปลงสมัคร ส.ท. (สมาชิกสภาเทศบาล) เราก็เลยลองดู เพราะเราก็เริ่มไปทำงานจิตอาสาบ้างแล้ว เพราะการศึกษาสอนให้ไปช่วยเหลือบ้างนะ ซึ่งท้ายสุด เราก็ได้รับเลือกเป็น ส.ท. ลำดับสุดท้ายพอดี ตอนนั้นก็เป็นช่วงที่ตรงกับยุคนายกฯอภิสิทธิ์ ท่านก็มีโครงการต้นกล้าอาชีพ ซึ่งเขาก็คัดคนที่จบจาก ม. นี้ ให้ไปเป็นครู เราก็ได้ไปเป็นครูต้นกล้า ซึ่งจะต้องสอนชาวไร่ชาวนา วัยที่อายุมากกว่าเรา ตั้งแต่ 30 จนถึง 60 ที่เขาสมัครมาเป็นต้นกล้าอาชีพ มาต้องเรียนในหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เรื่องการพึ่งพาตนเอง ทางด้านอาหาร และสอนทุกอย่างเกี่ยวกับศาสตร์นี้ให้กับชาวบ้าน

“แต่ชาวบ้านก็รู้ว่าเราไม่เคยลงมือทำมาก่อน เพียงแต่ว่าจบมาจากสาขานี้ โดนดูถูกสารพัดว่า เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ เป็น ส.ท. ได้ยังไง แล้วยังจะมาสอนเกษตรกรในหมู่บ้านอีก เด็กคนนี้ไปแต่ตลาด จะเอาอะไรมาสอนพวกเราได้ คราวนี้ก็เป็นวิกฤตอีก เพราะนั่นก็เป็นคำดูถูกจากชาวบ้าน และสิ่งที่วิฤตอีกอย่างก็คือว่า แฟนเขาย้ายแคมป์ แล้วส่งเงินมาให้ช้า ทีนี้เราก็คิดว่า เงินเดือน ส.ท. เราก็มีแล้ว ก็สบายแล้ว ปรากฏว่า เงินเดือนไม่ออก นี่ คือความไม่แน่นอน ถ้าคนเราหวังอะไร บางทีพึ่งไม่ได้ก็ยุ่งเลยนะ เราก็เอาแล้ว จะทำยังไงดี ก็คิดว่ายืมแม่ ไม่กล้าไปยืมใคร ตอนแรกไปยืมคนข้างบ้าน 5 บาท หลอกเขาว่ามีแบงก์พัน ไม่ได้แลกมา ขอยืมหน่อย เหตุการณ์นี้ เรายังจำจนทุกวันนี้เลย ส่วนวันอื่นๆ ทำยังไง เพราะเงินเดือนยังไม่ออก ไม่กล้าไปยืมใคร ก็ไปยืมแม่

“แต่เราเริ่มมีการจดบัญชีมาตั้งแต่เรียนมหาลัยแล้ว พบว่า ค่ากับข้าววันหนึ่งก็ประมาณ 500 บาท ทั้งเดือนเรามาเฉลี่ยกันแล้ว ตก 320 บาทต่อวัน หนักสุดก็เป็นค่าโทรศัพท์ เฉลี่ยเดือนละหมื่นบาท โทรหาแฟน ร้องไห้เป็นวรรคเป็นเวรไม่รู้กี่ครั้ง ทีนี้หนักสุดก็คือว่า ให้ลูกสาวไปยืมแม่วันละร้อย เพราะถ้ายืม 320 ก็คงไม่ได้แน่ๆ ก็ไปยืมประมาณ 6 วัน ร้องไห้กลับมาบ้าน ก็บ่นให้เราฟังว่า ทีหลังแม่อย่าให้หนูไปยืมเงินยายอีกนะ แถมแม่เราก็บ่นอีกว่า แม่มึงเงินเดือนไม่พอกินเหรอ ตอนนั้นเริ่มมีความรู้สึกว่าโกรธแม่และเกลียดตัวเอง เราเป็นแม่ลูก 3 บางทีแม่เราต้องเอากับข้าวมาห้อยที่หน้าประตู


“ทีนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ หน้าครูบาอาจารย์ที่เดินทางมาสอนจากกรุงเทพฯ มันผุดขึ้นมา และที่สำคัญก็คือ วิชาที่เราได้ร่ำเรียนมา มันผุดขึ้นมาในหัว แล้วพระพักตร์ของพระองค์ท่าน ลอยมาอยู่เบื้องหน้าเรา เราเลยใช้ค้อนปอนด์ ทุบรั้วที่เป็นคอนกรีตอยู่ข้างบ้าน ที่มันกั้นระหว่างที่ว่างที่ข้างบ้าน ซึ่งเป็นของพี่ชายแฟนที่เสียไปแล้ว ที่ยังไม่ขายให้เรา ทุกแล้วก็มุดไปในนั้น ซึ่งมันเป็นที่ที่รกไปด้วยหญ้า ไม่มีใครทำอะไร เป็นบ้านเก่า มีแต่ยุ้งข้าวเก่าๆ หลังเล็กๆ ไปขุดดินถอนหญ้า ประมาณ 10 กว่าตารางวา ปลูกทุกอย่างที่ตัวเองต้องถือเงินไปตลาดเพื่อจะซื้อ ตั้งแต่จำได้ว่าตัวเองเป็นแม่บ้าน ไปตลาดทุกวัน เช้า กลางวัน เย็น ปลูกผักทุกอย่างที่จะไปซื้อในตลาด 5 แปลงแรก เราเริ่มเห็นสิ่งที่เราปลูกค่อยๆ เติบโตขึ้นมา จากนั้นก็เอาอย่างอื่นมาลง

“จากคนที่ตื่นสายเพราะกินยานอนหลับ กลายเป็นตื่นตี 5 แล้วกุลีกุจอ รีบมาดูผักที่กำลังงอกเงย แต่ช่วงนี้ก็มีไปแอบขโมยและขอขี้วัวจากคนข้างบ้าน เพราะเขาก็บ่นว่าเขาจะเอาไว้ขาย เราก็คิดว่าจะทำยังไงดีกับปัญหาในการใช้ปุ๋ยในบ้าน ก็แอบเอาหมูมาเลี้ยง ซึ่งปกติแล้วถ้าเลี้ยงในชุมชนจะมีกลิ่นเหม็น แต่สิ่งที่ครูสอนก็ผุดขึ้นมาเลย เพราะเขาเคยพาไปดูที่บ้านของปราชญ์คนหนึ่งในอำเภอนี้แหละ เขาบอกว่าให้เอาแกลบมมาโรยไว้ เพราะสามารถซับกลิ่นได้ เราก็ทำอย่างที่เขาบอก ปรากฏว่า ไม่มีใครรู้เลยว่าเราแอบเลี้ยง เพราะไม่มีใครได้กลิ่นและเสียงเลย เวลาว่าง ก็เอาผักให้มันกิน มันเงียบ นอนหลับ ทีนี้มีทั้งหมูและขี้ของมันมาใส่ผัก เราไม่ต้องไปขอใครแล้ว

“เราอยากกินปลา ก็นึกถึงคำสอนของอาจารย์ว่า ให้กินปลาเป็นหลัก กินผักเป็นยา กินกล้วยน้ำว้าเป็นบำรุงกำลัง เราก็เอากล้วยมาปลูก เอากระสอบไปใส่แกลบในโรงสี เพราะเจอปราชญ์คนหนึ่งที่เขาทำแบบนี้ แล้วก็เอาพลาสติกมาปู ทำเป็นบล็อก แล้วก็ต่อท่อน้ำทิ้งไปหาผักสวนครัว ตรงไหนที่ว่าง ก็ทำตรงนั้น กลายเป็นว่า เงินที่เคยไปเล่นแล้วเสีย เราสามารถเก็บได้ จนเราไม่ไป แถมเอาไว้ทำบ่อปลา เดือนละบ่อ แพงสุดก็บ่อละ 480 บาท โดยเฉลี่ยบ่อหนึ่งหมดเงินไม่ถึง 300 บาทนะ ถ้าเป็นบ่อเล็กๆ นะ เลี้ยงปลาในบ้าน มีปลาอยู่ 7 บ่อ อยู่ใต้ต้นไม้ ปลาที่เลี้ยงคือปลาดุกเพราะเป็นปลาชนิดเดียวที่เลี้ยงได้


