สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

นับถอยหลังสู่ สังคมผู้สูงอายุ โอกาสหรืออันตรายของ เอสเอ็มอีไทย

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

นับถอยหลังสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” โอกาสหรืออันตรายของ “เอสเอ็มอีไทย”
        แนวโน้มของทุกชาติทั่วโลกที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คือกำลังก้าวสู่ “สังคมแห่งผู้สูงอายุ” (Ageing Society) โดยข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติคาดการณ์ไว้ว่าในปี พ.ศ. 2568 ทั่วโลกจะมีประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ถึง 1,200 ล้านคน และในปี พ.ศ. 2593 จะมีประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปี กว่า 2,000 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 20% ของประชากรโลกทั้งหมด และที่น่าตกใจ ในปี พ.ศ.2590 จะเป็นครั้งแรกของโลกที่จำนวนประชากรอายุ 60 ปีจะมีมากกว่าจำนวนประชากรเด็ก 
       
       ในขณะที่เมืองไทยนั้น จากข้อมูลงานวิจัยเพื่อศึกษาหนทางลดผลกระทบของปัญหาที่จะเกิดขึ้นและเตรียมพร้อมรับมือกับสังคมสูงวัย โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดย “ศ.ดร.เกื้อ วงศ์บุญสิน” รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารของศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า แนวโน้มประชากรไทย สัดส่วน “วัยเด็ก” อายุ 0-14 ปี ได้ลดลงเรื่อยๆ จากปี พ.ศ. 2553 มีประมาณ 19.8%, ปี พ.ศ. 2563 จะลดเหลือประมาณ 16.8%, ปี พ.ศ. 2573 ลดเหลือประมาณ 14.8% และปี พ.ศ.2583 ลดเหลือประมาณ 12.8% 

นับถอยหลังสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” โอกาสหรืออันตรายของ “เอสเอ็มอีไทย”
“ศ.ดร.เกื้อ วงศ์บุญสิน” รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารของศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
        เช่นเดียวกับประชากร “วัยทำงาน” อายุ 15-59 ปี จะลดลงเรื่อยๆ เช่นกัน โดยจากปี พ.ศ. 2553 มีประมาณ 67%, ปี พ.ศ. 2563 ลดเหลือประมาณ 64.1%, ปี พ.ศ. 2573ลดเหลือประมาณ 58.6% และ และปี พ.ศ. 2583 ลดเหลือประมาณ 55.1%
       
       สาเหตุการลดลงอย่างมากของวัยเด็กและวัยทำงานมาจากสภาพครัวเรือนไทยมีอัตราการเกิดน้อยลง ครอบครัวขนาดเล็กลงเรื่อยๆ เพราะสภาพเศรษฐกิจที่บีบรัด ไม่กล้าจะมีลูกมาก และไม่แต่งงาน
       
       สวนทางจำนวนประชากรสูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจะเพิ่มสัดส่วนขึ้นเรื่อยๆ เพราะต่อไปคนไทยจะมีอายุยืนขึ้น โดยจากปี พ.ศ. 2553 มีประมาณ 13.2%, ปี พ.ศ. 2563 เพิ่มเป็นประมาณ 19.1%, ปี พ.ศ. 2573 เพิ่มเป็นประมาณ 26.6% และปี พ.ศ. 2583 เพิ่มเป็นประมาณ 32.1% หรือจากประมาณ 8 ล้านคนในปัจจุบันเพิ่มเป็นเกิน 20 ล้านคน และที่น่าห่วงคือส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุที่มีสุขภาพย่ำแย่ด้วย 

นับถอยหลังสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” โอกาสหรืออันตรายของ “เอสเอ็มอีไทย”
        จากข้อมูลดังกล่าวชี้ชัดให้ตระหนักว่า ในอีกไม่เกิน 20 ปีต่อจากนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ “สังคมสูงวัยระดับสูงสุด” ที่มีสัดส่วนจำนวนประชากรที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไปต่อจำนวนประชากรทั้งหมดมากกว่า 20% 
       
