สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เวียดนามกลายเป็นสวนทุเรียนใหญ่ เนื้อที่หลายหมื่นไร่ไฮเทคอีกต่างหาก

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

เวียดนามกลายเป็นสวนทุเรียนใหญ่ เนื้อที่หลายหมื่นไร่ไฮเทคอีกต่างหาก

ทุเรียนดะฮวาย? .. นอกเวียดนามไม่มีใครรู้จักชื่อนี้แน่ๆ แต่นี่คือเครื่องหมายการค้า ที่เป็นทางการ ไม่น่าจะต่างกับ "เงาะโรงเรียน" หรือ "ลองกอง" จากสวนใน อ.ตันหยังมัส จ.ยะลา แต่ตลาดใหญ่จีนรู้จักผ่านอะลีบาบา ในชื่อ "ทุเรียนหมอนทองเวียดนาม" จากเขตสวนผลไม้ ในที่ราบใหญ่ปากแม่น้ำโขง เกษตรกรนำประสบการณ์ปลูกทุเรียน หลายชั่วคนไปตั้งต้นในเขตที่ราบสูงภาคกลาง ทำให้มีสวน เพิ่มขึ้นอีกกว่าหมื่นไร่ เวียดนามกลายเป็นแหล่งผลิตทุเรียนแหล่งใหญ่ไปโดยปริยาย. -- Photo Courtesy of Tuoi Tre Online.
        
MGRออนไลน์ -- เวียดนามค่อยๆ กลายเป็นแหล่งปลูกทุเรียนใหญ่ อีกแห่งหนึ่งในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แบบไม่รู้ตัว จากที่ทำได้ไม่ดี เมื่อหลายปีก่อน ไม่กี่ปีมานี้ "ทุเรียนหมอนทองเวียดนาม" ได้รับการยอมรับจากตลาดใหญ่จีน ทั้งส่งออกโดยตรงข้ามพรมแดน และ จำหน่ายผ่านแพล็ตฟอร์มการค้าออนไลน์ อย่างเป็นลำเป็นสัน จากเขตที่ราบปากแม่น้ำโขง ทางตอนใต้ของประเทศ เกษตรกรสวนทุเรียนขยายกิจการ ไปยังเขตที่ราบสูงภาคกลาง กลายเป็นทุเรียนพันธุ์ดีที่นั่น มีการจดทะเบียนรับรองเป็นผลไม้ปลอดสารพิษ ทางการท้องถิ่นติดตรารับรองให้ อย่างเป็นทางการ 
       
       จากการปลูกแบบลองผิดลองถูก วันนี้เกษตรกรจำนวนไม่น้อย เริ่มนำเทคโนโลยีเข้าช่วย ทำให้สามารถสั่งการผ่านโทรศัพท์มือถือ ให้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ รดน้ำทุนเรียน จากที่ไหนก็ได้ และ รดได้ในทุกเวลาที่ต้องการ จากที่เคยต่อสู้กับราคาตกต่ำสุดขีดในฤดูเก็บเกี่ยว เกษตรกรรายหนึ่งลงทุน สร้างระบบห้องเย็นทันสมัยขึ้นมา แช่เย็นและแช่แข็งทุเรียนเอาไว้ เพื่อจำหน่ายนอกฤดูกาล ซึ่งได้ราคาดีกว่า
       
       ทั้งหมดนี้คือ รายละเอียดส่วนหนึ่งเกี่ยวกับเกษตรกรสวนทุเรียน ในคอมมูนเฟื้อกเหลิก (Phước Lộc) อำเภอดะฮวาย (Đạ Huoai) จ.เลิมโด่ง (Lâm Đồng) ที่เป็นแหล่งผลิตทุเรียนคุณภาพดี ปลอดสารพิษ ทุเรียนจากที่นี่ได้รับประกันในด้านคุณภาพ ความนุ่มเนียน หอมหวาน ของพันธุ์หมอนทอง ที่ปลูกจากเขตดินภูเขา ในที่ราบสูงตอนกลางของประเทศ ภายใต้เครื่องหมายการค้าจดทะเบียน เป็น "ทุเรียนดะฮวาย"
       
       ภาพที่เผยแพร่โดยสื่อของทางการวันสองวันมานี้ แสดงให้เห็นผลทุเรียนที่ให้พูใหญ่ เนื้อหนานุ่ม สีเหลืองอร่าม ไม่ต่างกับพันธุ์หมอนทองที่ปลูกในภาคตะวันออกของไทย และ แตกต่างอย่างสิ้นเชิง จากทุเรียนที่ปลูกในเขตที่ราบปากแม่น้ำโขงเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งให้เนื้อออกมาสุกแดง เนื้อเละ ไม่แน่น กลิ่นค่อนข้างฉุน ซึ่งว่ากันว่าเป็นพันธุ์ที่ไปจากประเทศฟิลิปปินส์ แต่ในวันนี้แทบจะไม่มีให้เห็นอีกแล้ว
       
