สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จากปากคำชาวนา ฝ่า ความตาย สู่ ทางรอด

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์


       เสียงสะอื้นของชาวนาดังระงม! เพราะปีนี้ถือว่าสาหัสในรอบเกือบสิบปี เคราะห์ซ้ำกระหน่ำซัดกระดูกสันหลังของชาติเมื่อครั้งข้าวต้องการน้ำก็ประสบภัยแล้ง ครั้นปลายปีพายุฝนถล่มข้าวล้มเสียหาย ร้ายสุด!ราคาข้าวเปลือกเหวี่ยงลงต่ำดิ่งเหวเหลือเพียงกิโลฯ ละ5- 6 บาท นั่นหมายความว่า เรากำลังอยู่ในยุคที่ข้าว 1 กิโลฯ ถูกกว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แต่ทำไมพอผ่านพ่อค้าคนกลางข้าวขายขึ้นห้างกลับทำราคาได้สูงลิ่ว
       
       จะเป็นเพราะอะไรก็ตาม...แต่ความซวยก็ตกมาอยู่กับ “ชาวนา” เหยื่อตัวน้อยผู้ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ไม่มีอำนาจต่อรอง โดนกดราคาจมดิน ผู้ถูกปล้นเงินที่ประคบประหงมมาทั้งปี!
       
       “ถ้าไม่ขายก็ไม่มีเงินใช้หนี้ ขายไปได้เงินก็ไม่พอใช้หนี้ทั้งค่าปุ๋ย ค่ายาฆ่าหญ้า ค่ารถไถ รถเกี่ยวข้าว” เสียงสะท้อนส่วนใหญ่ของชาวนาที่สู้หลังชนกำแพง พวกเขาต้องตัดใจกลั้นน้ำตาขายข้าวทั้งที่ขาดทุนป่นปี้
       
       “เราทำนา มันก็เหมือนผู้ผลิต ผู้ผลิตเขากำหนดราคาเองทุกอย่างได้ แต่ผู้ผลิตอย่างชาวนา ไม่สามารถจะตั้งราคาสินค้า กำหนดราคาข้าวได้ ”

จากปากคำชาวนา ฝ่า ความตาย สู่ ทางรอด

        ชวิศ บีพิมาย หนุ่มโคราชวัย 34 ปี พนักงานประจำของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ.นครราชสีมา ผู้พ่วงอาชีพเสริมด้วยการเป็น “ชาวนา” ใน อ.โนนสูง กล่าวถึงความระทมของชาวนาไทย
       
       ผู้จัดการ Lite จะนำคุณไปสัมผัสความรู้สึกผ่านมุมมองของชาวนาในวิกฤตนี้กัน
       
       เขาคือลูกชาวนา ผู้รับรู้ความลำบากของครอบครัวมาชาวนามาตั้งแต่เด็ก พ่อแม่ทำนาแบบใช้สารเคมี พอมาสู่รุ่นลูก จึงเปลี่ยนผืนนากว่า 10 ไร่ มาปลูกข้าวพรีเมียมแบบอินทรีย์ ข้าวสายพันธุ์ใหม่ ทับทิมชุมแพ และไรซ์เบอร์รี มาเป็นเวลา 3 ปีแล้ว ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี พยายามลดต้นทุนการผลิตให้ได้มากที่สุด ใช้โรงสีชุมชน ทำแพ็กเกจจิ้ง การตลาดเอง รับออร์เดอร์จากโลกโซเชียลฯ ปัจจุบันเขาไม่ได้รับผลกระทบจากราคาข้าวที่ตกต่ำดิ่งเหว เพราะปรับตัวได้เสียก่อน
       
       มัดมือชก! ไม่ขายโรงสี ก็หนี้ท่วม!
       
