สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สถาปนิกสยามฯร้อนใจ ปม ป้อมมหากาฬ เผย3ใน10หลังจ่อถูกรื้อ อยู่ในรายชื่อเสนออนุรักษ์

สถาปนิกสยามฯร้อนใจ ปม“ป้อมมหากาฬ” เผย3ใน10หลังจ่อถูกรื้อ อยู่ในรายชื่อเสนออนุรักษ์

จากประชาชาติธุรกิจ

สมาคมสถาปนิกสยามฯ รับ ร้อนใจปม “ป้อมมหากาฬ” เผย 3 ใน 10 หลังที่จะถูกรื้ออยู่ในรายชื่อเสนออนุรักษ์ ยันที่ประชุมอนุกรรมการกรุงฯ 16 ก.พ. เห็นพ้อง


เมื่อวันที่ 3 มี.ค. ผศ. สุดจิต (เศวตจินดา) สนั่นไหว ในฐานะอุปนายกฝ่ายกิจกรรมเมือง และนโยบายสาธารณะ สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า ตนได้ทราบข่าวเกี่ยวกับการเตรียมรื้อถอนบ้านในชุมชนป้อมมหากาฬ ในวันจันทร์ที่ 6 มี.ค.ที่จะถึงนี้ โดยเป็นบ้านที่เจ้าของสมัครใจ อย่างไรก็ตามบ้าน 3 หลังในจำนวน 10 หลังที่จะถูกรื้อถอน อยู่ในรายการบ้าน 24 หลังที่สมาคมสถาปนิกสยามฯ ได้จัดทำข้อเสนอ และที่ประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองและพิจารณาแผนดำเนินงานในกรุงรัตนโกสินทร์ เห็นด้วยที่จะให้อนุรักษ์ไว้ เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ โดยมีตัวแทนจากหลายฝ่าย ทั้งกรุงเทพมหานคร สำนักผังเมือง รวมถึงประธานคณะอนุกรรมการฯ กรุงรัตนโกสินทร์ เป็นต้น ซึ่งมติที่ประชุมเห็นพ้อง แต่เมื่อมีการประกาศการรื้อถอนกลับมีเลขที่บ้านเหล่านั้นออกมาด้วย

“รู้สึกว่ากลไกของเราทำงานไม่ทันกับความต้องการของ กทม. ทางสมาคมฯ มีการทำข้อเสนออย่างมีเหตุมีผลตามหลักการ และมาตามช่องทางโดยเคารพกลไกของรัฐ โดยส่งเอกสารถึงพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า รวมถึงส่งสำเนาถึง รมว.มหาดไทย และผู้ว่ากทม. ทั้งนี้ในที่ประชุมเมื่อวันที่ 16 ก.พ.ที่มีตัวแทนจากหลายฝ่ายก็เห็นพ้องกับข้อเสนอนี้ เสียดายว่ารายงานการประชุมในวันนั้น ยังไม่ออก เท่าที่ตรวจสอบ ได้รับแจ้งว่าจะออกในสัปดาห์หน้า แต่กำหนดรื้อคือวันจันทร์ที่ 6 มี.ค.นี้แล้ว สำหรับบ้าน 24 หลังที่เสนอไปนั้น ทางสมาคมฯ พิจารณาจากคุณค่าของความเป็นมรดกสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นซึ่งสร้างจากไม้ อันเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของคนไทยที่เคยมีอย่างมาต่อเนื่อง แต่ปัจจุบันนี้นับวันที่จะหมดไป เราให้ความเห็นว่า ถ้าอยากทำเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตจริงๆ ควรอนุรักษ์ไว้ทั้งบ้านที่เด่นๆ และบ้านที่ประกอบเข้าเป็นชุมชน เพื่อแสดงถึงความเป็นย่าน และนำเสนอวิถีชีวิตของความเป็นชุมชนอาคารไม้ที่ใกล้เคียงกับความจริงให้มากที่สุด เหมือนที่หลายประเทศเขาทำ โดย กทม.เพียงแค่ปรับปรุงสภาพ และปรับประโยชน์ใช้สอย ให้สอดคล้องกับกิจกรรมใหม่ จะเป็น community mall หรืออะไรก็ตามแต่ ก็จะเป็นการพัฒนาบนทุนเดิมที่มีอยู่ โดยไม่ต้องลำบากสร้างขึ้นมาใหม่” ผศ.สุดจิตกล่าว

สำหรับบ้าน 24 หลังที่สมาคมสถาปนิกสยามเสนอให้อนุรักษ์ ผศ.สุดจิตกล่าวว่า มีการพิจารณาจากคุณค่าของการเป็นมรดกสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่สร้างด้วยไม้ แบ่งเป็น 3 ยุค ได้แก่

1. บ้านไม้โบราณเรือนไทยเดิมใต้ถุนสูง (สมัยก่อนรัชกาลที่ 5) จำนวน 2 หลัง
2. บ้านไม้โบราณเรือนไทยอิทธิพลตะวันตก (สมัยรัชกาลที่ 5-7) จำนวน 14 หลัง
3. บ้านครึ่งปูนครึ่งไม้ร่วมสมัย (สมัยรัชกาลที่ 9)จำนวน 8 หลัง



ที่มา มติชนออนไลน์ 


เริ่มแล้วรื้อ"ป้อมมหากาฬ"อีกระลอก ฟันธง 4 หลัง วงเจรจาราบรื่น รองผู้ว่าฯไม่ขัดอนุรักษ์ นัดคุย8มี.ค.

