สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ลุยปฏิรูปภาคเกษตร เข็น 1,000 แปลงใหญ่สู้วิกฤตราคาตกต่ำ

จากประชาชาติธุรกิจ

จากปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ล้นตลาด ทำให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงประกาศปฏิรูปภาคเกษตรครั้งใหญ่ โดยให้ทุกกรมชู "เกษตรแปลงใหญ่" เป็นธงนำในการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ก่อนที่จะก้าวสู่การทำตลาดเองมากขึ้นในอนาคต "ประชาชาติธุรกิจ" ถือโอกาสสัมภาษณ์ นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ถึงแผนงานและความคืบหน้า ดังนี้

- ผลการทำเกษตรแปลงใหญ่ปี 2559 

แนวคิดการทำเกษตรแปลงใหญ่ เริ่มจากศูนย์พัฒนาประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เป็นผู้ออกแบบ และใช้พลังประชาชนเป็นหลัก จากที่ผ่านมาใช้องค์กรเป็นหลัก ทั้งนี้เพื่อให้ตรงกับความต้องการของประชาชน เกษตรแปลงใหญ่เปรียบเสมือนโรงงานที่ผลิตล้อ ผลิตตัวถังรถยนต์ ฉะนั้น แปลงใหญ่จึงเกี่ยวเนื่องกับ ศพก. ที่หน่วยงานรัฐสนับสนุน แปลงใหญ่ปี 2559 มีทั้งหมด 600 แปลง ผลิตสินค้า 33 ชนิด แยกเป็นข้าวมากถึง 381 แปลง พื้นที่ 944,718 ไร่ 

เกษตรกร 63,741 ราย ผลการดำเนินงานปี 2559 ลดต้นทุนได้ 19% เพิ่มผลผลิตข้าวได้ 13% เป้าหมายปี 2560 จะลดต้นทุน 20% เพิ่มผลผลิต 20% สถานะปัจจุบันกำลังปรับแผนธุรกิจของเกษตรกรสมาชิกรายบุคคล พัฒนาแผนธุรกิจของกลุ่ม รวบรวมความต้องการใช้ปัจจัยการผลิต/เครื่องจักรกลการเกษตร และวิเคราะห์จุดอ่อนด้านการผลิต การพัฒนาคุณภาพ การตลาดด้านพืชไร่มี 6 ชนิด ได้แก่ มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สับปะรด ถั่วลิสง อ้อย และหญ้าเนเปียร์ มีทั้งหมด 83 แปลง พื้นที่ 169,362 ไร่ เกษตรกร 9,384 ราย ผลการดำเนินงานปี 2559 ลดต้นทุนได้ 22.7% เพิ่มผลผลิตได้ 27.8% 

เป้าหมายปี 2560 ต้องลดต้นทุน 25% เพิ่มผลผลิต 30%

ส่วนไม้ยืนต้น 3 ชนิดได้แก่ ปาล์มน้ำมัน ยางพารา กาแฟ มีทั้งหมด 20 แปลง พื้นที่ 283,964 ไร่ เกษตรกร 7,751 ราย ผลการดำเนินงานปี 2559 ลดต้นทุนได้ 14.9% เพิ่มผลผลิตได้ 18.7% ขณะที่เป้าหมายปี 2560 ต้องลดต้นทุน 20% เพิ่มผลผลิต 20%

ไม้ผล 8 ชนิดได้แก่ เงาะโรงเรียน ทุเรียน มังคุด ลองกอง ลำไย มะม่วง มะพร้าวน้ำหอม ส้มโอ 51 แปลง พื้นที่ 62,019 ไร่ เกษตรกร 6,674 ราย ผลการดำเนินงานปี 2559 ลดต้นทุนได้ 15.7% เพิ่มผลผลิตได้ 15.4% ขณะที่กล้วยไม้มี 1 แปลง พื้นที่ 607 ไร่ เกษตรกร 33 ราย ผลการดำเนินงานปี 2559 ลดต้นทุนได้ 10% เพิ่มผลผลิตได้ 10% เป้าหมายปี 2560 ลดต้นทุน 20% เพิ่มผลผลิต 20%

