สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ไบเออร์ทุ่ม2ล้านล้านซื้อ มอนซานโต ขึ้นแท่นยักษ์สินค้าGMO

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

ไบเออร์ เอจี บริษัทยายักษ์ใหญ่ของเยอรมนีประกาศข้อเสนอซื้อมอนซานโต บริษัทสินค้าเกษตรรายใหญ่ของสหรัฐ ในวงเงิน 6.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 2.2 ล้านล้านบาท) หรือราคาต่อหุ้นที่ 122 เหรียญสหรัฐ (ราว 4,348 บาท) ซึ่งสูงกว่าราคาปิดตลาดของมอนซานโตในวันที่ 9 พ.ค. ถึง 37% พร้อมทั้งระบุว่าจะจ่ายเป็นเงินสดทั้งหมด

หากข้อตกลงดังกล่าวบรรลุผล จะส่งผลให้ไบเออร์กลายเป็นผู้ผลิตเมล็ดพืชตัดแต่งพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) และสารเคมีทางการเกษตรรายใหญ่ที่สุดในโลก ขณะที่นักลงทุนต่างกังขากับมูลค่าการเสนอซื้อที่สูงลิ่วกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ในตอนแรกที่ 4.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.4 ล้านล้านบาท)

รายงานของวอลสตรีท เจอร์นัล เปิดเผยว่า การเข้าซื้อกิจการในครั้งนี้จะทำให้สินค้าที่ไบเออร์ผลิตในอนาคตเกินครึ่งหนึ่งเป็นสินค้าทางการเกษตร หลังจากตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมาไบเออร์มุ่งเจาะธุรกิจในภาคสินค้าดูแลสุขภาพ และการหันมาขยายธุรกิจในกลุ่มสินค้าจำพวกยาฆ่าแมลงและเมล็ดพืช จะเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของธุรกิจโดยรวมของไบเออร์ไป แม้จะยังคงธุรกิจในด้านยาและสุขภาพอยู่

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า ความพยายามทุ่มเงินมหาศาลเพื่อเข้าซื้อมอนซานโตครั้งนี้ เนื่องจากไบเออร์ต้องการขยายธุรกิจเข้าไปสู่ธุรกิจการตัดแต่งพันธุกรรมในผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรมากยิ่งขึ้น เพราะมีแนวโน้มกำไรงอกงามในอนาคต แม้พืชจีเอ็มโอยังไม่ถูกยอมรับและเป็นประเด็นถกเถียงในวงกว้างในเรื่องความปลอดภัย

ทั้งนี้ มอนซานโตถือเป็นผู้ผลิตที่มียอดขายเมล็ดพันธุ์พืชสูงที่สุดในโลกในขณะนี้ และเป็นธุรกิจที่มีอิทธิพลอย่างสำคัญในการเข้าไปเปลี่ยนแปลงระบบการเกษตรในหลายประเทศ โดยเป็นผู้พัฒนาการตัดแต่งพันธุกรรมและขายลิขสิทธิ์ให้กับบริษัผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ในประเทศอื่นๆ

ไบเออร์ ระบุว่า การเข้าซื้อกิจการครั้งนี้จะทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมผู้ค้าเมล็ดพันธ์ุและยาฆ่าแมลง ขณะที่คณะกรรมการของมอนซานโตยังอยู่ระหว่างการพิจารณาข้อเสนอดังกล่าว โดยยังไม่ออกมายืนยันการร่วมลงนาม

อย่างไรก็ตาม มาร์กัส แมนส์ ผู้จัดการกองทุนของยูเนียน อินเวสต์เมนต์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นของไบเออร์ ระบุว่า ยังมีข้อจำกัดในการบรรลุข้อตกลงดังกล่าว เนื่องจากนักลงทุนในไบเออร์จำนวนหนึ่งต้องการลงทุนเพียงแค่ในธุรกิจด้านสุขภาพเป็นหลัก และยังมั่นใจกับธุรกิจเกี่ยวกับการตัดแต่งพืชพันธุ์ทางการเกษตร ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า การเข้าซื้อมอนซานโตครั้งนี้ จะทำให้ยอดขายเกือบครึ่งหนึ่งของไบเออร์เป็นยอดขายสินค้าทางการเกษตร

