สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

วิกฤต เขื่อนอุบลรัตน์ สภาเกษตรฯเร่ง ฉัตรชัย ดึงน้ำโขงช่วย

จากประชาชาติธุรกิจ

ช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ ลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น และแผนการบริหารจัดการน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค ทั้งยังได้มอบโครงการตามมาตรการช่วยเหลือภัยแล้ง มาตรการที่ 4 แผนตามความต้องการของชุมชนของจังหวัดขอนแก่นรวม 68 โครงการ เป็นเงิน 22.28 ล้านบาท ให้ จ.ขอนแก่น และยังได้มอบงบฯโครงการแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน จํานวน 1,200 บ่อ แก่ผู้แทนเกษตรกร จำนวน 22 ราย

จ.ขอนแก่น เคยประกาศเป็นพื้นที่ภัยแล้ง 16 อําเภอ แต่ปัจจุบันได้ยกเลิกไปแล้ว โดยพื้นที่ประกาศภัยแล้งทั้งประเทศในปัจจุบันรวม 15 จังหวัด 60 อําเภอ 278 ตําบล 2,369 หมู่บ้าน ปัจจุบันขอนแก่นมีเกษตรกร 45,991 ราย พื้นที่การเกษตร 354,901 ไร่ นาข้าว 354,785 ไร่ และพืชไร่ 117 ไร่ วงเงินช่วยเหลือจากเงินทดรองราชการ 395.01 ล้านบาท

เป็นที่ทราบดีว่า ณ เวลานี้สถานการณ์น้ำของเขื่อนอุบลรัตน์หลายฝ่ายมีความกังวลว่าจะไม่มีน้ำใช้ การไปจนถึงเดือนกรกฎาคม ซึ่งขณะนี้มีปริมาณใช้การได้ 27 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 1.5 เท่านั้น จะใช้การได้ถึง "วันที่ 2 เม.ย. 2559"

ที่ผ่านมาการแก้ปัญหาระยะเร่งด่วนของวิกฤตขาดแคลนน้ำที่อ่างเก็บน้ำแห่งนี้ใน ห้วงระยะเวลาปี 2536/37 ก็เคยมีการนําน้ำ Dead Storage (น้ำก้นอ่าง) มาใช้ถึง 246 ล้าน ลบ.ม. โดยไม่ต้องสูบ ดังนั้น

หากยังคงใช้ในอัตราปัจจุบัน เมื่อเทียบกันเเล้ว จะใช้น้ำจาก Dead Storage ประมาณ 180 ล้าน ลบ.ม. จะยังมีน้ำเพียงพอถึง ก.ค. 2559

นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมชลประทาน (ด้านจัดสรรน้ำและบำรุงรักษา) กรมชลประทาน เปิดเผยถึงกรณีที่มีหลายฝ่ายกังวลว่าปริมาณน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น จะ

ไม่เพียงพอใช้ก่อนเข้าสู่ฤดูฝนนั้น ปัจจุบันกรมชลประทาน ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และคณะกรรมการจัดการชลประทาน (JMC) เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ได้ร่วมกันวางแผนการใช้น้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ เฉพาะเพื่อการอุปโภคบริโภคด้านท้ายเขื่อน

โดยมีมติให้มีการระบายน้ำ วันละ 500,000-800,000 ลูกบาศก์เมตร ไม่มีการส่งน้ำเพื่อสนับสนุนภาคการเกษตร จึงขอให้ทุกภาคส่วนการใช้น้ำร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุด เพื่อให้การใช้น้ำเป็นไปตามแผนที่วางไว้อย่างเคร่งครัด มั่นใจปริมาณน้ำเพียงพอใช้ไปจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้อย่างแน่นอน

ล่าสุด นายสมศักดิ์ คุณเงิน ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดขอนแก่น ได้เข้ายื่นหนังสือถึงแนวทางการแก้ปัญหาเขื่อนอุบลรัตน์ว่า "สถานการณ์ปัจจุบันน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์มีปริมาณน้อยลงมาก

