สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

นามนั้นสำคัญนัก ตอนที่ 1

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

นามนั้นสำคัญนัก ตอนที่ 1

      คำเรียกขาน
       
        ขึ้นปีงบประมาณใหม่ในเดือนเมษายน ได้พบผู้คนใหม่ๆ รู้จักชื่อใหม่ๆ ทำให้นึกถึงวิธีการเรียกชื่อแบบคนญี่ปุ่นที่คนไทยจำนวนมากยังสงสัยอยู่ คราวนี้มาดูกันว่าคนญี่ปุ่นเรียกกันอย่างไร
       
       อิทธิพลของการ์ตูนญี่ปุ่นแพร่หลายอยู่ในสังคมไทยมานาน หลายสิ่งที่ติดมาด้วยโดยไม่มีคำอธิบายชัดเจนจึงกลายเป็นคำถามที่คาใจเด็กและ ผู้ใหญ่หลายคน หนึ่งในคำถามที่ผมได้รับอยู่บ่อยๆ คือ เวลาคนญี่ปุ่นเรียกกันทำไมต้องมี “คุง” และมี “จัง” ด้วยล่ะ? ผมก็ตอบไม่ได้แน่ชัดว่าทำไมต้องมี จึงบอกให้มองเชิงเปรียบเทียบว่า แล้วทำไมของไทยต้องมีเด็กชาย, นาย, คุณ หรืออะไรทำนองนั้น?
       
       ก็ต้องหยุดเพื่อคิดกันหน่อยหนึ่ง เพราะนี่คือเรื่องของแบบแผนที่สังคมนั้นกำหนดมาให้ใช้จนเคยชิน พอจำความได้ก็ปรากฏว่าใช้คำเหล่านี้กันแล้ว จนไม่เคยคิดหาเหตุผลว่าทำไม เหตุผลที่พอจะประมวลได้คร่าวๆ คือ คำนำหน้าบุคคลมีใช้เพื่อแบ่งแยกให้กระจ่างชัดขึ้นว่าคนคนนั้นเพศชายหรือหญิง วัยประมาณไหน มีสถานภาพด้านความสัมพันธ์กับคนพูดอยู่ที่ระดับไหน ใกล้ชิดหรือว่ารู้จักกันอย่างเป็นทางการ ซึ่งก็เป็นเหตุผลที่คล้ายๆ กันในทุกสังคม รวมทั้งในสังคมไทยและญี่ปุ่นด้วย แต่อาจมีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันออกไปบ้าง
       
       เมื่อถามว่าคนญี่ปุ่นใช้คำนำหน้าชื่อบุคคลกันอย่างไร ก็พอจะถ่ายทอดให้ทราบกันได้บ้างตามที่เคยสัมผัสมา ก่อนอื่นต้องบอกเลยว่า คนญี่ปุ่นไม่ใช้คำนำหน้าชื่อเพื่อบ่งชี้เพศของบุคคล ในบัตรต่างๆ ที่มีชื่อระบุอยู่ ไม่ว่าจะเป็นบัตรประจำตัวนักเรียนนักศึกษา ใบขับขี่ บัตรประกันสุขภาพ หรือบัตรอะไรก็แล้วแต่ที่ใช้เป็นหลักฐานแสดงตัวก็จะไม่เขียนคำนำหน้าชื่อว่า เด็กชาย, เด็กหญิง, นาย, นางสาว, หรือนางเหมือนของคนไทย ในเอกสารราชการจะเขียนแค่ชื่อกับนามสกุลลงไป แล้วระบุต่างหากว่าเพศชายหรือหญิง หรืออาจไม่ระบุแต่มีรูปให้ดู หรือสันนิษฐานเพศจากลักษณะชื่อและตัวอักษรคันจิที่ใช้เขียน ถ้าลงท้ายด้วย –ฮิโกะ (-hiko), -ซุเกะ (-suke), -โร (-rō) คือชื่อผู้ชาย เช่น ยุกิฮิโกะ, คุนิฮิโกะ, โยซุเกะ, ไดซุเกะ, โฮจิโร, อิกุตะโร ถ้าลงท้ายด้วย -โกะ (-ko), -มิ (-mi) คือชื่อผู้หญิง เช่น โทะโมะโกะ, ยุริโกะ, นะโอะมิ, โซะโนะมิ เป็นต้น