“ทีนี้ชาวบ้านก็แหวกมาดูรั้วบ้านเรา เพราะเขาสงสัยว่าเราทำอะไร เนื่องจากตอนที่เราให้อาหารปลาแล้วมันดังซู่ แล้วแถมมีซุบซิบนินทาเราอีกนะว่า อีบ้านี่ เป็น ส.ท. ดีๆ ไม่ชอบ มาทำอะไรอย่างนี้ ลำบากจะตาย ดูมันขนแกลบมาทำบ่อปลา มันจะโตมั้ย อีกหน่อยไม่ต้องไปซื้อปลาที่ไหนแล้ว มาซื้อที่นี่แหละ หรือบางคนก็ถามเลยว่า มันจะได้กินมั้ย และมีเด็กผู้ชายคนหนึ่งพูดใส่หน้าเราเลยว่า อยากเป็น ผอ. ศูนย์เรียนรู้ล่ะสิ ที่แค่นี้ เท่าแมวดิ้นตาย ใครจะมาดูงาน วัวควายก็ไม่มี

“แต่สิ่งที่เราคิดในตอนนั้นคือ เราต้องการรอด เราไม่ได้ต้องการที่จะรวย ไม่ต้องการชื่อเสียงเงินทอง เราขอแค่ว่า เวลาไม่มีเงิน แต่มีกับข้าวในบ้านก็พอ นั่นคือสิ่งที่ต้องการในตอนแรก แล้วมันก็สำเร็จจริงๆ จากที่เคยซื้อไข่ไก่ 2 วัน 10 ฟอง เพราะลูกเยอะ ทีนี้ เราก็มีไก่ที่สวนของเรา มันก็ออกไข่บ้าง กินเนื้อมันบ้าง จับมาขาย ก็ได้กินไข่มันอีก จากหมู 1 ตัว ก็กลายเป็น 2 ตัว เงินรายวันก็ได้จากผักสวนครัวที่เราขายบ้าง แบ่งปันบ้าง เงินรายสัปดาห์ก็คือพวกไก่ไข่ที่เราเลี้ยง เงินรายเดือนก็คือเป็ดและหมู เพราะว่าเป็ดก็จะจับขายเป็นตัว เวลาที่ค่าไฟมา จับออก 3 ตัวที่ก็ได้หลายร้อยแล้ว ตัวละ 200 กว่าบาท

“ความสุขก็เริ่มมา ลูกที่เคยอดๆ อยากๆ กลายเป็นมีความสมบูรณ์ ผักสวนครัว ดินที่เราไม่สามารถถอนหญ้าไหว ที่เราคิดว่า พื้นที่ 53 ตารางวา ในตอนนั้นมันกว้างมาก เราก็เอาเป็ดไปปล่อย ซึ่งเป็นเครื่องตัดหญ้าที่ดีเลย ขี้ลงไปก็เอาแกลบมาโรย ไม่มีกลิ่นเหม็น พรวนดินก็สามารถมาเป็นปุ๋ยในนั้นได้ โดยที่เราไม่ต้องเสียตังค์ซื้อปุ๋ยเคมี บอกเลยว่า ผ่านไปแค่ 3 เดือน ยานอนหลับนี่คือลืมไปเลย ลูกๆ ก็มีสวนสัตว์อยู่ในบ้าน จากที่เคยชอบไปดูบ่อปลาของปราชญ์คนอื่น ไม่ไปไหน เช้ามา เสาร์-อาทิตย์ คนพี่ก็จะเก็บผักแล้วเอาไปทำกับข้าว น้องสาวก็รดน้ำ ส่วนน้องคนเล็กจะอยู่กับแม่ เกาะแม่ ทำอะไรก็เห็นหมด ซึ่งเดินแค่ 10 นาที ก็จะเห็นหมดเลย”