       ณ ขณะนี้ ข้าวเปลือก 1 กิโลฯ กลับมีราคาถูกกว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปซองเดียว ไม่ว่าจะเพราะกลไกการตลาด หรือเกมการเมืองกดดันให้เกิดม็อบ แต่ผู้ที่ต้องก้มหน้าก้มตาแบกรับชะตากรรมตกเป็นเครื่องมือ ก็คือ “ชาวนา” อยู่ร่ำไป
       
       “ปกติราคาข้าวเปลือกจะไม่ต่ำกว่า 10-13 บาทต่อกิโลกรัม สำหรับข้าวใหม่ที่เกี่ยวสดๆ ยังไม่ตาก ราคานี้ชาวนารับได้ แล้วมาปีนี้ราคา 5-6 บาท ขาดทุนแน่นอน ขนาดกิโลฯ ละ 9 บาท ก็ยังไม่ได้อะไรเลย ไหนจะค่ารถบรรทุกข้าวอีก เขาคิดราคาเป็นตันนะ ไม่ได้คิดเป็นเที่ยว ทุกอย่างคือรายจ่าย ส่วนคนที่มีอุปกรณ์ เครื่องมือเอง พวกรถไถ เขาก็ได้แต่ไม่เยอะ เหมือนเหนื่อยฟรี เงินไม่เหลือเก็บ

จากปากคำชาวนา ฝ่า ความตาย สู่ ทางรอด

       ชาวนาขายข้าวครั้งหนึ่งได้เงินก้อนเดียวก็ต้องแบ่งจ่าย ค่ารถเกี่ยว ค่ารถไถ ค่าน้ำมัน ค่าปุ๋ย จิปาถะ ส่วนที่เหลือคือเงินเก็บ เพื่อแบ่งเอาไว้ลงทุนครั้งต่อไปอีก เก็บเอาไว้ใช้ในชีวิตประจำวัน ซื้อของ รักษาตัว
       แต่ไม่ว่าจะยังไงตอนนี้ชาวนาก็ต้องเอาไปขายโรงสีอยู่ดี เพราะค่ารถเกี่ยว รถไถ ค่าปุ๋ยที่เอามาจากสหกรณ์ ธ.ก.ส.เพราะชาวนาโดนมัดมือชกอยู่แล้ว
       
       แถวบ้านผมข้าวเปลือกขายอยู่กิโลฯละ 7.20 บาท เกี่ยวปุ้บวิ่งไปโรงสี ได้ประมาณ 7,200 บาทต่อตัน แต่ราคาที่ยอมรับได้ก็ต้องตันละ10,000 ขึ้นไป สำหรับคนที่มีเครื่องมือเองก็อยู่ได้ ส่วนคนที่ไม่มีเครื่องมือทำนาก็ไม่เหลือ เดี๋ยวขายข้าวเสร็จก็ต้องจ่ายค่ารถไถ เพราะชาวนาบางคนไม่ได้จ่ายเงินสด เกี่ยวข้าวเสร็จขายข้าวโรงสีเสร็จก็ค่อยมาจ่าย มันจึงเป็นลูกโซ่ ถ้าชาวนาไม่มีเงินจ่าย รถไถก็ไม่มีเงิน เดี๋ยวเกี่ยวข้าวเสร็จประมาณมีนาคม เมษายน ก็ต้องไถอีกแล้ว รถไถก็ต้องหาเงินทุนมาซื้อน้ำมันอีก ฉะนั้นถ้าชาวนาได้เงินน้อย ขายข้าวถูก ก็จะกระทบเป็นลูกโซ่ เป็นทอดๆไป”
       
       สำหรับราคาข้าวตกต่ำปัญหาระยะยาวที่เกิดขึ้นมานานแล้วของรัฐบาล ควรแก้ไขอย่างไรดี

จากปากคำชาวนา ฝ่า ความตาย สู่ ทางรอด

        “ผมคิดว่าการขึ้นราคาข้าว คือการแก้ปลายเหตุ ผมว่าต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุแบบบูรณาการให้มีคนที่ดูแลโดยตรง อย่างเวลาหน้าเกี่ยวข้าวก็ต้องไปเรียกร้องราคา ต้องมาเดินขบวน สร้างกระแส ทำไมไม่ทำให้กำหนดราคาข้าวให้เป็นมาตรฐานเลย แต่อย่างว่าก็ทำไม่ได้อีกนั่นแหละ
       
       เดี๋ยวรัฐบาลก็จ่ายเงินอุดหนุนให้ชะลอ ชาวนาไม่ต้องขายข้าว เพราะจะได้ไม่ต้องขายข้าวถูก เอาเงินภาษีมาอุดเหมือนเดิม มันเป็นการแก้ปลายเหตุ
       
