สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ทุเรียนหลง-หลิน ยืนต้นตาย50% ไฟไหม้ป่ารอบ2 วอดพันไร่

จากประชาชาติธุรกิจ

ชาวสวนทุเรียนหลง-หลินเมืองอุตรดิตถ์ช้ำหนัก เจอไฟป่ารอบสองกระหน่ำกว่า 1,000 ไร่ หวั่นทุเรียนยืนต้นตาย คาดผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ดันราคาทุเรียนพุ่งสูงกว่ากิโลละ 500 บาท

นายธาตรี บุญมาก นายอำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า นอกจากสถานการณ์ภัยแล้งจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตทุเรียนและผลไม้อื่น ๆ แล้ว ปีนี้เกษตรกรยังประสบกับปัญหาไฟป่าถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ อ.ลับแล สร้างความเสียหายกว่า 500 ไร่ และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา ถือว่าหนักที่สุดเท่าที่เคยเจอมา เพราะสร้างความเสียหายกว่า 1,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่หมู่ 2, 7 และ 10 ต.แม่พูล อ.ลับแล ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ปลูกทุเรียนมากที่สุดใน จ.อุตรดิตถ์ อีกทั้งการเข้าไปดับไฟป่าค่อนข้างยาก ส่วนใหญ่สวนผลไม้จะอยู่บนภูเขา ขณะนี้สามารถดับไฟได้เกือบทั้งหมดแล้ว แต่ต้องเฝ้าระวังบางจุดเท่านั้น

ทั้งนี้ปัญหาไฟป่าที่เกิดขึ้นทำให้ทุเรียนรุ่นที่ 1 ที่จะออกปลายเดือนเมษายน และรุ่นที่ 2 ที่จะออกปลายเดือนพฤษภาคมนี้ มีปริมาณผลผลิตน้อยลง ซึ่งทุเรียนพันธุ์หลง ปกติราคาจำหน่าย 250-350 บาท/กก. ผลผลิตจะออกช่วงเดือนกันยายน-สิงหาคม ขณะนี้เริ่มออกดอกแล้ว แต่ก็ได้รับผลกระทบจากอากาศร้อนจัด ทำให้ดอกร่วงประมาณ 30% จึงกระทบต่อปริมาณทุเรียน

อย่างไรก็ตาม หากมีฝนตกลงมา ในช่วงนี้ก็จะทำให้ต้นฟื้นตัวและมีผลผลิตออกสู่ตลาดตามเดิม แต่หากฝนไม่ตก อาจจะทำให้ราคาสูงถึง 500 บาท/กก. หรือเฉลี่ยราคาลูกละ 700-800 บาท ในขณะที่พันธุ์หลินราคาเกิน 500 บาทอย่างแน่นอน นอกจากนั้นภัยแล้งยังทำให้ลองกองยืนต้นตายจำนวนมาก คาดว่าราคาหน้าสวนจะพุ่งขึ้นเท่าตัวจาก 15 บาท/กิโลกรัม (กก.) เพิ่มเป็น 30 บาท/กก.

"หน่วยงานราชการและท้องถิ่นก็ได้ช่วยกันหาแหล่งน้ำเพิ่มเติม แต่เกษตรกรยังคงต้องดูแลตัวเองด้วย เพราะพื้นที่ปลูกส่วนใหญ่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยเกษตรกรต้องซื้อท่อน้ำ เครื่องพ่นสเปรย์ 20 ลิตรเองเพื่อรองรับน้ำจากรถน้ำที่หน่วยงาน ต่าง ๆ ช่วยเหลือบริเวณตีนเขา นอกนั้นเกษตรกรดำเนินการเองเพราะมีความชำนาญมากกว่า แต่โชคดีที่เกษตรกรออมเงินกับสหกรณ์การเกษตรเมืองลับแล จำกัด มีเงินออมประมาณ 500 ล้านบาท จึงรู้สึกใจชื้น ถึงแม้ไม่มีรายได้ แต่ยังมีเงินออมที่สามารถนำมาใช้ยามไม่มีรายได้" นายอำเภอลับแลกล่าว