       อำเภอดะฮวาย อยู่ห่างจากเมืองด่าลัต (Đà Lạt) เมืองท่องเที่ยวตากอากาศ ที่มีชื่อเสียงของเวียดนามในจังหวัดเดียวกัน เป็นระยะทางประมาณ 150 กิโลเมตร ในอำเภอนี้มีเกษตรกรสวนทุเรียนราว 1,000 ครอบครัว รวมเป็นเนื้อที่ประมาณ 2,000 เฮกตาร์ (12,500 ไร่) แต่ปัจจุบันมีเพียง 15 ครอบครัวกับสวนราว 20 เฮกตาร์ (250 ไร่) ที่ผลิตทุเรียนได้มาตรฐานของอำเภอ และ ได้ติดป้ายเป็น "ทุเรียนดะฮวาย" รับประกันคุณภาพ
       
       ไม่ต้องแปลกใจเลย เพราะอะไรจึงทำให้การปลูกทุเรียนที่นี่ ก้าวหน้าไปไกลกว่าที่อื่นๆ ก็เพราะว่า เกษตรกรทั้ง 15 ครอบครัวนั้น มีพื้นเพดั้งเดิม อยู่ที่อำเภอกายเลย (Cai Lậy) จ.เตี่ยนซยาง (Tiền Giang) ซึ่งได้ชื่อเป็นสวนผลไม้ ในเขตที่ราบปากแม่น้ำโขง ที่นั่นมีสวนทุเรียนอยู่นับหมื่นๆ ไร่ ทั้ง 15 ครอบครัว อพยพไปปักหลักที่คอมมูนเฟื้อกเหลิก อ.ดะฮวาย จ.เลิมโด่ง มาเป็นเวลากว่า 15 ปีแล้ว นำประสบการณ์ที่สั่งสมมาหลายชั่วอายุคน ไปเริ่มต้นใหม่ในเขตเขา
       
       นายเหวียนวันเติม (Nguyễn Văn Tâm) เกษตรกรวัย 56 ปีกล่าวว่า มาตรการหนึ่งที่กำหนดคุณภาพของทุเรียนดะฮวายก็คือ เกษตรกรที่นั่นจะไม่ตัดทุเรียนอ่อน หรือ "ทุเรียนเขียว" ออกจำหน่ายอย่างเด็ดขาด แต่จะตัดก่อนถึงกำหนด ที่จะสุกค้างต้นไม่เกิน 10 วัน การทำผิดพลาดแค่ครั้งเดียว อาจทำให้ผู้บริโภคขาดความเชื่อถือไปตลอดกาล
       
       นายเติมบอกว่า เมื่อครั้งพวกเขาอพยพ ไปยังคอมมูนเฟื้อกเหลิก ได้พบว่าที่นั่นปลูกทุเรียนอยู่ก่อนแล้ว แต่เป็นพันธุ์ที่คุณภาพไม่ดีนัก ปัจจุบันเกษตรกรเกือบทั้งหมด หันไปใช้กิ่งพันธุ์จาก จ.เตี่ยนซยาง เพื่อให้เป็น "ทุเรียนดะฮวาย" มาตรฐานเดียวกัน ทุเรียนที่ตัดปีแรกให้เนื้อดี กลิ่นหอม แต่ลูกเล็ก เกษตรกร 15 ครอบครัว กลับไปยังที่ราบปากแม่น้ำโขงอีกหลายครั้ง พัฒนากิ่งตอน เพื่อคัดพันธุ์ใหม่ จนกระทั่งได้ผลิตลูกที่ได้มาตรฐาน "เหวียดแก๊ป" (VietGAP หรือ Vietnamese Good Agricultural Practices) คือ การเกษตรแบบยั่งยืนและปลอดภัย เกษตรกรที่เหลือในอำเภอเดียวกัน ก็กำลังดำเนินรอยตามกันไป
       . 

เวียดนามกลายเป็นสวนทุเรียนใหญ่ เนื้อที่หลายหมื่นไร่ไฮเทคอีกต่างหาก

นายเหวียนวันเติม (Nguyễn Văn Tâm) โชว์ตู้ควบคุมที่สวนทุเรียนของเขา ระบบที่ติดตั้งในตู้ใบนี้ จะรับข้อความเป็นคำสั่งจากเขา ผ่านโทรศัพท์มือถือ เพื่อเปิดน้ำราดต้นทุเรียนจากข้างขน ลงสู่ราก เป็นการ "รดน้ำ" แบบเวียดๆ ระบบนี้ยังสั่งให้ปุ๋ยแบบเวียดๆ ได้อีกด้วย. -- Photo Courtesy of Tuoi Tre Online.
       