• น้อมนำศาสตร์พระราชา สร้างค่าให้กับตน เผื่อแผ่ถึงคนอื่น

“ตอนนั้นมีความสุขมากเลยค่ะ ตลอดชีวิตเรา เราไม่เคยแบ่งปันอะไรให้ใครเลย แม้แต่พ่อแม่เรานะ ตอนที่แฟนส่งเงินมาให้ ไม่เคยแบ่งให้พ่อแม่เลย นับประสาอะไรกับคนข้างบ้านที่เราจะมีการหวงแหน ตอนที่ไม่ได้ปลูกผักสวนครัว เราจะเอาอะไรไปแบ่งปันใคร ทำบุญยังไม่เคยทำเลย แต่พอเราทำตามศาสตร์นี้แล้ว ของในบ้านที่เป็นพืชผักสวนครัว ที่เราเคยไปขอจากคนอื่น กินไม่หมดยังนำไปเลี้ยงสัตว์เลี้ยง เลี้ยงเพื่อนบ้าน ใครอยากได้อะไรมาเอา ใครเดินผ่านหน้าบ้าน ไม่กล้าเก็บ เราก็ไปปลูกตรงหน้าบ้าน ยาวเหยียดเลย ใส่ยางรถยนต์ เขียนป้ายเป็นกลอนให้อีกนะ

‘ผักทุกอย่างปลูกไว้ให้เพื่อนบ้าน
หากต้องการเชิญเก็บได้ไม่ต้องขอ
แม้เจ้าของบ้านไม่อยู่อย่ารีรอ
เชิญปืนรั้วเข้ามาเถอะอย่าเกรงใจ
พริกบ้านเกลือบ้านใต้คนไทยนั้น
อยู่ด้วยกันฉันพี่น้องมาแต่ไหน
มีอะไรก็แบ่งปันเราคนไทย
รักและสามัคคีกันไว้ไทยเจริญ’

“แล้วกลอนพวกนี้มันกลั่นออกมาจากความทรงจำ จากสิ่งที่พระองค์ท่านบอกว่า เหลือกินก็ขาย หรือเหลือมากมายให้แบ่งปัน นี่คือสิ่งที่ออกมาตามที่พระองค์ท่านได้ดำรัสไว้ ถ้าเราทำเป็นขั้นตอน ศาสตร์ของพระราชานี่สมบูรณ์กับการดำรงชีวิตเลยนะ จากการแบ่งปันทุกวัน

“หลังจากนั้นก็เริ่มมีชื่อเสียง ฝ่ายพัฒนาชุมชนรวมทั้งฝ่ายปกครองก็พาคนมาดูมาศึกษาสวนของเรา ทีนี้ก็เริ่มศึกษาหาความรู้ แปรรูปผลผลิตในสวน เป็นสบู่ เป็นแชมพูแจกจ่าย จนเขาใช้กันดีทั้งหมู่บ้าน จนได้ทำมาขาย ไปขอใบจดแจ้ง มี อย. เรียบร้อย ก็เอามาจำหน่ายเป็นรายได้เสริมให้กับครอบครัว หลังจากนั้นก็กลายเป็นปราชญ์ ม.แม่ฟ้าหลวง ก็ให้เราเข้าเฝ้ากับสมเด็จพระเทพฯ และจากการที่เราจดบัญชีอย่างต่อเนื่อง ก็ได้รางวัลครูบัญชีระดับจังหวัด ระดับภาค และระดับประเทศ มีแต่สิ่งดีๆ เข้ามา เราได้เข้าเฝ้า 7 ครั้ง


“แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการได้แบ่งปัน การมีสติปัญญาและองค์ความรู้ให้คนรอบข้าง การแบ่งปันอะไรก็ไม่สำคัญเท่าองค์ความรู้ใหม่ๆ ให้พวกเขาไปต่อยอด ให้เขารอดเหมือนที่เรารอด การให้สิ่งของมันอาจจะช่วยได้ครั้งคราว แต่การที่เราให้องค์ความรู้ที่เขาจะต่อยอดได้ในการดำเนินชีวิต เราว่าสำคัญกว่า

“จากการเป็นวิทยากรให้ความรู้กับผู้มาศึกษาดูงาน ต้องบอกเลยว่ามีความสุขค่ะ คือเราได้เห็นรอยยิ้ม คนที่มาดูงานที่สวนของเรา บางคนเป็นเศรษฐี บางคนยากจน บางคนเป็นข้าราชการ เขายังไม่รู้ว่า เขาจะเดินทางสายเศรษฐกิจพอเพียงไปทางไหน จะนำแนวไหนไปประพฤติปฏิบัติ แต่พอเขามาเห็นทั้งเราและเนื้อที่ที่เราทำ เขาก็นำสิ่งที่เห็นจากเรากลับไปทำ ทำโดยทันทีทันใดด้วย เพราะว่าตัวของเราเอง ก็ได้มีโอกาสไปติดตามแล้วตอนนี้ ในระยะเวลา 9 ปีที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จจำนวนมาก อย่างเช่น มีผู้หญิงคนหนึ่งอยู่ที่กาญจนบุรี นำเราไปเป็นต้นแบบ จากผู้หญิงที่ไปสมัครงานที่ไหนใครก็รังเกียจ เพราะแกที่ไม่ค่อยสวย เขาเอาแนวคิดของเรากลับไปทำในเนื้อที่ 7 ไร่ที่บ้านของเขาเอง ตอนนี้คือมีรายการทีวีไปสัมภาษณ์เขา