ด้านนายบัญชา อรุณเขต ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดอุตรดิตถ์ และผู้แทนเกษตรกร อ.ลับแล กล่าวว่า ช่วงเดือนมกราคมถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา อากาศค่อนข้างหนาว ทำให้ดอกทุเรียนร่วง 80-90% ผลผลิตทุเรียนที่จะออกสู่ตลาดในช่วงนี้มีเพียง 10% เท่านั้น และพื้นที่ที่ถูกไฟไหม้เมื่อวันที่ 19 เมษายนนั้น มีทุเรียนเพียง 1-2% เท่านั้น ซึ่งกระทบเกษตรกรไม่กี่ราย คือ เกษตรกรรายใดที่สวนถูกไฟไหม้ จะถูกไฟไหม้เกือบหมดสวน ซึ่งหน่วยงานราชการและท้องถิ่นไม่สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้ทั้งหมด เพราะเป็นเขตป่าสงวนฯ ไม่มีเอกสารสิทธิ

สำหรับราคาทุเรียนในปีนี้สูงขึ้นกว่าปีก่อน โดยพันธุ์หมอนทองและชะนีราคา 100 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากปกติกว่า 10-20 บาท/กก. และคาดว่าพันธุ์หลง ราคาจะเพิ่มขึ้นเป็น 300-500 บาท/กก. ตามคุณภาพของผลผลิต ซึ่งจะแยกเป็นเกรด A, B และ C ขณะที่พันธุ์หลิน ราคามากกว่า 500 บาท/กก.อย่างแน่นอน ซึ่งราคาของผลผลิตจะยังไม่แน่นอนเพราะต้องรอดูปริมาณและคุณภาพของผลผลิตที่จะออกมาด้วย และคาดว่าผลผลิตจะออกล่าช้าไปอีก 2-3 เดือน ซึ่งจะกระทบต่อล้งจาก จ.จันทบุรีและตราด ที่มารับซื้อทุเรียนในช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคมด้วย

นายจรูญ ปัญญายงค์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่พูล กล่าวว่า พื้นที่ที่ถูกไฟไหม้เป็นทั้งป่าและสวนไม้ผล แยกเป็นทุเรียน 60-70% ได้แก่ พันธุ์หมอนทองและหลง ส่วนอีก 30% เป็นลองกองและลางสาด เบื้องต้นคาดว่ามีเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนกว่า 200-300 ราย มูลค่าความเสียหายมากกว่า 10 ล้านบาท และขณะนี้ภัยแล้งส่งผลให้ลองกองและทุเรียนยืนต้นตายกว่า 50% และเมื่อประสบปัญหาไฟป่าทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย พ่อค้าแม่ค้าหัวใสบางรายไปรับทุเรียนพันธุ์หลง-หลินของจังหวัดอื่นมาจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยว ทำให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของจังหวัดอย่างมาก

"ไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้มาก่อน ปีนี้เกษตรกรได้รับผลกระทบจากภัยแล้งอย่างหนัก และอากาศร้อนจัด แสงแดดที่รุนแรงจนเผายอดทุเรียนเกรียม และยังมาเจอกับเหตุไฟไหม้ป่าอีก 2 ครั้ง ซึ่งรุนแรงที่สุด ตอนนี้เกษตรกรหวังเพียงให้ฝนตกลงมา เพื่อต้นทุเรียนจะได้ฟื้นตัว หากทุเรียนยืนต้นตาย จะต้องลงทุนปลูกใหม่ ใช้เวลาอีกกว่า 8 ปี จึงจะออกผลได้" นายจรูญกล่าว


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : ทุเรียนหลง-หลิน ยืนต้นตาย50% ไฟไหม้ป่ารอบ2 วอดพันไร่

view