สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กรีนพีซ เดินหน้าลดขยะท้องทะเลไทย

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

       "เลิกกันได้มั้ย เลิกใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง เพื่อทะเลของเรา” 
       
       งานนิทรรศการศิลปะจากขยะพลาสติก “HEART for the Ocean : บอกรักทะเล บอกเลิกพลาสติก” เมื่อช่วงวาเลนไทน์ที่ผ่านมา สะท้อนให้ทุกคนได้ตระหนัก ตื่นตัวถึงปัญหาพลาสติกที่ส่งผลต่อท้องทะเล เพียงเริ่มต้นง่ายๆ ใช้ประโยชน์พลาสติกซ้ำ อย่าใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง 

กรีนพีซ เดินหน้าลดขยะท้องทะเลไทย
        

กรีนพีซ เดินหน้าลดขยะท้องทะเลไทย
ใต้มหาสมุทรของโลก รวมท้องทะเลไทย ถูกกลืนกินด้วยคลื่นขยะ ไม่ว่าจะเป็นจากพลาสติกห่อลูกอม ถุงพลาสติก โฟม กระป๋อง ขวด หรือสิ่งของจากการอุปโภคบริโภคของเราทุกคนทุกวัน ส่วนหนึ่งเห็นจากชายหาด
        ปัจจุบันกรีซพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังรณรงค์อย่างต่อเนื่อง “ I love my Ocean ลดขยะพลาสติก คืนชีวิตให้มหาสมุทร” เป็นการรณรงค์ล่าสุดเพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วมโดยการร่วมบริจาค และจะมีรายงานผลผ่านทางโซเชียลมีเดีย (หลังจากที่ผู้รับข่าวสารตอบรับโดยสมัครใจเข้าร่วมปกป้องมหาสมุทรกับกรีนพีซแล้ว) 
       เพราะเชื่อว่าความสมัครใจของทุกคนในวันนี้จะเป็นหนึ่งพลังสนับสนุนให้สามารถทำงานศึกษาวิจัย จัดทำเอกสารและกิจกรรมรณรงค์ ผลักดันในเชิงนโยบายเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่การปกป้องสิ่งแวดล้อมในระยะยาว 

กรีนพีซ เดินหน้าลดขยะท้องทะเลไทย
เย็บ ซาโน ผู้อำนวยการบริหารกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
        คนไทยต้องตื่นตัว รับรู้ และมีส่วนร่วม
       เป็นผลสืบจากประเทศไทยเคยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 6 ของโลก ที่ปล่อยขยะพลาสติกลงมหาสมุทรโดยนิตยสารวิทยาศาตร์‘sciencemag’ เมื่อปี 2010 เพื่อหาที่มาของขยะที่ปนเปื้อนอยู่ในมหาสมุทรของโลก และคาดการณ์ด้วยว่าอีก 10 ข้างหน้าสถานการณ์ขยะในมหาสมุทรจะหนักหน่วงขึ้น
       “การรณรงค์ให้ผู้บริโภคลดใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งตั้งแต่ต้นทางช่วยลดปัญหาขยะใต้ทะเลที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตในทะเล กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงจัดกิจกรรม "Heart for the Ocean : บอกรักทะเล บอกเลิกพลาสติก" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ I Love my ocean (สร้างรักให้ทะเล)เมื่อวันที่ 14-19 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อต้องการสื่อถึงคนไทยตื่นตัวต่อปัญหาขยะจำนวนมากที่ถูกทิ้งลงทะเล และรับรู้ว่านั่นเป็นเพียงเสี้ยวเดียวของปัญหาขยะในทะเล ยังมีที่ซ่อนอยู่ใต้ท้องทะเล ใต้ผืนทราย หรือแม้แต่ในตัวของสัตว์น้ำ” เย็บ ซาโน ผู้อำนวยการบริหารกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว
       เขาเล่าว่า ย้อนไป 20 ปีก่อน มหาสมุทรเป็นที่หลบภัยของนักดำน้ำอย่างตน มีจุดดำน้ำสุดโปรดที่เหมือนสวนใต้น้ำ เจอปะการังหลากสี ดอกไม้ทะเล ปลาสวยงาม แต่วันนี้เมื่อกลับไปที่เดิมอีกกลับได้พบขยะมากมาย ทั้งถุงพลาสติก ผ้าอ้อมเด็ก ขวดน้ำ ถุงพลาสติก ส่วนปะการังก็ถูกทำลายด้วยการตกปลาแบบใช้ระเบิดไดนาไมต์ งาน Heart for the Ocean ครั้งนี้ เกิดจากความเชื่อในพลังแห่งการเปลี่ยนแปลง ถ้ามาที่นี่จะได้เห็นขยะพลาสติกกลายเป็นชิ้นงานศิลปะสวยงาม ผมจึงหวังว่าเมื่อได้ซาบซึ้งกับงานศิลปะจะช่วยกันปกป้องทะเลและมหาสมุทร ลดและเลิกใช้พลาสติก
       "ทุกปีมนุษย์ผลิตพลาสติกใช้มากถึง 300 ล้านตัน เท่ากับน้ำหนักช้าง 55 ล้านตัว และจะมีพลาสติกประมาณ 10 ล้านตันเล็ดลอดเข้าไปอยู่ในท้องทะเลและมหาสมุทรทุกปี เรามีวิกฤติพลาสติกอยู่ในมือ ถ้าไม่แก้ไขลูกหลานจะได้รับมรดกนี้ พลาสติกมันทนมากกว่าที่ธรรมชาติจะทำลายมัน ทะเลไม่ใช่ที่อยู่ของพลาสติกจำนวนมาก เราต้องการชีวิตที่ปราศจากพลาสติก ซึ่งทุกคนร่วมสร้างได้" 

