สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ลำไยนอกฤดูจันทบุรี 2.9แสนตันป่วน ผลผลิตทะลัก-แรงงานขาด-ล้งเลือกเก็บเบอร์ใหญ่ชิ่งทิ้งสวน

จากประชาชาติธุรกิจ

ลำไยนอกฤดูจันทบุรีป่วน ผลผลิตทะลักพร้อมกัน ขาดแรงงานเก็บ คาดผลผลิตเสียหาย 20% ขณะที่ล้งรายใหญ่เลือกเก็บเฉพาะลำไยเบอร์ใหญ่เท่ากับเงินมัดจำแล้วทิ้งสวน ด้านเกษตรจังหวัดแนะทำเกษตรแปลงใหญ่ สร้างพลังต่อรองล้ง หลังพบปัญหาล้งไม่ยอมรับสัญญากลาง

นายอาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร เกษตรจังหวัดจันทบุรี เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ลำไยนอกฤดูจังหวัดจันทบุรี รอบปี 2559/2560 เกิดภาวะผลผลิตออกมาทะลักพร้อมกันจำนวนมากในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2559-มกราคม 2560 ที่ผ่านมา ส่งผลให้แรงงานเก็บลำไยเกือบ 100% ที่เป็นชาวกัมพูชามีไม่เพียงพอสร้างความเสียหายให้กับเกษตรกร ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ผลผลิตลำไยออกมาจำนวนมากในช่วงดังกล่าวเนื่องจากเกิดฝนแล้งนานในปี 2559 กระทั่งฝนตกลงมาช่วงเดือนมิถุนายน เกษตรกรชิงจังหวะในการราดสารเพื่อกระตุ้นให้ลำไยออกดอกพร้อมกัน อย่างไรก็ตามขณะนี้สถานการณ์แรงงานเก็บลำไยเริ่มเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว 

สำหรับกรณีปัญหาการไม่ปฏิบัติตามสัญญาของผู้ซื้อนั้น เนื่องจากสัญญากลางกฎหมายไม่สามารถบังคับใช้ได้จึงยังไม่มีผลทางปฏิบัติ ทำให้เกษตรกรเสียเปรียบ ดังนั้นกลุ่มเกษตรกรจะต้องสร้างความเข้มแข็งรวมกันเป็นเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อสร้างอำนาจการต่อรองและใช้ความรู้ การบริหารจัดการร่วมกัน ซึ่งได้ดำเนินการในปี 2559 แล้วจำนวน 2 แปลง 

ลำไยนอกฤดูจันท์ 2.9 แสนตัน 

ทั้งนี้ ลำไยปี 2559/60 ในอำเภอโป่งน้ำร้อน อำเภอสอยดาว และอำเภออื่น ๆ มีปริมาณผลผลิต 2.9 แสนตัน แบ่งเป็น อำเภอโป่งน้ำร้อน 1.6 แสนตัน อำเภอสอยดาว 1.2 แสนตัน อำเภออื่น ๆ 6,542 ตัน เป็นผลผลิตที่เก็บเกี่ยวแล้ว (ข้อมูลวันที่ 20 ม.ค. 2560) จำนวน 2.2 แสนตัน หรือร้อยละ75.89 ผลผลิตที่ยังไม่เก็บเกี่ยว 7.1 หมื่นตัน หรือร้อยละ 24.11

"จันทบุรีเป็นจังหวัดที่มีลำไยนอกฤดูมากที่สุดในประเทศไทย มูลค่าการค้าระหว่างเกษตรกรกับผู้ซื้อมากกว่า 1 หมื่นล้านบาทต่อปี จากปัญหาที่เกิดขึ้นสร้างความเสียหายให้กับเกษตรกร ดังนั้นเราจะรายงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาทางแก้ปัญหาต่อไป"

