สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กาแฟรักษาป่า มีวนา คน อยู่กับ ป่า อย่างยั่งยืน

จากประชาชาติธุรกิจ

จากข้อมูลสถิติการสำรวจพื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทย นับจากปี 2504 ซึ่งเป็นปีแรกที่มีการจัดทำสถิติป่าไม้พบว่าประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้อยู่ 171.02 ล้านไร่ หรือร้อยละ 53.33 ของพื้นที่ประเทศ แต่ในปี 2557 ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าเหลือเพียง 102.28 ล้านไร่ หรือร้อยละ 31.62

จากการที่พื้นที่ป่าหายไป ส่งผลมากมายต่อผู้คน สังคม ประเทศชาติ และโลกใบนี้ ทั้งสภาพดิน ฟ้า อากาศ ที่มีความแปรปรวนแห้งแล้งแล้ว ยังส่งผลต่อความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ซึ่งนำมาสู่ความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม

ด้วยสภาพปัญหาดังกล่าว "โครงการกาแฟอินทรีย์รักษาป่ามีวนา" ของ บริษัท กรีนเนท เอสอี จำกัด ที่เป็นกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) จึงได้เกิดขึ้น โดยมีแนวคิดการส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ จ.เชียงราย บริเวณต้นน้ำแม่ลาว, แม่กรณ์ และแม่สรวย ปลูกกาแฟใต้ร่มไม้ในผืนป่า เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นนํ้าในพื้นที่ พร้อมกับสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของเกษตรกร โดยสร้างชุมชนให้มีความเข้มแข็ง ซึ่งจะเป็นแนวทางที่จะทำให้เกษตรกร และชาวบ้านในชุมชนเกิดการหวงแหนรักษาป่า ฟื้นฟูป่าให้กลับมาสมบูรณ์

ด้วยความมุ่งมั่นของโครงการกาแฟอินทรีย์รักษาป่ามีวนา "กลุ่มบริษัทพรีเมียร์" จึงเล็งเห็นถึงประโยชน์ที่ชุมชน สังคมจะได้รับ จนเข้ามาให้การสนับสนุนเพื่อจะเป็นอีกกลไกหนึ่งในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ทั้งยังเป็นการเสริมสร้างชุมชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดี สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับป่าไม้ และธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน ตลอดจนเป็นการสร้างต้นแบบในการประกอบธุรกิจ

"ธีรสิทธิ์ อมรแสนสุข"
กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรีนเนท เอสอี จำกัด กล่าวว่าจากการที่เข้าไปสัมผัสความอุดมสมบูรณ์ของป่าที่บ้านขุนลาว จ.เชียงราย จึงเกิดความรู้สึกประทับใจ จนทำให้เกิดเป็นแนวคิดที่ต้องการรักษาป่านี้ให้มีความอุดมสมบูรณ์ โดยไม่ต้องการให้มีการทำลายหรือบุกรุกพื้นที่ป่า

"จากแนวคิดดัง กล่าวจึงทำให้เราคิดว่าจะทำอย่างไรที่ทำให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันได้อย่างพึ่ง พาอาศัยกันโดยพื้นที่ดังกล่าวมีภูมิประเทศภูมิอากาศที่เหมาะแก่การปลูกกาแฟ ทั้งเรื่องความสูงจากระดับน้ำทะเล และเป็นดินภูเขาไฟในอดีต ที่สำคัญผู้นำชุมชนมีแนวคิดที่ต้องการรักษาผืนป่านี้ไว้"

"ด้วยเหตุนี้ เราจึงเข้าไปส่งเสริม และให้ความรู้การปลูกกาแฟในป่าให้กับเกษตรกรในพื้นที่แทนการปลูกเสาวรส ที่จะต้องบุกรุก แผ้วถางป่า เพื่อเปิดพื้นที่ป่าให้โล่งเตียน ซึ่งกาแฟเป็นพืชที่ต้องการร่มเงาสูงถึงร้อยละ 50 จึงทำให้สามารถปลูกกาแฟได้โดยที่ไม่ต้องบุกรุกและทำลายป่า"

กาแฟ อินทรีย์รักษาป่ามีวนาเป็นกาแฟออร์แกนิกพันธุ์อราบิก้าที่ปลูกภายใต้ร่มเงา ต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่ป่าบนภูเขาที่มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลตั้งแต่1,000 เมตรขึ้นไป มีการควบคุมการปลูกในระบบเกษตรอินทรีย์ ซึ่งนอกจากที่จะไม่ต้องบุกรุก แผ้วถาง และตัดไม้ทำลายป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่เพาะปลูก ในทางเดียวกัน ต้องปลูกต้นไม้ใหญ่เพิ่มเติมเพื่อเพิ่มร่มเงาให้แก่พื้นที่เพาะปลูก ซึ่งจะทำให้ผลผลิตกาแฟมีคุณภาพสูง รสชาติเข้มข้น และมีกลิ่นหอมมากกว่ากาแฟที่ปลูกกลางแจ้ง