กรีนพีซ เดินหน้าลดขยะท้องทะเลไทย
เวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหัวข้อ “ศิลปะ ขยะ ทะเล” กับเหล่าบรรดาผู้คนเปลี่ยนโลก ได้แก่ อัญชลี พิพัฒนวัฒนากุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้, ฐิตินันท์ ศรีสถิต คนต้นแบบด้านการลดใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง, ศักดาเดช สุดแสวง ผู้นำเครือข่าย Trash Hero, อาจารย์ป้อม ประสพสุข เลิศวิริยะปิติ ศิลปินสร้างสรรค์ผลงานในงานเปิดนิทรรศการ HEART for the Ocean : บอกรักทะเล บอกเลิกพลาสติก ซึ่งสะท้อนถึงปัญหาพลาสติกในท้องทะเลไทย
        

กรีนพีซ เดินหน้าลดขยะท้องทะเลไทย
นิทรรศการศิลปะจากขยะพลาสติก “HEART for the Ocean : บอกรักทะเล บอกเลิกพลาสติก” เมื่อช่วงวาเลนไทน์ที่ผ่านมา
        สถานการณ์ที่แย่ลงทุกวัน สอดรับกับข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษในปี 2558 ซึ่งพบว่า ประเทศไทยมีปริมาณขยะพลาสติกและโฟมมากถึง 2.7 ล้านตัน หรือเฉลี่ย 7,000 ตันต่อวัน แบ่งเป็นขยะพลาสติกร้อยละ 80 หรือ 5,300 ตันต่อวัน เช่นเดียวกับที่องค์การมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐ ชี้ผลกระทบขยะในทะเลทำให้นกทะเลตายปีละหนึ่งล้านตัว เพราะกินเศษพลาสติกเข้าไป นอกจากนี้ พลาสติกขนาดเล็กและสารพิษอาจปนเปื้อนในห่วงโซ่อาหาร จากปลาใหญ่กินปลาเล็ก ท้ายสุดอาจส่งผลต่อคน 