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

สืบเนื่องกรณีไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬที่ยืดเยื้อมานานเข้าสู่ปีที่ 25 โดย กทม. ประกาศรื้อถอนบ้านในชุมชนจำนวน 10 หลัง ในวันนี้ (6 มีนาคม) ล่าสุดเมื่อเวลาประมาณ 08.00 น. ที่ลานกลางชุมชน ได้มีการจัดตั้งวงเจรจาพูดคุยระหว่างชาวบ้าน เจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานคร ทหาร และนักวิชาการ

นางสุดจิต (เศวตจินดา) สนั่นไหว จากสมาคมสถาปนิกสยาม กล่าวว่า ถ้ามองว่าการพัฒนาที่จะเดินหน้าต่อไปตามแนวคิดเรื่องพิพิธภัณฑ์มีชีวิต ตนมองว่าควรอนุรักษ์บ้านซึ่งมีหลากหลายยุคสมัย โดยเน้นมองไปที่ "ความเป็นย่าน" ไม่ใช่เฉพาะบ้านแต่ละหลังเท่านั้น โดยทางสมาคมเสนอให้เก็บบ้านจำนวน 24 หลัง ซึ่งเป็นตัวแทนของช่วงเวลาต่างๆ ตั้งแต่ก่อนสมัยรัชกาลที่ 5 มาจนถึงยุครัชกาลที่ 5 ซึ่งได้รับอิทธิพลตะวันตก จนมาถึงบ้านครึ่งตึกครึงไม้ ซึ่งเป็นตัวแทนของอาคารในรัชสมัยที่เพิ่งผ่านพ้นไป



"อยากเสนอให้กรุงเทพมหานครซื้อบ้านเหล่านี้คืนด้วยซ้ำไปปัจจุบันไม่เหลืองานฝีมือไม้แล้ว ฉะนั้นควรเก็บไว้ โดยเน้นที่ความเป็นย่าน ก่อนหน้านี้ได้พานักศึกษามาสำรวจโดยได้ทุนจากสมาคมสถาปนิกสยาม เขียนภาพลายเส้นออกมา ซึ่งทำให้เห็นรายละเอียดต่างๆ ของงานศิลปะและสถาปัตยกรรม และยืนยันว่าการอนุรักษ์ไม่จำเป็นต้องแข็งเกร็ง ไม่ใชมัมมี่ แต่สามารถปรับประโยชน์ใช้สอยได้ โดยเป็นการทำงานร่วมกัน ตัวอย่างบ้านที่เสนอให้เก็บไว้ เช่น บ้านเลขที่ 99 ซึ่งอยู่บริเวณลานชุมชน บ้านเลขที่ 97 คือบ้านหลอมทอง บ้านเลขที่ 109 คือบ้านตำรวจวังริมน้ำ บ้านเลขที่ 123 บ้านขายน้ำประปา และบ้านเลขที่ 129 คือบ้านดนตรีไทย การเล่าเรื่องราวควรมีเนื้อหา ไม่ขาดวิ่น ต้องมีการสำรวจบ้านทั้ง 24 หลังให้ละเอียด" นางสุดจิตกล่าว และตบท้ายว่า อยากชวนให้เจ้าหน้าที่ กทม. มาเขียนแบบบ้าน ซึ่งตนยินดีที่จะสอนให้ด้วยตัวเอง

นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ประเด็นเรื่องการอนุรักษ์บ้าน กทม. คงไม่ขัด แต่น่าจะต้องมีการพุดคุยกันในรายละเอียดถึงที่มาที่ไปว่าแต่ละหลังมีประวัติศาสตร์อย่างไร จะได้มีข้อพิจารณา มีหลักการที่แน่ชัด ตนยอมรับว่า ไม่มีความรู้ในเรื่องดังกล่าว จึงต้องฟังความเห็นและข้อมูลจากผู้มีความรู้ที่มีความเป็นกลาง ต่อจากนี้ ขอให้มาเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ เบื้องต้นขอนัดหมายพูดคุยอีกครั้งเวลา 09.00 น. ในวันพุธที่ 8 มีนาคม สำหรับวันนี้ กทม. จะรื้อ 4 หลัง ซึ่งเจ้าบ้านสมัครใจ ส่วนหลังที่ยังมีประเด็น จะยังไม่รื้อ โดยอาจจะเหลือมากหรือน้อยกว่า 24 หลัง ตามที่สมาคมสถาปนิกสยามเสนอมาก็ได้ เรื่องแบบนี้ หากยึดกฎหมายอย่างเดียวจะไม่เหลืออะไร แต่ถ้าตนไม่ทำตามกฎหมาย ก็มีความผิดเช่นกัน