“คนที่เดินเข้ามาดูงานในสวนของเรา มาจากทุกภาค แล้วก็สามารถกลับไปบริหารจัดการที่ดินของตัวเอง จนสามารถเป็นชุมชนต้นแบบของจังหวัดต่างๆ มีเครือข่ายเยอะ จนเรารู้สึกว่า เราสามารถสร้างเครือข่ายให้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแผ่ขยายได้มากขนาดนี้เลยหรือ จากแค่ผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ซึ่งตอนนั้นก็อุ้มลูกคนเล็กบรรยายในสวน ผู้คนที่มาเห็นเรา เขากลับไปเปลี่ยนแปลงชีวิตเขา มีชื่อเสียงระดับจังหวัด ระดับประเทศกัน แล้วสำคัญที่สุดคือ ครอบครัวต่างๆ ที่มามองดูเรา เขากลับไปทำแล้วเขารอดเหมือนเราเลย นี่คือสิ่งที่ภูมิใจ ตอนนี้ก็มีครัวเรือนต้นแบบ ทั้งในระดับอำเภอและจังหวัด ที่ชนะเลิศระดับประเทศเยอะมาก โดยเฉพาะจังหวัดเชียงราย”


• ตามรอยเท้าพ่อ...ต่อไป... ตลอดไป...

“สำหรับการดูงานจากต่างประเทศก็มีมาตลอดนะคะ ทั้งพม่า ออสเตรเลีย จากญี่ปุ่น ที่บอกว่าการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน มันไม่ใช่เรื่องเล็กๆ นะคะ แม้แต่ศาสตร์เศรษฐกิจพอเพียง ทั่วโลกเขาเสาะหาต้นแบบ แล้วเราก็เป็นหนึ่งในนั้น ที่ถูกค้นหาจากโลกออนไลน์ พอเขาเจอแล้วเขาก็มุ่งมาหา มาหลายชนชาติ มาที่สวนของเรา ทั้งๆ ที่เราก็พูดภาษาอังกฤษไม่ได้แม้แต่คำเดียวนะ นี่คือสิ่งที่คนไทยต้องเตรียมรับมือ ต้องต้อนรับนักท่องเที่ยว ที่จะมาบ้านเรา ไม่ใช่แค่มาดูวัฒนธรรมอย่างเดียว มาดูการดำเนินปรัชญานี้ ที่คนไทยคนไหนเอาไปทำแล้วประสบความสำเร็จ นักท่องเที่ยวจะต้องเข้ามาดู เราจะต้องรับมือกับสิ่งเหล่านี้ เราเจอมาแล้ว นักท่องเที่ยวมานอนที่บ้าน เพราะเราก็มีพื้นที่เป็นโฮมสเตย์ ต่อยอดในเรื่องการท่องเที่ยวด้วย

“ตอนนี้การท่องเที่ยวเชิงเกษตรมาแรงมาก เขาเสาะหาต้นแบบในศาสตร์ของพระราชาที่ประสบความสำเร็จในประเทศไทย ต่างชาติก็รู้ดีว่า ในหลวง ร.9 ทรงมีพระปรีชาสามารถ เขามาตามหากันนะคะ แล้วใครที่อยากจะทำแต่ยังไม่ทำ ก็อยากจะให้เริ่ม เพราะนั่นจะทำให้เรามีทุกสิ่งทุกอย่าง โดยเฉพาะความสุขที่เราไม่ต้องไปตามหาที่ไหน ขอแค่เป็นคนดี แล้วเอาศาสตร์นี้ไปใช้ ความสุขจะหาไม่ยาก และเป็นความสุขที่ยั่งยืน