ปศุสัตว์มี 25 แปลง พื้นที่ 26,975 ไร่ เกษตรกร 3,708 ราย ผลการดำเนินงานปี 2559 ลดต้นทุนได้ 5.2% เพิ่มผลผลิตได้ 15.7% เป้าหมายปี 2560 ลดต้นทุน 20% เพิ่มผลผลิต 20%

ประมง 18 แปลง พื้นที่ 32,307 ไร่ เกษตรกร 2,415 ราย ผลการดำเนินงานปี 2559 ลดต้นทุนได้ 8.6% เพิ่มผลผลิตได้ 8.1% เป้าหมายปี 2560 ลดต้นทุน 20% เพิ่มผลผลิต 20%

ผัก/สมุนไพร 4 ชนิดได้แก่ ผัก/สมุนไพร แตงโมอินทรีย์ หอมแดง มะเขือเทศ ทั้งหมด 20 แปลง พื้นที่ 11,806 ไร่ เกษตรกร 2,592 ราย ผลการดำเนินงานปี 2559 ลดต้นทุนได้ 16.5% เพิ่มผลผลิตได้ 30.2% เป้าหมายปี 2560 ลดต้นทุน 20% เพิ่มผลผลิต 32%

ทั้งนี้ ทางกรมได้ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ 300 คน ช่วยดูแลคนละ 2 แปลง

- ต่อไปการขึ้นทะเบียนเป็นแปลงใหญ่จะมีหลักเกณฑ์อย่างไรบ้าง 

จะมีการปรับ 3-4 ทิศทางคือ 1.ดูข้อมูลพื้นที่จากอะกริ-แมป ว่าพื้นที่เหมาะสมกับพืชที่ปลูกหรือไม่ 2.ต้องมีแหล่งน้ำ 3.ต้องมีสถาบันเกษตรกรที่เข้มแข็ง ต้องเป็นวิสาหกิจชุมชน ศูนย์ข้าวชุมชนหรือสหกรณ์ 4.สินค้าต้องมีศักยภาพ ขณะที่การรวมกลุ่มไม่ได้รวมตัวกันมาจากพืชหรือสัตว์ที่เลี้ยง 

ขณะเดียวกันบอร์ดหรือคณะกรรมการบริหารธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เตรียมพิจารณาเรื่องที่จะปล่อยเงินกู้ให้กับเกษตรแปลงใหญ่อัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี วงเงินประมาณ 2 หมื่นล้านบาท พร้อมกับขยายระยะเวลาการกู้ของเกษตรกรจาก 3 เป็น 5 ปี ขยายวงเงินต่อแปลงจาก 5 เป็น 10 ล้านบาท ซึ่งแปลงใหญ่ที่จะขอกู้ต้องมีแผนธุรกิจของกลุ่มเสนอต่อธนาคาร และต้องช่วยกันค้ำประกัน

- แผนการขยายการทำเกษตรแปลงใหญ่เพิ่มเติมในปีหน้า

ความคืบหน้าการดำเนินการแปลงใหม่มีอีก 465 แปลง พื้นที่ 4 แสนไร่ เกษตรกร 2 หมื่นราย มี 9 ชนิดสินค้า แยกเป็นข้าว 82 แปลง พืชไร่ 87 แปลง ไม้ยืนต้น 37 แปลง ผัก/สมุนไพร 52 แปลง ไม้ผล 70 แปลง ไม้ดอกไม้ประดับ 72 แปลง ปศุสัตว์ 38 แปลง ประมง 14 แปลง แมลงเศรษฐกิจ (ผึ้งพันธุ์ ผึ้งโพรง จิ้งหรีด) 13 แปลง เป้าหมายลดต้นทุน 20% เพิ่มผลผลิต 20% ทั้งหมดจะต้องผ่านการพิจารณาในระดับอนุกรรมการจังหวัดภายในสิ้นเดือนมกราคม 2560 ขณะนี้ผ่านแล้ว 9 แปลง 