ด้านนายชยันต์ เนรัญชร กรรมการหอการค้าจังหวัดจันทบุรี และเจ้าของสวนลำไยขนาดใหญ่ อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี เปิดเผยว่า ปัญหาลำไยล้นตลาดในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาสร้างความเสียหายอย่างมาก โดยปกติล้งจะจ้างแรงงานมาเก็บลำไยเอง แต่เนื่องจากแรงงานไม่พอทำให้ไม่สามารถเก็บลำไยของชาวสวนได้ตามสัญญา ขณะที่บางสวนล้งให้เฉพาะคัดลำไยเบอร์สวย ๆ ในจำนวนเท่าราคาที่มัดจำกันไว้แล้วทิ้งส่วนที่เหลือไป ทำให้เกษตรกรจำใจปล่อยให้ลำไยร่วงหล่น เสียหายขาดทุนเป็นจำนวนมาก อีกทั้งในช่วงเทศกาลตรุษจีนที่ผ่านมา ตลาดจีนหยุดรับสินค้านานกว่า 10 วัน ทำให้ล้งหยุดรับซื้อลำไยจากชาวสวน คาดว่าความเสียหายครั้งนี้ประมาณ 10% คาดว่าสถานการณ์จะคลี่คลายในเดือนกุมภาพันธ์นี้


เก็บลำไย - ผลผลิตลำไยที่ทะลักออกมาพร้อมกันในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2559-มกราคม2560 ทำให้เกิดปัญหาแรงงานเก็บลำไยชาวกัมพูชาขาดแคลน ล่าสุดจังหวัดสระแก้วได้ผ่อนผันให้แรงงานสามารถเดินทางข้ามเขตได้จนถึงเดือนเมษายน 2560

จี้ออก กม.ให้ล้งใช้สัญญากลาง

นายอรรถวุฒิ เวชปรีชา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 6 ตำบลปะตง อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า ปัญหาสำคัญอีกอย่างสำหรับชาวสวนลำไย คือ สัญญาซื้อขายยังไม่ได้รับการแก้ไข โดยสัญญากลางไม่สามารถนำมาใช้ได้ เพราะล้งยังคงใช้สัญญาของล้งที่เกษตรกรเสียเปรียบอยู่ โดยเฉพาะเรื่องการไม่กำหนดเวลาเก็บผลผลิตที่ชัดเจน และเกษตรกรไม่สามารถต่อรองได้ เนื่องจากต้องการเงินมัดจำ 20% ที่ล้งจะจ่ายให้เป็นทุนก่อน ทำให้ที่ผ่านมาล้งจะเลือกเก็บเฉพาะลำไยเบอร์ใหญ่เท่ากับเงินมัดจำแล้วทิ้งสวน และในปีนี้ผลผลิตออกมาล้นตลาดช่วงตรุษจีน ทำให้ล้งทิ้งสวนไปช่วง 2-3 เดือนที่ผลผลิตออก จึงสร้างความเสียหายถึง 20% 

"ที่ผ่านมา ล้งใช้วิธีจ่ายค่ามัดจำ 20% ของผลผลิตที่คาดว่าจะออกมา โดยตกลงราคาที่กิโลกรัมละ 38-40 บาท แต่หากชาวสวนต้องการเงินเพิ่ม ก็จะต้องลดราคาลำไยเหลือกิโลกรัมละ 35 บาท ดังนั้นหากมีกฎหมายบังคับใช้สัญญากลาง ก็จะเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาล้งฮั้วกับเกษตรกรรายใหญ่ อย่างไรก็ตามรายย่อยควรรวมตัวกันเป็นเกษตรกรแปลงใหญ่เพื่อสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มอำนาจการต่อรอง รวมทั้งวางแผนการบริหารจัดการให้ดี" 

ด้านนายทวี ณรงค์เพชร เกษตรอำเภอสอยดาว กล่าวว่า การทำสัญญากลางที่ให้ความยุติธรรมทั้งเกษตรกรและล้ง ควรจะมีการทำข้อตกลงที่สถานที่ราชการ หรือที่องค์การบริหารส่วนตำบลที่มีพยานรู้เห็น เพราะที่ผ่านมามีปัญหาเกษตรกรฟ้องร้องศูนย์ดำรงธรรม แต่เมื่อล้งมีสัญญามายืนยันเกษตรกรก็ต้องยอมรับ 

