สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พาณิชย์ไฟเขียว 7 บ.อาหารกุ้งนำเข้าข้าวสาลี 110,000 ตัน

จากประชาชาติธุรกิจ

ผู้ผลิตอาหารกุ้ง-สัตว์เลี้ยง 7 รายเฮ!! พาณิชย์ปลดล็อกมาตรการบีบซื้อข้าวโพดสต๊อก 3 เปิดโอกาสให้นำเข้าข้าวสาลี 1.3 แสนตันได้



ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2560 นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง พาณิชย์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) เพื่อพิจารณาข้อร้องเรียนจากผู้ผลิตอาหารสัตว์ 7 รายที่ขอให้ผ่อนปรนการใช้มาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวโพดในประเทศที่กำหนดให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์จะต้องซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ 3 ส่วนเพื่อจะได้นำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปลายปี 2559 

โดยกลุ่มแรก 6 บริษัท ประกอบด้วย 1) เจริญโภคภัณฑ์อาหาร 2) เบทาโกร 3) ลีพัฒนาอาหารสัตว์ 4)อินเทคค์ ฟีด 5)ไทยยูเนียน ฟีดมิลล์ 6) ที อาร์ เอฟ ฟีดมิลล์ เสนอให้ผ่อนผันมาตรการโดยอ้างเหตุผลว่า บริษัทผลิตอาหารกุ้งไม่ได้ใช้ข้าวโพดเป็นส่วนผสม แต่ใช้ข้าวสาลีคุณภาพสูงเป็นส่วนผสมเพราะมีเปอร์เซ็นต์ของโปรตีนสูงกว่าวัตถุดิบอื่น

"ที่ประชุมมีมติยกเว้นให้กลุ่มผู้ผลิตอาหารกุ้งสามารถนำเข้าข้าวสาลีมาผลิตอาหารกุ้งได้สัดส่วน 10% ของกำลังการผลิตหรือคิดเป็นปริมาณ 110,000 ตันโดยไม่ต้องใช้มาตรการซื้อข้าวโพด 3 ต่อ 1 และมีเงื่อนไขว่าบริษัทจะต้องมีการแจ้งแผนการผลิตที่ชัดเจนโดยให้กรมปศุสัตว์และกรมประมงเป็นผู้ตรวจสอบการผลิตว่าเป็นไปตามแผนการผลิตจริงหรือไม่ โดยขณะนี้มีผู้ผลิตเพียง 3 บริษัทที่ขึ้นทะเบียนกับกรมประมงว่าเป็นผู้ผลิตอาหารกุ้งเพียงอย่างเดียว คือ ไทย ยูเนียน ฟีดมิลล์, ลีพัฒนาอาหารสัตว์และเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จึงต้องตรวจสอบตัวเลขกำลังการผลิตและความสามารถในการผลิตที่แท้จริงเพื่อป้องกันไม่ให้มีการสวมสิทธิ์นำเข้าข้าวสาลีเกรดต่ำมาผสมอาหารสัตว์ เพื่อไม่ซื้อข้าวโพดในประเทศ" 

และที่ประชุมยังมีมติให้ปรับลดอัตราการกำหนดสัดส่วนการนำเข้าข้าวสาลีต่อการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ จากอัตราส่วน 3 ต่อ 1 เป็นอัตราส่วน 2 ต่อ 1 สำหรับบริษัท มาร์ส เพต แคร์ จำกัด ซึ่งชี้แจงว่าไม่ได้ใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง และจำเป็นต้องนำเข้าข้าวสาลีปีละ 20,000 ตัน และซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศปีละ 40,000 ตัน 

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาอนุมัติหลักการให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) ระบายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในสต๊อกรัฐบาล จากโครงการแทรกแซงราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปี 51/52 ปริมาณ 84,134.73 ตัน จากปริมาณที่เหลือในสต๊อกทั้งสิ้น 94,168.98 ตัน ตามที่ อคส. เสนอ โดยข้าวโพดดังกล่าวมีข้อยุติในส่วนของคดีความทางกฎหมายแล้ว อีกทั้งเก็บรักษามาเป็นนานเกือบ 10 ปีจนเสื่อมคุณภาพ จึงต้องระบายออกให้หมด เพื่อลดภาระค่าเก็บรักษาเดือนละราว 7 ล้านบาท ทั้งนี้ อคส.จะเจรจากับเจ้าของคลังสินค้า หรือผู้ซื้อที่เสนอราคาซื้อสูงสุดในแต่ละคลัง แล้วนำเสนอประธาน นบขพ.พิจารณาอนุมัติขาย และ อคส.ต้องกำหนดมาตรการไม่ให้นำข้าวโพดลอตนี้กลับเข้าสู่วงจรตลาดปกติด้วย

