สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จี้สธ.ถอดยาอม นีโอมัยซิน ออกจากบัญชีหลังพบเสี่ยงดื้อยา

จาก โพสต์ทูเดย์

จี้สธ.ถอดยาอม "นีโอมัยซิน" ออกจากบัญชีหลังพบเสี่ยงดื้อยา

เครือข่ายเฝ้าระวังยาห่วงยาอมที่มีส่วนผสมของยาต้านแบคทีเรีย ทำคนไทยดื้อยาเพิ่มหลังพบใช้เกินจำเป็น

เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เครือข่ายนักวิชาการจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จัดแถลงข่าว "เตือนภัยตำรับยาต้านแบคทีเรียที่ควรถอดถอนออกจากประเทศไทย"

ภญ. นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) เปิดเผยว่า รายงานล่าสุดพบคนไทยติดเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อยามากกว่าปีละ 8.8 หมื่นคน และเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยา มากกว่า 2 หมื่น-3.8 หมื่นคน สูญเสียทางเศรษฐกิจมากกว่า 4.6 หมื่นล้านบาท โดยมีสาเหตุสำคัญจากการใช้ยาต้านแบคทีเรียไม่เหมาะสม เกินความจำเป็น โดยในปัจจุบัน ก็ยังมียาต้านแบคทีเรียที่ไม่เหมาะสมอยู่เต็มท้องตลาด 

ด้วยเหตุนี้ เครือข่ายส่งเสริมการใช้ยาต้านแบคทีเรียอย่างสมเหตุผล ซึ่งมาจากการรวมตัวของนักวิชาการ แพทย์ เภสัชกร เครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายเด็ก จึงขอให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ทบทวนรายการยาต้านแบคทีเรียในประเทศเพื่อคัดเลือกรายการยาที่ควรถอนทะเบียนตำรับยาออกจากประเทศไทย

ภญ.นิยาดา กล่าวว่า มีการพบยาอมที่ไม่ควรมีส่วนผสมของยาต้านเชื้อแบคทีเรีย เพราะ 80% อาการเจ็บคอไม่ได้เกิดจากเชื้อดังกล่าว และเมื่อรับประทานจะมีผลข้างเคียงทำให้เกิดเชื้อดื้อยาในลำไส้ นอกจากนี้ ยาแก้ท้องเสียกว่า 80% ก็เกิดจากเชื้อไวรัส แต่กลับพบยาต้านเชื้อแบคทีเรียเพื่อรักษาอาการท้องเสียเช่นกัน โดยทางเครือข่ายนักวิชาการจะยื่นหนังสือถึงรมว.สาธารณสุขเพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ถอนบัญชียาเหล่านี้ โดยผู้บริโภคสามารถตรวจสอบบัญชียายอดแย่ที่มีส่วนผสมของยาต้านเชื้อแบคเรียได้ที่ www.thaidrugwatch.org หรือ www.thaihealth.or.th

ขณะที่ นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล  อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานคณะทำงานสร้างเสริมความเข้มแข็งภาคประชาชนด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (สยส.) กล่าวว่า ยาที่สมควรดำเนินการเพิกถอนทะเบียนตำรับยาก่อนเป็นอันดับแรก คือ ยาอมที่มีส่วนประกอบของยาปฏิชีวนะ (ยาต้านแบคทีเรีย) โดยเฉพาะสูตรยาที่มีนีโอมัยซิน เพราะยาปฏิชีวนะนีโอมัยซินไม่ออกฤทธิ์ต่อแบคทีเรีย ที่เป็นสาเหตุของการเจ็บคอ แต่จะออกฤทธิ์ได้ต่อแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ เมื่อกลืนยาลงไปจะชักนำให้เกิดการดื้อต่อยาปฏิชีวนะ ซึ่งเป็นกลุ่มนี้เป็นยาที่ใช้ช่วยชีวิตคนที่ติดเชื้อดื้อยาในกระแสเลือด

นพ.กำธร มาลาธรรม รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี และประธานคณะทำงานด้านยาปฏิชีวนะ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า แต่ละปีมีผู้ป่วยในโรงพยาบาลที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อดื้อยาปีละ 4.5 หมื่นราย นอกจากนี้ยังพบการติดเชื้อดื้อยาในผู้ป่วยที่ไม่ได้อยู่ในโรงพยาบาลมากขึ้น ทำให้การรักษายุ่งยาก และต้องรักษาด้วยยาราคาแพงกว่าปกติ  โดยในบางราย อาจต้องฉีดยาวันละหลายครั้ง โดยต้นตอของปัญหาคือเชื้อดื้อยาจากการใช้ยาต้านแบคทีเรียที่มากเกินความจำเป็นและใช้อย่างไม่ถูกต้อง เพราะสามารถหาซื้อยาเหล่านี้ได้ทั่วไป

ขณะที่ พญ.วารุณี พรรณพานิช วานเดอพิทท์ แพทย์สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า เด็กถือเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงสุดในการติดเชื้อและแพร่กระจายเชื้อแบคทีเรียดื้อยา เพราะภูมิคุ้มกันยังพัฒนาไม่เต็มที่ นอกจากนี้ ผู้ปกครองเมื่อไม่ทราบการดูแลเบื้องต้น จึงมักให้ยาแก้อักเสบ ทั้งที่ยากลุ่มนี้ไม่มีฤทธิ์ในการกำจัดเชื้อไวรัส โดยวิธีที่ถูกต้องคือในช่วง 2-3 วันแรกให้ใช้ยารักษาตามอาการแบบประคับประคอง ไม่ควรใช้ยาต้านแบคทีเรียมารับประทานเอง เพราะอาจเสี่ยงต่อเชื้อดื้อยารุนแรงจนรักษาไม่ได้ในอนาคต

ภาพจาก www.facebook.com/Rational-Drug-Use-896404783733131


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : จี้สธ.ถอดยาอม นีโอมัยซิน ออกจากบัญชีหลังพบเสี่ยงดื้อยา

view