สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

หนุนประชารัฐ แก้วิกฤติแล้งที่ยั่งยืน แจงเขื่อนเพิ่ม-อุโมงค์ผันน้ำ ไม่ได้ตอบโจทย์

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

       ช่วงฤดูแล้งนี้หลายชุมชนประสบภาวะขาดแคลนน้ำ นอกจากสะท้อนถึงความล่าช้าของการบริหารจัดการน้ำที่ยังไม่มี พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำเพื่อใช้บริหารจัดการ ยังทำให้การดำเนินการแก้ไขเป็นไปอย่างไร้ทิศทาง “หาญณรงค์ เยาวเลิศ” ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) เผยแนวคิดการสร้างเขื่อนเพิ่ม-อุโมงค์ผันน้ำ ไม่ตอบโจทย์ความต้องการใช้น้ำได้ยั่งยืน
       ภาวะโลกร้อนส่งผลให้อัตราการระเหยของน้ำสูงขึ้น รวมถึงฝนส่วนใหญ่ที่ไม่ตกเหนือเขื่อน ส่งผลให้ปริมาณน้ำที่เคยเลี้ยงลุ่มน้ำสำคัญ อย่างในเขตภาคเหนือทั้ง 4 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ปิง วัง ยม และน่าน มีน้อยกว่าทุกปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาต้องพึ่งพาลำน้ำหลักทั้ง 4 สายนี้ เพื่ออุปโภคบริโภค รวมทั้งหล่อเลี้ยงระบบนิเวศ พลอยได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
       หาญณรงค์ เยาวเลิศ กล่าวถึงวิกฤติภัยแล้งในปีนี้ ว่าส่วนหนึ่งเพราะน้ำมือมนุษย์ เนื่องจากการบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาด บางพื้นที่ไม่มีน้ำเพียงพอที่จะใช้หล่อเลี้ยงระบบนิเวศ ขณะเดียวกันข้อมูลปริมาณน้ำที่เหลืออยู่ในอ่างเก็บของเขื่อนต่างๆ ก็ยังเป็นเรื่องที่คลุมเคลือ
       ที่ผ่านมานั้นประชาชนรับทราบข้อมูลน้ำต้นทุนที่จะนำมาผลิตเพื่อใช้ใน การอุปโภคบริโภคน้อยมาก จึงไม่ค่อยตระหนักต่อสถานการณ์ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ บางพื้นที่ใช้น้ำเกินกว่าที่ต้นทุนมีอยู่จึงไม่ตระหนักถึงปริมาณน้ำต้นทุน ที่เหลืออยู่ และอาจจะส่งผลกระทบในอนาคต
       สำหรับข้อเสนอให้มีการสร้างเขื่อนเพิ่ม หรือสร้างอุโมงค์ผันน้ำ ก็ไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการใช้น้ำที่ความยั่งยืน เพราะไม่ได้ทำให้มีปริมาณน้ำเพิ่มเข้ามาในระบบ แต่เป็นเพียงการย้ายน้ำจากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่ง ซึ่งจะส่งกระทบต่อระบบการใช้น้ำของชุมชนต้นน้ำที่มีการบริหารจัดการอย่าง เป็นระบบ อีกทั้งยังเป็นการทำลายแหล่งต้นน้ำที่ก่อให้เกิดน้ำไหลตลอดทั้งปี
       “อย่าใช้ภัยแล้งเป็นข้ออ้างในการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ที่ต้องใช้งบ ประมาณในการก่อสร้างสูงมาก เมื่อเทียบกับสิ่งที่ประชาชนในพื้นที่เสนอให้ภาครัฐบริหารจัดการตามแผนที่ ประชาชนได้นำเสนอขึ้นไป ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมได้อย่างยั่งยืน และใช้งบประมาณไม่สูงมากเท่ากับการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่”
       เช่นเดียวกับโครงการขุดลอกลำน้ำที่ใช้งบประมาณ ปี 2558/2559 กว่า 6,000 ล้านบาท เขามองว่าสูญเปล่า ทั้งยังทำให้ระบบนิเวศเสียหาย เนื่องจากการขุดลอกลำน้ำ กำจัดวัชพืช และต้นไม้ริมตลิ่ง โดยหวังให้ลำน้ำมีความกว้างและลึกเพิ่มมากขึ้น แต่พอถึงฤดูน้ำหลาก ตลิ่งที่ไม่ต้นไม้ใหญ่และวัชพืชปกคลุมอยู่ ก็จะถูกน้ำกัดเซาะทำให้ตลิ่งพัง และเกิดการสะสมของตะกอนทราย ปัญหาก็วนกลับมาที่เดิมอีก
       “อยากให้ภาครัฐทบทวนโครงการดังกล่าวก่อนที่ผลกระทบที่ตามมาจะเพิ่ม มากขึ้น โครงการขุดลอกลำน้ำที่ภาครัฐดำเนินการสามารถใช้ได้กับบางพื้นที่เท่านั้น ไม่ใช่ขุดลอกทั้งลำน้ำ แต่ควรทำเป็นจุดๆ ไปตามความเหมาะสม เพื่อเป็นการรักษาสภาพของระบบนิเวศ ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนกว่า”
