สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จุฬาฯปุจฉา ริมน้ำยานนาวา โครงการดี ๆ ที่รัฐบาลมองไม่เห็น

จากประชาชาติธุรกิจ

ผ่านมาแล้ว 4 ปีหลัง "UddC" (ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง-Urban Design and Development Center) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มต้นงานออกแบบโครงการริมน้ำยานนาวา (Yannawa Riverfront) ความยาว 1.2 กม. จากสถานีบีทีเอสสะพานตากสิน-คลองกรวย (ข้างโรงแรมชาเทรียม) ตามแผนเดิมเริ่มก่อสร้างปี"59 แต่จนบัดนี้โครงการยังค้างอยู่บนหน้ากระดาษ

พื้นที่ศึกษาผลกระทบน้อย

"ดร.พรสรร วิเชียรประดิษฐ์"
รอง ผอ. UddC กล่าวเปิดการเสวนา "ริมน้ำยานนาวา" เมื่อ 19 ต.ค.ที่ผ่านมาว่า โครงการนี้เริ่มต้นจากความต้องการฟื้นฟูพื้นที่ริมน้ำให้เป็นสถานสาธารณะที่สวยงาม จากปัจจุบันมีการใช้ประโยชน์หลักเป็นท่าเรือสัญจร ทัศนคติผู้คนมองว่าพื้นที่ริมน้ำเป็นย่านเสื่อมโทรม

เหตุผลในการเลือก คือ 1.มีผลกระทบต่อชุมชนน้อย เนื่องจากพื้นที่ 85% เป็นที่ดินรัฐและศาสนสถาน อาทิ บริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด, องค์การสะพานปลา, กรมทางหลวงชนบท, วัดยานนาวา, วัดสุทธิวราราม อีก 15% เป็นพื้นที่เช่ากรมธนารักษ์และพัฒนาโครงการโดย บมจ.คันทรี่กรุ๊ป ดีเวลลอปเมนท์ ที่เหลือเป็นที่อยู่อาศัยเอกชนรายย่อย 140 หลังคาเรือน

2.เข้าถึงง่ายทั้งทางรถ-ราง-เรือ เพราะห่างจาก ถ.เจริญกรุง 200-300 เมตรพื่นที่ครึ่งหนึ่งอยู่ในรัศมี 500 เมตรจากสถานีบีทีเอสสะพานตากสินกับท่าเรือสาทร 3.เป็นพื้นที่ต่อเรือและซ่อมแซมเรือมาแต่ดั้งเดิม ทำให้มีคุณค่าเชิงประวัติศาสตร์

ทางเดิน-ไบก์เลน-นั่งเล่น

ช่วงที่ผ่านมาได้จัดประชาพิจารณ์แล้ว5ครั้งUddC ได้เริ่มการออกแบบและมีแผนแม่บทเมื่อปี 2558 สรุปว่ามีการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำตลอดแนว 1.2 กม. มูลค่าโครงการ 600 ล้านบาท

โดยรูปแบบทางเดินริมน้ำ ปัจจุบัน กทม.ได้สร้างเขื่อนกั้นน้ำกว้าง 3 เมตรเป็นพื้นที่สาธารณะ และ UddC ออกแบบให้ขยายโครงสร้างทางเดินเพิ่ม 2-4 เมตร โดยใช้เสาเดี่ยวก่อสร้างยื่นลงในแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้ทางเดินริมน้ำยานนาวากว้าง 5-7 เมตร เส้นทางผ่านพื้นที่ ดังนี้

1.กรมทางหลวงชนบทฝั่ง ถ.เจริญกรุง บูรณะเป็นสวนสาธารณะ สนามกีฬา 2.กรมทางหลวงชนบทฝั่งริมน้ำ ปัจจุบันเป็นท่าเรือที่ขยายจากท่าเรือสาทร ปรับปรุงภูมิทัศน์ให้สวยงามขึ้น 3.วัดยานนาวา ปรับพื้นที่เปิดโล่งเชื่อมบริเวณวัดให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ

4.อู่กรุงเทพ ต่อเชื่อมจากภายในอู่ มีแนวคิดพัฒนาเป็นสถานที่อนุรักษ์ประวัติศาสตร์ด้านการต่อเรือ ร่วมกับพื้นที่พาณิชยกรรม 5.พื้นที่เอกชนรายย่อย สร้างเป็นรั้วกั้นแยกจากทางเดินริมน้ำเพื่อความเป็นส่วนตัว 6.องค์การสะพานปลา เชื่อมต่อพื้นที่สะพานปลา ซึ่งมีแนวคิดพัฒนาเป็นตลาดสัตว์น้ำทันสมัยและมีภัตตาคารอาหารทะเล 7.โครงการมิกซ์ยูส เดอะ แลนด์มาร์ก วอเตอร์ฟร้อนท์ ของ บมจ.คันทรี่กรุ๊ป กั้นรั้วแยกเป็นสัดส่วนจากทางเดินริมน้ำ