ส่วนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในสต๊อกรัฐที่เหลืออีกจำนวน 10,034.25 ตันนั้น ที่ประชุมมีมติให้ อคส. ดำเนินการหาข้อยุติในส่วนของคดีความโดยเร็ว เพื่อให้นำมาระบายให้หมดต่อไป โดยข้าวโพดลอตนี้ อคส.ได้ฟ้องร้องเจ้าของคลังสินค้า ที่อคส.เช่าฝากเก็บในข้อหาผิดสัญญาฝากเก็บรักษาทรัพย์ ละเมิดสิทธิ ยึดหน่วง เพื่อให้เจ้าของคลังสินค้าส่งมอบข้าวโพด หรือชำระค่าเสียหายให้กับ อคส. 85.291 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม มติที่ประชุมทั้งหมด จะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบในเร็ว ๆ นี้

ส่วนประเด็นราคารับซื้อข้าวโพดในประเทศทางเกษตรกรได้ร้องขอให้มีการพิจารณา ราคารับซื้อ กก.ละ 8 บาททั่วประเทศ หรือหากไม่สามารถปรับขึ้นราคารับซื้อข้าวโพดให้เท่ากันทั่วประเทศได้ก็ควรที่จะพิจารณาทบทวนปรับภาษีนำเข้าข้าวสาลี ซึ่งขณะนี้อยู่ที่ 0% จากก่อนหน้านี้ในปี 2557 อยู่ที่ 7% เพื่อไม่ให้มีการนำเข้าวัตถุดิบราคาต่ำเข้ามาจนส่งผลกระทบกับพี่น้องเกษตรกรในประเทศ

ด้านนายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กล่าวว่า ในสัปดาห์นี้ทางสมาคมจะรวบรวมรายละเอียดแผนการผลิตอาหารกุ้งของสมาชิกให้กับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อพิจารณาให้นำเข้าข้าวสาลีสำหรับผลิตอาหารกุ้ง โดยเบื้องต้นประมาณการว่าจะมีปริมาณความต้องการนำเข้าข้าวสาลีมากกว่า 110,000 ตันเล็กน้อย จากที่ทราบมีผู้ผลิตเฉพาะอาหารกุ้งเพียงอย่างเดียว 7-8 ราย ส่วนที่เหลือเป็นผู้ผลิตที่ผลิตอาหารสัตว์ชนิดอื่นด้วย

"ก่อนหน้านี้ทางสมาชิกก็แจ้งกับกระทรวงพาณิชย์ให้ขอยกเว้นใช้มาตรการกับข้าวสาลีสำหรับอาหารกุ้งแล้ว แต่ทางกระทรวงยืนยันว่าจะต้องออกประกาศทั้งฉบับไปก่อน ทำให้บางรายต้องยกเลิกการนำเข้าข้าวสาลีที่อยู่ระหว่างการขนส่งทางเรือ และถูกเรียกเก็บค่าปรับซึ่งคิดเป็นมูลค่าความเสียหายหลายร้อยล้านบาท แต่ขณะนี้ผลจากที่ไม่สามารถนำเข้าข้าวสาลีได้อาจจะกระทบต่อการผลิตอาหารกุ้งเพื่อซัพพลายให้กับตลาดในระยะต่อไป เพราะสต๊อกอาหารกุ้งที่มีอยู่ก็ใกล้จะหมด อย่างไรก็ตามยืนยันว่าจะไม่มีการใช้เหตุผลนี้ในการปรับขึ้นราคาจำหน่ายอย่างแน่นอน"


eosgear,ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : พาณิชย์ไฟเขียว 7 บ.อาหารกุ้งนำเข้าข้าวสาลี 110 , 000 ตัน

view