“ในอนาคตที่วางแผนไว้ เราจะต่อยอดกับเกษตรกรที่เป็นเยาวชน ไม่ว่าจะเป็นเยาวชนในชุมชนตนเองหรือทั้งประเทศไทย ซึ่งตอนนี้เราจะเห็นได้ว่า เด็กๆ เริ่มที่จะห่างไกลจากการเกษตรออกไปทุกที เพราะเขามองว่าการเกษตรคือความลำบาก ความล้าหลัง ความทุกข์ ทั้งๆ ที่สิ่งนี้คือพื้นฐาน และเป็นอาหารสามมื้อที่ต้องอยู่กับเราตลอดชีวิต ตรงนี้เราต้องตอกย้ำเลยว่า ถ้าหากใช้เงินมานำชีวิต อนาคตของเด็กพวกนี้ จะอยู่ในสังคมอย่างยากลำบาก ซึ่งเราจะขอต่อยอดในครอบครัวเราก่อน


“ตอนนี้ลูกคนโตเรียนจบปริญญาตรีแล้ว แต่เราไม่ให้ไปสอบเป็นข้าราชการ เราให้เขากลับมาเป็นครูในศูนย์เรียนรู้ของตนเอง เพื่ออยากจะปลูกฝังให้เขา ให้รักถิ่นฐานบ้านเกิด เราสามารถเป็นครูที่อยู่นอกห้องเรียนก็ได้ เราเป็นครูเป็นปราชญ์ชาวบ้านก็ได้ ขอแค่ว่าคุณพัฒนาองค์ความรู้ในศาสตร์ดังกล่าวให้ได้รับการยอมรับ คือทำอย่างจริงจัง

“อย่างเช่นศูนย์เรียนรู้ของเรา ตอนนี้กลายเป็นศูนย์เรียนรู้ที่สามารถพัฒนาเป็นโรงเรียนชาวนา มีเครือข่ายเยอะมาก สำหรับในส่วนของเราก็ไปต่อยอดที่ไร่เชิงตะวัน มหาวิชชาลัย พุทธเศรษฐศาสตร์ ซึ่งมีการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงไปเสริมให้กับนักเรียนซึ่งเป็นเกษตรกรที่มาขอองค์ความรู้ ท่านผอ. ที่นี่ ก็คือ ท่าน ว. วชิรเมธี ซึ่งท่านก็นำศาสตร์นี้มาใช้ในโรงเรียนชาวนา ซึ่งก็ไม่ได้สอนแค่เรื่องชาวนาเท่านั้น ยังสอนในเรื่องการสร้างเสริมอาชีพ ที่จะทำให้พวกเรารอดในการดำเนินชีวิตในยุคปัจจุบัน 

“บอกเลยว่าการต่อยอดกับเยาวชนสำคัญมาก เพราะอย่างที่เราบอกว่า ไม่อยากให้พวกเขาละทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิด อยากให้พวกเขาเรียนและกลับไปพัฒนาบ้านเกิดของพวกเขา โดยยึดหลักศาสตร์ดังกล่าวของรัชกาลที่ 9 แล้วเด็กๆ เหล่านี้จะกลายเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศชาติ ให้ไปพบกับความสุขที่แท้จริง ซึ่งไม่ใช่แค่ทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือนอย่างเดียว เพราะนั่นมันอาจจะไม่มีความยั่งยืน

“การทำไร่ทำนา ไม่ใช่สิ่งยากจนนะคะ อย่างที่บอกคือ ยิ่งนับวันโลกใบนี้ ประชากรมากขึ้น แต่คนผลิตอาหารน้อยลง ถ้าหากเราปล่อยให้เด็กๆ หลงอยู่กับการใช้เงินเป็นตัวนำชีวิต อนาคตก็อาจจะทำให้พวกเขาเกิดความยากจน แล้วพวกเขาจะกลับมาหาการเกษตรก็คงจะยาก”

เรื่อง : สรวัจน์ ศิลปโรจนพาณิช
ภาพ : ปัญญพัฒน์ เข็มราช และ ขนิษฐา มะโนสมบัติ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : จากคนที่เกือบบ้า! กลายมาเป็นปราชญ์ชาวบ้าน เพราะคำสอนของ พ่อ : ขนิษฐา มะโนสมบัติ

view