สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แปดริ้วรอดภัยแล้ง-น้ำเค็ม ดันปลากะพงเสิร์ฟบินไทย

จากประชาชาติธุรกิจ

ภัยแล้ง-น้ำเค็มรุกล้ำฉะเชิงเทรา กระทบการเลี้ยงปลาน้ำจืด ขณะที่ "กุ้งขาว-ปลากะพง" ยังสู้ได้ จังหวัด-กรมประมงเอ็มโอยูการบินไทยรับซื้อปลากระพงขึ้นเสิร์ฟบนเครื่อง ช่วยพยุงราคาปลาในช่วงตกต่ำ เอกชนลุยส่งออกลูกพันธุ์ไปมาเลเซีย เวียดนาม

นายวสันต์ สถิตพงศ์สถาพร หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาอาชีพประมง รักษาราชการแทนประมงจังหวัดฉะเชิงเทรา เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การประมงในจังหวัดฉะเชิงเทราส่วนใหญ่จะเป็นประมงน้ำเค็ม เนื่องจากมีพื้นที่ติดกับทะเล เกษตรกรจะเลี้ยงสัตว์ทะเลมากกว่าน้ำจืด ได้แก่ กุ้งขาว กุ้งกุลาดำ ปลากะพง หอยแมลงภู่ หอยแครง ส่วนสัตว์น้ำจืด ได้แก่ กุ้งก้ามกราม ปลาตะเพียน ปลานิล ปลากดคัง ปลายี่สก เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ผลผลิตส่วนใหญ่จะเป็นกุ้งทะเล คือ กุ้งขาว และกุ้งกุลาดำ ซึ่งเลี้ยงมากที่อำเภอเมือง บางคล้า คลองเขื่อน และบ้านโพธิ์ แต่ช่วงนี้กุ้งกุลาดำมีปริมาณน้อย เพราะเลี้ยงค่อนข้างยาก ประกอบกับมีปัญหาโรคระบาดมาตั้งแต่ปี 2549 ทำให้พื้นที่เลี้ยงกุ้งกุลาดำลดลงเรื่อย ๆ ซึ่งตลาดส่งออกหลักคือ จีนและไต้หวัน แต่การส่งออกกุ้งมีข้อกำหนดว่าจะต้องเป็นขนาดใหญ่ ประมาณ 30 ตัว/กิโลกรัม ซึ่งเกษตรกรได้หันมาเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไมมากขึ้น แต่เมื่อ 2 ปีก่อน กุ้งขาวก็ประสบกับปัญหาติดเชื้อแบคทีเรีย หรือโรคตายด่วน (อีเอ็มเอส) ทำให้กุ้งตายเป็นจำนวนมาก

สำหรับสถานการณ์ราคากุ้งปีนี้ราคาค่อนข้างดี กุ้งขาวราคาอยู่ที่ 130 บาท/กิโลกรัม ถือว่าเป็นราคาที่เกษตรกรสามารถอยู่ได้ ซึ่งราคาเคยต่ำสุดกิโลกรัมละ 90-100 บาท ผลผลิตทั้งกุ้งกุลาดำและกุ้งขาว มีปริมาณออกสู่ตลาดประมาณ 18.5 ล้านกิโลกรัม/ปี สร้างรายได้ให้จังหวัด 3,293 ล้านบาท

นายวสันต์กล่าวว่า นอกจากนี้ ฉะเชิงเทรายังมีการเลี้ยงปลากะพงมากเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ มีมาร์เก็ตแชร์มากถึง 80% ของตลาดในประเทศ โดยจำหน่ายปลากะพง 2 ส่วน คือ 1.ปลาลูกพันธุ์ เลี้ยงมากในพื้นที่อำเภอบางปะกงกว่า 460 ไร่ โดยส่งออกลูกพันธุ์ไปประเทศมาเลเซีย และเวียดนาม และ 2.ปลาเนื้อ ส่วนใหญ่จะเลี้ยงที่อำเภอเมือง บางปะกง และบ้านโพธิ์ ราคาอยู่ที่ 180 บาท/กิโลกรัม ซึ่งราคาเคยขึ้นสูงสุด 200 บาท/กิโลกรัม สร้างรายได้ให้จังหวัดประมาณ 85 ล้านบาท

ขณะนี้จังหวัดฉะเชิงเทราได้ทำ MOU กับสายการบินไทย ในการซื้อปลากะพงไปประกอบอาหาร เนื่องจากบางช่วงราคาปลากะพงจะตกต่ำและไม่มีตลาด โดยเป็นความร่วมมือระหว่างกรมประมงกับสำนักงานประมงจังหวัด และกลุ่มผู้เลี้ยงปลากะพง


ขึ้นเครื่อง - จังหวัดฉะเชิงเทรา ร่วมกับสายการบินไทย ทำเอ็มโอยูนำปลากะพงไปประกอบเป็นอาหารบนสายการบินไทย เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรจากการประสบปัญหาราคาปลากะพงตกต่ำและไม่มีตลาดจำหน่าย

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ภัยแล้งก็ส่งผลต่อการเลี้ยงปลาเช่นกัน เนื่องจากน้ำมีปริมาณความเค็มมากขึ้น ขณะนี้กุ้งทะเลและปลากะพงสามารถอยู่ได้ แต่ปลาน้ำจืดอาจจะอยู่ไม่ได้ ยกเว้นปลานิล ซึ่งทนความเค็มได้ถึง 30 มิลลิกรัม/ลิตร ดังนั้นปลาน้ำจืดจะได้รับผลกระทบมากที่สุด เช่น ปลาสวาย ปลากดคัง แต่ถ้าเกษตรกรมีการหมุนเวียนน้ำและบริหารจัดการน้ำที่ดีก็จะไม่ได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน

นอกจากนี้จังหวัดยังได้ส่งเสริมอาชีพในช่วงหน้าแล้งซึ่งไม่สามารถทำนาปรังได้ โดยสนับสนุนการเลี้ยงสัตว์ที่ใช้น้ำน้อยแทน เช่น เลี้ยงกบในกระชังบก ปลาดุกในบ่อดินและในบ่อพลาสติก มีชาวนาเข้าร่วมโครงการจำนวน 4,675 ราย ซึ่งจังหวัดได้ให้การช่วยเหลือจัดพันธุ์ให้พร้อมอุปกรณ์การเลี้ยง ส่วนประมงจังหวัดสนับสนุนพันธุ์ปลาดุก 1,300 ตัว/ราย กบ 700 ตัว/ราย และได้ประสานกับพาณิชย์จังหวัดจัดหาตลาดรองรับต่อไป


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : แปดริ้วรอดภัยแล้ง-น้ำเค็ม ดันปลากะพงเสิร์ฟบินไทย

view