จุดขาย "อู่ต่อเรืออนุรักษ์"

"น.อ.พิชเยนทร์ ตันประเสริฐ" เอ็มดีของอู่กรุงเทพ กล่าวว่า พื้นที่อู่ต่อเรือ 20 ไร่ หน้ากว้างริมน้ำ 160 เมตร กระทรวงการคลังมีมติให้ย้ายอู่ต่อเรือไป อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ทดแทน ดังนั้นบริษัทได้ร่างทีโออาร์ให้เอกชนที่ต้องการรับสัมปทานพัฒนาต้องอนุรักษ์พื้นที่ 5 ไร่ของอู่หมายเลข 1 ไว้เป็นพิพิธภัณฑ์เรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ อีก 15 ไร่เปิดให้พัฒนาเชิงพาณิชยกรรม ขณะนี้ยังเปิดรับข้อเสนอจากภาคเอกชน

"พื้นที่อู่กรุงเทพมีศักยภาพ เคยจัดงานอีเวนต์ Bangkok Dock Land 2 ครั้ง ในปี"57-58 ได้รับการตอบรับที่ดีโดยเฉพาะวัยรุ่นให้ความสนใจอย่างมาก เนื่องจากเป็นการจัดงานบนพื้นที่ประวัติศาสตร์ 151 ปีคล้ายคลึงกับบริเวณเอเชียทีค อู่กรุงเทพจึงน่าจะเป็นจุดดึงดูดให้ประชาชนเข้ามาใช้พื้นที่"

สำหรับจุดที่มีความละเอียดอ่อนสูงสุด"พวงรัตน์ชัยพล"ในฐานะตัวแทนชุมชนย่านสะพานปลา กล่าวว่า ชุมชนมีทั้งเห็นด้วยกับไม่เห็นด้วย ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการพัฒนาเนื่องจากกังวลความปลอดภัยหากมีคนสัญจรผ่านจำนวนมาก ฝ่ายที่เห็นด้วยมองว่าการพัฒนาเป็นสิ่งที่ดี สร้างบรรยากาศพื้นที่ให้สวยงามขึ้น

ดังนั้น หากจะมีการพัฒนาคงต้องย้ำให้ชุมชนมั่นใจว่ามีความปลอดภัย และรักษาพื้นที่ให้สวยงามไม่เสื่อมโทรม

เส้นผมบังภูเขา-รัฐมองไม่เห็น

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่าในปี2558UddC ได้นำเสนอโครงการริมน้ำยานนาวากับ กทม. แต่สำนักผังเมือง กทม.ได้ตอบกลับว่า กทม.ไม่มีงบประมาณเพียงพอ ทำให้โครงการยังไร้เจ้าภาพที่แน่ชัด

"ดร.ไขศรี ภักดิ์สุขเจริญ-ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ" ที่ปรึกษา UddC นำเสนอว่า หากไม่ได้รับงบประมาณภาครัฐ เป็นไปได้หรือไม่ที่หน่วยงานเอกชนในพื้นที่ร่วมทุนกัน หรือก่อตั้งมูลนิธิ/ทรัสตีระดมทุนจากบุคคลทั่วไปเพื่อใช้ในการก่อสร้างและบริหารพื้นที่

อย่างไรก็ตามแหล่งข่าวจากUddCรายหนึ่งกล่าวว่า แนวทางนี้มีความเป็นไปได้ต่ำเนื่องจากต้องใช้สถานที่เขื่อนกั้นน้ำของ กทม. และต้องขออนุญาตกรมเจ้าท่าในการก่อสร้างทางเดินยื่นเข้าไปในแม่น้ำ ยังไม่นับรวมพื้นที่ของกรมทางหลวงชนบท อู่กรุงเทพ และองค์การสะพานปลา ดังนั้น โครงการนี้จะสำเร็จได้ต้องอาศัยหน่วยงานรัฐเป็นเจ้าภาพหลัก

เมื่อพิจารณาจากมุมมองนี้ โอกาสแจ้งเกิดของโครงการริมน้ำยานนาวาน่าจะยังห่างไกล เพราะรัฐบาล คสช.ให้ความสำคัญกับโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา (Chao Phraya for All) ระยะทาง 14 กม. มูลค่า 1.4 หมื่นล้านบาท ที่เริ่มการศึกษาเมื่อเดือน มี.ค. 59 เป็นลำดับแรก

โครงการริมน้ำยานนาวาจึงเป็น 1 ในโครงการดี ๆ ที่รัฐบาลมองไม่เห็นด้วยประการฉะนี้ แล


อี.โอ.เอส เกียร์,ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต,#มีดดามัสกัส,#เหล็กดามัสกัส

Tags : จุฬาฯปุจฉา ริมน้ำยานนาวา โครงการดี ๆ ที่รัฐบาลมองไม่เห็น

view