       “ในกลุ่มอาเซียน ประเทศไทยและสิงคโปร์เป็นเพียงสองประเทศที่จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบสูงสุดในเวลาอีกไม่เกิน 20 ปีเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมาก และยิ่งน่าห่วงกว่านั้น เพราะประเทศไทยมีการเตรียมพร้อมน้อยกว่าสิงคโปร์มาก เพราะประชากรไทยมีการออมเงินจำนวนไม่มากนัก รวมทั้งสวัสดิการจากภาครัฐมีจำกัด ซึ่งปัญหาเหล่านี้จะทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในระยะยาว” ศ.ดร.เกื้อกล่าว
       
       @@@ แนะธุรกิจเปลี่ยนทัศนคติ มอง “สังคมผู้สูงอายุให้เป็นโอกาส” 

นับถอยหลังสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” โอกาสหรืออันตรายของ “เอสเอ็มอีไทย”
        ศ.ดร.เกื้อระบุด้วยว่า สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ แล้วต้องมองสถานการณ์ของสังคมผู้สูงวัยให้ถูกต้องเสียก่อน โดยทัศนคติของคนทั่วไปทุกวันนี้ เมื่อกล่าวถึงคำว่า “ผู้สูงอายุ” จะตีความว่าเป็น “บุคคลที่เป็นภาระต่อสังคม” แต่ในความเป็นจริงแล้ว ปัจจุบันอัตราส่วนคนวัยทำงาน 6 คนจะดูแลผู้สูงอายุแค่ 1 คน ยิ่งกว่านั้น ผู้สูงอายุบางครอบครัวยังเป็นผู้อุปถัมภ์ดูแลค่าใช้จ่ายให้คนวัยทำงานด้วยซ้ำ สถานการณ์เวลานี้ผู้สูงอายุจึงยังไม่ใช่ภาระของสังคม
       
       แต่ในอนาคตอีก 30 ปีข้างหน้า อัตราส่วนคนวัยทำงานจะเหลือแค่ 1.7 คนที่จะต้องดูแลผู้สูงอายุ 1 คน ถึงเวลานั้นหากไม่มีการเตรียมพร้อมที่ดีพอ คนที่อยู่ในวัยทำงานเวลานี้ก็จะกลายเป็นผู้สูงอายุที่เป็นภาระต่อสังคมและเศรษฐกิจอย่างแท้จริง และมีความเสี่ยงต่อการดำรงชีวิตสูงมาก
       
       ทั้งนี้ ศ.ดร.เกื้อเผยด้วยว่า เพื่อจะก้าวข้ามผลกระทบสังคมผู้สูงอายุ ประเทศไทยต้องก้าวไปสู่ยุค Ageing 4.0 กล่าวคือ Ageing ยุค 1.0 เป็นยุคที่เน้นให้ข้อมูลเกี่ยวกับสังคมผู้สูงวัย, Ageing ยุค 2.0 เป็นยุคที่เน้นการแก้ปัญหาจากสังคมสูงวัย ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในยุคนี้, Ageing ยุค 3.0 เป็นยุคที่เน้นมาตรการป้องกันผลกระทบของปัญหาสังคมสูงวัย และ Ageing 4.0 ยุคของการสร้างนวัตกรรมเพื่อพลิกจากวิกฤตของสังคมสูงวัยให้เป็นโอกาส
       
       โดยการเปลี่ยนทัศนคติให้เป็นยุค Ageing 4.0 นั้นจะช่วยให้การวางยุทธศาสตร์ในทุกมิติเปลี่ยนไปชนิดพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ อย่างในแง่ของผู้ประกอบการธุรกิจ ในการผลิตสินค้าหรือบริการใดๆ ก็ตาม จากเคยคิดแค่ว่าตลาดผู้สูงอายุปัจจุบันมีประมาณ 8 ล้านคน เปลี่ยนมุมคิดเป็นว่า ในอนาคตไม่นานทุกคนที่ตอนนี้อยู่ในวัยแรงงานต้องเป็นคนสูงวัย ซึ่งจะไม่มีคนวัยทำงานมาดูแลแล้ว และสวัสดิการภาครัฐก็มีจำกัด ดังนั้น การวางแผนธุรกิจคงไม่ได้คิดแค่จะขายแก่คนที่สูงอายุแล้ว แต่ขยายตลาดขายคนวัยทำงานที่เตรียมพร้อมจะเข้าสู่การเป็นผู้สูงวัย
       
