สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

โมเดลไหนดี

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์สามัญสำนึก โดย พิเชษฐ์ ณ นคร

แม้กรมอุตุนิยมวิทยาจะออก ประกาศเรื่องการเริ่มต้นฤดูฝนตั้งแต่ 18 พ.ค. 2559 พร้อมส่งสัญญาณกลาย ๆ ว่า แม้เข้าสู่ฤดูฝนแล้วแต่ปริมาณน้ำท่าก็ใช่ว่าจะดีเหมือนปีปกติ

ขณะที่กรมชลประทานรายงานสถานการณ์น้ำในเขื่อนใหญ่ทั่วประเทศณวันที่ 6 มิ.ย. 2559 ว่า มีปริมาณน้ำรวม 31,174 ล้าน ลบ.ม. ในจำนวนนี้เป็นน้ำใช้การได้ 7,738 ล้าน ลบ.ม. น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปี 2558 กว่า 2,600 ล้าน ลบ.ม. โดยเขื่อนทั่วประเทศสามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 39,000 ล้าน ลบ.ม. แต่มั่นใจว่าจะบริหารจัดการรองรับการใช้น้ำสำหรับอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ รอฝนได้จนถึงสิ้นเดือน ก.ค.

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้น้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำมีเพียงพอสำหรับการใช้น้ำตลอดฤดูฝนปีนี้ และกักเก็บน้ำบางส่วนตุนไว้ใช้ในหน้าแล้งปี 2559/2560 ยังจำเป็นต้องขอความร่วมมือให้ทุกภาคส่วนประหยัดการใช้น้ำ และให้เกษตรกรทั้งในและนอกเขตชลประทานปลูกข้าวตามคำแนะนำของทางการอย่างเคร่งครัด ป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น


นอกจากแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าคุมเข้มการทำนาในช่วงฤดูนาปีปีนี้แล้วคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติที่มีพล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช.เป็นประธาน ได้ติดตามผลการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำปี 2557-2559 และกรอบดำเนินงานปี 2560 รวมทั้งวางแผนแก้ปัญหาในระยะยาวภายใต้ยุทธศาสตร์บริหารจัดการทรัพยากรน้ำปี 2561-2564 ด้วย

แนวทางดำเนินการจะเน้นแก้ปัญหาน้ำอุปโภคบริโภคในหมู่บ้าน ชุมชน รวมทั้งหัวเมืองหลัก หัวเมืองรอง ตลอดจนจัดทำแผนและมาตรการจัดหาน้ำต้นทุนรองรับการเติบโตของภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว อาทิ โครงการผันน้ำแม่งัด-แม่กวง รองรับการเติบโตของเมืองเชียงใหม่และลำพูน ซึ่งกรมชลฯอยู่ระหว่างดำเนินการโครงการผันน้ำจากเขื่อนรัชชประภาไปจังหวัดภูเก็ต โครงการผันน้ำจากแม่น้ำตาปี-เกาะสมุย เป็นต้น ขณะเดียวกัน ก็นำกรณีตัวอย่างจากต่างประเทศมาศึกษา เพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะนำมาปรับใช้กับประเทศไทย

โดยกรม ทรัพยากรน้ำได้นำเสนอแนวทางการบริหารจัดการน้ำของสิงคโปร์และอิสราเอลให้ที่ ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำฯพิจารณาโดยในส่วนของสิงคโปร์นั้นแม้จะมีปริมาณ น้ำฝนสูงถึง2,400 มิลลิเมตร/ปี แต่เนื่องจากมีพื้นที่เพียง 715 ตร.กม.เท่านั้น ทำให้มีปัญหาในการเก็บน้ำฝน ต้องนำเข้าโดยซื้อน้ำจากมาเลเซียในราคาค่อนข้างแพง และสัญญาซื้อขายจะหมดลงในปี 2604

แม้เหลือเวลาอีกนานโข แต่สิงคโปร์คิดการณ์ไกลวางแผนพัฒนาระบบการบริหารจัดการน้ำในอนาคตไว้ล่วงหน้า โดยจะใช้น้ำทั้งจากแหล่งน้ำผิวดินผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล และนำน้ำทิ้งจากอาคารบ้านเรือนมารีไซเคิลกลับมาใช้ใหม่ ขณะเดียวกัน ก็ดำเนินมาตรการอนุรักษ์น้ำทั้งแบบสมัครใจและบังคับ อาทิ คิดอัตราค่าน้ำในอัตราก้าวหน้า การนำมาตรการภาษีมาใช้ เป็นต้น ซึ่งบางส่วนเป็นรูปธรรมในทางปฏิบัติแล้ว

ขณะที่อิสราเอลซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทะเลทราย ใช้วิธีบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยมอบหมายให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจดำเนินการ อาศัยแหล่งน้ำหลัก 4 แหล่ง คือ น้ำใต้ดิน น้ำตามธรรมชาติ น้ำในทะเล และการแยกเกลือจากน้ำทะเล


โดยได้พัฒนาเทคโนโลยีระบบแยกเกลือจากน้ำทะเลก้าวหน้าไปมาก สามารถลดต้นทุนเหลือเพียง 1 ลบ.ม./0.53 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น

แน่นอนว่ากฎเหล็กของอิสราเอลจะเข้มข้นกว่าไทยกับสิงคโปร์มาก สมกับความยากกว่าจะได้น้ำจืดมาแต่ละหยด

สำหรับบ้านเราแม้วิกฤตแล้ง ปัญหาขาดแคลนน้ำจะไม่หนักหนาสาหัสเท่า แต่การขบคิดหาทางหนีทีไล่เอาไว้ก่อนไม่น่าจะเสียหาย ส่วนจะใช้โมเดลไหนให้เหมาะสมคุ้มค่าการลงทุน ยังพอมีเวลาให้ตัดสินใจ


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : โมเดลไหนดี

view