สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จี้จุด จัดการ ขยะในท้องทะเลไทย

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

        ผุด Upcycling the Oceans, Thailand แห่งแรกในเอเชีย 
       การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด(มหาชน) และมูลนิธิอีโคอัลฟ์ (Ecoalf) ร่วมแถลงเปิดตัวโครงการ “Upcycling the Oceans, Thailand” 
       คาดหวังให้ตระหนักถึงการเก็บขยะตามแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลของไทย และนำมารีไซเคิลพัฒนาเป็นสินค้าที่เพิ่มมูลค่า รวมถึงการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศไทย ในฐานะจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวที่ให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อมและรับผิดชอบต่อสังคม
       
       เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการทิ้งขยะลงทะเลมากที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลก และถือว่าเป็นอันดับแรกหากเปรียบเทียบกับอัตราส่วนต่อจำนวนประชากร วัตถุประสงค์ของโครงการ Upcycling the Oceans, Thailand ในระยะเวลา 3 ปี จึงต้องการให้คนไทยตระหนักถึงการเก็บขยะในสถานที่ท่องเที่ยวทางทะเลที่สำคัญ เช่น เกาะสมุย เกาะภูก็ต และเกาะเสม็ด เป็นต้น 

จี้จุด จัดการ “ขยะในท้องทะเลไทย”
        

จี้จุด จัดการ “ขยะในท้องทะเลไทย”
        

จี้จุด จัดการ “ขยะในท้องทะเลไทย”
ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
        ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการทางทะเล กล่าวถึง “การอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง” มีใจความสำคัญว่า “แต่ละปีประเทศไทยทิ้งขยะลงทะเลมากกว่า 1 ล้านตัน โดยที่ร้อยละ 80 ของขยะในท้องทะเลไม่ได้เกิดจากชุมชนอยู่ริมทะเลเท่านั้น แต่ยังเกิดจากแม่น้ำลำคลอง และธุรกิจท่องเที่ยวที่ก่อขยะ ปัจจุบัน สัตว์ทะเลจำนวนมากต้องตายเพราะกินขยะเข้าไป แต่สิ่งที่น่ากลัวกว่านั้น คือ “ไมโครพลาสติก” ซึ่งเกิดขึ้นจากพลาสติกที่ย่อยสลายจนมีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร หากว่าปลาหรือสัตว์น้ำกินเข้าไป แล้วมนุษย์ก็ไปบริโภคปลาเหล่านั้น ทำให้ไมโครพลาสติกเข้ามาอยู่ในร่างกายมนุษย์ ถึงแม้จะไม่สามารถยืนยันถึงอันตรายจากไมโครพลาสติดในร่างกาย แต่คงไม่มีใครอยากให้มีไมโครพลาสติกอยู่ในท้องตัวเองแน่”
       
       “หากไทยไม่เร่งดำเนินการอย่างจริงจังกับขยะในท้องทะเล จะถูกกดดันจากนานาประเทศมากขึ้น เนื่องจากขยะในท้องทะเลสามารถลอยตามกระแสน้ำไปได้ทั่วโลก ไม่ได้อยู่เฉพาะในบริเวณน่านน้ำของไทยเท่านั้น ทุกวันนี้แทบทุกประเทศทั่วโลกจึงให้ความสำคัญกับปัญหาขยะในทะเลเป็นอันดับต้นๆ”
       
       ด้าน ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ( ททท.) กล่าวว่า “การท่องเที่ยวถือเป็นอุตสาหกรรมที่ทำรายได้ให้ประเทศไทยเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวจากการประเมินของ World Economic Forum (WEF) ได้จัดอันดับให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 35 โดยด้านที่ประเทศไทยได้คะแนนน้อยมาก คือ “ความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม” ซึ่งก็เกิดจากปัญหาขยะ น้ำเสีย โดยขาดการจัดการอย่างมีคุณภาพ
       
       “ททท.จึงมองหาทางแก้ไขปัญหา โดยมี พีทีที โกลบอล เคมิคอล ได้แสดงออกถึงความต้องการในการจัดการขยะพลาสติกอย่างจริงจัง และมีนวัตกรรมเกี่ยวกับเม็ดพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเข้ามาร่วม รวมถึงมูลนิธิอีโคอัลฟ์จากสเปน ซึ่งมีประสบการณ์ และสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับขยะในทะเลได้”
       
       สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ บริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ พีทีทีจีซี กล่าวว่า "บริษัทฯ ในฐานะผู้ผลิตเม็ดพลาสติก มีส่วนได้เสียโดยตรงกับขยะพลาสติกในทะเล มีความมุ่งมั่นในการสร้างการเติบโตทางธุรกิจควบคู่กับการดำเนินกิจกรรมเพื่อชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อมภายใต้แนวทาง Sustainable Business ในการดำเนินโครงการ Upcycling the Oceans, Thailand เพื่อลดปริมาณขยะในทะเลและลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล ครงการนี้มุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากขยะพลาสติกอย่างคุ้มค่าโดยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่เพิ่มมูลค่าได้ ไม่ใช่นำมาผลิตสินค้าราคาถูก เพราะต้นทุนการรีไซเคิลสูง”
       