       “ถ้าเราเปรียบเทียบบริษัทของตัวเองกับบริษัทคู่แข่ง ขายสินค้าชนิดเดียวกัน โดยบริษัทเราคิดได้แค่เป็น Ageing 1.0 หรือ 2.0 ในขณะที่บริษัทคู่แข่งของเราคิดวางแผนเป็น Ageing 4.0 เราไม่มีทางสู้เขาได้เลย ยกตัวอย่าง มีคอนโดฯ 2 แห่ง แห่งแรกขายเป็นห้องพักทั่วไป กับอีกแห่งเป็นห้องพักที่ออกแบบไว้สำหรับเหมาะกับผู้เข้าพักอาศัยทุกเพศทุกวัย ผู้ซื้อก็ต้องเลือกแบบหลัง เพื่อวางแผนให้ตัวเองมีที่พักเหมาะในอนาคต”
       
       “หรืออีกกรณีของบริษัทญี่ปุ่นแห่งหนึ่งทำ “สมาร์ท คอนแทกต์ เลนส์” (smart contact lens) ซึ่งเป็นคอนแทกต์เลนส์ที่เก็บข้อมูลสุขภาพดวงตาของผู้สวมใส่ได้ เพราะเขาเห็นพฤติกรรมของคนวัยทำงานทุกวันนี้ต้องจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟนวันละหลายชั่วโมง มีโอกาสเป็นโรคทางสายตาสูง เครื่องมือดังกล่าวจะช่วยป้องกันคนในวัยทำงานให้มีสุขภาพสายตาดีก่อนจะสูงวัย เป็นต้น นี่เป็นแนวคิดแสดงให้เห็นว่า หากปรับทัศนคติสังคมผู้สูงอายุมาคิดในแง่บวก โดยสร้างนวัตกรรมจะทำให้เกิดโอกาสใหม่ได้อีกมากมาย ซึ่งการปรับดังกล่าว ไม่ว่าคุณจะเป็นบริษัทใหญ่ หรือเป็นเอสเอ็มอีไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่สำคัญที่ใครจะคิดก่อน และปรับตัวได้ก่อน ก็จะแสวงหาโอกาสได้ก่อน” ศ.ดร.เกื้อกล่าว
       
       นอกจากนั้น แนวคิด Ageing 4.0 ยังก่อให้เกิดการสร้างผู้ประกอบการหน้าใหม่วัยเก๋าได้ด้วย เนื่องจากแนวโน้มที่อนาคตผู้สูงอายุจะต้องพึ่งพาตัวเองให้ได้ หนึ่งในปัจจัยสำคัญคือ ต้องมีเงินออมมากเพียงพอ ลำพังการหารายได้จากเงินเดือนเพียงทางเดียวและใช้วิธีเก็บในธนาคารอาจไม่เพียงพอที่จะเหลือเงินไว้ใช้ ดังนั้น ผู้สูงอายุวัยประมาณ 50 ปีขึ้นไปอาจจะก้าวมาเป็นผู้ประกอบการใหม่เพื่อจะหารายได้ที่มากขึ้น
       
       โดยข้อได้เปรียบของผู้สูงอายุที่จะออกมาทำธุรกิจของตัวเอง คือมีเงินทุนค่อนข้างมาก รวมถึงมีเครือข่าย เพื่อนฝูงมาก ตลอดจนมีประสบการณ์ และความรอบคอบ ซึ่งจะเป็นข้อได้เปรียบ ช่วยให้ทำธุรกิจสำเร็จและอยู่รอดได้มากกว่าธุรกิจที่ทำโดยคนหนุ่มสาวด้วยซ้ำ
       
       ฉะนั้น สิ่งสำคัญของการแสวงหาโอกาสจาก “สังคมผู้สูงวัย” จึงไม่ใช่ว่าคนทำจะมีอายุเท่าไร หรืออยู่ในวัยใด หากแต่อยู่ที่วิธีคิด ความสามารถ และการปรับตัว ที่จะหาโอกาสจากแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นต่างหาก 

นับถอยหลังสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” โอกาสหรืออันตรายของ “เอสเอ็มอีไทย”
เพ็ญศรี แก้วสมบัติ
        @@@ ‘ป้าเพ็ญศรี’ นวัตกรรมขนมจีนอบแห้ง startup ในวัยเกษียณ 
       
