สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จากเขาหัวโล้นถึงสวนยาง ผู้มีอิทธิพลกับพยัคฆ์ไพร ใครจะแน่กว่ากัน

จากประชาชาติธุรกิจ

ผลงานล่าสุดของชุดปฏิบัติการพยัคฆ์ไพร กรมป่าไม้ล่าสุด คือ การปูพรมตรวจสอบพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเขาโปลกหล่น อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ 1 ในพื้นที่เป้าหมายใหญ่สำหรับการเข้าไปตรวจสอบรีสอร์ต, บ้านพักตากอากาศ และโรงแรมหรู 970 แห่งทั่วประเทศ โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 1-2 กรกฎาคมนั้นสามารถตรวจยึดและแจ้งความดำเนินคดีได้ 5 ราย 5 คดีด้วยกัน รวมเป็นพื้นที่ประมาณ 12 ไร่ โดยในพื้นที่เดียวกันนี้มีคดีเก่าที่ดำเนินคดีไปแล้วทั้งหมด 90 คดี รวมพื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่

ทั้งนี้ยังมีอีกประมาณ 3,000 ไร่ที่ผู้ครอบครองอ้างว่ามีเอกสารสิทธิถูกต้อง และเจ้าหน้าที่เปิดโอกาสให้ยื่นเอกสารเพื่อตรวจพิสูจน์

ที่ ผ่านมา ชุดปฏิบัติการพยัคฆ์ไพร กรมป่าไม้ พบมีรีสอร์ต-บ้านพักอย่างน้อย 970 แห่งบุกรุกพื้นที่ป่า พบมากสุดภาคกลางมีการบุกรุกถึง 500 แห่ง รองลงมาคือภาคใต้ 200 แห่ง ภาคเหนือ 150 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 80 แห่ง และภาคตะวันออกอีก 40 แห่ง ชุดปฏิบัติการพยัคฆ์ไพรร่วมกับศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 4 กอ.รมน. กรมอุทยานแห่งชาติฯ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สำนักป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายหลังได้ซักซ้อมแนวทางการปฏิบัติด้านการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อป้องกันไม่ให้มีการบุกรุกป่าเพิ่ม พร้อมรักษาป่าเดิมเอาไว้

ชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ เปิดเผยว่า พบว่าในพื้นที่เชียงใหม่ถูกบุกรุกประมาณ 80 แห่ง ซึ่งในพื้นที่บ้านปง อ.หางดงมีการบุกรุกกินพื้นที่ยาวไปถึง อ.สะเมิงที่อยู่ติดกัน เฉพาะพื้นที่แห่งนี้มีรีสอร์ตบุกรุกไม่ต่ำกว่า 30 แห่ง แต่ละแห่งนำพื้นที่ป่ามาก่อสร้างเป็นรีสอร์ต-บ้านพักตากอากาศขนาดใหญ่ตั้ง อยู่บนพื้นที่ที่มีทิวทัศน์สวยงาม โดยทางเจ้าหน้าที่เชื่อว่าเจ้าของรีสอร์ตไม่น่าจะเป็นประชาชนทั่วไป แต่น่าจะเป็นกลุ่มนายทุนที่มีเงิน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เป็นเขตป่าต้นน้ำลำธารสายหลักของประเทศอย่างป่าต้นน้ำ ปิง วัง ยม น่าน และแม่น้ำป่าสัก ทั้งนี้ พื้นที่ดังกล่าวมีความสำคัญอย่างยิ่งจึงต้องดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่าง เร่งด่วน

สถานที่ที่บุกรุกทั้ง 970 แห่งทั่วประเทศ รวมทั้งการบุกรุกเพื่อขยายพื้นที่เกษตรกรรมนั้น สร้างผลกระทบทั้งด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า เป็นการสร้างความเสียหายในพื้นที่ป่าอย่างประเมินค่าไม่ได้ กรมป่าไม้กำหนดระยะเวลาในการตรวจสอบพื้นที่การบุกรุกทั้งหมดภายใน 90 วัน คือภายในสิ้นเดือนกันยายนจะต้องทราบที่มาของเอกสารสิทธิที่ดิน ทั้งโฉนด และ น.ส. 3 ก. ทั้งหมด 970 แห่งว่าได้มาโดยมิชอบหรือไม่