       ตอนแรกผมก็รู้สึกว่า ทำไมอยู่ดีๆ ข่าวเรื่องข้าวเด้งมาในเฟซบุ๊กทุกวัน อันนี้ความคิดเห็นผมนะ ผมว่าเป็นกระแสการเมืองหรือเปล่า เพราะข้าว กับการเมือง จะอยู่คู่กัน อาจจะมีคนกลุ่มหนึ่งมาสร้างกระแสในโลกโซเชียล ให้ชาวนาลุกขึ้นมาต่อต้านรัฐบาล บีบให้รัฐบาลช่วยเหลือ ปรับราคา ทำให้รัฐบาลปวดหัว สุดท้ายก็ปรับราคาให้เหมือนเดิม ถ้าไม่มีใครมาสร้างกระแส ชาวนาก็จะเงียบ ก็ขายตามราคาที่โรงสีกดราคา”
       
       สีข้าวเอง ทางออกปลดทุกข์!?
       
       อย่างไรก็ดี ขณะนี้กระแสในโลกโซเชียลฯ หลายฝ่ายหยิบยื่นความช่วยเหลือให้ชาวนา ผลักดันให้รวมกลุ่มกันเพื่อสีข้าว ขายเอง ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ที่หลายคนมองว่า เป็นตัวร้ายรังแกชาวนาด้วยการกดราคารับซื้อข้าวให้ต่ำ

        “โรงสีก็เป็นเหมือนปลายน้ำ เขาก็ยึดราคาส่งออกอีกที ถ้าราคาส่งออกสูง เขาก็รับซื้อได้ในราคาที่สูง ส่วนข้าวที่มีความชื้นเขาก็ซื้อ แต่กดราคาลง เพราะว่าเขาก็ต้องเสียเวลาในการอบให้แห้ง เหมือนอย่างเวลาเราไปซื้อของ เราก็ต้องต่อราคา ข้าวคุณเขียวไปนะ ข้าวคุณมีเจือปนเยอะไปนะ สิ่งเจือปน(ซังข้าว ข้าวลีบ)เขาจะหักไป 2% ความชื้น 2% คุณภาพข้าวดูอีกทีหนึ่ง รวมๆแล้วขายข้าวครั้งหนึ่ง โดนหักไม่ต่ำกว่า 5% ของน้ำหนักข้าว
       
       แม้เวลาเราบรรทุกข้าวไปขายก็ต้องมีค่ากรรมกร 20 บาท เราขับรถเข้าไปในโรงสี ก็เสียแล้ว 20 บาท บางทีเราเอาข้าวลงเองโดยไม่ใช้คนของเขา เขาก็คิดนะครับ วันหนึ่งรถเข้าตั้งหลายร้อยคัน เขาก็ได้ตรงนั้นไปจ่ายค่าแรงคนงานในโรงสี ส่วนข้าวที่ใช้ไม่ได้แล้วจากการสี แกลบ รำ ปลายข้าว เขาก็เอาไปขายอีกที
       
       “ผมไม่เคยเห็นโรงสีที่ไหนเจ๊งเลยนะ”
       
       สำหรับการที่ชุมชนจะรวมกลุ่มกันสีข้าวเอง ในมุมมองเขามองว่า หากไม่มีการจัดการที่ดี ชาวนาอาจจะ “ระทม” เพราะไม่ใช่เรื่องง่าย มีกระบวนการที่ค่อนข้างซับซ้อน อีกทั้งต้องมีเงินลงทุนสูง
       
       “ผมว่าจะช้ำมากกว่าขายข้าวเปลือกนะ เพราะขายทีเดียวจบ แต่ข้าวสารเราต้องขนข้าวไปรถ ลงที่โรงสี แล้วก็เอาจากโรงสีกลับมา มันหลายขั้นตอนการขนส่ง อย่างขายโรงสีมันจอดรถปุ้บรับเงินกลับ ได้เป็นก้อน ถ้าเราขายเองจะได้เป็นเงินเล็กๆน้อยๆผสมเก็บ ดังนั้นเราต้องมีวินัยในการเก็บ ต้องบัญชี เงินต้องแยกใช้ เก็บ
       