มีน้ำใช้ การได้เพียงเล็กน้อย และจะสามารถระบายเข้าสู่ระบบได้เพียงสิ้นเดือนนี้เท่านั้น นับตั้งแต่เดือนหน้าเป็นต้นไปจะเหลือเพียงน้ำก้นอ่างรักษาระบบของเขื่อนไว้ เท่านั้น สภาพน้ำที่เคยไปหล่อเลี้ยงลำน้ำพอง น้ำชี และไหลลงสู่น้ำโขง จ.อุบลราชธานี ต่อไปนั้น จะยุติลงโดยสิ้นเชิง ความเดือดร้อนจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ผลที่จะตามมาคือ ขาดเเคลนน้ำดิบเพื่อทำน้ำประปา และขาดน้ำทำการเกษตรกว่า 1 ล้านไร่"

จึงขอเสนอแนวทางออกในเชิงนโยบาย ดังนี้ 1.เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตอย่างเร่งด่วนขอให้รีบดำเนินการก่อสร้างโครงการ "โขง เลย ชี มูล" โดยแรงโน้มถ่วง เพื่อนำน้ำมาเติมน้ำต้นทุนในเขื่อนอุบลรัตน์ ซึ่งในระยะนี้คงใช้งบประมาณระยะแรกไม่เกินแสนล้านบาท 2.เสนอขอให้เพิ่มพื้นที่ในการเก็บกักน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์โดยวิธีการขุดลอก พัฒนาด้านเหนือเขื่อนให้ลึกขึ้น จะได้เก็บกักน้ำมากขึ้น และ 3.เสนอขอให้ฝ่ายที่รับผิดชอบ คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตเเห่งประเทศไทย (โรงไฟฟ้าพลังน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขื่อนอุบลรัตน์) เป็นหน่วยงานเจ้าภาพร่วมกับกรมชลประทาน เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำมาเติมเขื่อนอุบลรัตน์และลุ่มน้ำสาขา โดยเพิ่มพื้นที่ของชลประทานในภาคอีสานจากร้อยละ 7% เป็นร้อยละ 25% เป็นอย่างน้อยจะได้แก้ปัญหาถาวร

พล.อ.ฉัตรชัยให้ความเห็นว่า "หลายฝ่ายก็กังวลว่าน้ำเขื่อนอุบลรัตน์แห่งนี้จะวิกฤตหนัก ส่งผลกระทบพื้นที่ภาคอีสาน ที่น้ำเหลือใช้การได้เพียง 1% อาจไม่ครอบคลุมถึงเดือนกรกฎาคม แต่ความจริงแล้วเรามีน้ำสำรองนำมาใช้การได้"

ส่วนโครงการผันน้ำนานาชาติเป็นโครงการที่กำลังศึกษาความเป็นไปได้ ซึ่งทั้งหมดจะได้นำเรียนคณะรัฐมนตรีทราบ โดยท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานการบริหารจัดการน้ำ

อย่างไรก็ดี ก็ยังมีแหล่งน้ำอ่างห้วยหลวงจะเชื่อมโยงไปถึงแม่น้ำโขง ในแง่ของการบริหารจัดการน้ำนั้น ส่วนหนึ่งไทยมีแผนให้น้ำจากในประเทศไหลลง ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำโขง เมย คือ ไม่ให้ไหลไปสู่แม่น้ำระหว่างประเทศ ให้หมุนเวียนกลับมาใช้ภายในประเทศใหม่ ซึ่งทั้งหมดอยู่ระหว่างการศึกษา หากเสร็จสิ้นในปี 2560 ก็จะนำเข้าสู่แผน

"เราเห็นความสำคัญ เพราะว่าไทยเราไม่มีน้ำต้นทุนจากแหล่งน้ำใดเลย รอฝนอย่างเดียว ในระยะยาวคิดว่าจะเป็นประโยชน์อย่างมาก ซึ่งโครงการห้วยหลวงนั้นได้ผ่าน EIA เรียบร้อยเเล้ว คาดว่าในห้วงปลายปีนี้จะเห็นผล และอ่างห้วยหลวงนี้หากเป็นระยะที่สองก็จะไหลลงเขื่อนอุบลรัตน์ด้วย แต่จะต้องศึกษา EIA อีกครั้งเช่นกัน" พล.อ.ฉัตรชัยกล่าว


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : วิกฤต เขื่อนอุบลรัตน์ สภาเกษตรฯเร่ง ฉัตรชัย ดึงน้ำโขงช่วย

view