สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สวก.หนุนงานวิจัยสนองรัฐเต็มที่ สร้างความยังยืนให้เกษตรกรนำร่องไก่ไข่เชียงใหม่

จากประชาชาติธุรกิจ

สวก.สนับสนุนทุน 6 ล้านบาท กรอบเวลา 5 ปี ต่อยอดโครงการวิจัยกรมปศุสัตว์ "ไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่" ให้ไข่ดกมากขึ้นกว่าเดิม 30% ลดนำเข้าพันธุ์จากต่างประเทศได้มากกว่า 100 ล้านบาท/ปี พร้อมส่งออกตลาด AEC ลาว กัมพูชา เมียนมา

นางพรรณพิมล ชัญญานุวัตร ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. หน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า นโยบายของกระทรวงเกษตรฯที่ต้องแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของเกษตรกร คือเรื่องของความยั่งยืน ปีนี้จะเน้นไปที่การวิจัยเชื่อมโยง ดังนั้นงานวิจัยที่สนับสนุนในปีนี้จะสอดรับกับยุทธศาสตร์ของกระทรวงเกษตรฯ อาทิ การประมง พืช ตรวจบัญชีสหกรณ์ ภัยแล้ง ทุกมิติทุกกรม และหนึ่งในการวิจัยหลักของ สวก.ในปีนี้ คือ ไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่ สายพันธุ์ไข่ดก เป็นการต่อยอดงานวิจัยเพื่อสร้างฝูงพันธุ์ไก่พื้นเมืองประดู่หางดำเชียงใหม่ ให้ผลิตไข่ได้มากขึ้นกว่าเดิม 30% ต้นทุนการเลี้ยงต่ำ เนื่องจากเลี้ยงได้ทั้งในระบบฟาร์มและการเลี้ยงแบบปล่อย ซึ่งจะช่วยลดการนำเข้าพันธุ์จากต่างประเทศได้มากกว่า 100 ล้านบาท/ปี ขายได้ในราคาสูงกว่าไก่เนื้อปกติ เลี้ยงง่าย ที่สำคัญคือปริมาณไข่ดก เป็นแหล่งโปรตีนสูง



นอกจากโครงการไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่ สายพันธุ์ไข่ดกแล้ว ปีนี้ สวก.มุ่งเน้นงานวิจัย การแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU), ฝนหลวง และผลงานวิจัยของทุกกรม เพื่อตอบโจทย์การแก้ปัญหาของประเทศเป็นหลัก ซึ่งต้องคัดเลือกงานวิจัยโดยพิจารณาผลงานที่สะท้อนผลกระทบเกษตรกร และเศรษฐกิจของประเทศให้มากที่สุดก่อน ที่สำคัญคือสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง พร้อมใช้ 

ทั้งนี้ รูปแบบการอนุมัติงบประมาณเดิมใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ นักวิจัยส่งเปเปอร์เข้ามา แต่ขณะนี้ สวก.มุ่งเน้นมองปัญหาของเกษตรกรเป็นหลักบูรณาการร่วมกันระหว่างกรมและตัวเกษตรกร เพื่อตอบโจทย์ปัญหาเป็นหลัก ล่าสุดได้อนุมัติไปหลายโครงการ อาทิ งานวิจัยเลี้ยงปลานิลของกรมประมง เครื่องหยอดเมล็ดพันธุ์ ขณะที่การสนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนาด้านปศุสัตว์ของ สวก. ปีนี้ตั้งเป้ากำหนดไว้ 3 กรอบ 1.พัฒนาปรับปรุงชนิดเเละพันธุ์ปศุสัตว์ที่สำคัญทางเศรษฐกิจ 2.ระบบจัดการฟาร์ม และ 3.พัฒนาการส่งออก ทั้งนี้ ปีนี้กระทรวงเกษตรฯผลักดันงานวิจัยตามนโยบายรัฐบาลผ่านกลไกประชารัฐ โดยในส่วนความยั่งยืนนั้นได้มอบนโยบายให้มีงานวิจัยสนับสนุน โดยให้ สวก.เป็นเจ้าภาพ ซึ่งปี 2560 มีจำนวน 690 โครงงาน ผลงานเด่นที่พร้อมนำไปใช้ประโยชน์มี 120 โครงการ วงเงินงบประมาณวิจัยทั้งสิ้นกว่า 1,406.21 ล้านบาท