       อย่างข้าวสารขายกันอยู่กิโลฯ ละ 25 บาท เหมือนกันทุกเจ้า ทีนี้ใครมีข้าวก็มาขาย เด็กรุ่นใหม่ ช่วยพ่อ ช่วยยาย ช่วยตา เอาข้าวมาขายในเมือง ทีนี้ผมขายมาปีแรก ผมดีใจขายข้าวสารได้ ทีนี้พอคิดกลับไปกลับมา เราเอาข้าวไปกี่กระสอบกี่โลกี่ถุง สีได้เท่าไหร่ ได้ข้าวเม็ดสวยๆเท่าไหร่ ค่าน้ำมันจากบ้านมานี่เท่าไหร่ ค่าถุง 1 กิโลฯ 5 กิโลฯ ถุง 10 กิโลฯ บางทีก็ต้องทำเป็นสุญญากาศ ลองไปคิดมาว่าได้กำไรไหม ได้เยอะไหม จะคุ้มไหม ระหว่างที่เราต้องเอาข้าวออกจากยุ้ง ยกใส่รถมา แล้วก็ขับรถไปโรงสี ไปยกลงโรงสี แล้วก็ขับรถกลับมา มานอนรอ แล้วก็ไปเอาข้าว คุ้มค่าแรงไหม แล้วต้องขนข้าวมาส่งลูกค้าอีก
       
       ทีนี้ผมเห็นเขาขายกันโลละ 25 บาท ขายไม่ได้อะไรหรอก
       สำหรับชาวนาที่ร่ำรวยเพราะเขามีพื้นที่เยอะ แต่รายจ่ายก็เยอะตามตัว อย่างของผมมี 10 ไร่ก็ได้ไม่เยอะ แต่ผมคิดว่าถ้าทำดีๆ เราทำข้าวที่ได้ราคามันก็ได้เงินเยอะนะ จัดการดีๆ บางคนพื้นที่เยอะแล้วดูแลไม่ได้ อาจจะขาดทุนด้วยซ้ำไป มันอยู่ที่ว่าคุณจะขายคุณภาพ หรือปริมาณ”
       
       “พึ่งพาตัวเอง” โลละ 5 ไม่สะเทือน!

จากปากคำชาวนา ฝ่า ความตาย สู่ ทางรอด

       นอกจากนี้ เขายังแนะนำให้ชาวนารุ่นใหม่หันมาปลูกข้าวอินทรีย์ ข้าวคุณภาพสูง เช่น ข้าวไรซ์เบอร์รี ปราศจากสารเคมี จะช่วยอัปเกรดราคาขึ้นได้ ที่สำคัญต้องทำอะไรด้วยตัวเอง เช่น ปุ๋ยชีวภาพ จะช่วยลดต้นทุนในการปลูกข้าว ทำให้ขายได้กำไรขึ้น
       
       “อย่างข้าวเปลือกที่ขายกันให้โรงสีตอนนี้กิโลฯ ละ 5 บาท ถ้าเป็นข้าวไรซ์เบอร์รี ขายเป็นข้าวเปลือกเหมือนกัน ได้กิโลฯละ 20 บาท เห็นได้ชัดว่ามีความแตกต่างกัน ควรปรับตัวด้วยการมาทำข้าวอินทรีย์ ทำให้ได้ราคาดี อย่างของผม ผมขายเอง ทำให้ปัจจุบันนี้ราคาข้าวตกต่ำกิโลฯ ละ 5 บาท ผมจึงไม่ซีเรียสเลย ไม่ได้รับผลกระทบแน่นอน
       
       แม้เราจะไม่สามารถกำหนดราคาได้ แต่เราลดต้นทุนการผลิตได้ หลักๆ เลยค่าปุ๋ยของชาวนา ถ้าคุณทำปุ๋ยเอง หมักปุ๋ยชีวภาพ เพราะรายจ่ายในการซื้อปุ๋ยปีหนึ่งก็เยอะนะ บางคนมีเป็นร้อยไร่ ค่าปุ๋ยเป็นแสน อย่างไตรโคเดอร์มา ป้องกันโรคเชื้อรา รากเน่า โคนเน่า เชื้อแบคทีเรียบาซีลัส ป้องกันแมลงเพลี้ย ต่างๆ ผมก็ได้ฟรีจากศูนย์บริหารจัดการศัตรูพืช จ.นครราชสีมา เขาสอนวิธีขยายเชื้อด้วยครับ น่ารักมากๆ แถมจะออกมาอบรมที่บ้านให้อีก พี่เค้าบอกเลยว่าให้คนน้อยๆไปหาคนมากๆดีกว่า
       