“ยุคนี้เรา สามารถใช้อำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ตามคำสั่งที่ 64, 66/2557 เพื่อประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ในการสนธิกำลังกันออกลาดตระเวน ป้องกันปราบปราม รวมทั้งการตรวจสอบเพื่อดำเนินคดีได้อย่างรวดเร็ว โดยจะเน้นไปที่กลุ่มนายทุนที่อยู่เบื้องหลังมาดำเนินคดีให้ได้ ช่วงเวลาที่ผ่านมากระบวนการทำงานของเจ้าหน้าที่ประสบกับปัญหาหลายด้าน เช่น ความขัดแย้งการเมืองท้องถิ่นและขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ยุ่งยาก แต่ในวันนี้เจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติงานภายใต้คำสั่ง คสช.โดยไม่ต้องไปสนว่าเป็นของใคร สามารถดำเนินคดีได้ทันที ซึ่งรีสอร์ต-บ้านพักทั้ง 970 แห่งจะใช้มาตรการเดียวกันทั้งหมด พร้อมจะดำเนินการอย่างไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าใครที่ทำผิดก็จะไม่มีข้อยกเว้นทั้งนั้น” นายชลธิศกล่าว

สำหรับ กระบวนการตรวจสอบ อธิบดีกรมป่าไม้ชี้แจงว่า ผู้ที่ครอบครองและอ้างว่ามีเอกสารสิทธิให้นำมายื่นแสดงกับกรมป่าไม้ โดยกรมจะยื่นเรื่องต่อให้กรมที่ดินตรวจสอบ ถ้าเอกสารสิทธิได้มาโดยมิชอบจะต้องถูกเพิกถอนทันที แต่หากพื้นที่ใดไม่มีเอกสารสิทธิ กรมป่าไม้สามารถใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 25 เพื่อรื้อถอนสิ่งก่อสร้างได้ทันที ตามนโยบายของรัฐบาลและคำสั่ง คสช.ที่ต้องการ “พลิกฟื้นผืนป่า สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน”

กรมป่าไม้ตั้งเป้าต้องยึดคืนให้ได้จำนวน 200,000 ไร่ทั่วประเทศ จากนั้นจะดำเนินการฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ในแต่ละพื้นที่ สำหรับภาคเหนือซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญของต้นน้ำลำธาร กรมป่าไม้จะเน้นปลูกไม้ยืนต้นที่เคยมีอยู่ในป่าธรรมชาติท้องถิ่นเดิม ประกอบกับการสร้างฝายลำธารให้พื้นที่มีความชุ่มชื้น ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือเน้นการฟื้นฟูแบบอุตสาหกรรมป่าไม้ ให้ชาวบ้านร่วมปลูกต้นไม้มีค่า เป็นไม้เศรษฐกิจ ร่วมกับไม้โตเร็ว ซึ่งกรมป่าไม้จะเร่งปรับปรุงระเบียบกฎหมาย พ.ร.บ.สวนป่าให้มีความรวดเร็ว ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้าช่วยเพื่อสนองต่อภาคอุตสาหกรรมป่าไม้ ด้วยการฟื้นฟูป่าควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจ ขณะที่ภาคใต้จะส่งเสริมการปลูกป่าสวนผสม คือ การปลูกพืชหลายชนิดในพื้นที่เดียวกัน ทำให้พืชได้พึ่งพาอาศัยกันเองตามธรรมชาติ

นับแต่เปิดยุทธการทวงคืนผืน ป่าเป็นต้นมา ในส่วนของชุดปฏิบัติการพยัคฆ์ไพรที่ร่วมกับหน่วยงานทหาร สามารถยึดคืนพื้นที่ได้แล้วทั้งสิ้น 80,658-3-81 ไร่ ฟ้องร้องดำเนินคดีได้ 2,283 คดี มีผู้ต้องหาทั้งหมด 539 คน ส่วนคดีเกี่ยวกับการทำไม้นั้นได้ของกลางเป็นไม้ท่อนที่ถูกตัดสำเร็จแล้ว 148,677 ท่อน แจ้งความดำเนินคดีได้ 2,885 คดี มีผู้ต้องหา 1,002 คน

เป้า หมายต่อไป คือ พื้นที่ภาคใต้ที่ว่ากันว่าจัดการยากนักหนา ผู้มีอิทธิพล ครอบครองพื้นที่แบบน่ากังขา กอบโกยผลประโยชน์มายาวนาน โดยที่ไม่มีใครแตะต้องทำอะไรได้

เป้าหมายดังกล่าวอยู่ที่ราว 3,000 ไร่ สำหรับสวนยางพาราและสวนปาล์ม และอีก 3,000 ไร่ สำหรับการบุกรุกเข้าไปสร้างบ้านพัก รีสอร์ต และโรงแรม ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ดูเหมือนไม่มาก แต่ไม่ถึงกับน้อยกรกฎาคม-สิงหาคม ปฏิบัติการในภาคใต้จะเริ่มขึ้น

ต้องจับตาดูว่า พยัคฆ์ไพรจะเอาผู้มีอิทธิพลภาคใต้อยู่หรือไม่



ที่มา นสพ.มติชนรายวัน


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : จากเขาหัวโล้นถึงสวนยาง ผู้มีอิทธิพลกับพยัคฆ์ไพร ใครจะแน่กว่ากัน

view