นอกจากนี้ ยังมี 512 แปลง พื้นที่ 5.12 แสนไร่ เกษตรกร 25,600 ราย มี 6 ชนิดสินค้า แยกเป็นพืชไร่ 131 แปลง ไม้ยืนต้น 183 แปลง ผัก/สมุนไพร 38 แปลง ไม้ผล 114 แปลง ไม้ดอกไม้ประดับ 33 แปลง แมลงเศรษฐกิจ 13 แปลง เป้าหมายลดต้นทุน 20% เพิ่มผลผลิต 20% ซึ่งการเตรียมความพร้อม 512 แปลงในเดือนมกราคม-มีนาคม 2560 ต้องจัดทำแผนธุรกิจรายบุคคลและรายกลุ่ม กำหนดเป้าหมายของกลุ่มและกำหนดแผนปฏิบัติและเตรียมความพร้อมในการดำเนินการ ซึ่งน่าจะทำได้เร็วขึ้น เพราะมีประสบการณ์จากแปลงใหญ่ที่ผ่านมา 

- จุดอ่อนของการทำเกษตรแปลงใหญ่มีอะไรบ้าง

ก็มีจุดอ่อนเรื่องการรวมกลุ่ม ขาดการบูรณาการร่วมกัน ขาดการทำแผนธุรกิจร่วมกัน และจุดอ่อนเรื่องการตลาด มองข้ามตลาดในท้องถิ่น ซึ่งควรจะประสานกับตลาดท้องถิ่นแล้วยกระดับมาตรฐาน

- ความคืบหน้าในการปลูกพืชอื่นแทนการปลูกข้าวรอบ 2

ปีนี้ปลูกข้าวนาปีไปแล้วได้ผลผลิต 26-27 ล้านตันข้าวเปลือก เหลือผลผลิตที่ต้องไม่ปลูกเกินอยู่ 4 ล้านตันเท่านั้น ขณะที่มีพื้นที่ทำนารอบ 2 มีกว่า 10 ล้านไร่โดยหาพืชอื่นมาแทน อย่างพืชตระกูลถั่ว กำไรน้อย แต่ความอุดมสมบูรณ์ในการปลูกข้าวรอบถัดไปจะลดการใช้ปุ๋ยปกติได้ถึงครึ่งหนึ่ง 

เรานำเข้าถั่วเหลืองปีละ 2 ล้านตัน แต่ผลิตได้เอง 5-6 หมื่นตัน ข้าวโพดผลิตได้ 4.2 ล้านตัน แต่ความต้องการใช้ในประเทศสูงถึง 7-8 ล้านตัน ฉะนั้น ข้าวโพด 3 ล้านตันที่ขาด จึงต้องหาพื้นที่ปลูกหลังทำนา เพราะใช้น้ำน้อยเพียง 1 ใน 4 ของข้าว และการปลูกข้าวต่อเนื่องจะสะสมศัตรูข้าว ปลูกข้าวหน้าแล้งต้นทุนสูง เราจึงเลือกข้าวโพดที่จะปลูก 2 ล้านไร่ ปลูกถั่ว 3 แสนไร่ ปลูกพืชปุ๋ยสดอีก 2 แสนไร่ในเขตชลประทาน

อย่างไรก็ตาม มีเกษตรกรสมัครใจมาปลูกเพียง 2.54 แสนไร่ เพราะไม่คุ้นเคยกับการปลูกเหมือนปลูกข้าว เราจึงปิดรับสมัครการปลูกเพียงแค่นี้คือ เส้นตายวันที่ 25 ธ.ค.นี้ หากปลูกเกินจากเวลานี้ จะไปเจอฝนช่วงสงกรานต์ ในปี 2560 จะทำให้ข้าวโพดเน่าเสียหายหมด


อี.โอ.เอส เกียร์,ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต,#มีดดามัสกัส,#เหล็กดามัสกัส

Tags : อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ลุยปฏิรูปภาคเกษตร เข็น 1 , 000 แปลงใหญ่สู้วิกฤตราคาตกต่ำ

view