       พอผมทำเป็นก็นำมาสอนคนเฒ่าคนแก่ คนไหนที่เขาอยากรู้ก็ไปสอนให้เขาทำ หรือขี้วัว กระสอบหนึ่งแค่ไม่กี่บาท ซื้อปุ๋ยเคมี 1 กระสอบบางช่วงก็เป็นพัน สามารถซื้อขี้วัวได้เป็นตันเลยนะ เพราะข้าวมีแค่ 2 อย่างที่ต้องระวัง คือ เชื้อรา กับแมลง นอกนั้นก็เป็นปัจจัยของธรรมชาติอย่างอื่น
       
       ปัญหาคือชาวนามักคิดว่าเสียเวลา ซื้อดีกว่า ต้องเสียเวลามาหมักปุ๋ยชีวภาพ 7 วัน นี่ไง คุณไม่อยากทำอะไรที่ยากๆ คุณก็ต้องเสียเงินแลกความสบาย มันสะดวก คืออะไรก็ซื้อๆ เพราะเดี๋ยวนี้ปุ๋ยมาขายถึงหน้าบ้าน มาขออนุญาตผู้ใหญ่บ้านขอประกาศเสียงตามสาย แต่เขาก็ไม่ผิด มันอยู่ที่ตัวเรา แต่ถ้าคุณอยากลดต้นทุนก็ต้องยอมลำบากหน่อย พึ่งพาตนเองให้มากที่สุด จะช่วยลดต้นทุน

       สมมติราคาข้าว 5 บาทต่อกิโลฯ เท่ากันหมด แต่ของผม ผมลดต้นทุนแล้วไปขายโรงสีเหมือนกัน ก็ได้ 5 บาทเหมือนกัน แต่อีกคนใช้เคมี แล้วซื้อทุกอย่าง ซื้อปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ฮอร์โมน ส่วนผมทำเองหมด ต้นทุนก็น้อยกว่า สมมติขายข้าวได้มา 1,000 บาท ต้นทุนผม 10 บาท ผมก็ได้ 990 บาท อีกคนใช้เคมี หักไปต้นทุนไป 100 บาท เขาได้ 900 บาท นี่ก็ต่างกันเห็นๆ แล้ว
       ตอนนี้ผมใช้โรงสีข้าวของคนในชุมชน เขาสีให้ชาวบ้านเขาไม่คิดเงินนะ เพราะเขาถือว่าเอาแกลบ รำ ปลายข้าว ของเราไปแทน เขาก็ได้กำไรจากตรงนี้ อย่างผมไปสีข้าวกล้องทีหนึ่งก็ไม่ได้เยอะแค่กระสอบเดียว บางทีก็ต้องรอคิวนาน เขาไม่สีให้ เพราะต้องรอสีข้าวกล้องพร้อมกัน เราจะไปสีรวมกับข้าวขาวไม่ได้ เพราะเขาต้องปรับโหมดเป็นการสีข้าวกล้อง”
       สร้างจุดเด่น เน้น “ข้าวพรีเมียม”
       ทว่า หากชุมชนช่วยเหลือกัน และยิ่งชาวนาพยายามลดต้นทุนการผลิต เขาเชื่อว่า ชาวนาอยู่ได้ โดยไม่แคร์พ่อค้าคนกลาง
       “สำหรับอนาคตเร็วๆนี้ ผมคิดว่าจะซื้อเครื่องมาสีข้าวกล้องเอง เครื่องเล็กๆ ดูแลง่ายๆ มีเครื่องสีเองอยากจะสีตอนไหนก็ได้ ตอนนี้ผมก็ซื้อเครื่องแพ็กข้าวสุญญากาศ สำหรับโลโก้กรมการข้าวทำส่งมาให้ ผมก็เอาไปปรินต์ ทำการตลาดเอง ขายทางเฟซบุ๊ก และไปขอวางตามร้านต่างๆ พยายามจะแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าว

       ข้าวของผมมีคุณภาพเท่ากับข้าวขึ้นห้างเลย ไม่มีสารเคมี ปลอดภัย รายได้อาจจะไม่มาก แต่ก็พออยู่ได้ เพราะถ้าเราขึ้นราคา คนที่กินก็จะหายไปส่วนหนึ่ง ผมก็พยายามสอบถามฟีดแบ็กจากลูกค้าเพื่อนำมาปรับปรุงตลอด ทั้งทางเฟซบุ๊ก ทางไลน์
       