นามนั้นสำคัญนัก ตอนที่ 1

        คนญี่ปุ่นไม่มีคำนำหน้าชื่อบ่งเพศแบบไทย แต่ที่เหมือนกับคนไทยคือ เวลาเรียกคน จะใช้คำที่แสดงความสัมพันธ์เชิงสังคม เช่น แต่งงานกันใหม่ๆ พูด “ผม”, “ฉัน”, “คุณ” พอมีลูกก็เรียกอีกฝ่ายว่า “พ่อ” หรือ “แม่” หรือเวลาพูดกับคนไม่รู้จัก คนไทยจะมองหน้า สืบหาความเต่งตึงพร้อมกับประเมินอายุ แล้วให้เกียรติ (แต่บางทีกลายเป็นการยัดเยียด) ฝ่ายตรงข้ามว่า “พี่” บ้าง “น้า” บ้าง ซึ่งเป็นการเรียกที่คล้ายกันในวัฒนธรรมญี่ปุ่น
       
       ถ้าเกี่ยวกับคำต่อท้ายชื่อ (หรือต่อท้ายนามสกุล) ที่ไม่ได้บอกความเป็นเครือญาติ ภาษาญี่ปุ่นมีคำแบบนี้เยอะพอสมควร และใช้ทั้งในที่สาธารณะและส่วนตัว คำที่คนไทยคุ้นหูกันดี คือ จัง, คุง, ซัง สามคำนี้ใช้แพร่หลายในญี่ปุ่น และดูเหมือนเป็นที่รู้จักกันดีในต่างประเทศเพราะอิทธิพลของการ์ตูน แต่คนต่างชาติจำนวนมากอาจรู้จักเพียงด้านเดียวว่า “จัง” น่าจะใช้กับเด็กและเด็กผู้หญิง, “คุง” น่าจะใช้กับเด็กผู้ชาย, และ “ซัง” น่าจะใช้ได้กับผู้ใหญ่ทั่วไป ความเข้าใจเหล่านี้คือแนวโน้มที่ถูกมอง ซึ่งก็เป็นการมองที่ถูกต้อง แต่ในความเป็นจริงยังมีการใช้ที่กว้างกว่านั้น
       
        จัง (ちゃん;chan) จริงๆ แล้วคนญี่ปุ่นออกเสียงใกล้เคียงกับคำว่า “ชัง” แต่เป็นเสียง “ช” หนักๆ ห้วนๆ หูคนไทยจึงได้ยินเป็น “จ” [1] คำนี้ใช้เรียกต่อท้ายชื่อเป็นส่วนใหญ่ (มีไม่บ่อยที่ใช้เรียกต่อท้ายนามสกุล) ของคนที่สนิทมาก หรือเอ็นดู ไม่จำเป็นต้องเป็นเด็กผู้หญิง และไม่จำเป็นต้องใช้กับเด็กเสมอไป เราจึงได้ยินชื่อ “ชิน-จัง” ซึ่งเป็นเด็กผู้ชาย หรือตัวผมเองซึ่งโตป่านนี้แล้ว ก็ยังมีผู้ใหญ่เรียกว่า “นุมุ-จัง” (มาจากชื่อเล่น “หนุ่ม”) นอกจากผู้ใหญ่ใช้เรียกเด็กแบบเอ็นดูแล้ว เพื่อนๆ ทั้งชายและหญิงก็ใช้เรียกกันเอง (แต่ส่วนใหญ่ ผู้ชายใช้เรียกผู้หญิง หรือผู้หญิงใช้เรียกเพื่อนผู้หญิงด้วยกัน) สื่อมวลชนใช้เรียกชื่อเด็กเพื่อให้ฟังไม่แข็งกระด้าง เจ้านายใช้เรียกลูกน้อง (ส่วนใหญ่ใช้กับลูกน้องผู้หญิง) คนที่คบกันมานานๆ คู่รักหรือสามีภรรยาใช้เรียกกันเอง และถ้าเป็นคนในเครือญาติ แม้ว่าตามปกติผู้น้อยจะไม่ใช้กับผู้ใหญ่ แต่ในกรณีของญาติใกล้ชิด ผู้น้อยอาจใช้เรียกแบบสนิทด้วย เช่น โอะจีจัง (おじいちゃん;O-jī-chan; ตา หรือ ปู่) โอะโตจัง (お父ちゃん;O-tō-chan; พ่อ) โอะกาจัง (お母ちゃん;O-kā-chan; แม่ ) ในวงการบันเทิง บางทีก็ใช้เรียกดารานักแสดงด้วย
       