       “นอกจากนี้ในฐานะผู้นำด้านธุรกิจเคมีภัณฑ์จะเข้ามาร่วมรณรงค์การนำขยะขวดพลาสติกใสหรือขวด PET และขยะจากพลาสติกโพลิเอทิลีน (PE) ในทะเลและพื้นที่ชายฝั่ง มาใช้ซ้ำโดยการแปรรูปในอุตสาหกรรมเสื้อผ้า ด้วยนวัตกรรมการผลิตเป็นเส้นใยสังเคราะห์และพัฒนาและออกแบบเป็นเสื้อผ้าและสินค้าแฟชั่นที่มีมูลค่าที่สูงขึ้นตามแนวคิดเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากขยะพลาสติกอย่างคุ้มค่าและช่วยประหยัดพลังงานและน้ำในการผลิตในอุตสาหกรรมช่วยลดมลพิษ ในทะเลและช่วยฟื้นฟูและดูแลแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลให้มีความอุดมสมบูรณ์และสวยงาม” สุพัฒนพงษ์ กล่าวเสริม 

จี้จุด จัดการ “ขยะในท้องทะเลไทย”
        ฮาเวียร์ โกเยนิเช่ ประธานและผู้ก่อตั้งมูลนิธิอีโคอัลฟ์ ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มโครงการUpcycling the Oceans ในประเทศสเปน ตั้งแต่ปี 2558 เล่าถึงจุดเริ่มต้นว่าว่า “ต้องการจะทำบริษัทเสื้อผ้าแฟชั่น ที่ไม่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ช่วงแรกเริ่มต้นจากยางรถยนต์ จนกระทั่งวันหนึ่งได้เจอกับชาวประมงที่ชวนไปดูขยะในทะเล ทำให้ตนได้ตระหนักว่าในทะเลมีขยะอยู่ในปริมาณมาก จึงนำขยะจากทะเลเมดิเตอร์เรเนียนมาแปรรูปเป็นสินค้าแฟชั่นภายใต้แบรนด์ "อีโคอัลฟ์" ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้บริโภค และได้ต่อยอดความสำเร็จสู่ประเทศอื่นที่ประสบปัญหาด้านขยะในทะเลเช่นเดียวกัน”
       
       “ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่มีการดำเนินโครงการ Upcycling the Oceansโดยมูลนิธิฯ ได้ร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และพีทีที โกลบอล เคมิคอลเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ดำเนินการจัดเก็บขยะในทะเลไทยอย่างเป็นระบบ ซึ่งเชื่อว่าทุกประเทศทั่วโลกมีปัญหานี้เหมือนกัน แต่ขึ้นอยู่กับว่าจะมีการลงมือทำอย่างจริงจังเหมือนกับไทยหรือไม่ โดยตลอดกระบวนการการจัดเก็บ แปรรูป และพัฒนาเป็นเสื้อผ้าและสินค้าแฟชั่นจะดำเนินการในไทย รวมทั้งการสร้างความตระหนักของปัญหาและผลกระทบของขยะในทะเลซึ่งมีขยะพลาสติกในมหาสมุทรทั่วโลกถึง 269,000 ตัน หรือ 2.25 ล้านล้านชิ้น”
       
       สำหรับขั้นตอนการดำเนินการนั้น จะเน้นไปที่การให้ความรู้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ รวมถึงนักท่องเที่ยวทั่วไปที่สนใจร่วมเป็นอาสาสมัคร เกี่ยวกับการเก็บขยะจากท้องทะเลและพื้นที่ชายฝั่ง รวมถึงวิธีการคัดแยกขยะที่ถูกต้อง เพื่อนำมาแปรรูปขยะพลาสติกเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยพื้นที่เป้าหมายในการจัดเก็บขยะในทะเลไทยของโครงการ Upcycling the Oceans, Thailand ได้แก่ ฝั่งทะเลตะวันออก (เกาะเสม็ดจังหวัดระยอง) ฝั่งทะเลอ่าวไทย (เกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี) และ ฝั่งทะเลอันดามัน(จังหวัดภูเก็ต) ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของประเทศ ซึ่งคาดหวังว่า โครงการUpcycling the Oceans, Thailand จะเป็นการขับเคลื่อนที่นำไปสู่การลดปริมาณขยะในทะเลไทยอย่างยั่งยืนต่อไป 

eosgear,ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : จี้จุด จัดการ ขยะในท้องทะเลไทย

view