       ตอนนี้ขายทางออนไลน์อย่างเดียว เพจเฟซบุ๊ก “ข้าวโภชนาการสูง” รับออร์เดอร์จากที่ทำงาน ต่างจังหวัด ค่าขนส่งก็บวกตามจริง ราคายุติธรรม รายได้เฉลี่ยต่อเดือนก็หลักหมื่น บางเดือนก็ขายได้มาก บางเดือนก็ขายได้น้อย เราทำงานประจำ แต่ต้องมีรายได้เสริม เป็นกระเป๋าที่สอง คนในครอบครัวก็มีรายได้เพิ่ม มีให้เงินพ่อแม่
       
       เราต้องทำข้าวที่ไม่เหมือนใคร จะได้ไม่ต้องไปแข่งกับใคร ตอนนี้ผมปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี ซึ่งตอนนี้คนปลูกกันเยอะแล้ว ปัจจุบันนี้หันมาปลูกข้าวสายพันธุ์ใหม่ล่าสุดของประเทศไทยสาย กข.69 “ทับทิมชุมแพ” ทั่วประเทศตอนนี้มี
       คนปลูกอยู่ประมาณร้อยกว่ารายเท่านั้น
       
       ส่วนใหญ่ลูกค้าผมก็จะเป็นคนรักสุขภาพเป็นส่วนใหญ่ เพราะข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอร์รี จะมีน้ำตาล แป้ง จะต่ำ เหมาะกับคนเป็นโรคเบาหวาน สำหรับข้าวหอมมะลิ จะขายอยู่กิโลฯ ละ 30 บาท รข้าวกล้องผมขายอยู่กิโลฯละ 35 บาท ส่วน ไรซ์เบอร์รี ตอนนี้ราคาตกแล้ว เพราะคนปลูกเยอะ ตอนนี้กิโลฯ ละ 40-90 บาท ส่วนทับทิมชุมแพ กิโลฯละ 90 บาท เพราะเป็นสายพันธุ์ใหม่ ไม่มีคู่แข่ง นอกจากนี้ ผู้ปลูกข้าวทับทิมชุมแพเราก็ได้มีรวมกลุ่มกัน เพื่อกำหนดราคาขายให้เป็นมาตรฐาน ราคาจะได้ไม่ต่ำหรือสูงจนเกินไป
       
       ลำบากกาย....แต่สุขใจ
       
       แม้จะทำงานในเมือง สะดวกสบาย เทคโนโลยี เข้าถึง แต่สิ่งที่ทำให้เขายิ้มได้ทุกครั้ง คือ “รวงข้าว”

จากปากคำชาวนา ฝ่า ความตาย สู่ ทางรอด

       “ก็คิดว่าลำบากนะ แต่ตอนเด็กก็วิ่งเล่น ไม่ได้ช่วยพ่อแม่ทำนาจริงๆจังๆ พอเราเริ่มทำจริงมันเหนื่อย แต่เราอยู่ 2 แบบ คือแบบในเมือง กับต่างอำเภอ อยู่ในเมืองต้องซื้อทุกอย่าง ผมเข้าใจคนเมืองอยากได้อะไรก็ได้ สินค้า เทคโนโลยีต่างๆ การเข้าถึงจะเร็วกว่า แต่บ้านนอกก็จะมีความสุขตรงที่ว่า สะดวกสบายในเรื่องการใช้ชีวิต อากาศ พื้นที่ ความอิสระ
       
       ทุกคนกินแต่ข้าวยี่ห้อดังๆ แต่ผ่านกระบวนการรมยา ผมมาฉุกคิดนิดหนึ่งว่า ทำยังไงคนในเมืองจะได้กินข้าวบ้านนอก ไร้สารเคมี เพราะข้าวของผม ถ้าวางไว้มดจะขึ้นเลยนะ ต้องหาที่เก็บดี เนื่องจากปลอดสารเคมี จึงเป็นแรงบันดาลใจทำให้ผมทำข้าวมาขาย เพราะเมื่อก่อนทำนาขายให้โรงสีอย่างเดียวเลย ขายเป็นตัน ได้เงินก้อน ปีละ 7 ตัน ก็ประมาณ 70,000 บาท เราก็ต้องเก็บไว้ส่วนหนึ่ง เก็บไว้กิน 10 กระสอบ เราก็ต้องเผื่ออีก 10 กระสอบไว้กิน เผื่อภัยแล้ง น้ำท่วม
       