        คุง (君;kun) ส่วนใหญ่ใช้ต่อท้ายนามสกุลของผู้ชายที่อายุน้อยกว่าและเป็นผู้ที่ใกล้ชิด คุ้นเคย เช่น คนที่บริษัท เพื่อนที่โรงเรียน เป็นต้น ผู้หญิงอาจใช้เรียกเพื่อนผู้ชาย หรือเพื่อนผู้ชายด้วยกันใช้เรียกกัน แต่เพื่อนผู้หญิงด้วยกันไม่เรียกกันเอง เจ้านายมักจะเรียกลูกน้องด้วยคำนี้ไม่ว่าลูกน้องจะเป็นชายหรือหญิงเพราะบาง ทีใช้ “จัง” อาจฟังสนิทเกินไป ในรัฐสภาของญี่ปุ่น เวลาเรียกชื่อนักการเมือง ก็ต่อท้ายด้วยคำนี้ไม่ว่าจะใหญ่แค่ไหน [2] เช่น โคะอิซุมิ-คุง (อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น) มะชิมุระ-คุง (นักการเมืองสังกัดพรรคเสรีประชาธิปไตย เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ)

นามนั้นสำคัญนัก ตอนที่ 1

จุงอิชิโร โคะอิซุมิ (อดีตนายกรัฐมนตรี)

        ซัง (さん;san) ถ้าแปลเป็นไทยคงเทียบได้กับคำว่า “คุณ” เป็นคำสุภาพที่ใช้เรียกได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ส่วนใหญ่ใช้ต่อท้ายนามสกุลของคนที่คบหากันในระดับทางการ หรือเพื่อให้เกียรติอีกฝ่ายหนึ่ง เช่น เมื่อรู้จักกันครั้งแรก เมื่อพูดถึงผู้ใหญ่ ติดต่องาน แม้ว่าบางครั้งอีกฝ่ายหนึ่งอาจมีอายุน้อยกว่า แต่ถ้ายังไม่สนิท คนญี่ปุ่นก็ใช้คำนี้ และในกรณีของอิคคิวซัง แม้เป็นเด็ก แต่บวชเป็นเณร ในสถานะหนึ่งคือสมณะ เพื่อเป็นการให้เกียรติ จึงเรียกว่าอิคคิวซัง ในโรงเรียนประถมเมื่อครูเรียกชื่อนักเรียนหญิง มักจะต่อท้ายด้วยคำว่า “ซัง” (ไม่ค่อยใช้ “จัง” ส่วนเด็กผู้ชายจะต่อท้ายด้วยคำว่า “คุง”)

