สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คนฮิตเลือก แกงเขียวหวาน-พะโล้ ใส่บาตร ทำสุขภาพ พระ แย่ โรครุมเร้าอื้อ

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

       เปิด 5 โรค “พระสงฆ์” ป่วยมาก ทั้งไขมัน ความดัน เบาหวาน ไต ข้อเข่า เหตุเลือกฉันอาหารไม่ได้ พบฆราวาสนิยมเลือกอาหารชุด “แกงเขียวหวาน - พะโล้ - กะเพรา - ของทอด” มาตักบาตร ชี้ โปรตีน ผัก แคลเซียมน้อย ด้าน “พระศรีคัมภีรญาณ” ย้ำให้ความรู้ชาวบ้านรู้จักเลือกสิ่งดีแด่พระสงฆ์ พศ. ทำหลักสูตรส่งเสริมสุขภาพพระสงฆ์อบรมเจ้าอาวาส พระนักเทศน์

        วันนี้ (14 ก.ค.) ที่โรงพยาบาลสงฆ์ ในงานแถลงข่าว “เข้าพรรษานี้...ตักบาตรถาม (สุขภาพ) พระ” จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) โดย พญ.นฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ นายแพทย์ ทรงคุณวุฒิ กรมการแพทย์ กล่าวว่า จากข้อมูลสุขภาพพระสงฆ์ที่เข้ารับการรักษาใน รพ.สงฆ์ ปีงบประมาณ 2558 พบว่า โรคที่พระสงฆ์ป่วยสูงสุด 5 อันดับ คือ 1. โรคเมตาบอลิซึม และไขมันในเลือดผิดปกติ 2. โรคความดันโลหิตสูง 3. โรคเบาหวาน 4. โรคไตวาย หรือไตล้มเหลว และ 5. โรคข้อเข่าเสื่อม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรม เนื่องจากพระสงฆ์ไม่สามารถเลือกฉันอาหารที่ฆราวาสถวายได้ การที่ สสส. และ สธ. ให้ความรู้ความเข้าใจถึงอาหารใส่บาตรที่เหมาะสมต่อสุขภาพพระ จึงเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันการเจ็บป่วยของพระสงฆ์ นอกจากนี้ พระสงฆ์ยังมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพด้วย เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มกาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มที่มีรสหวาน เป็นต้น หากไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสมจะกลายเป็นผู้ป่วยรายใหม่ในอนาคต

       รศ.ภญ.จงจิตร อังทะวานิช ผู้จัดการโครงการขับเคลื่อนสงฆ์ไทยไกลโรคเพื่อการดูแลโภชนาการพระสงฆ์ใน ระดับประเทศ สสส. กล่าวว่า กว่า 90% ของฆราวาสที่อยู่ในเมืองนิยมซื้ออาหารชุดใส่บาตร จากการสำรวจอาหารที่ถวายให้พระพบ ว่า อาหารยอดนิยม คือ แกงเขียวหวาน พะโล้ ผัดกะเพรา และ ของทอด เพราะรูปลักษณ์น่าทาน หน้าตาไม่เปลี่ยนมาก หากทำทิ้งไว้เป็นเวลานาน แต่อาหารเหล่านี้ส่งผลต่อสุขภาพพระสงฆ์ไทย โดยพบความเสี่ยงต่อภาวะอ้วน โรคกระเพาะอาหาร และกระดูกพรุน เนื่องจากอาหารที่ถวายเหล่านี้ มีผักน้อย มีรสจัด ไขมันสูง โดยเฉพาะมีโปรตีนน้อย เพราะเลือกเนื้อคุณภาพไม่ดีมา ติดมันบ้าง ให้น้อยบ้าง ซึ่งเมื่อรับโปรตีนเพียง 60% ซึ่งไม่เพียงพอต่อปริมาณที่ร่างกายควรรับ จึงต้องฉันข้าวปริมาณมากเพื่อทดแทนโปรตีนให้เพียงพอ ทำให้อิ่มได้ไม่นาน จึงมักชดเชยด้วยน้ำปานะที่มีรสหวาน โดยน้ำปานะยอดนิยมคือ กาแฟ ชาขวด และเครื่องดื่มชูกำลัง โดยฉันปริมาณเฉลี่ย 2 ขวดต่อวัน ทำให้เสี่ยงต่อภาวะอ้วนลงพุง 45%
       