       “เพ็ญศรี แก้วสมบัติ” วัย 70 ปี เป็นอีกตัวอย่างของผู้สูงอายุที่เริ่มต้นธุรกิจในวัยเลยเกษียณไปแล้ว สร้างนวัตกรรมเพิ่มค่าให้แก่ “ข้าว” ที่ราคากำลังตกต่ำ นำมาแปรรูปเป็น “ขนมจีนอบแห้ง” ตรา ‘ป้าเพ็ญศรี’ ช่วยเพิ่มมูลค่าขายได้ราคาสูง และตอบความต้องการของลูกค้าได้อย่างดี
       
       ป้าเพ็ญศรีเล่าว่า เนื่องจากบ้านเกิดที่ ต.ชมเจริญ อ.ปากชม จ.เลย ชาวบ้านมีอาชีพหลักทำนา รายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย ประมาณ พ.ศ. 2539 ลุกขึ้นมาเป็นแกนนำชักชวนแม่บ้านในท้องถิ่นนำข้าวมาแปรรูปเป็น “ข้าวแต๋น” เพื่อสร้างรายได้เสริมในช่วงนอกฤดูกาลทำนา ทว่าสินค้าไม่ได้รับความสนใจมากนักเพราะสินค้าขาดความโดดเด่น ต่อเดือนจึงมียอดขายแค่ประมาณ 3,000-4,000 บาทเท่านั้น
       
       จนได้แนวคิดจากการสังเกตเห็นว่าเส้นขนมจีนมีปัญหาเสียง่าย เพราะเป็นเส้นหมัก และไม่สะดวกจะพกไปกินเวลาเดินทางไกลๆ เลยคิดนำเส้นขนมจีนทำเป็นอบแห้ง
       
       ป้าเพ็ญศรี ที่เวลานั้นวัย 61 ปี อาศัยลองผิดลองถูกคิดเองทำเอง จนได้สูตรขนมจีนอบแห้ง โดยทำมาจากแป้งข้าวเจ้า 80-85% ผสมกับแป้งมัน 5% และน้ำเปล่า 10% นำมาคลุกรวมจนกลายเป็นเนื้อเดียวกัน จากนั้นใส่เครื่องบีบให้ออกมาเป็นเส้นๆ หลังจากนั้นพักไว้ประมาณ 3 ชั่วโมง แล้วนำไปตากแดดอีก 3-4 ชั่วโมง แล้วเข้าเครื่องอบที่อุณหภูมิ 40 องศา อีกประมาณ 1 ชั่วโมง
       
       นอกจากนั้น เพื่อเพิ่มความสวยงามน่ากิน นำพืชสมุนไพรต่างๆ ได้แก่ ดอกอัญชัน ใบเตย แครอท ฟักทอง และแก้วมังกร มาต้มสกัดเป็นน้ำแล้วผสมลงไปด้วย ช่วยให้เส้นออกมามีสีสวยงาม นอกจากนั้น ยังมีสีจากธรรมชาติ เช่น ข้าวลืมผัว และข้าวกล้อง รวมแล้วเส้นขนมจีนอบแห้งมีถึง 7 สีด้วยกัน
       
       เธอเล่าต่อว่า วางตลาดเมื่อประมาณ พ.ศ. 2552 ซึ่งหลังจากได้มีโอกาสออกงานแสดงสินค้าชุมชนต่างๆ ทำให้เริ่มเป็นที่รู้จัก หน่วยงานภาครัฐ และสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่พบเห็นต่างชื่นชมถึงการเป็นสินค้าแปลกใหม่ และใช้ประโยชน์ได้จริง จึงเข้ามาช่วยพัฒนา ด้วยการสนับสนุนทั้งด้านเครื่องจักร และมาตรฐานการผลิต ช่วยให้ผลิตเส้นขนมจีนอบแห้งที่สะอาด ปลอดภัย และเก็บไว้ได้นานถึง 1 ปีโดยไม่ได้ใส่สารกันเสียใดๆ เลย นอกจากนั้น ได้เครื่องหมายโอทอป 4 ดาวการันตีคุณภาพอีกด้วย
       
