สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สถาปนิกสยาม ถอดบทเรียน ป้อมมหากาฬ ปธ.ชุมชนขอบคุณวิกฤต25ปี ก่อสำนึกรักบ้านเกิด

จากประชาชาติธุรกิจ

เมื่อวันที่ 28 พ.ค. เวลาประมาณ 14.30 น. ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยรังสิต จัดงาน “ถอดบทเรียนจากค่าย MAHAKAN VERNADOC by ASA & RSU จากเส้นสายสู่เป้าหมายในการอนุรักษ์และพัฒนาย่านชุมชนเก่าอย่างเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา สู่กรุงเทพมหานคร 250 ปี” โดยมีการพูดคุยถึงบทสรุปการเรียนรู้คุณค่าป้อมมหากาฬ โดยทีมอาสาสมัคร Mahakan VERNADOC

จากนั้น เป็นการนำเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการถอดบทเรียนคุณค่าการเป็นแหล่งเรียนรู้ วิทยากร ได้แก่ ผศ.สุดจิต (เศวตจินดา) สนั่นไหว อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.รังสิต, นางภารนี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการด้านผังเมือง, ผศ.ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์ ประธานกรรมาธิการสถาปนิกเพื่อสังคมและเมือง สมาคมสถาปนิกสยามฯ, นายฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที ผู้บริหารหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร, นายธวัชชัย วรมหาคุณ ประธานชุมชนป้อมมหากาฬ และนายศานนท์ หวังสร้างบุญ กลุ่มมหากาฬโมเดล ดำเนินรายการโดย นายทิววัฒน์ ภัทรกุลวณิชย์

นายฉัตรวิชัย กล่าวว่า กรุงเทพเป็นเมืองที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ประกอบด้วยชุมชนมากมาย ทั้งยังมีพื้นที่กว้าง มีลานชุมชน มีต้นไม้ใหญ่ หากเสนอโครงการให้กทม.ทำชุมชนนี้ให้เป็นตัวอย่าง เป็นการให้เกียรติและศักดิ์ศรีแก่ประชาชน จะเป็นไปได้หรือไม่ ตอนนี้เป็นมิติใหม่ มีคนรุ่นหนุ่มสาวเข้าไปช่วยเหลือมากมาย ตนมองว่าประวัติศาสตร์ มี 3 อย่าง ได้แก่ ประวัติศาสตร์ชาติ ประวัติศาสตร์ชุมชน และประวัติศาสตร์ปัจเจกบุคคล หวังว่าในอนาคตจะมีกรุงเทพที่สามารถโชว์ประเทศอื่นได้ว่า ใน 250 ปี เรามีอะไร

นายธวัชชัย วรมหาคุณ ประธานชุมชนป้อมมหากาฬ กล่าวว่า ชุมชนของตนเป็นเพียงจิ๊กซอว์ตัวเล็กๆ ต่อเติมในย่านเมืองเก่า แต่หากหายไปก็เป็นไปไม่ได้ที่ภาพจะเกิดความสมบูรณ์ ปัจจุบัน สาธารณชนทั้งหมดถูกท้าทายเรื่องการจัดการเมือง อย่างไรก็ตาม ต้องขอขอบคุณวิกฤตที่เกิดขึ้น เพราะหากไม่เกิดปัญหาการไล่รื้อที่ยาวนานถึง 25 ปี ก็จะไม่คิดถึงการแก้ไข ทุกคนมุ่งเน้นแต่ทำมาหากิน หันหลังให้วิถีชีวิต โดยไม่คิดว่า เราได้อะไรมา และจะเสียอะไรไป วิกฤตดังกล่าว ทำให้ชาวชุมชนหลุดจากการเป็นมนุษย์ กลับมาเป็น ‘พลเมือง’

“ตลอดช่วงเวลาที่เกิดปัญหา 25 ปี เราไม่ได้ท้าทายอำนาจรัฐ แต่แสดงศักยภาพการเป็นพลเมือง ถ่ายทอดให้ลูกเด็กเล็กแดงมีสำนึกรักบ้านเกิด ทุกวันนี้ชุมชนเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพหุภาคี คณาจารย์ และกลุ่มเยาวชนที่ลงพื้นที่ สร้างปฏิสัมพันธ์ เพื่อก่อเกิดกิจกรรมในการสร้างสรรค์ สมาคมสถาปนิกสยาม ทำให้รู้ว่านอกจากบ้านจะคุ้มฟ้าฝน ยังเป็นสถานที่มีคุณค่าและความทรงจำ” นายธวัชชัยกล่าว

