สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

วิกฤตน้ำเค็ม ป่วนเวียดนาม ส่งออกผลไม้ชะงัก-ผลผลิตลดฮวบ

จากประชาชาติธุรกิจ

ประเทศผู้ส่งออกข้าวอันดับ 3 ของโลก กำลังถูกคุกคามด้วยสถานการณ์ภัยแล้งและน้ำเค็มรุกล้ำเข้าพื้นที่เพาะปลูกรุนแรงที่สุดในรอบ 90 ปี สร้างความเสียหายต่อพื้นที่เกษตรกรรม โดยเฉพาะพื้นที่อุดมสมบูรณ์บริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง (Mekong Delta) ทางตอนใต้ของประเทศ ซึ่งนอกจากเป็นพื้นที่ปลูกข้าวที่สำคัญ ยังมีสวนผลไม้เพื่อส่งออกด้วย

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลเวียดนามได้คิดค้นขยายพันธุ์ไม้ผลใหม่ ๆ ที่ให้ผลดกและมีรสชาติอร่อย โดยมีผลไม้ที่ขึ้นชื่อหลายชนิดที่สร้างรายได้รองจากการส่งออกข้าว แต่สถานการณ์ภัยแล้งที่ยืดเยื้อ บวกกับภาวะน้ำเค็มรุกพื้นที่เพาะปลูกรุนแรง ส่งผลกระทบต่อพืชสวนอย่างหนัก เนื่องจากประชากรใน 12 จังหวัด ราว 17 ล้านคน ที่อาศัยบริเวณเขตพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ปัญหาน้ำเค็มรุกจึงกระทบต่อความสามารถในการเพาะปลูกเพื่อป้อนสู่ตลาดโลกของเวียดนาม และความมั่นคงทางอาหาร

ความแห้งแล้งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปีที่ผ่านมา โดยมีปริมาณน้ำน้อยลงแม้ในฤดูน้ำหลาก ส่งผลให้น้ำจืดในแม่น้ำโขงที่มีไม่เพียงพอผลักดันน้ำเค็ม น้ำเค็มจึงรุกเข้าพื้นที่มากกว่า 20 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่เกษตรกรรมกว้างขวางอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

ล่าสุด เวียดนามเน็ต รายงานว่า เหงียน แวน ดึ๊ก รองประธานสหกรณ์มะม่วง หว่าหลก ในจังหวัดเตียนยาง เผยว่า ปัจจุบันแม้สหกรณ์รับซื้อมะม่วงหว่าหลกในราคาที่สูงขึ้น ประมาณ 50,000-60,000 เวียดนามด่อง (2.2-2.7 ดอลลาร์) ต่อกิโลกรัม ซึ่งปรับเพิ่ม 10,000 เวียดนามด่อง จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่อุปสงค์จากญี่ปุ่นที่สูงขึ้น ประกอบกับมีผลผลิตออกมาน้อย ทำให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นไม่มีมะม่วงส่งออกได้เพียงพอกับความต้องการ

นอกจากนี้ ราคาผลไม้ของพืชตระกูลส้มก็ปรับสูงขึ้นเช่นเดียวกัน อย่างส้มแมนดารินและส้มโอ ซึ่งเป็นหนึ่งในผลไม้ที่ได้รับความนิยมจากตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะส้มโอเขียวเบ็นแจ (Ben Tre) และส้มโอนัมรอย (Nam Roi) ของจังหวัดหวิงลอง โดยราคาที่ปรับเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญมาจากความต้องการที่สูงขึ้น และความสามารถในการส่งออกที่ลดลง

ขณะที่ผู้แทนจากจังหวัดด่งทัป หนึ่งในพื้นที่บริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง และมีสวนส้มแมนดารินอยู่มากให้ข้อมูลว่า เมื่อปลายเดือนก่อนผู้ประกอบการได้เสนอขายส้มในราคา 28,000 เวียดนามด่อง (1.12 ดอลลาร์) ต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาที่น่าสนใจ และเมื่อเร็ว ๆ นี้ ราคาส้มแมนดารินได้ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 30,000 เวียดนามด่อง และกระโดดมาอยู่ที่ 36,000-40,000 เวียดนามด่องต่อกิโลกรัมในปัจจุบัน

