สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กสทช.จับมือ 3 หน่วยงาน เอาผิดไอเอสพี หากเนื้อหาผิดกฎหมายค้างในระบบ

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

       กสทช.ร่วมกับ ดีอี, ปอท. และหน่วยงานความมั่นคง สั่งให้ผู้ให้บริการไอเอสพี และไอไอจี ล้างเนื้อหาผิดกฎหมายที่เคยมีหมายศาลแล้ว แต่ยังค้างในระบบออกให้หมดภายใน 7 วัน พร้อมนำทุกฎหมายบูรณาการเอาผิดอย่างจริงจัง
       
       พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) พร้อมด้วย พล.อ.ภุชพงศ์ พงษ์ศิริ ประธานที่ปรึกษากระทรวงกลาโหม, นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. และ น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ร่วมกันแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเกี่ยวกับผลการประชุม เรื่อง CDN (Content Delivery Network) ที่ กทค.ต้องสรุปให้ได้ว่า อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานใด เพื่อให้สามารถทำงานเกี่ยวกับการปราบปรามเว็บผิดกฎหมายในประเทศไทยที่มีการเข้ารหัสได้ โดย กทค.มีการประชุมตั้งแต่เวลา 12.00 น. ที่สำนักงาน กสทช.
       
       พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า การประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมนัดพิเศษ เพื่อให้การกำกับดูแลชัดเจนขึ้น แม้ว่า กสทช.จะมี พ.ร.บ. กสทช. พ.ศ.2553 เป็นหลัก แต่บาง พ.ร.บ.ของ กสทช.ไม่มีอำนาจในการดำเนินการ จึงต้องร่วมมือกันดำเนินการกับทุกภาคส่วน มีการบูรณาการของทุกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
       
       ขณะที่นายฐากร กล่าวว่า ที่ประชุม กทค.ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าดาต้า เซ็นเตอร์, เซิร์ฟเวอร์ และ CDN หรือระบบการเก็บข้อมูลเข้าข่ายการให้บริการประเภทที่ 1 ของ กสทช.จึงมีมติให้สำนักงาน กสทช.ทำหนังสือแจ้งผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต หรือไอเอสพี และผู้ให้บริการโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ (ไอไอจี) ดำเนินการแยกข้อมูลที่ผิดกฎหมายตามที่ได้เคยมีหมายศาลแจ้งออกจากระบบของผู้ให้บริการ ภายใน 7 วัน หลังจากครบกำหนด กสทช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงดีอี, กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ปอท.) และหน่วยงานด้านความมั่นคง จะทำการตรวจสอบฐานข้อมูลของผู้ให้บริการ หากพบว่า ในเครื่องแม่ข่ายของผู้ให้บริการยังมีข้อมูลที่ผิดกฎหมายอยู่ กสทช.จะใช้กฎหมายของ กสทช.ในการเอาผิด ตั้งแต่การปรับ พักใช้ และเพิกถอนใบอนุญาต ขณะที่กระทรวงดีอี และ ปอท.จะดำเนินการตามกฎหมาย พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ได้
       
       “พรุ่งนี้ (27 เม.ย.) เราจะทำหนังสือแจ้งไปยังผู้ให้บริการ นับเวลา 7 วันตั้งแต่ได้รับหนังสือ จากนั้น ต้องฟังเหตุผลของผู้ให้บริการก่อนว่า หากเอาออกไม่ได้เพราะอะไร เราจะไม่ปล่อยระยะเวลาให้ผ่านไปเหมือนเมื่อก่อน ถ้ามีปัญหา เราก็พร้อมจะช่วย”
       
       ด้าน น.อ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา กระทรวงดีอี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย เพื่อจัดการกับการนำเสนอข้อมูลที่มีผลกระทบกับความมั่นคง และศีลธรรมอันดี โดยได้ปรับการทำงานของทุกหน่วยงานให้ง่ายขึ้น รวมถึงการนำข้อมูลที่เป็นคำสั่งศาลในคดีความผิดต่างๆ ขึ้นมาไว้บนแพลตฟอร์มของกระทรวงเพื่อให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถตรวจสอบ และดำเนินการตามมาตรการที่เกิดขึ้น เป็นการสอบทานว่า มีการดำเนินการนำข้อมูลที่ผิดกฎหมาย และมีคำสั่งศาลถึงไอเอสพีแล้วออกจากระบบมากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ หากไอเอสพี มีอุปสรรคในการนำข้อมูลออกระบบ ให้ไอเอสพี แจ้งมายังกระทรวงเพื่อดำเนินการให้ความช่วยเหลือได้
       
       “ที่ผ่านมา ดีอี, ปอท. และหน่วยงานความมั่นคง รวมถึง กสทช.มีการปรับการทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องตามขั้นตอนของกฎหมายอยู่แล้ว คือ ต้องมีคำสั่งศาล แต่การประชุมครั้งนี้เป็นการปรับการทำงานให้ง่ายเป็นแพลตฟอร์มเดียวกัน เราทำมา 2 ปีแล้ว ให้ไอเอสพี, ไอไอจี มาดูตรงแพลตฟอร์มนี้ และผู้ให้บริการมีความเข้าใจตรงกันแล้ว เพราะมีการประชุมกันหลายครั้งแล้ว แต่การส่งจดหมายให้ กสทช. เพื่อให้ กสทช.ส่งต่อให้ไอเอสพี และไอไอจีนั้น เป็นการตรวจสอบหมายศาลที่เคยมีคำสั่งไปแล้วว่า ยังมีเนื้อหาหลงเหลืออยู่ในระบบหรือไม่ เป็นการเตือนให้ทำก่อนวันที่ 24 พ.ค.ที่จะถึงนี้ พ.ร.บ.คอมพ์ ฉบับใหม่จะมีผลบังคับใช้ จึงแจ้งเตือนให้ตรวจสอบ ถ้าทำไม่ได้อย่างไร เราจะช่วยดูแลให้”
       
       ส่วน พล.อ.ภุชพงศ์ กล่าวว่า ขอให้ประชาชนอย่าได้ตระหนกตกใจการดำเนินการครั้งนี้ เพราะจะทำเฉพาะกับบุคคลที่มีความผิด และมีเจตนาไม่ดีเท่านั้น ประชาชนผู้สุจริตจะไม่ได้รับผลกระทบอะไรทั้งสิ้นขอให้สบายใจได้ 


eosgear,ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : กสทช.จับมือ 3 หน่วยงาน เอาผิดไอเอสพี หากเนื้อหาผิดกฎหมายค้างในระบบ

view