นายชาตรี ประกิตนนทการ กล่าวว่า ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เฉพาะเรื่องจำนวนบ้าน จะเห็นว่ามีความเห็นไม่ตรงกัน 3 แบบ คือ กทม. บอกจะเก็บไว้ 16 หลัง สมาคมสถาปนิกสยาม บอก 24 หลัง ส่วนตนเสนอ 19 หลัง โดยดูจากแผนที่เก่ายุคต้นรัชกาลที่ 5 ซึ่งระบุผังละเอียด สามารถเทียบเคียงกันได้ ส่วนตัวมองว่า ต้องเริ่มคุยโดยไม่ยึดตัวเลข



นายธวัชชัย วรมหาคุณ ประธานชุมชนป้อมมหากาฬ กล่าวว่า ตนจะคืนพื้นที่ให้ กทม.ให้มากที่สุด แต่ขอมีส่วนร่วมบริหารจัดการ ปัจจุบันมีบรรยากาศที่ดี มีการตั้งวงพูดคุยหาทางออก ซึ่งต้องขอขอบคุณทหารที่เข้ามาเป็นสื่อกลางระหว่างชาวบ้าน กับเจ้าหน้าที่ กทม. ทั้งนี้ขอยืนยันจุดยืนของชาวป้อมมหากาฬว่าระหว่างการเผชิญหน้าระหว่างกฎหมายกับประวัติศาสตร์ ขอให้ตนได้เป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์และพัฒนาแบบมั่นคงยั่งยืน มีข้อสรุปเชิงบวก ขอเอาชีวิต 25 ปีของตนและชาวบ้านกลับคืนมา

นางภารนี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการอิสระด้านผังเมือง กล่าวว่า เห็นด้วยว่าต้องมีการพูดคุยกัน ขอให้เปลี่ยนความขัดแย้งเป็นความคิดร่วม ตนเข้าใจดีเรื่องกฎหมาย แต่คิดว่าอาจมีทางออก ที่ผ่านมากลุ่มสถาปนิกได้จัดทำข้อเสนอต่างๆ เช่น เรื่องสวนกับชุมชน

นายยุทธพันธ์ มีชัย เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ตนเข้าใจดีเรื่องการเคารพสิทธิชุมชน แต่ขอให้ชุมชนเข้าใจประเด็น "สิทธิส่วนบุคคล" ที่เจ้าของไม่ประสงค์จะอยู่อาศัยต่อไป ก็อย่าขัดขวาง ใครอยากไป ก็ให้เขาไป ตนไม่อยากให้ชุมชนหวาดระแวง เพราะไม่มีเจตนาละเมิดสิทธิชุมชน

หากชาวบ้านลดความกดดันเวลาเจ้าหน้าที่เข้ามาในพื้นที่ จะดูดีกว่านี้ และตนจะได้มีภาระงานน้อยลง วันนี้จะได้รื้อเสร็จสิ้น 4 หลัง

นายไมเคิล เฮิร์ซเฟล อาจารย์คณะมนุษยวิทยามหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ซึ่งเดินทางมายังชุมชนป้อมมหากาฬ แสดงความคิดเห็นในวงเจรจาว่า ตนทำงานวิจัยเกี่ยวกับชุมชนมานานกว่า 13 ปี พบกว่าชาวบ้านต้องการมีส่วนร่วม แต่กทม. ยังไม่เข้าใจแนวคิดเรื่องวิถีชีวิต ส่วนตัวเชื่อว่าถ้ากลุ่มสถาปนกทำงานกับชาวบ้านเช่นนี้โดยสามารถดำเนินโครงการที่ดีต่อไปได้ จะเป็นส่วนที่ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยว ตนหวังว่า กทม.จะเข้าใจว่าชาวบ้านไม่ใช่ผู้ละเมิดกฎหมาย แต่สนใจทำงานร่วมกับ กทม. แต่ กทม.กลับไม่สนใจฟัง หากทำลายชุมชน กทม. จะมีปัญหาหลายด้าน นี่คือการทำลายมรดกของชาติและของโลก ถามว่าทำไมไม่แก้ไขปัญหา กลับพูดตลอดว่าชุมชนมีเรื่องยาเสพติด พูดแต่เรื่องนิสัยชาวบ้าน

"ผมคิดว่าตัวเองเป็นนักศึกษา เรียนรู้จากชาวบ้าน เขาสอนผมถึงความสำคัญของความเป็นมนุษย์" นายไมเคิลกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการเจรจา เจ้าหน้าที่สำนักการโยธา ได้ดำเนินการรี้อบ้านเลขที่ 95 ซึ่งตั้งอยู่บริเวณตรอกพระยาเพ็ชรปาณี จากนั้นทะยอยรื้อบ้านหลังอื่นๆ ตามแผน โดยไม่มีการขัดขวางจากชาวบ้านแต่อย่างใด




ที่มา : มติชนออนไลน์


อี.โอ.เอส เกียร์,ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต,#มีดดามัสกัส,#เหล็กดามัสกัส

Tags : สถาปนิกสยามฯร้อนใจ ปม ป้อมมหากาฬ เผย3ใน10หลังจ่อถูกรื้อ อยู่ในรายชื่อเสนออนุรักษ์

view