สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กินให้อร่อย! มารู้จักวิธีเลือกซื้อ สละ ผลไม้คลายร้อน ประโยชน์เพียบ

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ เเวะชิมริมถนน นสพ.มติชนรายวัน

ใครผ่านไปแถวภาคตะวันออก ตั้งแต่จังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด หรือเส้นทางภาคใต้บางจังหวัด จะเห็น สละ วางขายเรียงรายริมทางอยู่มากมาย หลายคนชอบทานสละ เพราะทั้งรสชาติและกลิ่นโดนใจ ทั้งหวานฉ่ำและหอม ยิ่งแปรรูปเป็นสละลอยแก้วด้วยแล้วละก็ หน้าร้อนแบบนี้ซดได้ชื่นใจดีแท้

แต่ถ้าใครชอบทานสด ดูจากลักษณะภายนอก คงไม่ได้ทานกันง่ายๆ เพราะทั้งหนามแหลมและเปลือกค่อนข้างแข็ง อย่างว่าแหละของดีก็ต้องกินยากหน่อย

สละจัดเป็นผลไม้ที่นิยมรับประทานชนิดหนึ่ง เนื่องจากให้เนื้อนุ่ม มีรสหวาน ออกเปรี้ยวเล็กน้อย และมีกลิ่นหอม ให้ผลผลิตต่อเนื่อง เป็นผลไม้ที่มีประโยชน์ อุดมด้วยสารอาหารหลายชนิด ได้แก่ กรดอินทรีย์ น้ำตาล วิตามินซี แคลเซียม ฟอสฟอรัส และสารอื่นๆ มีสรรพคุณบำรุงกระดูกและฟัน ช่วยขับเสมหะและแก้เลือดกำเดา นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิด เช่น สละลอยแก้ว น้ำสละ สละกวน ไวน์สละ และน้ำพริกสละ

สละมีชื่อวิทยาศาสตร์ Salacca edulis Reinw จัดเป็นพืชในสกุลระกำ (Salacca) มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชีย พบมากในจีน ไทย พม่า มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย และอินเดีย เป็นพืชประจำถิ่นในแถบพื้นที่ติดทะเล จึงพบเห็นได้มากแถวจังหวัดที่ติดทะเล

สละที่เห็นวางขายตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบันมี 5 ชนิด คือ


1.สละพันธุ์อินโด ปัจจุบันเริ่มเห็นมีการนำเข้าพันธุ์สละจากต่างประเทศเข้ามาปลูกในไทย มีลักษณะผลค่อนข้างกลม ผลขนาดใหญ่กว่าสละไทย สีผลหรือเปลือกเมื่ออ่อนออกสีเหลือง เมื่อสุกให้ผลสีดำเทาเข้ม เนื้อหนา มีรสหวาน เมล็ดเล็ก

2.สละเสน คาดว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว ลำต้นมีลักษณะขึ้นเป็นกอเช่นเดียวกับระกำ แตกกอมาก โตเร็ว ผลสีแดงสด เนื้อบาง มีความหวานน้อยกว่าสละอีก 2 พันธุ์

3.สละหม้อ ในอดีตพบประวัติการปลูกแถววัดไทร วัดดอกไม้ และวัดด่าน ริมแม่นํ้าเจ้าพระยา กรุงเทพมหานคร (ถนนพระราม 3) มีลักษณะทางใบเล็กกว่าระกำ ใบสั้น ผลยาวกว่าระกำ ก้นผลมีจะงอย สีเปลือกเข้มสีน้ำตาลแดง ให้รสหวานกว่าระกำ เนื้อหนา ฉํ่านํ้า เมล็ดสีเหลืองอ่อนกว่าเมล็ดระกำ ทะลายหนึ่งมีประมาณ 5-8 กระปุก ผลมี 2-3 กลีบ เช่นเดียวกับระกำ ปัจจุบันปลูกในบางจังหวัด เช่น เพชรบูรณ์

4.สละเนินวง เป็นพันธุ์สละที่นิยมปลูกมากที่สุดในปัจจุบัน โดยเฉพาะในภาคตะวันออก เป็นพันธุ์ดั้งเดิมของ ต.บางกะจะ อ.เมือง จ.จันทบุรี มีประวัติปลูกกันมานาน 100 กว่าปีแล้ว มีลำต้นอยู่ใต้ดินหรือโผล่ขึ้นบนผิวดินเล็กน้อยที่หุ้มด้วยกาบใบ การกระจายพันธุ์มีลักษณะขึ้นเป็นกอกระจายตัวไม่แน่น (คล้ายระกำ) ใบยาว และอ่อนลู่มากกว่าระกำ แต่มีรูปร่างคล้ายกัน ออกผลเป็นทะลาย หนึ่งทะลายมี 3-7 กระปุก ผลอ่อนมีสีนํ้าตาลไหม้ เมื่อสุกสีนํ้าตาลแดงเข้ม ผลรูปทรงยาวจากหัวท้าย คล้ายกระสวย เปลือกมีลักษณะเป็นเกล็ดเรียงซ้อนกัน ปกคลุมด้วยหนาม ปลายหนามงอนไปทางท้ายผล ผลมี 1-3 กลีบ เมื่อดิบมีรสฝาดและเปรี้ยวเช่นเดียวกับระกำ เมื่อสุกจะให้รสหวานฉํ่า และเข้มข้นมากกว่าระกำ เนื้อแน่น หนา กลิ่นหอม เมล็ดมีขนาดเล็ก เติบโตได้ทั้งในที่ดอนและที่ลุ่ม แต่ปลูกในที่ลุ่มให้ผลผลิตดีกว่า

สละเนินวงเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่เริ่มระยะติดผล รุ่นแรกจะใช้เวลาประมาณ 9-10 เดือน การเจริญเติบโตของผลในช่วง 1-5 เดือน ค่อนข้างช้ามาก เมื่อเข้าเดือนที่ 6 ผลเริ่มมีการขยายขนาดอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งเดือนที่ 8 และสุกในช่วงประมาณเดือนที่ 9 และสามารถเก็บผล

ผลผลิตสละจะมีมากในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม สามารถเก็บผลผลิตได้เกือบทุกวัน และผลผลิตจะค่อยหมดในช่วงเดือนพฤศจิกายน- มกราคม ผลสละเก็บในช่วงฝนตกชุกจะให้ผลสละมีความหวานน้อยลง และเน่าได้ง่าย

5.สละพันธุ์สุมาลี เป็นสละพันธุ์ใหม่ล่าสุดของไทย มีลำต้นคล้ายระกำ ทางใบยาวสีเขียวอมเหลือง ใบกว้าง ปลายใบสั้นกว่าสละเนินวง หนามอ่อนมีสีส้มอ่อน ช่อดอกใหญ่ ยาว ติดผลง่าย ผลป้อมสั้น สีเปลือกเนื้อคล้ายสละเนินวง ให้เนื้อหนา แต่บางกว่าสละเนินวง มีรสหวาน กลิ่นหอมเฉพาะ เมล็ดมีขนาดเล็กเหมือนสละเนินวง ทนต่อสภาพแสงแดดจัด และแห้งแล้งได้ดีกว่าสละเนินวง

ประโยชน์ของสละมีมากมาย ไม่ใช่แค่ผลสละ ยอดอ่อน


นำมาปรุงอาหาร เช่น แกง หรือรับประทานสด รากฝอยจำนวนมาก ช่วยป้องกันการพังทะลายของดิน และการรุกล้ำของดินเค็ม ใบและก้านนำมามุงหลังคา ทำร่มบังแดด หรือทำรั้ว ทำแนวกั้น ใบสละใช้ห่อขนมหรือห่ออาหาร เมล็ดนำมาสกัดน้ำมันใช้ทานวดกล้ามเนื้อ บำรุงผม และนำไปใช้ในด้านอื่นๆ ก้านใบกรีดให้เล็กใช้ทำเป็นเชือกรัดของ

สำหรับผลสละอุดมด้วยน้ำตาล วิตามินซี และสารอาหารอื่นๆ ให้พลังงาน และบำรุงร่างกาย เช่น เป็นยาระบายทำให้ขับถ่ายง่ายขึ้น ช่วยขับเสมหะ ลดอาการเจ็บคอและอาการไอ รสเปรี้ยวช่วยให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่า ตาสว่าง ช่วยป้องกันเลือดออกตามไรฟัน มีแคลเซียมสูงช่วยบำรุงกระดูก และฟัน ช่วยป้องกันเลือดกำเดา น้ำมันเมล็ดสละใช้นวดกล้ามเนื้อ ช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อย

หลายคนอาจจะคุ้นเคยระกำมากกว่าสละ เพราะเห็นมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ แต่สละเพิ่งเข้ามานิยมปลูกภายหลัง แต่ความแตกต่างระหว่างระกำกับสละสามารถแยกแยะให้เห็นได้ชัด เช่น ผลสุกสละมีสีน้ำตาลแดงและสีเข้มกว่าผลสุกระกำมีสีส้มออกแดงเล็กน้อย เปลือกสละไม่ติดเนื้อมาก จึงปอกง่าย ส่วนระกำเปลือกติดเนื้อมากกว่า ผลสละมีลักษณะเรียวยาวกว่าผลระกำที่มีลักษณะป้อมกลมกว่า ผล และเนื้อสละมีลักษณะนิ่ม และหนากว่าระกำ เนื้อสละมีรสหวานมากกว่า จึงนิยมรับประทานมากกว่าเมื่อเทียบกับผลระกำ

วิธีการเลือกซื้อสละ ให้สังเกตจากการแกะเปลือก โดยให้เปิดเปลือกจากก้นผลแล้ววนรอบผล หากเปลือกปอกง่ายเหนียว ไม่ขาดเป็นชิ้นๆ แสดงว่ายังสด แต่หากเปลือกแข็งแกะแล้วเปลือกหักเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย แสดงว่าไม่สด แต่บางครั้งอาจจะมีรสหวานกว่าผลสด เพราะสละลืมต้นแล้ว ก็ดีไปอีกแบบ


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : กินให้อร่อย! มารู้จักวิธีเลือกซื้อ สละ ผลไม้คลายร้อน ประโยชน์เพียบ

view