กรีนพีซ เดินหน้าลดขยะท้องทะเลไทย
อัญชลี พิพัฒนวัฒนากุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
        ชี้จัดการขยะให้ได้ผล ต้องเริ่มจากต้นทาง
       อัญชลี พิพัฒนวัฒนากุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวถึงขยะพลาสติกซึ่งเกิดจากการกินดื่มใช้ชีวิตประจำวันและระบบการคัดแยกขยะของไทยที่มีปัญหา ทำให้มีปริมาณขยะจำนวนมาก ไม่เฉพาะพลาสติก หลุดเข้าสู่แหล่งน้ำสาธารณะ คูคลอง และออกสู่ทะเล จากการสำรวจล่าสุดเดือนมกราคม 2560 ที่ผ่านมา ก็พบขยะจำนวนมากลอยอยู่ในคลองลาดพร้าวใกล้บึงพระราม 9 ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ เมื่อเกิดฝนตกหนัก ขยะขวางทางระบายน้ำ แล้วยังมีที่คลองหัวลำโพงหลังชุมชนคลองเตยมีขยะลอยเกลื่อน ส่วนใหญ่จากกิจกรรมของคน และเป็นไปได้จะเล็ดลอดสู่ทะเล เพราะการจัดการขยะไร้ประสิทธิภาพ
       “แนวทางแก้ปัญหาสำคัญต้องเริ่มจากตัวเองก่อน คือ ลดใช้พลาสติกที่มีอายุการใช้งานสั้น เช่น เราใช้เวลา 5 นาที ในการใช้หลอดหรือดื่มน้ำจากขวดพลาสติก แต่หลอดใช้เวลาเป็นร้อยปีในการย่อยสลาย ขณะที่ขวดพลาสติกไม่น้อยกว่า 450 ปี ย่อยสลายยาก เพราะโมเลกุลมีความเหนียวแน่นและทนทานสูง"
       หัวใจสำคัญปรับพฤติกรรมลดใช้พลาสติก ซึ่งไม่ได้ยาก หรือทำให้ชีวิตลำบากอย่างที่คิด พกขวดน้ำ กล่องข้าว เลิกใช้หลอด อยากให้คนไทยตระหนักปัญหาที่เกิดขึ้นมากกว่านี้ ระยะยาวอยากเห็นการปัดฝุ่นนโยบายพลาสติก ผลักดันให้เกิดการปฏิบัติจริง กรณีแพขยะกลางทะเลอ่าวไทยสร้างความตื่นตระหนกและเกิดกระแสชั่วคราว แต่ปัญหาขยะในทะเล ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน ผู้ประกอบการ นำไปสู่การลดใช้พลาสติกแต่ต้นทาง
       อัญชลี แสดงทัศนะเห็นด้วยกับภาครัฐที่กำลังผลักดันกฎหมายห้ามแจกถุงพลาสติกในจังหวัดริมชายฝั่งของประเทศไทย เพื่อลดปริมาณขยะ กฎหมายนี้ควรมี แต่อาจไม่ใช่ทางออกของปัญหาทั้งหมด ยังมีแนวทางอื่นๆ ที่น่าส่งเสริม อาทิ สนับสนุนผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์จากวัสดุย่อยสลายได้เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคหรือสนับสนุนนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ คงไม่ใช่เพียงแค่ทำพลาสติกย่อยสลายให้เล็กลง เพราะท้ายที่สุดพลาสติกก็ไม่ได้หายไปไหน กลับตกค้างในสภาพแวดล้อม
       ส่วนการรีไซเคิลต้องยอมรับว่า โรงงานรีไซเคิลก็สร้างผลกระทบทำให้เกิดมลพิษทางอากาศและน้ำเช่นกัน ฉะนั้น การแก้ปัญหาต้องไม่สร้างปัญหาใหม่และผลักภาระให้ผู้บริโภค สุดท้ายฝากถึงโครงการลดใช้ถุงพลาสติกในห้างสรรพสินค้า ที่รัฐจับมือกับภาคเอกชนสิบกว่าแห่ง จำเป็นต้องมีการประเมินผลที่ชัดเจนและมีความต่อเนื่องถึงจะสร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมลดใช้พลาสติกได้อย่างแท้จริง 

กรีนพีซ เดินหน้าลดขยะท้องทะเลไทย
อาสาเยาวชนกรีนพีซ ร่วมกันเก็บขยะที่ชายหาดบางแสน
        เครือข่าย Trash Hero ผู้พิชิตขยะ
       ความตื่นตัวต่อปัญหาขยะในทะเลยังบอกเล่าผ่าน ศักดาเดช สุดแสวง ผู้นำเครือข่าย Trash Hero นักธุรกิจผู้ผันตัวมาเป็นผู้พิชิตขยะ ปัจจุบันมีเครือข่ายทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ สมาชิกกว่า 30,000 คน ช่วยบรรเทาปัญหาขยะที่หลุดรอดลงทะเล
       ศักดาเดช บอกว่า จากปัญหาขยะจำนวนมหาศาลในทะเล กลุ่มนี้จึงก่อตั้งขึ้นเมื่อสามปีก่อนที่เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล สมาชิกเริ่มต้นเพียง 5 คน เราลงเรือไปเก็บขยะ พบขยะเยอะมาก เก็บเท่าไหร่ก็ไม่หมด ขยะไม่ได้อยู่กลางทะเลเท่านั้น แต่จากชายฝั่งเข้าไป 100 เมตร หรือแม้แต่ใต้ทรายชายหาด ทำงาน 5 ชม.ต่อวัน จากหลีเป๊ะก็ได้รับการติดต่อไปตามเกาะแก่งและชายหาดต่างๆ และมีอาสาสมัครพิชิตขยะเพิ่มขึ้นเป็นร้อย
       "ทีวี ตู้เย็น ล้อรถแทรกเตอร์ แล้วยังขยะพลาสติก 3 ปี มีปริมาณขยะเรากู้ขึ้นมา 300 ตัน ปกติจะใช้เรือขนย้ายขยะออกจากพื้นที่ ค่าจ้างเรือคือขยะที่คนเรือจะนำไปขายต่อสร้างรายได้ ขวดพลาสติกนับแสนขวด รองเท้าแตะ 90,000 ข้าง เรานำไปรีไซเคิลกลายเป็นรองเท้าจากขยะ ส่วนที่สะเทือนใจสุดเวลาทำงาน คือ เจอศพปลา เต่า ตายจากการกินเศษพลาสติก รัฐไม่เคยมีนโยบายจริงจังเรื่องขยะพลาสติก แล้วจะหยุดกระบวนการผลิตที่นำขยะปริมาณมหาศาลมาสู่สิ่งแวดล้อมได้อย่างไร ผมเห็นว่าทุกคนต้องช่วยลดใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง" ผู้นำเครือข่าย Trash Hero ย้ำให้สังคมรีบตื่นตัวต่อผลกระทบดังกล่าว 