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในโอกาสเป็นประธานแถลงผลงานวิจัย "ไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่ สายพันธุ์ไข่ดก" ว่า กระทรวงเกษตรฯมีนโยบายผลักดันงานวิจัยเพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ตรงตามความต้องการของตลาด รวมทั้งการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ที่เหมาะสม ทั้งด้านพืช ประมง และปศุสัตว์ เพื่อการพัฒนาการเกษตรให้ก้าวหน้าและเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรไทย ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555-2559) ยุทธศาสตร์ความเข้มแข็งภาคเกษตร ความมั่นคงของอาหารและพลังงานชีวภาพในระดับครัวเรือนและชุมชน โดยในส่วนของกรมปศุสัตว์จึงมีเป้าหมายการปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์สัตว์ ที่เน้นงานวิจัยในการสร้างพันธุ์ใหม่ให้มีศักยภาพของพันธุ์ที่ดีขึ้นกว่าเดิม นำไปสู่การใช้ประโยชน์และเป็นทางเลือกใหม่ของเกษตรกรไทยสามารถแข่งขันในตลาดได้

ดังนั้นปี 2559-2564 กระทรวงเกษตรฯมีแผนการพัฒนาพันธุ์ "ไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่" เป็น "ไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่ สายพันธุ์ไข่ดก" ซึ่งเป็นการสร้างสายพันธุ์ใหม่ที่ให้มีผลผลิตไข่ที่เพิ่มขึ้น และเพิ่มโอกาสทางการแข่งขัน โดยกำลังการผลิตลูกไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่/ปี กรมปศุสัตว์ 900,000 ตัว พันธุ์แท้ 400,000 ตัว ลูกผสม 500,000 ตัว ฟาร์มเครือข่ายของกรมปศุสัตว์ 1,500,000 ตัว พันธุ์แท้ 620,000 ตัว ลูกผสม 800,000 ตัว ซึ่งได้ใช้เป็นลูกไก่แจกจ่ายช่วยเหลือเกษตรกรช่วงภัยแล้งปีཷ 

นสพ.อยุทธ์ หรินทรานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า กรมปศุสัตว์ได้รับงบประมาณจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร จำนวน 6.4 ล้านบาท โดยได้กำหนดเป้าหมายสร้างพันธุ์ไก่พื้นเมืองประดู่หางดำเชียงใหม่ที่ให้ไข่ดกเพิ่มขึ้นอีก 30% ในเวลา 5 ปี เพื่อตอบสนองความต้องการไข่ไก่ในประเทศ โดยเลี้ยงรูปแบบฟาร์ม หรือตามการจัดการโดยเกษตรกรรายย่อย ซึ่งอนาคตจะได้นำไปขายเพาะเลี้ยงไก่พื้นเมืองแบบปล่อย (Happy Chic) สู่ไข่อินทรีย์ ซึ่งมองว่าตลาดโมเดิร์นเทรด ทั้งไก่เนื้อและไข่ไก่อินทรีย์ได้รับความนิยมในตลาดต่างประเทศ เช่น ยุโรป อีกทั้งไข่อินทรีย์ราคาสูงกว่าไข่ทั่วไปสองเท่าตัว ทั้งนี้ เป้าหมายในระบบฟาร์มนั้นจะเพิ่มจาก 147 ฟอง/ตัว/ปี เป็น 191 ฟอง/ตัว/ปี ส่วนไข่ไก่อินทรีย์จะเพิ่มจาก 90 ฟอง/ตัว/ปี เป็น 117 ฟอง/ตัว/ปี โดยผลการดำเนินงานในปัจจุบันมีการคัดเลือกแม่พันธุ์ และผสมพันธุ์ได้แล้ว มีลูกไก่ประดู่หางดำสายพันธุ์ไข่ดกชุดแรกแล้ว จำนวน 2,000 ตัว

นายอำนวย เลี้ยวธารากุล ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ปีก กรมปศุสัตว์เชียงใหม่ เผยว่า ขณะนี้มีเครือข่ายตัวแทนเกษตรกร 13 ฟาร์ม อาทิ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ขอนแก่น สุรินทร์ และมีการส่งออกไก่เนื้อประดู่หางดำเชียงใหม่ไปในตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) คือ สปป.ลาว เมียนมา กัมพูชา และให้เกษตรกรไทยมีสายพันธุ์ไก่ในประเทศ ไม่พึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศเพียงอย่างเดียว ซึ่งจุดเด่นของไก่พื้นบ้านไทยนั้นจะเป็นไก่ไข่ธรรมชาติ ไข่ไก่อินทรีย์เพื่อสุขภาพ แปรรูปได้หลากหลาย ขณะนี้ถือว่านำร่องประสบความสำเร็จและผลตอบรับเกินเป้า อนาคตตั้งเป้าขยายเครือข่ายไปทั่วประเทศเพื่อเพิ่มรายได้แก่เกษตรกรต่อไป


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : สวก.หนุนงานวิจัยสนองรัฐเต็มที่ สร้างความยังยืนให้เกษตรกรนำร่องไก่ไข่เชียงใหม่

view