       หาญณรงค์ เสนอแนะว่า การบริหารจัดการน้ำเพื่อให้ลำน้ำมีน้ำใช้ตลอดทั้งปี จะต้องให้ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม ภาครัฐต้องฟังเสียงของประชาชน โดยให้ท้องถิ่นที่มีความรู้ความเข้าใจในระบบนิเวศของพื้นที่ รับหน้าที่อนุรักษ์แหล่งน้ำของตัวเอง รวมทั้งต้องดูแลแหล่งต้นน้ำที่มีอยู่ฟื้นฟูระบบนิเวศให้มีความชุ่มชื้น
       ปัญหาอีกประการหนึ่ง การบริหารจัดการน้ำของภาครัฐที่มุ่งเน้นแต่เฉพาะน้ำในเขื่อน ไม่ได้มองการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบที่มีอยู่ตามแหล่งชุมชนอื่นๆ และตามลำน้ำสาขาต่างๆ ของแม่น้ำสายหลัก ซึ่งมีศักยภาพในการกักเก็บน้ำ ทั้งที่การบริหารจัดการน้ำต้องบูรณาการเชื่อมโยงกัน ที่ผ่านมากรมชลประทานบริหารจัดการน้ำไม่ถูกต้อง ทำให้ไม่เหลือน้ำที่จะหล่อเลี้ยงระบบนิเวศในลำน้ำต่างๆ เมื่อน้ำบนดินหมดลง ได้ขุดเจาะน้ำใต้ดินมาใช้ ซึ่งเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายและทำให้ดินทรุด เป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่ถูกต้อง จึงอยากให้หน่วยงานที่รับผิดชอบตระหนักและหันมารักษาฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ใน แต่ละพื้นที่มากกว่า
       อีกประการสำคัญที่จะเป็นกลไกขับเคลื่อนที่ต่อเนื่องและยั่งยืน ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มี พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำเพื่อใช้บริหารจัดการ ทำให้การดำเนินการต่างๆ เป็นไปอย่างไร้ทิศทาง จึงสมควรมีมาตรการควบคุมและบริหารแหล่งน้ำ ที่ดินที่ต่อเนื่องกับแหล่งน้ำ และทรัพยากรธรรมชาติอื่นที่เกี่ยวข้องกับน้ำ โดยให้มีองค์การบริหารการใช้น้ำในระดับชาติ และระดับท้องถิ่นเพื่อวางนโยบายและกำกับดูแลการจัดการเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ ให้เป็นไปด้วยความเหมาะสม ตลอดจนการกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ ปัญหาน้ำท่วม การอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรน้ำอย่างถาวร โดยการกำหนดความรับผิดชอบในทางแพ่งและทางอาญาแก่ผู้ละเมิดเพื่อให้การจัดการ ใช้น้ำเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้
       หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงต้องบูรณาการร่วมกัน เพื่อบริหารจัดการน้ำ บริหารจัดการทรัพยากรป่า สอดคล้อง และให้ภาคประชาชนที่อยู่ในเขตลุ่มน้ำเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ ทั้งเรื่องของน้ำ และป่า เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์ทั้งระบบ การขุดลอกลำน้ำตามโครงการของรัฐหากปฏิบัติอย่างถูกต้องก็จะช่วยทำให้เพิ่ม ปริมาณน้ำกักเก็บไว้ใช้ แต่หากทำไม่ถูกจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ทำให้สายน้ำเปลี่ยนทิศทาง ตลิ่งริมน้ำทรุดพัง ระบบน้ำเหมืองฝายสูญเสีย เนื่องจากระดับน้ำไม่เข้าเหมืองฝายเหมือนก่อน พันธุ์ปลาตามธรรมชาติได้รับผลกระทบสูญพันธุ์ สิ่งสำคัญของการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจนส่งผลกระทบต่อลำน้ำต่างๆ ต้องได้รับการแก้ไขดูแลอย่างจริงจัง หมายความว่าต้องมีการบูรณาการร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน จึงจะเห็นภาพของการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน
       "อย่างไรก็ตาม ผมยังมองว่า การที่ประเทศไทยเริ่มเกิดวิกฤติแห้งแล้งเพราะขาดแคลนน้ำอาจจะเป็นตัวช่วย ผลักดันให้เกิด พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำออกมาบังคับใช้ได้เร็วขึ้น"


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : หนุนประชารัฐ แก้วิกฤติแล้งที่ยั่งยืน แจงเขื่อนเพิ่ม-อุโมงค์ผันน้ำ ไม่ได้ตอบโจทย์

view