"ที่สำคัญกาแฟอินทรีย์ รักษาป่ามีวนาเป็นกาแฟออร์แกนิกที่ทำให้ผู้บริโภคเป็นส่วนหนึ่งในการร่วม อนุรักษ์และรักษาป่าให้กลับคืนมาสมบูรณ์ดังเดิมอีกด้วย"

"ธีรสิทธิ์" กล่าวเพิ่มเติมว่าสำหรับจุดเด่นของกาแฟมีวนาคือ การปลูกกาแฟในป่าด้วยวิธีธรรมชาติตามระบบเกษตรอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมี ซึ่งจะส่งผลให้ผลกาแฟที่ออกมาสุกช้ากว่ากาแฟที่ปลูกทั่วไปประมาณ 2 สัปดาห์ จึงทำให้กาแฟมีคุณภาพ อีกทั้งการใส่ใจตรวจสอบคุณภาพด้านสีของเมล็ดกาแฟ ขนาด กลิ่น และรสชาติให้ตรงกับมาตรฐานกาแฟออร์แกนิก จึงทำให้ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ จากสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (IFOAM: International Federation of Organic Agriculture Movements)

ทั้งนี้ ทางโครงการยังมีแนวทางในการให้ผลตอบแทนอย่างเป็นธรรมแก่เกษตรกร โดยที่บริษัท กรีนเนท เอสอี จำกัด จะเป็นหน่วยรับซื้อ-ขาย แปรรูป ผลิต และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิต โดยดำเนินงานที่สอดคล้องกับหลักแฟร์เทรดขององค์กรแฟร์เทรดโลก (World Fair Trade Organization-WFTO)

ตลอดจนการเพิ่มราคาการรับซื้อให้กับเกษตรกรที่ผลิต และขายเมล็ดกาแฟออร์แกนิกตามมาตรฐานที่กำหนด (Organic Premium) เพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และนอกจากการที่สมาชิกเกษตรกรจะมีรายได้จากการขายกาแฟมีวนามากถึง 90 ล้านบาท ในเวลา 10 ปีแล้ว ยังมีเงินสนับสนุนอีกส่วนหนึ่งเพื่อนำไปพัฒนาชุมชนในพื้นที่ต่อไปอีกด้วย

"เรื่องเหล่านี้สามารถตอบโจทย์เรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจชุมชนทำให้ชาวบ้านมีอาชีพและสร้างรายได้จากการขายผลกาแฟในราคาที่ดี โดยที่ไม่ไปบุกรุกป่า ทั้งยังทำให้เห็นว่าคนและป่าสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน และเราคาดหวังว่าโครงการนี้จะเป็นต้นแบบในการพัฒนาพื้นที่ชุมชนต่าง ๆ เพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนในพื้นที่อื่น ๆ ในอีกทางหนึ่งด้วย"

ถึงตรงนี้ "วิเชียร พงศธร" กรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มบริษัทพรีเมียร์ กล่าวเสริมว่า

กาแฟอินทรีย์รักษาป่ามีวนา ถือว่าเป็นโครงการที่ได้รับการออกแบบเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ซึ่งนอกจากจะมีรายได้จากการจำหน่ายกาแฟออร์แกนิกแล้ว ในกระบวนการทั้งหมด ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำยังมีการคำนึงถึงประโยชน์โดยรวมของทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นตัวธุรกิจเอง เกษตรกร รวมถึงผู้บริโภคและสังคมโดยรวม จนทำให้กระบวนการทำงานทั้งหมดถูกสร้างในรูปแบบการอนุรักษ์ รักษา และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ

อีกทั้งเกษตรกรในโครงการยังมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากการรับซื้อเมล็ดกาแฟในราคาที่เป็นธรรม

"ที่สำคัญยังมีส่วนร่วมอนุรักษ์ป่าต้นน้ำและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่ธุรกิจจะได้ประโยชน์ และมีส่วนร่วมในการสร้างคุณค่าสู่สังคมไปพร้อม ๆ กันอีกด้วย"

จึงนับเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์และรักษาป่า ซึ่งจะเป็นการทำให้คนอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : กาแฟรักษาป่า มีวนา คน อยู่กับ ป่า อย่างยั่งยืน

view