ส่วนปัญหาขาดแคลนแรงงานนั้น คาดว่าไม่ใช่ทั้งหมด เพราะอำเภอสอยดาว อำเภอโป่งน้ำร้อน สามารถนำแรงงานกัมพูชามาใช้ได้ครั้งละ 7 วัน ส่วนที่เป็นปัญหาคือแรงงานที่เข้ามาเก็บลำไยมีปัญหาค่าแรงกับล้งก็จะหนีกลับบ้าน เรียกกันว่าคว่ำตะกร้า และอีกปัญหาคือล้งบางแห่งทำสัญญาซื้อขายไว้กิโลกรัมละ 40 บาท โดยมัดจำไว้ส่วนหนึ่งเมื่อผลผลิตออกมาก็จะมาเลือกเก็บเบอร์ใหญ่ในวงเงินที่มัดจำ หลังจากนั้นก็จะทิ้งสวน ซึ่งปกติลำไยจะอยู่บนต้นได้ไม่เกิน 15 วันก็จะร่วง ทั้งนี้เมื่อลำไยเริ่มร่วงก็จะมีล้งรายใหม่เข้ามาติดต่อซื้อในราคาที่ถูกลง เช่น กิโลกรัมละ 30 บาท เป็นต้น 



ชี้อนาคตแรงงานขาดแคลน

นายอำนาจ จันทรส เลขาธิการสมาคมชาวสวนลำไย จังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า การซื้อขายลำไยในปัจจุบันจะเป็นลักษณะการจ่ายมัดจำไว้ก่อน เลือกต้นที่ใบสวย จากเดิมมัดจำ 30% แต่ตอนนี้จะให้ตันละ 10,000 บาท หากสวนไหนคาดว่าจะได้ผลผลิต 50 ตัน ก็จะได้มัดจำก่อน 5 แสนบาท ถ้าติดผลก็เจรจาขอเงินเพิ่มเติม ส่วนกรณีที่ล้งหนีนั้น ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นกับเกษตรกรที่ทำผลผลิตไม่ได้มาตรฐาน อย่างไรก็ตามปัญหาล้งที่แย่ก็มี ซึ่งสมาคมพยายามแนะนำให้ชาวสวนขายให้กับล้งที่ได้มาตรฐาน ปัจจุบันในจังหวัดจันทบุรีมีล้งลำไยประมาณ 65 แห่ง แต่ได้มาตรฐานประมาณ 50 แห่ง 

ส่วนเรื่องแรงงานในอนาคต 3-4 ปีข้างหน้าจะเกิดปัญหาขาดแคลนแน่นอน เพราะปัจจุบันประเทศกัมพูชาสามารถปลูกลำไยได้แล้วในหลายพื้นที่ อาทิ จังหวัดพระตะบอง ไพลิน และบันเตียเมียนเจย ขณะที่วิธีการแก้ปัญหาของภาครัฐยัไม่ชัดเจน เกษตรกรต้องเร่งปรับตัว ซึ่งสวนลำไยของตนก็ได้ปรับมาใช้เทคโนโลยีมากขึ้น

สระแก้วผ่อนแรงงานสิ้น เม.ย.

นายธรรมศักดิ์ รัตนธัญญา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว กล่าวว่า สืบเนื่องมาตรการการผ่อนปรนให้ผู้ประกอบการสวนลำไยในจังหวัดจันทบุรีเคลื่อนย้ายแรงงานกัมพูชาข้ามเขตเข้ามาเก็บเกี่ยวผลผลิตลำไยในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว4อำเภอประกอบด้วยอำเภอวังสมบูรณ์ คลองหาด วังน้ำเย็น และอำเภอเขาฉกรรจ์ ซึ่งจะหมดเขตเวลาที่กำหนดในวันที่ 31 มกราคม 2560 แต่เนื่องจากผลผลิตลำไยของเกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จ คาดว่าจะมีผลผลิตถึงสิ้นเดือนเมษายน จึงผ่อนปรนขยายเวลาให้ผู้ประกอบการ หรือล้งจังหวัดจันทบุรีสามารถเคลื่อนย้ายแรงงานชาวกัมพูชาเข้ามาเก็บลำไยในพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดสระแก้วออกไปจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2560 

ทั้งนี้มาตรการผ่อนปรนดังกล่าว สามารถใช้ได้ในฤดูการผลิตนี้เท่านั้น นอกจากนี้ยังได้เพิ่มมาตรการให้ผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามกฎหมายการจราจรอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในขณะเคลื่อนย้ายแรงงานด้วย


อี.โอ.เอส เกียร์,ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต,#มีดดามัสกัส,#เหล็กดามัสกัส

Tags : ลำไยนอกฤดูจันทบุรี 2.9แสนตันป่วน ผลผลิตทะลัก-แรงงานขาด-ล้งเลือกเก็บเบอร์ใหญ่ชิ่งทิ้งสวน

view