2

       นายเจิ่นกิมเจื่อง (Trần Kim Trường) แห่งสำนักงานการเกษตรและพัฒนาชนบท อ.ดะฮวาย กล่าวว่า เกษตรกรทุเรียนที่นั่น พยายามขอมาตรฐานเครื่องหมายการค้าจากทางการ ตั้งแต่สามปีที่แล้ว แต่ในที่สุดทุกคนก็ได้พบว่า ตนเองยังไม่พร้อม จนกระทั่งเมื่อต้นปีนี้ จึงสามารถทำตามมาตรฐานได้เป็นครั้งแรก
       
       ปัจจุบันมีเกษตรกรจำนวนหนึ่ง ซึ่งแต่ละครอบครัวมีสวนทุเรียน ตั้งแต่ 2-5 เฮกตาร์ (12.5-31.25 ไร่) ได้ลงทุนติดตั้ง ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้สามารถ "สั่งการจากทางไกล" รดน้ำต้นทุเรียนได้เป็นรายต้น โดยปล่อยน้ำจากส่วนบน ราดลงไปตามลำต้น ซึ่งถือเป็นการคิดค้นใหม่ ทำให้เกิดความชุ่มชื้นตั้งแต่บนลำต้น ลงไปจนถึงราก วิธี "สั่งทางไกล" นี้ ยังประยุกต์ใช้กับการให้ปุ๋ยต้นทุเรียนในสวนอีกด้วย
       
       นายเหวียนวันเติม ก็เป็นหนึ่งในบรรดาเจ้าของสวน ที่รดน้ำทุเรียน โดยส่งข้อความสั่งการผ่านโทรศัพท์มือถือ ไปยังระบบที่ควบคุมการจ่ายน้ำด้วยไฟฟ้า ทำให้เกษตรกรอย่างเขา ไม่ต้องเคร่งเครียดกับเรื่องนี้จนเกิดไป และ ไม่ต้องจ้างแรงงานจำนวนมาก ในการจัดการ
       
       นายเหวียนฮว่างเวิน (Nguyễn Hoàng Vân) เกษตรกรอีกคนหนึ่งกล่าวว่า การติดตั้งระบบให้น้ำ-ปุ๋ย โดยสั่งการผ่านโทรศัพท์มือถือนี้ มีมูลค่าเท่าๆ กับ การจำหน่ายทุเรียนราว 3 เฮกตาร์ (เกือบ 19 ไร่) แต่สามารถช่วยประหยัดค่าจ้างแรงงานได้ในระยะยาว และ ยังมีเวลาทำอย่างอื่นได้อีกมากมายในชีวิตประจำวัน
       
       เกษตรกรอีกหลายครอบครัวยังคงค้นคิดไปเรื่อยๆ ในการหาทางเพิ่มผลผลิต แต่ลดต้นทุนลงในขณะเดียวกัน หลายครอบครัวได้พบว่า การปล่อยให้วัชชพืชบางชนิด ขึ้นปกคลุมสวนนั้น แท้จริงแล้วช่วยรักษาความชุ่มชื้นของดินได้เป็นอย่างดี วัชชพืชยังช่วยเพิ่มฮิวมัส หรือมูลดินที่มีแร่ธาตุอาหาร แทนที่จะคอยแย่งสารที่มีประโยชน์ต่อต้นทุเรียน ตามที่เคยได้ยินมาก่อนหน้านี้ เพราะฉะนั้นสวนทุเรียนบางแห่งของเกษตรกร ในเขต อ.ดะฮวาย จึงมีหญ้าขึ้นสูงเพียงเข่า
       
       นายเหวียนฮายเจิว ( Nguyễn Hải Châu) เกษตรคนหนึ่งกล่าวว่า เขาได้เรียนเกี่ยวกับเทคนิคนี้ ตอนไปฝึกอบรมจากเจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอ โดยวัชชพืชสามารถช่วยรักษาความชุ่มชื้น ของผืนดินที่ค่อนข้างจะแห้งแล้งในเขตที่ราบสูงได้เป็นอย่างดี
       . 


เวียดนามกลายเป็นสวนทุเรียนใหญ่ เนื้อที่หลายหมื่นไร่ไฮเทคอีกต่างหาก

ภาพโฆษณา "ทุเรียนหมอนทองเวียดนาม" ของผู้ส่งออกรายหนึ่ง ใน Alibaba.Com
       
3


เวียดนามกลายเป็นสวนทุเรียนใหญ่ เนื้อที่หลายหมื่นไร่ไฮเทคอีกต่างหาก

ภาพโฆษณา Vietnam Monthong Durian (ทุเรียนหมอนทองเวียดนาม) ของผู้ส่งออกเวียดนามรายหนึ่ง ในอาลีบาบา.
       