       ทุกวันนี้ขนมจีนอบแห้ง ตรา ‘ป้าเพ็ญศรี’ กลายเป็นสินค้าส่งออกไปกว่า 10 ประเทศทั่วโลก ตั้งแต่ทวีปอเมริกา ยุโรป และเอเชีย โดยกลุ่มผู้ซื้อส่วนใหญ่คือร้านอาหารไทยในต่างแดน และคนไทยที่ไปใช้ชีวิตในต่างประเทศ ส่วนในประเทศจะขายผ่านร้านของฝากใน จ.เลย และออกงานแสดงสินค้าโอทอปต่างๆ เฉลี่ยยอดขายเดือนละประมาณ 1.5 แสนบาท หรือปีละเกือบ 2 ล้านบาท
       
       ถึงจะเป็นผู้ประกอบการรายเล็กๆ ระดับชุมชน แต่เมื่อมีความคิดสร้างสรรค์ และพยายามสูง เรื่องวัยจึงไม่ใช่ข้อจำกัด ความสำเร็จเกิดขึ้นได้เสมอ ป้าเพ็ญศรีพิสูจน์ให้เห็นแล้ว 

นับถอยหลังสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” โอกาสหรืออันตรายของ “เอสเอ็มอีไทย”
รศ.ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข ผู้อำนวยการหลักสูตรการบริหารบุคคลของศศินทร์
        @@@ แรงงานสูงวัย ไม่ไร้ค่า 
       

       อีกประเด็นทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจเมื่อประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย คือ “ปัญหาเรื่องแรงงาน” โดย รศ.ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข ผู้อำนวยการหลักสูตรการบริหารบุคคลของศศินทร์ เปิดเผยว่า ผู้ประกอบธุรกิจไทยจะประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรวัยทำงาน (อายุ 15-65 ปี) มากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ความต้องการแรงงานของตลาดโลกโดยทั่วไปในอีก 10 ปีข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 22% นอกจากนั้น ในส่วนแรงงานที่มีศักยภาพสูงๆ อาจจะหนีไปอยู่กับนายจ้างต่างชาติที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า รวมถึงเทรนด์คนรุ่นใหม่นิยมไปเป็น startup เพราะมีอิสระมากกว่าเป็นลูกจ้าง
       
       เหล่านี้ประกอบกันทำให้แนวโน้มผู้ประกอบการธุรกิจไทยในอนาคตจะประสบปัญหา ขาดแคลนแรงงานทั้งด้านคุณภาพ และปริมาณในทุกระดับ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมการผลิต และบริการ ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมหลักของไทย อีกทั้งผลิตภาพธุรกิจจะลดลง ขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจลดลง ในขณะที่ต้นทุนการจัดจ้างพนักงานสูงขึ้น แต่คุณภาพกลับไม่ดีเท่าที่ควรทั้งในแง่ผลงานและสุขภาพ
       
       รศ.ดร.ศิริยุพาระบุต่อว่า จากความน่ากังวลดังกล่าว ทางศศินทร์ได้ทำการวิจัยเรื่อง “ปัจจัยสร้างแรงจูงใจและความผูกพันต่อองค์กรของพนักงานต่างวัยในประเทศไทย” เพื่อหาคำตอบในการวางกลยุทธ์องค์กรในการจัดทัพรับแรงงานสูงอายุ โดยพบว่าแรงงานสูงวัย (อายุสูงเกิน 45 ปี) ต้องการงานที่มีเนื้อหา ได้รับการยกย่องให้เกียรติจากองค์กรและการดูแลจากนายจ้างทั้งเรื่องงานและส่วนตัว ส่วนแรงงานหนุ่มสาวจะสนใจเรื่องรายได้เป็นอันดับแรก และเรื่องความภักดีต่อองค์กรนั้น แรงงานหนุ่มสาวจะให้ความสำคัญแค่ 12% เท่านั้น แตกต่างจะแรงงานสูงวัยที่จะมีความภักดีต่อองค์กรถึง 73%
       
       จากงานวิจัยดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า องค์กรหรือผู้ประกอบการธุรกิจต้องคำนึงถึงการบริหารแรงงานในสังกัดให้เหมาะสมแก่วัยต่างๆ ของแรงงาน โดยอันดับแรกต้องให้ความสำคัญว่าแรงงานที่มีอายุมากแล้วไม่ได้ไร้ค่า หากแต่ต้องวางตำแหน่งงานและหน้าที่ให้เหมาะสม โดยเป็นงานที่มีคุณค่า มีความยืดหยุ่นเรื่องเวลาเอื้อให้แรงงานสูงวัยเลือกเวลาทำงานได้ มีรายได้เหมาะสม และได้รับเกียรติจากองค์กร
       
       ส่วนในระยะยาวต้องวางแผนรักษาและเสริมศักยภาพให้แรงงานหนุ่มสาวในเวลานี้ เพื่อที่อนาคตจะก้าวเป็นแรงงานสูงวัยที่ภักดีต่อองค์กร และยังทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถขับเคลื่อนองค์กรได้ต่อเนื่องแม้ว่าจะสูงวัยแล้วก็ตาม 

นับถอยหลังสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” โอกาสหรืออันตรายของ “เอสเอ็มอีไทย”
จตุพร อินทรโสภา และสมาชิกกลุ่มแม่บ้านเกษตรมะขามทอง ต.ตะคร้ำเอน อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี
        @@@ หมี่กรอบ‘พรหมสร’ รวมพลังหญิงสูงวัยสร้างอาชีพ 
       
       หมี่กรอบ แบรนด์ “พรหมสร” จ.กาญจนบุรี ได้แสดงให้เห็นว่า แรงงานสูงวัย แถมการศึกษาต่ำ สามารถทำงานได้ดีเช่นกันหากได้รับการจัดวางตำแหน่งหน้าที่ให้เหมาะสม
       
       จตุพร อินทรโสภา ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรมะขามทอง ต.ตะคร้ำเอน อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี เล่าว่า เริ่มรวมกลุ่มสร้างอาชีพเมื่อ พ.ศ. 2541 เพราะอยากจะหาอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชน โดยแรงงานผลิต ล้วนเป็นแม่บ้านสูงอายุในท้องถิ่น ที่เดิมจะไม่มีอาชีพอย่างจริงจัง ซึ่งการดึงมาทำงาน จะช่วยสร้างสังคมชุมชนให้เข้มแข็งขึ้น เพราะแต่ละครอบครัวจะมีรายได้เพิ่ม และผู้สูงอายุยังได้ทำกิจกรรมยามว่าง
       
       เนื่องจากแรงงานผลิตต่างเป็นแม่บ้านสูงวัยเลยเกษียณไปแล้ว แถมการศึกษาไม่เกินประถม 4 เมื่อต้องมาผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานสูงนั้น จตุพรจะใช้วิธีค่อยๆ บอกทีละขั้นตอน และให้ทำบ่อยๆ จนเกิดการจดจำและชำนาญมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนั้น ต้องเลือกแบ่งหน้าที่ให้เหมาะสมกับร่างกาย ซึ่งผู้สูงอายุอาจจะเรียนรู้ยาก และทำงานได้ช้ากว่าหนุ่มสาว แต่สิ่งที่ได้ทดแทนคือ ความตั้งอกตั้งใจ พิถีพิถัน และความมีวินัยที่สูงกว่ามาก
       
       “ผู้สูงอายุที่มาทำงานทุกคนมีความตั้งใจสูงมาก ซึ่งความผิดพลาดในระยะแรกต้องมีบ้างเป็นธรรมดา แต่ดิฉันจะอาศัยการอธิบายอย่างช้าๆ และให้แต่ละท่านลงมือปฏิบัติจริง ทำบ่อยๆ จนเกิดการเรียนรู้และจดจำด้วยตัวเอง ซึ่งการใช้แรงงานผู้สูงอายุช่วยให้ท่านมีความสุข ไม่เครียด ไม่เหงา และรู้สึกว่าตัวเองยังมีคุณค่า ได้ทำงานอยู่ในชุมชนบ้านเกิด ใกล้ชิดครอบครัว ซึ่งนอกจากประโยชน์เชิงเศรษฐกิจแล้ว ยังเป็นประโยชน์ทางสังคมด้วย” ประธานวิสาหกิจฯ กล่าว
       
       