       รศ.ภญ.จงจิตร กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังพบภาวะกระดูกพรุน เพราะท่านไม่มีโอกาสได้ฉันผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม โดยพบอาหารที่ท่านฉันมีปริมาณแคลเซียมต่ำกว่าคนทั่วไป โดยได้รับเพียง 100 กว่ามิลลิกรัม ขณะที่คนทั่วไปอยู่ที่ 800 - 1,000 มิลลิกรัม ซึ่งต่างกัน 8 เท่า และอาหารที่ถวายมักมีรสจัดทำให้เป็นโรคกระเพาะอาหาร ช่วงเข้าพรรษานี้ก่อนใส่บาตรอยากให้ฆราวาสช่วยกันเลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพ พระ คือ เสริมข้าวกล้อง ผัก ปลา นม ลดเค็ม มัน ซึ่งโครงการได้จัดทำหนังสือบาตรไทย ไกลโรค 4 ภูมิภาค ซึ่งจะโดยมีการยกตัวอย่างเมนูอาหารที่เหมาะสมกับการถวายพระ เช่น ปลาผัดขึ้นฉ่ายใช้น้ำมันน้อย ไข่เจียวสมุนไพรน้ำมันน้อย แกงจืดช่วยลดการรับประทานอาหารรสจัดป้องกันการเกิดโรคกระเพาะ และแกงเขียวหวานสูตรนมครึ่งกะทิครึ่ง ช่วยลดไขมันอิ่มตัวจากกะทิ และเพิ่มแคลเซียมจากการใช้นม เป็นต้น

        พระศรีคัมภีรญาณ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) กล่าวว่า พระเลือกฉันเองไม่ได้ ทำให้ระมัดระวังเรื่องอาหารกับสุขภาพได้ยาก ดังนั้น จึงต้องเริ่มตั้งแต่ฆราวาสที่ต้องการเลือกสรรสิ่งที่ดีเป็นประโยชน์ ไม่เป็นโทษให้แด่พระภิกษุ เหมือนดังพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า “วิเจยฺย ทานํ สุคตปฺปสตฺถํ” การเลือกให้พระสุคตทรงสรรเสริญ คือเลือกสิ่งที่จะให้ กับคนที่จะให้ ดังนั้น จึงควรมีการให้ความรู้ฆราวาสว่าอะไรส่งเสริมสุขภาพพระสงฆ์ อะไรเป็นอันตรายสุขภาพพระสงฆ์ คนถวายจะได้เอาใจใส่มากขึ้น คัดเลือกสิ่งที่ดีให้พระสงฆ์มากขึ้น อย่างโครงการพัฒนา “ครัวต้นแบบ” ที่ มจร. ร่วมกับคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาฯ และ สสส. ในการให้ความรู้แม่ครัว ตั้งแต่การเลือกวัตถุดิบว่าอะไรมีประโยชน์ ปรุงแบบใดมีประโยชน์ต่อสุขภาพพระ เพราะที่ผ่านมาการปรุงก็มักปรุงตามปากแม่ครัว ตามรสที่แม่ครัวชอบ สำหรับการส่งเสริมให้พระสงฆ์มีอิริยาบถที่ส่งเสริมการออกกำลังกายนั้น ค่อนข้างทำได้ยาก เพราะพระสงฆ์มักไม่ค่อยมีการเปลี่ยนอิริยาบถ เวลานั่งก็นั่งนาน ๆ จึงอยากให้มีการศึกษาว่าการเปลี่ยนอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน นั้น ควรมีสัดส่วนเป็นเท่าไรจึงจะดีต่อสุขภาพแล้วถ่ายทอดความรู้ให้แก่พระ หรืออย่างการแกว่งแขนก็อยากให้มีการแนะนำว่าพระว่าการแกว่งแขนเพื่อส่งเสริม สุขภาพต้องทำอย่างไร

       ด้าน นายพนม ศรศิลป์ ผอ.พศ. กล่าวว่า แนวทางหนึ่งที่ช่วยพระสงฆ์มีกิจกรรมทางกายได้ดีคือ การกวาดลานวัด ซึ่งพระเถระชั้นผู้ใหญ่หลายรูป แม้จะอายุมาก แต่สุขภาพดี ก็เพราะตื่นแต่เช้ามากวาดลานวัด จึงอยากให้มีการศึกษาว่าการกวาดลานวัดถือว่าเพียงพอหรือไม่กับการส่งเสริม การออกกำลังกายของพระ สำหรับการดูแลสุขภาพพระของ พศ. นั้น เมื่อปี 2547 ได้มีการจัดทำธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ระดับชาติขึ้น แต่ปัญหาก็ยังไม่ดีขึ้น ซึ่งการทำงานต่อจากนี้จะร่วมกับองค์กรชุมชนดูแลสุขภาพพระสงฆ์ มีการทำโครงการวัดต้นแบบดูแลสุขภาพ รวมถึงกำหนดหลักสูตรส่งเสริมสุขภาพพระสงฆ์เพื่อใช้ในการอบรมเจ้าอาวาส พระนักเทศน์ พระวิปัสสนา เป็นต้น และมหาวิทยาลัของสงฆ์เองก็จะมีการจัดทำหลักสูตรช่วยส่งเสริมสุขภาพด้วย


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : คนฮิตเลือก แกงเขียวหวาน-พะโล้ ใส่บาตร ทำสุขภาพ พระ แย่ โรครุมเร้าอื้อ

view