4


เวียดนามกลายเป็นสวนทุเรียนใหญ่ เนื้อที่หลายหมื่นไร่ไฮเทคอีกต่างหาก

บริษัทนี้สามารถส่งทุเรียนหมอนทองให้ลูกค้าได้ 14 คอนเทนเนอร์ (ขนาด 40 ฟุต) ต่อสัปดาห์ ซื้อขั้นต่ำ 900 กล่อง/ลัง (ไม่ทราบน้ำหนัก/จำนวน) ราคาต่อหน่วย 260-386 หยวน (1,274-1,891.4 บาท) ส่งถึงหลายปลายทางใหญ่.
       
5

       แต่นั่นก็ไม่ใช่ทั้งหมด ช่วงท้ายฤดูเก็บเกี่ยว เกษตรกรจะพากันเติมจุลินทรีย์ลงในดิน ไถ เกลี่ย เพื่อผึ่งแดด ช่วยกำจัดแบคทีเรียที่ไม่พึงประสงค์ ช่วยลดการใช้ยากำจัดแมลงลงได้ เขากล่าวอีกว่า แรกๆ ก็ไม่มีใครเชื่อในทฤษฏีของเขา จนกะทั่งได้เห็นผลผลิตที่ออกมาดีกว่า และ ยังเห็นตัวเลขประหยัด จากการไม่ต้องซื้อยาฆ่าแมลง กับ ยากำจัดวัชชพืชอีกด้วย
       
       อย่างไรก็ตาม ในอำเภอนี้ นายฝ่าม วัน ยเวื้อก ( Phạm Văn Dược) เจ้าของสวนทุเรียนวัย 42 ปี ดูจะคิดไปไกลกว่าคนอื่นๆ ในแง่การตลาด เขาเพียรพยายามหาทางที่จะรักษาทุเรียนเอาไว้จำหน่ายนอกฤดูกาล หลังจากโดนพ่อค้ากดราคาอย่างหนัก ในหน้าทุเรียนออกมาล้นตลาด เขาพยายามคิดค้น ทั้งวิธีแช่แข็ง และ บ่มเอาไว้นานๆ ลองผิดลองถูกมาหลายปี
       
       ในที่สุดนายยเวื้อก ได้ตัดสินใจจ่ายไป 400 ล้านด่ง (ราว 617,000 บาท) ตั้งโรงงานของตัวเองขึ้นมา ในเขตสวนทุเรียนแห่งนี้ ประกอบด้วยห้องปลอดเชื้อที่ทันสมัย กับระบบแช่เย็น และ ระบบแช่แข็ง นอกจากทุเรียนจากสวนของตัวเองแล้ว เขายังรับซื้อจากสวนของเพื่อนเกษตร ในราคาที่ยุติธรรม นำเข้ากรรมวิธีถนอมอาหาร เพื่อส่งจำหน่าย หลังฤดูทุเรียนผ่านพ้นไป โดยผ่านร้านค้าทั้งในกรุงฮานอย และ นครโฮจิมินห์ กับในอีกหลายจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งทำให้ได้ราคาดี
       
       ตลาดโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดใหญ่จีน อาจไม่รู้จัก "ทุเรียนดะฮวาย" จากที่ราบสูงภาคกลางเวียด แต่ทุกคนรู้จักเป็นอย่างดีเกี่ยวกับ "ทุเรียนหมอนทองเวียดนาม" ซึ่งเป็นผลไม้ดีมีคุณภาพ ซึ่งถ้าหากค้นหาในโลกออนไลน์วันนี้ ก็จะพบคำตอบมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอะลีบาบา (Alibaba.Com) เว็บไซต์ค้าส่ง-ค้าปลีกยักษ์ใหญ่ของนายแจ็ค หม่า จะให้คำตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้มากกว่าที่อื่นๆ
       
       เกษตรกรสวนทุเรียนเวียดนาม ดูจะได้เปรียบผู้ปลูกในประเทศเพื่อนบ้านรอบข้าง เนื่องจากอยู่ใกล้จีนมากกว่า และการขนส่งสะดวกรวดเร็วกว่า นอกจากส่งข้ามแดนเข้าสู่จีนโดยตรงแล้ว ผู้ส่งออกในเวียดนามหลายราย ได้ใช้ "แพล็ตฟอร์ม" อาลีบาบา ติดต่อลูกค้าในแผ่นดินใหญ่ โดยเสนอ "ทุเรียนหมอนทองเวียดนาม" ที่พร้อมส่งถึงปลายทางใหญ่เกือบจะทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นนครเซี่ยงไฮ้ ชิงเต่า เสฉวน หูเป่ย จนถึงกรุงปักกิ่ง. 

สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เวียดนามกลายเป็นสวนทุเรียนใหญ่ เนื้อที่หลายหมื่นไร่ไฮเทคอีกต่างหาก

view