กรีนพีซ เดินหน้าลดขยะท้องทะเลไทย
ประเทศไทยเคยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 6 ของโลก ที่ปล่อยขยะพลาสติกลงมหาสมุทร
         
       ขยะในมหาสมุทร ทิ้งแล้วไม่แล้วไป?
       • พลาสติกที่เราทิ้งไปนั้นไม่สามารถย่อยสลายได้ หรือใช้เวลานานนับร้อยปีกว่าจะย่อยสลาย แต่จะแตกตัวเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ซึ่งมักจะถูกปลาหรือสัตว์ทะเลอื่น ๆ กินเข้าไป ข้อเท็จจริงนี้ผิดจากที่นักวิทยาศาสตร์เคยคิดไว้ว่าพลาสติกจะแตกตัวต่อเมื่อสัมผัสกับอุณหภูมิที่สูง และใช้เวลานานหลายร้อยปี แต่อันที่จริงแล้วนักวิจัยค้นพบว่าสามารถแตกตัวได้ในอุณหภูมิที่ไม่สูงนัก และภายในหนึ่งปีที่ขยะพลาสติกลงสู่ทะเล
       • สารพิษทวีคูณ สารพิษในพลาสติกจะสะสมมากขึ้น เนื่องจากการกินกันในห่วงโซ่อาหาร จากปลาเล็กสู่ปลาใหญ่ และในที่สุดมาถึงจานอาหารของมนุษย์ ผู้ที่อยู่บนยอดของห่วงโซ่อาหาร
       • พลาสติกในมหาสมุทรนั้น สามารถดูดซับสารพิษในน้ำทะเลได้ ราวกับฟองน้ำ ซึ่งอาจมีความเป็นพิษมากกว่าน้ำทะเลอย่างทวีคูณหลายล้านเท่า เรียกได้ว่า นอกจากสารพิษในตัวของมันเองแล้ว ยังมีการดูดซึมสารพิษอื่นในทะเลมาอีกด้วย
       • สารประกอบที่อันตรายของพลาสติก ได้แก่ ตะกั่ว แคดเมียม ปรอท รวมถึง ดีอีเอชพี (DEHP) ซึ่งเราอาจพบสารพิษเหล่านี้ได้ในปลาทะเล
       • สารพิษในพลาสติกเหล่านี้อาจก่อโรคร้ายต่างๆ ได้ อาทิ เป็นสารก่อมะเร็ง ส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย และพัฒนาการของร่างกายในวัยเด็ก
       • สาร BPA สารตั้งต้นเพื่อใช้ในการผลิตพลาสติก ซึ่งมีส่วนในการรบกวนการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อของร่างกาย เป็นสาเหตุของโรคหลายโรคได้แก่ โรคมะเร็ง โรคหัวใจ เบาหวาน และโรคตับ ถึงแม้เราจะเลือกบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารที่ปราศจากสาร BPA แต่หาก BPA แตกตัวอยู่ในท้องทะเลและเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร เราก็จะได้รับผลกระทบจากสารพิษชนิดนี้เช่นกัน 

อี.โอ.เอส เกียร์,ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต,#มีดดามัสกัส,#เหล็กดามัสกัส

Tags : กรีนพีซ เดินหน้าลดขยะท้องทะเลไทย

view