       ชาวนาก่อนจะขายข้าวเขาต้องคิดก่อนนะ อย่างข้าวยังไม่ได้เกี่ยวเขาก็ไม่กล้าขาย เพราะภัยธรรมชาติเกิดขึ้นบ่อย เช่น ปี 2554 ปีเกิดเหตุการณ์มหาอุทกภัย ตอนนั้นจำได้เลย ข้าวเหลืองแล้วอีกประมาณ 3-4 วัน เก็บเกี่ยว น้ำมาเลยคืนเดียวท่วมหมดเลย เพราะที่โคราชโดนหนัก ข้าวเสียหมดเลย แต่เราชาวนาเผื่อข้าวไว้เก็บไว้ยามฉุกเฉินแล้วทุกบ้าน เวลาเกิดภัยพิบัติเราจึงไม่อดอยาก
       
       ….ผมอยากอยู่บ้าน ไม่อยากเข้าเมือง ตื่นเช้ามาไปถ่ายรูปรวงข้าว นั่งดู มีความสุข
       
       สุดท้ายนี้ ผู้จัดการ Lite ขอปิดท้ายกับบทเพลงพร้อมบรรเลงกีตาร์ที่แต่งขึ้นเองจากความรู้สึกร้าวรานกรีดใจของชาวนาหนุ่มที่ชื่อว่า "เกษม สีชมภู" ที่สะท้อนราคาข้าวเปลือกที่ตกต่ำในตอนนี้ได้เป็นอย่างดี ขณะนี้ยอดผู้เข้าชมทะลุล้านแล้ว

       “ชาวนาทนทำนา ปลูกข้าวไปเลี้ยงประชากรโลก ลงทุนลงแรงเหงื่อโชก ค่าจ้าง ค่าไถ ค่าปุ๋ย ค่ายา กว่าจะได้ข้าวแต่ละเม็ด มันช่างสุดแสนเหนื่อยยากนักหนา พอมาเจอราคาที่เขารับซื้อ โอ๊ย…มันปวดใจ โอ๊ย…มันเจ็บกระดองใจนะครับพี่น้อง ทนทำนาแทบตายหวังข้าวไปขายเพื่อใช้หนี้สิน กลับต้องน้ำตาริน เพราะขายข้าวหมดยุ้ง มันยังไม่พอใช้ ถูกพ่อค้าคนกลางนายห้างโรงสีกดราคาขาย คนทำนาแทบตาย แต่บทสุดท้าย ต้องขายข้าวขาดทุน
       
       โลละ 5 บาท เราลงทุนไป 7 บาท กระดูกสันหลังของชาติ ซึ้งไหมล่ะพ่อคุณ โลละ 5 บาท ยังไงมันก็ขาดทุน ไม่ต้องไปล้งไปลุ้น เพราะมีแต่ตายกับตาย

       
       ต้องแบกรับความเสี่ยง น้ำท่วม ฝนแล้ง ปุ๋ยยาแพงเว่อร์ ลองคิดดูนะเออ ความเสี่ยงจะเจ๊งมันมากแค่ไหน ต้องให้น้ำตาตกกี่ครั้ง ถึงจะหันมาฟังกันบ้างครับท่านผู้ใหญ่ หรือต้องให้นายทุนหัวใสหว่านเมล็ดข้าวใส่แต่หลังชาวนา โลละ 5 บาท เราลงทุนไป 7 บาท กระดูกสันหลังของชาติ ซึ้งไหมล่ะ พ่อคุณ โลละ 5 บาท ยังไงมันก็ขาดทุน ไม่ต้องไปล้งไปลุ้น เพราะมีแต่ตายกับตาย ไม่ต้องไปล้งไปลุ้น เพราะมีแต่ตายกับตาย ไม่ต้องไปล้งไปลุ้น เพราะมีแต่ตายกับตาย ตายๆๆๆอย่างเดียว”

       
       โดย ผู้จัดการ Lite
       
       เรื่อง สวิชญา ชมพูพัชร
       
       ขอบคุณภาพจาก เฟซบุ๊ก Chawit Bee


อี.โอ.เอส เกียร์,ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต,#มีดดามัสกัส,#เหล็กดามัสกัส

Tags : จากปากคำชาวนา ฝ่า ความตาย สู่ ทางรอด

view