สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แม่แจ่มแสนตันเคว้ง ที่ปลูก95% ไร้เอกสารสิทธิ-เกษตรกรจำใจขายขาดทุนยับ

จากประชาชาติธุรกิจ

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แม่แจ่ม เชียงใหม่ 1 แสนตันเคว้ง ทุนใหญ่ไม่รับซื้อ เหตุพื้นที่ปลูกมากกว่า 95% ไม่มีเอกสารสิทธิ เผยมีใบ สทก.ให้สิทธิทำกินในป่าสงวนฯไม่ถึง 5,000 ไร่ เกษตรกรจำใจขายขาดทุนยับ 4.50 บาท/กก. วอนรัฐบาลช่วยเหลือด้านตลาด พร้อมยอมปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดใหม่ที่มีตลาดรองรับแน่นอน ชี้เศรษฐกิจแม่แจ่มตกต่ำสุดในรอบ 20 ปี

95% ไม่มีเอกสารสิทธิ

นายอุทัย บุญเทียม เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า สถานการณ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของจังหวัดเชียงใหม่ในฤดูกาลผลิตปี 2559 ถือว่าประสบปัญหาหนักมาก โดยเฉพาะพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม เนื่องจากผลผลิตในปีนี้ประมาณ 100,000 ตัน ยังไม่มีตลาดรับซื้อที่แน่นอน และมีปัญหาเรื่องราคาตกต่ำมากกว่าหลายปีที่ผ่านมา แม้ปัจจุบันเกษตรกรได้เริ่มทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิตไปบ้างแล้วราว 20% โดยขายผ่านพ่อค้าคนกลางที่มีตลาดรับซื้อเป็นกิจการฟาร์มเลี้ยงไก่และเลี้ยงสุกรในพื้นที่เชียงใหม่-ลำพูน ซึ่งเกษตรกรจำใจขายและจำเป็นต้องขายในภาวะขาดทุน ขณะที่ผลผลิตที่ยังรอการเก็บเกี่ยวนับจากนี้จนถึงเดือนกุมภาพันธ์อีกกว่า 70-80% ยังไม่มั่นใจว่าจะมีตลาดรับซื้อหรือไม่

สำหรับผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของจังหวัดเชียงใหม่ในปี 2559 คาดว่าจะมีปริมาณมากเกือบ 2 แสนตัน โดยเป็นผลผลิตของอำเภอแม่แจ่มราว 1 แสนตัน ซึ่งมีพื้นที่ปลูกมากที่สุดราว 120,000 ไร่ โดยปีนี้บริษัทผู้รับซื้อรายใหญ่ประกาศว่าจะไม่รับซื้อผลผลิตข้าวโพดที่ไม่มีเอกสารสิทธิ แต่จะรับซื้อเฉพาะพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิเท่านั้น ซึ่งพื้นที่ปลูกข้าวโพดของอำเภอแม่แจ่มกว่า 95% ไม่มีเอกสารสิทธิ

แม่แจ่มมีใบ สทก. 5 พันไร่

นายอุทัยกล่าวว่า พื้นที่เอกสารสิทธิที่ออกโดยกรมที่ดินในอำเภอแม่แจ่มมีราว 20,000 ไร่ โดยส่วนใหญ่เป็นโฉนด และ น.ส.3 ก. ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยราว 40% และเป็นพื้นที่การเกษตร 60% ส่วนใหญ่ปลูกข้าวนาปีและพืชอื่น ๆ ขณะที่พื้นที่ปลูกข้าวโพดของอำเภอแม่แจ่มมีราว 120,000 ไร่จะปลูกในป่าสงวนแห่งชาติเกือบทั้งหมด และคาดว่าเป็นพื้นที่ที่มีใบ สทก.(สิทธิทำกิน) ได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ให้เป็นพื้นที่ทำกินในเขตป่าสงวนฯ ไม่ถึง 5,000 ไร่ ส่วนที่เหลืออีก 115,000 ไร่ไม่มีเอกสารสิทธิใด ๆ เลย จึงยังไม่มีตลาดรองรับ

ทั้งนี้ ประชากรในอำเภอแม่แจ่มมีจำนวน 60,000 คน หรือราว 12,000 ครัวเรือน ซึ่งจำนวนกว่า 8,000 ครัวเรือนมีอาชีพปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะตำบลบ้านทัพ และตำบลปางหินฝน 95-99% ไม่มีทั้งเอกสารสิทธิพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัย

นายอุทัยกล่าวว่า ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (สีเป็นเม็ดแล้ว) ในอำเภอแม่แจ่มระดับความชื้น 20-25% อยู่ที่ 4.50 บาท/กิโลกรัม ความชื้น 28-29% ราคา 3.85 บาท/กิโลกรัมขณะที่ต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 8.25 บาท เกษตรกรขาดทุน 3.75 บาท แต่จำเป็นต้องขายขาดทุน ส่วนผลผลิตที่ยังรอการเก็บเกี่ยวก็ไม่มีตลาดรองรับ ซึ่งขณะนี้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดในภาคเหนืออยู่ในภาวะสิ้นหวัง และต้องการให้รัฐบาลมีนโยบายช่วยเหลือเรื่องการตลาด

"การเปิดให้มีการนำเข้าข้าวสาลีจากต่างประเทศ ส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้ปลูกข้าวโพดทุกราย หากรัฐบาลต้องการให้เลิกปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ก็ควรมีพืชชนิดอื่นที่มีตลาดรองรับมาทดแทน เพราะเกษตรกรก็พร้อมที่จะปรับเปลี่ยน ซึ่งตอนนี้เศรษฐกิจของอำเภอแม่แจ่มตกต่ำมากในรอบ 20 ปี"


ไม่มีผู้ซื้อ - ไร่ข้าวโพดกว่ำ 120,000 ไร่ในอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ทยอยเก็บเกี่ยวแล้ว ซึ่งผู้รับซื้อรายใหญ่จะรับซื้อเฉพาะผู้ที่มีเอกสารสิทธิมาแสดงเท่านั้น ทำให้ชาวไรไม่มีที่จะขาย เพราะเกือบทั้งหมดไม่มีเอกสารสิทธิ และมีใบ สทก. (สิทธิทำกิน) ที่ได้รับอนุญาติจากกรมป่าไม้ให้เป็นพื้นที่ทำกินในเขตป่าสงวนฯราว 5,000 ไร่

ขึ้นทะเบียนชาวไร่

นายจรัญ อุปนันท์ ประธานสหกรณ์การเกษตรแม่แจ่ม กล่าวว่า ขณะนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในอำเภอแม่แจ่มอยู่ระหว่างสำรวจพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ว่าพื้นที่ใดได้รับใบอนุญาตให้เป็นพื้นที่ทำกินในเขตป่าสงวนฯเพื่อนำไปยืนยันต่อบริษัทผู้ซื้อรายใหญ่ให้รับซื้อผลผลิตข้าวโพด

อย่างไรก็ตาม เกษตรกรได้เริ่มทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วราว 20-30% โดยขายให้กับผู้ประกอบการเลี้ยงสัตว์ และสุกรรายเล็ก ๆ ในจังหวัดเชียงใหม่และลำพูนผ่านพ่อค้าคนกลาง ส่วนบริษัทรายใหญ่ยังไม่มีความเคลื่อนไหวที่จะเข้ามารับซื้อเหมือนเช่นหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งค่อนข้างกังวลว่าผลผลิตอีกราว 70-80% ที่จะต้องเก็บเกี่ยวต่อไปจะมีตลาดรับซื้อทั้งหมดหรือไม่

ด้านนายสมพล แสนคำ เกษตรจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จากการประชุมล่าสุดเมื่อ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างจังหวัดเชียงใหม่กับเอกชนรายใหญ่ ได้ข้อตกลงร่วมกันว่าจะรับซื้อผลผลิตข้าวโพดจากเกษตรกรในอำเภอแม่แจ่มเฉพาะพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ ซึ่งรวมถึงพื้นที่ที่มีใบอนุญาตให้เป็นพื้นที่ทำกินจากกรมป่าไม้ ขณะนี้ได้ประสานให้อำเภอแม่แจ่มสำรวจพื้นที่ปลูกข้าวโพดทุกตำบลโดยเร็วที่สุด โดยให้นำหลักฐานมาขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวโพดที่สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อนำมายืนยันกับบัญชีรายชื่อของกรมป่าไม้ว่าเป็นรายชื่อที่ตรงกันหรือไม่ หากมีหลักฐานที่ตรงกันทางผู้ซื้อรายใหญ่จึงจะรับซื้อผลผลิต


อี.โอ.เอส เกียร์,ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต,#มีดดามัสกัส,#เหล็กดามัสกัส

Tags : ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แม่แจ่มแสนตันเคว้ง ที่ปลูก95% ไร้เอกสารสิทธิ-เกษตรกรจำใจขายขาดทุนยับ

view