       
       @@@ เผยพฤติกรรมกลุ่มผู้สูงอายุ
       
       จากที่ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัวในอีกประมาณ 20 ปีข้างหน้า โครงการ K SME ธนาคารกสิกรไทย ได้เผยบทความการวิเคราะห์พฤติกรรมของกลุ่มผู้สูงวัย เพื่อจะช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกำหนดกลยุทธ์ธุรกิจได้อย่างมีชั้นเชิง ได้แก่
       
       1. มีกำลังซื้อสูง เนื่องจากปัจจุบันผู้สูงอายุไม่ต้องดูแลใคร จึงทำให้มีเงินจับจ่ายใช้สอยในสิ่งที่ต้องการได้มากขึ้น ข้อนี้เป็นกุญแจดอกสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจสามารถเจาะตลาดได้สำเร็จ
       
       2. ไม่ยึดติดกับแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่ง เพราะเทคโนโลยีทำให้สามารถติดต่อกันได้มากขึ้นและสะดวกขึ้น จึงเกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันง่ายขึ้น กลุ่มผู้สูงอายุจึงมีความต้องการแบรนด์ใหม่ๆ แต่ต้องเป็นแบรนด์ที่ดูน่าเชื่อถือ จะช่วยให้ตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น
       
       3. ชอบความรวดเร็วและเน้นความสะดวกสบาย กลุ่มผู้สูงอายุยุคใหม่ หัวใจยังวัยรุ่น จึงชอบความสะดวกรวดเร็วและการบริการที่ดี ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะดึงดูดให้กลุ่มผู้สูงอายุเลือกซื้อได้มากกว่าสินค้าที่ใช้งานยากหรือบริการที่ต้องใช้เวลานาน
       
       4. ใส่ใจดูแลสุขภาพ กลุ่มผู้สูงอายุยุคใหม่มีทั้งความรู้และกำลังทรัพย์ จึงให้ความสำคัญต่อการดูแลสุขภาพมากขึ้น สินค้าสุขภาพที่มีโอกาสเปิดตลาด ได้แก่ อาหารแปรรูป โดยเฉพาะอาหารเพื่อสุขภาพ เฟอร์นิเจอร์ที่รองรับสรีระและมีความปลอดภัยในการใช้งาน สินค้าไลฟ์สไตล์ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางออร์แกนิกที่ผลิตจากธรรมชาติหรือสมุนไพร เนื่องจากมีความปลอดภัยกว่าการใช้สารเคมี เครื่องมือที่ใช้ทางการแพทย์ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการสร้างและตกแต่งบ้านที่มีความปลอดภัยในการใช้ชีวิตภายในบ้าน
       
       ทั้งนี้ K SME ระบุด้วยว่า ธุรกิจระดับเอสเอ็มอีมีโอกาสเจาะตลาดกลุ่มผู้สูงอายุไม่น้อยไปกว่าแบรนด์ใหญ่ๆ เพราะเอสเอ็มอีส่วนใหญ่มีความคล่องตัวและสามารถปรับตัวรับโอกาสได้ไวกว่า เพียงแต่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังทำธุรกิจโดยการจับแค่ความต้องการพื้นฐานของผู้บริโภคเท่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็ทำได้และแบรนด์ใหญ่ก็ทำเช่นกัน ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีควรทำคือ ต้องทำในสิ่งที่มากกว่าความต้องการพื้นฐาน ซึ่งตัวผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องหาสิ่งนั้นให้เจอ โดยอาศัยการฟังเสียงผู้บริโภคให้มากขึ้น 

นับถอยหลังสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” โอกาสหรืออันตรายของ “เอสเอ็มอีไทย”
ดร.ชัยพงษ์ พงษ์พานิช
        @@@ ฉายกลยุทธ์การตลาดรับเปลี่ยนสู่ Ageing Society 
       
       ดร.ชัยพงษ์ พงษ์พานิช หนึ่งในผู้เขียนหนังสือ เรื่อง “DEMOGRAPHIC DISRUPTION” get your company ready for the future ซึ่งเป็นหนังสือที่ชี้ปัญหาการหยุดชะงักของประชากรวัยแรงงาน และการเตรียมพร้อมของภาคธุรกิจในอนาคตว่า การทำธุรกิจในปัจจุบันจะคิดแบบเดิมไม่ได้แล้ว เพราะประเทศไทยต้องเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแน่นอน คนทำธุรกิจต้องตระหนักว่าตลาดจะเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ภาพที่จะเห็นอีก 20-30 ปีข้างหน้าคือ ประชากรผู้สูงอายุทั้งโลก เกินกว่า 2,000 ล้านคน หรือเมื่อมีคนเดินมา 3 คน จะต้องมี 1 ใน 3 คนที่อายุเกิน 60 ปีขึ้นไปแล้ว
       