แดง แวน นัม ผู้อำนวยการ Ke Thanh Nam Roi หนึ่งในบริษัทผู้ผลิตส้มโอเพื่อการส่งออก ในจังหวัดช็อกจรัง กล่าวว่า ส้มที่ได้จากการปลูกนอกฤดูกาลให้ผลผลิตน้อยกว่าปกติ สวนทางกับความต้องการทั้งในประเทศและการส่งออกที่ปรับสูงขึ้นเรื่อย ๆ

ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือ การส่งออกส้มโอไปยังประเทศในภูมิภาคเอเชียและยุโรปจำต้องชะงัก เนื่องจากขาดแคลนสินค้า ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายเพราะผู้เชี่ยวชาญในวงการการส่งออกผลไม้คาดการณ์ว่า ราคาส้มทุกชนิดกำลังจะปรับเพิ่มขึ้นอีกในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

เสียงสะท้อนความกังวลจาก วู๊ แวน ถาย ผู้อำนวยการสหกรณ์ผลไม้ตันทานห์ ในจังหวัดจร่าวิญเผยว่า ตั้งแต่ต้นเดือนที่ผ่านมา ราว 80% ของจำนวนพื้นที่เพาะปลูกสวนผลไม้ 1,300 เฮกตาร์ (ราว 8,125 ไร่) ได้รับความเสียหายจากการรุกล้ำของน้ำเค็ม "วิกฤตน้ำเค็มไม่เพียงแต่สร้างความเสียหายต่อผลไม้แล้ว เรายังกังวลว่าต้นไม้อาจยืนต้นตายด้วย"

ความรุนแรงของสถานการณ์ภัยแล้งและวิกฤตน้ำเค็มทะลักพื้นที่เพาะปลูก ได้สร้างความเสียหายต่อส้มโอเขียวและส้มโอเนื้อชมพูในจังหวัดเบ็นแจ กว่า 6,000 เฮกตาร์ (ราว 37,500 ไร่) แล้วในปัจจุบัน นับว่าสร้างความลำบากให้แก่ปากท้องของเกษตรกรท้องถิ่นอย่างยิ่ง

เช่นเดียวกับเขตโจแลชที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตน้ำเค็มเป็นครั้งแรก สวนผลไม้จำนวนมากเสียหายไม่ต่างจากเขตพื้นที่เพาะปลูกอื่น ๆ ล่าสุดสำนักงานพัฒนาฯพยายามให้การช่วยเหลือด้วยการจัดตั้งศูนย์ตรวจวัดความเค็มของน้ำทั้งหมด 3 แห่ง ซึ่งชาวสวนสามารถนำตัวอย่างน้ำมาตรวจสอบ ก่อนนำไปใช้เพาะปลูก

เจ้าหน้าที่ของเตียนยางได้ดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรในวิธีการเดียวกัน โดยเชื่อว่าการตรวจสอบระดับน้ำเค็มก่อนการเพาะปลูกจะช่วยป้องกันความเสี่ยงต่อพืชผลได้ รวมถึงการประกาศแจ้งให้ชาวบ้านสามารถสูบน้ำที่มีค่าความเค็มในระดับปลอดภัย ไปกักเก็บน้ำไว้ใช้กับพื้นที่เพาะปลูก

ทั้งนี้ นายเหวียน ฮิว เทียน นักวิจัยอิสระด้านทรัพยากรธรรมชาติลุ่มน้ำโขงมองว่า รัฐบาลเวียดนามและเกษตรกรไม่เคยมีประสบการณ์ในการรับมือมากนัก จึงนับว่าเป็นสถานการณ์ที่น่าวิตก และเห็นได้ชัดว่ามีพื้นที่ใหม่ ๆ ในประเทศที่ได้รับผลกระทบมากขึ้น พร้อมเตือนว่า ในปีหน้าภูมิภาคลุ่มน้ำโขงอาจต้องรับมือกับ "ปรากฏการณ์ลานิญา" ที่ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมฉับพลัน

ไม่เพียงแค่เวียดนามเท่านั้นที่ประสบกับปัญหาการเพาะปลูกได้รับความเสียหาย เพื่อนบ้านอย่างไทย กัมพูชา และ สปป.ลาว ก็เผชิญศึกหนักเช่นกัน น่ากังวลว่าเขตพื้นที่ลุ่มน้ำโขงที่หวังพึ่งภาคเกษตรเป็นหัวใจหลักเช่นนี้ จะรอดพ้นจากวิกฤตอย่างไร


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : วิกฤตน้ำเค็ม ป่วนเวียดนาม ส่งออกผลไม้ชะงัก-ผลผลิตลดฮวบ

view