“สำหรับนักลงทุนแล้วยังมีความไม่มั่นใจว่าเห็นด้วยกับการเปลี่ยนธุรกิจจากอุตสาหกรรมยาครั้งนี้หรือไม่” แมนส์ กล่าว 

ทั้งนี้ การตัดแต่งพันธุกรรมพืชทำให้พืชสามารถต้านทานศัตรูพืชต่างๆ ได้มากขึ้น และถือเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่มีการปรับใช้รวดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ที่เริ่มพัฒนาเมื่อ 20 ปีที่แล้ว โดยในปัจจุบัน 90% ของข้าวโพด ถั่วเหลือง และเมล็ดฝ้ายในสหรัฐ เป็นพืชตัดแต่งพันธุกรรม

ด้านสำนักงานอาหารและยาสหรัฐ (เอฟดีเอ) ของสหรัฐ รวมทั้งองค์การอนามัยโลกและคณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) ได้ประกาศยอมรับว่าการตัดแต่งทางพันธุกรรมในพืชพันธุ์ทางการเกษตรมีสถานะปลอดภัยเช่นเดียวกับอาหารทั่วไป

อย่างไรก็ตาม ยอดขายของสินค้าทางการเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีชีวภาพทั่วโลกปรับตัวลดลงมาตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ ขณะที่พื้นที่ทำการเกษตรก็ลดลงครั้งแรกในปี 2015 ตั้งแต่ที่มอนซานโตเริ่มขายพืชจีเอ็มโอในปี 1996 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากกระแสคัดค้านสินค้าตัดแต่งพันธุกรรม

บรรดากลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต่างคัดค้านและประท้วงการใช้พืชจีเอ็มโอ โดยระบุว่าพืชจีเอ็มโออาจจะทำลายสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้พืชจีเอ็มโอยังไม่ถูกกฎหมายในหลายประเทศ และผู้ผลิตพืชจีเอ็มโอยังเผชิญปัญหาความขัดแย้งด้านลิขสิทธิ์ในประเทศกำลังพัฒนาหลายแห่ง ซึ่งการเข้าซื้อมอนซานโตครั้งนี้จะดึงให้ไบเออร์ต้องประสบปัญหาเช่นเดียวกันนี้ตามมา

ล่าสุด มอนซานโตกำลังอยู่ระหว่างการต่อสู้ในชั้นศาลกับกระทรวงการเกษตรของอินเดีย ในประเด็นเรื่องค่าใช้จ่ายที่มอนซานโตสามารถเรียกเก็บจากการขายพันธุกรรมเมล็ดพืชต้านแมลง ซึ่งใช้อย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมผ้าฝ้ายในอินเดีย

ขณะที่ผู้ค้าเมล็ดพันธ์ุรายใหญ่ในสหรัฐซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของมอนซานโต ก็ปฏิเสธไม่ซื้อเมล็ดพันธ์ุถั่วเหลืองที่ปรับปรุงพันธุกรรมขึ้นมาใหม่ โดยมอนซานโตและเริ่มขายได้ยังไม่ถึงปี เนื่องจากเมล็ดพันธ์ุใหม่นี้ยังไม่ได้รับการอนุมัติให้นำเข้าในสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุดสำหรับเมล็ดถั่วเหลืองที่ผลิตในสหรัฐ โดยในบรรดาผู้ค้าเมล็ดพืชรายใหญ่นี้รวมถึงอาร์เชอร์ แดเนียลส์ มิดแลนด์ และบันจ์

เกร็ก แจฟ กรรมการด้านเทคโนโลยีชีวภาพของศูนย์วิทยาศาสตร์สำหรับผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐ ระบุว่า บรรดาประเทศต่างๆ จะยังคงดำเนินการทบทวนความปลอดภัยของสินค้า แต่ไม่สามารถกำหนดเวลาที่แน่นอนได้ ซึ่งเป็นปัญหาหลักสำหรับเทคโนโลยีชีวภาพและมีแนวโน้มจะเป็นปัญหายืดเยื้อต่อไป


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : ไบเออร์ทุ่ม2ล้านล้านซื้อ มอนซานโต ขึ้นแท่นยักษ์สินค้าGMO

view