       ฉะนั้น เอสเอ็มอีในปัจจุบันต้องมองให้เห็นภาพนี้เสียก่อน แล้วปรับความคิดว่านี่เป็นโอกาสของธุรกิจที่จะหาช่องว่างของธุรกิจให้เจอ
       
       “ผมมองว่านี่เป็นโอกาสของเอสเอ็มอีมากกว่าความเสี่ยง เพราะเอสเอ็มอีสามารถปรับตัวได้เร็วกว่าองค์กรใหญ่ ถ้าสามารถจะคิดผลิตสินค้าหรือบริการที่จะตอบเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นดังกล่าว ตัวอย่างเช่น บริการสุขภาพต่างๆ แทนที่จะให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการ อาจจะมีบริการดีลิเวอรีถึงที่บ้านสำหรับผู้สูงวัย” ดร.ชัยพงษ์กล่าว
       
       ทั้งนี้ สำหรับเอสเอ็มอีในการวางกลยุทธ์การตลาดเพื่อจับเทรนด์ผู้สูงอายุ แนะนำว่าควรจะเป็นลักษณะค่อยเป็นค่อยไป โดยพิจารณาจากธุรกิจของตัวเองว่าสามารถจะปรับเข้าเทรนด์ Ageing Society ได้อย่างไร จากนั้นเริ่มกระบวนการคิดที่จะสร้างสินค้าหรือบริการที่มีนวัตกรรมเพื่อรองรับลูกค้าที่จะสูงอายุเป็นช่วงวัย เช่น สำหรับผู้จะสูงอายุแล้ว สำหรับผู้จะสูงอายุในอีก 3-5 ปีข้างหน้า หรือสำหรับผู้จะสูงอายุในอีก 5-10 ปีข้างหน้า เป็นต้น เหล่านี้จะช่วยให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ตรงและชัดเจนยิ่งขึ้น
       
       รวมถึงหากเป็นเอสเอ็มอีหน้าใหม่หรือรายเล็กๆ รวมถึงเป็นผู้สูงอายุที่จะเริ่มต้นเป็นผู้ประกอบการ อาจจะทำธุรกิจที่มีต้นทุนถาวร (fixed cost) ไม่สูงมาก เพราะจะได้ผลตอบแทนกลับคืนเร็วกว่า และมีความเสี่ยงต่ำกว่าด้วย
       
       @@@@@@@@@@@@@@@@
       
       จากข้อมูลต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น ระบุข้อเท็จจริงที่หนีไม่พ้น คือ อย่างไรเสียประเทศไทยจะต้องก้าวเข้าสู่สภาวะ “สังคมผู้สูงอายุ” แน่นอน ดังนั้น คำตอบของคำถามว่า “สังคมผู้สูงอายุจะเป็นโอกาสหรืออันตรายสำหรับเอสเอ็มอีไทยนั้น?” จึงขึ้นอยู่กับว่าผู้ประกอบการจะ “เตรียมตัวได้ดี และได้พร้อมมากน้อยแค่ไหน” หากสามารถพัฒนาศักยภาพให้พร้อม และแสวงหาช่องทางต่อยอดจากสภาพสังคมที่จะเกิดขึ้นได้ เรื่องของ “อายุ” ก็คงเป็นเพียงเรื่องของตัวเลขเท่านั้น 

นับถอยหลังสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” โอกาสหรืออันตรายของ “เอสเอ็มอีไทย”
        

นับถอยหลังสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” โอกาสหรืออันตรายของ “เอสเอ็มอีไทย”

อี.โอ.เอส เกียร์,ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต,#มีดดามัสกัส,#เหล็กดามัสกัส

Tags : นับถอยหลังสู่ สังคมผู้สูงอายุ โอกาสหรืออันตรายของ เอสเอ็มอีไทย

view