นายทิววัฒน์ ภัทรกุลวณิชย์ กล่าวว่า ในฐานะ ‘คนนอก’ ที่มองเข้าไปตั้งแต่สมัยยังเป็นเด็กวิ่งเล่นแถววัดสระเกศเมื่อ 25 ปีก่อน ยอมรับว่าไม่กล้าเข้าไปในชุมชน เนื่องจากเป็นพื้นที่ปิด ทุกชุมชนเป็นหมด วันหนึ่งเมื่อวิธีคิดเปลี่ยน มีการเปิดพื้นที่ให้คนเข้าไปเรียนรู้ ทำให้เห็นถึงการยื่นมือเข้าไปช่วยของผู้คนมากมาย เราปฏิเสธทุนนิยมไม่ได้ แต่จะทำอย่างไรให้ชุมชนมีจังหวะก้าวไปพร้อมกันกับเมืองที่กำลังขยายตัวทุกวัน

ผศ.ดร.สุพิชชา กล่าวว่า ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยเห็นที่ไหน มีนักวิชาการรวมตัวเท่าที่ชุมชนป้อมมหากาฬ จุดแข็งของที่นี่คือการที่ยังมีชีวิต ยังหายใจ ไม่ใช่ปราสาทที่ถูกทิ้งร้างแล้วเอาคนไปแต่งตัวแบบโบราณ ชาวบ้านยังเล่าเรื่องของตัวเองได้ มีวัฒนธรรมประเพณีอย่างการ ‘สมาพ่อปู่’ แม่บ้านในชุมชนก็พร้อมจะหมุนไปกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐเรียกร้อง ไม่ได้ขัดแย้งกับไทยแลนด์ 4.0 เลย แม้แต่เด็กๆก็ตกลงกันเองว่าจะออกเงินกันวันละ 1 บาทเพื่อเก็บไว้ทำกิจกรรม

ผศ.ดร.สุพิชชา ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า ‘สาธารณะที่ขาดความเป็นเจ้าของคือภาระของรัฐ’ นางสุวรรณ แววพลอยงาม ผู้นำชุมชนนางเลิ้ง ซึ่งมาร่วมงานในฐานะผู้ฟัง ลุกขึ้นกล่าวว่า ชุมชนในย่านพระนครมีประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตร่วมกัน มีต้นทุนมหาศาล เครือข่ายชุมชนในย่านเมืองเก่าจะไม่ทอดทิ้งชุมชนป้อมมหากาฬ หากชุมชนดังกล่าวซึ่งต่อสู้มาอย่างยาวนานและมีคนเข้ามาช่วยเหลือมากมายขนาดนี้ยังสู้ไม่ไหว ชุมชนอื่นจะระเนระนาดเป็นเหมือนโดมิโน่ ตอนนี้กำลังสร้างชุดข้อมูลความรู้ให้ชุมชนนางเลิ้งเพื่อเป็นวิทยายุทธ น่าแปลกใจมากที่กำลังสำคัญกลับเป็นผู้สูงอายุ

ผศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร อาจารย์คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร กล่าวว่า ชุมชนป้อมมหากาฬเป็นแหล่งโบราณคดีที่มีชีวิต เป็นสิ่งที่ทั่วโลกอยากได้ เพราะมีคนที่ยังสืบทอด ทั้งการตั้งถิ่นฐานและความทรงจำ เป็นสิ่งที่สร้างคุณค่ามหาศาล

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศในงานว่ามีผู้เข้าร่วมจากหลากหลายแวดวง รวมถึงชาวบ้านจากชุมชนต่างๆในกรุงเทพ อาทิ ชุมชนป้อมมหากาฬ ชุมชนนางเลิ้ง ชุมชนบ้านพานถม และชุมชนมัสยิดตึกดิน เป็นต้น

ที่มา มติชนออนไลน์


#eosgear,#ถุงมือกันบาด,#อะไหล่ victorinox,#victorinox มือสอง,#cutting resistance glove,ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : สถาปนิกสยาม ถอดบทเรียน ป้อมมหากาฬ ปธ.ชุมชนขอบคุณวิกฤต25ปี ก่อสำนึกรักบ้านเกิด

view