นามนั้นสำคัญนัก ตอนที่ 1

การ์ตูนโทรทัศน์อิคคิวซัง

นามนั้นสำคัญนัก ตอนที่ 1

การ์ตูนโทรทัศน์อิคคิวซัง

นามนั้นสำคัญนัก ตอนที่ 1

ภาพเขียนพระอิคคิว

        นอกจากสามคำที่คนไทยคุ้นหูกันดีผ่านสื่อ คำเรียกต่อท้ายชื่อคนญี่ปุ่นยังมีอีกหลายคำ สำหรับผู้ที่ต้องติดต่อกับคนญี่ปุ่นหรือคิดจะไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่น มีอีกจำนวนหนึ่งที่น่าจะทำความรู้จักไว้ คือ “ซะมะ”(様;sama)ใช้แทนคำว่า “ซัง” ได้ (ใกล้เคียงกับคำว่า “ท่าน” ในภาษาไทย แต่ใช้ได้ในวงกว้างกว่าคำว่า “ท่าน” แบบไทย) ใช้ในการยกย่องให้สุภาพขึ้น ใช้ได้ทั้งในการพูด การเขียน เชิงธุรกิจ และในการคบค้าสมาคม
       
        “ชิ” (氏;shi)ใช้เขียนต่อท้ายนามสกุล (หรือนามสกุลพร้อมชื่อ) เพื่อแนะนำบุคคลโดยไม่ระบุถึงตำแหน่ง ใช้ในการเขียนเป็นหลัก ใครอ่านบทความ รายงาน หนังสือหรืองานวิจัยเชิงวิชาการของญี่ปุ่นจะเจอบ่อย
       
       และ “โดะโนะ” (殿;dono) ใช้ในการเขียนเอกสารระดับทางการ โดยเขียนต่อท้ายนามสุกลและชื่อ การใช้แบ่งเป็นสองระดับคือ เอกสารราชการหรือเชิงธุรการที่ทางสำนักงานแจ้งถึงผู้รับ และเอกสารที่เขียนถึงกันเป็นการส่วนตัว ในระดับราชการใช้ได้ทั่วไปโดยไม่ต้องคำนึงถึงสถานภาพของผู้รับ แต่ในเอกสารส่วนตัว คำนี้จะใช้กับผู้น้อยหรือตำแหน่งต่ำกว่าเท่านั้น ระยะหลังเอกสารของทางสำนักงานเขตเปลี่ยนไปใช้คำว่า “ซะมะ” แทนก็มาก เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ผู้รับรู้สึกว่าถูกดูแคลน
       
        การมีคำใช้เรียกมากมายหลายคำโดยแบ่งตามลักษณะความสัมพันธ์ของบุคคลแบบนี้ เป็นสิ่งที่บ่งชี้ว่า คนญี่ปุ่นให้ความสำคัญต่อความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลอย่างยิ่ง อันเป็นรากฐานทางวัฒนธรรมที่มีผลต่อการทำงานและการใช้ชีวิตของคนญี่ปุ่น ความไว้เนื้อเชื่อใจและความสนิทก็ตัดสินได้จากคำเรียก ใครทำงานกับคนญี่ปุ่น ทำความคุ้นเคยกับคำพวกนี้ไว้ก็จะเป็นประโยชน์แน่นอน
       
       หมายเหตุ :
        [1] ถ้าถอดเสียงตามหลักการของราชบัณฑิตยสถานคำนี้ต้องเขียนว่า “ชัง” แต่ฟังดูแล้วจะกลายเป็นน่าชัง จึงขอใช้ “จัง” ตามที่คนไทยคุ้นเคย
       [2] ยกเว้นกรณีที่เจ้าตัวขอร้องว่าไม่ให้เรียกโดยใช้ “คุง” ต่อท้าย เคยมีนักการเมืองหญิงบอกว่าอย่าต่อท้ายชื่อเธอด้วยคำว่า “คุง”

       
       **********
       
       คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : นามนั้นสำคัญนัก

view