สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เวียดนามดัน กล้วย บุกโลก ออเดอร์ จีน-ญี่ปุ่น ทะลักผลิตไม่ทัน

จากประชาชาติธุรกิจ

กล้วยหอมมีถิ่นกำเนิดอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันกลายเป็นหนึ่งสินค้าส่งออกที่สร้างรายได้ให้กับภูมิภาค โดยเฉพาะเวียดนามที่เร่งเพิ่มปริมาณการส่งออกกล้วยเพื่อป้อนตลาดโลก

ปัจจุบันกล้วยเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับคนท้องถิ่น ขณะนี้เวียดนามหาทางปลูกกล้วยเพื่อเพิ่มปริมาณให้ได้ทีละมากๆ

เวียดนามนิวส์ รายงานว่า อุตสาหกรรมกล้วยเวียดนามมีแนวโน้มเพิ่มการส่งออกมากขึ้น ตั้งแต่ต้นปี 2559 โดยส่วนใหญ่เป็นดีมานด์ที่เพิ่มขึ้นจากตลาดต่างประเทศ

เจิ่น เดน เถ ผู้อำนวยการ บริษัท Tran The Biology เชี่ยวชาญในด้านการวิจัยและการผลิตกล้วย กล่าวว่า "ราคากล้วยที่ส่งออกปรับเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งปีก่อนราคาส่งออกอยู่ที่ 5,000-6,000 ด่อง (ราว 22-26 เซนต์ต่อดอลลาร์สหรัฐ) ต่อกิโลกรัม แต่ล่าสุดต้นปี 2559 ที่ผ่านมา ราคาโดดขึ้นมามากกว่าสองเท่าถึง 12,000-14,000 ด่องต่อกิโลกรัม"

"ไม่เพียงแต่ราคากล้วยที่สูงขึ้น ดีมานด์จากต่างประเทศก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน" เจิ่น เดน เถ ระบุว่า ผู้ส่งออกกล้วยท้องถิ่นได้รับออร์เดอร์การสั่งซื้อมากขึ้น โดยเฉพาะจากประเทศในแถบตะวันออกกลาง, รัสเซีย และญี่ปุ่น "ระยะเวลาเพียง 2 เดือนแรกของปีนี้ บริษัทท้องถิ่นได้ส่งออกกล้วยไปยังตลาดต่างประเทศแล้ว 400 ตัน"

อย่างไรก็ตาม กล้วยเวียดนามยังเผชิญปัญหาการแข่งขันที่รุนแรงจากประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ฟิลิปปินส์ หนึ่งในผู้ส่งออกกล้วยที่โดดเด่นในด้านคุณภาพสินค้า ซึ่งส่วนใหญ่จะส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน และนิวซีแลนด์

ถึงแม้กล้วยฟิลิปปินส์มีราคาสูงกว่าเวียดนาม อยู่ที่ราว 17,000-18,000 ด่องต่อกิโลกรัม แต่ฟิลิปปินส์มีจุดเด่นด้านการรักษาคุณภาพสินค้าที่ให้คงความสดอยู่เสมอในระหว่างการลำเลียงขนส่งสินค้า โดยมีข้อได้เปรียบในด้านโลจิสติกส์ที่ทันสมัยมากกว่า

ขณะที่ไทยเองก็เริ่มคิดค้นการเพาะปลูกกล้วยหอมทอง เพื่อส่งออกไปญี่ปุ่นโดยตรง หวังเจาะกลุ่มที่นิยมผลไม้ออร์แกนิก โดยตลาดต่างประเทศมีปริมาณความต้องการบริโภคกล้วยหอมทอง ปีละไม่น้อยกว่า 180 ตัน

อ้างอิงตัวเลขการผลิตของสหกรณ์การเกษตรท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี โดยปัจจุบันอำเภอท่ายาง มีพื้นที่ปลูกกล้วยหอมทอง 1,200 ไร่ สามารถให้ผลผลิตเฉลี่ยปีละ 3,000- 4,000 ตันต่อปี

นอกเหนือจากการแข่งขันที่รุนแรงภายในภูมิภาคแล้ว สภาพอากาศยังเป็นปัจจัยหลักสำหรับผู้ผลิตและส่งออกด้วย โดย นายเหงียน ถิ หงา ผู้อำนวยการของบริษัท Hong Lan หนึ่งในผู้ส่งออกผลไม้ชั้นนำจากตอนเหนือของจังหวัดหล่าวกาย สะท้อนว่า "ราคาส่งออกกล้วยปรับเพิ่มอย่างรวดเร็วตั้งแต่ต้นปี อย่างไรก็ตามแม้ราคากล้วยที่เพิ่มสูงจะเอื้อประโยชน์ต่อรายได้ผู้ส่งออกท้องถิ่น แต่บริษัทยังเผชิญกับภาวะสินค้าไม่เพียงพอต่อการส่งออก สืบเนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวจัด ติดลบต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ อันส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อพื้นที่เพาะปลูก"

บริษัท Hong Lan ได้รับออร์เดอร์มากขึ้นจากตลาดต่างประเทศ อาทิ อินเดีย ยูเออี คูเวต จีน และญี่ปุ่น แต่ผลกระทบจากสภาพอากาศทำให้ไม่สามารถส่งออกไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดโลก ขณะเดียวกันเกษตรกรท้องถิ่นจำนวนมากได้ลดพื้นที่การเพาะปลูกลง อันเกิดจากราคากล้วยที่ตกต่ำเมื่อปีก่อน

"น่าเสียดายที่เราไม่สามารถตอบสนองความต้องการได้เพียงพอ ซึ่งปัจจุบันจีนต้องการนำเข้ากล้วยมากถึง 20-30 ตันต่อวัน ขณะที่ญี่ปุ่นต้องการ 15-20 ตันต่อวัน" เหงียน ถิ หงาระบุ

ขณะนี้บริษัท Hong Lan มีพื้นที่เพาะปลูกกล้วยราว 700 เฮกตาร์ ซึ่งปี 2557 สามารถผลิตกล้วยได้มากถึง 15,000-20,000 ตัน และส่งออกกล้วยไปตลาดโลกราว 12,000-15,000 ตัน ถึงกระนั้นในปี 2558 ด้วยความสภาพอากาศที่ไม่เอื้อต่อการเพาะปลูก ได้ตัดกำลังความสามารถในการส่งออกกล้วยเหลือเพียงครึ่งหนึ่งของปี 2557 และส่งออกได้เพียง 6,000 ตันเท่านั้น

แต่ที่น่ากังวลคือนอกจากจีนที่เป็นตลาดนำเข้ากล้วยใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ยังมีดีมานด์ที่แข็งแกร่งมากขึ้นจากประเทศอื่น เช่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และประเทศยุโรปตะวันออก แต่เวียดนามยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการได้ ยิ่งกว่านั้นในเชิงคุณภาพกล้วยยังไม่ถูกจัดให้อยู่ในผลผลิตที่ดีที่สุด

โดยเวียดนามยังขาดเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมถึงปัญหาในการจัดเก็บสินค้าให้คงความสดใหม่ ซึ่งหมายถึงยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการตลาดโลกได้ โดยเฉพาะการเจาะกลุ่มตลาดไฮเอนด์ และตลาดในญี่ปุ่น

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบท ได้เสนอการปรับปรุงพื้นที่ 5 เขตเพื่อการเพาะปลูกกล้วย ได้แก่ พื้นที่ทางตอนเหนือ, สามเหลี่ยมปากแม่น้ำแดง, พื้นที่ชายฝั่งตอนกลาง, ทางตะวันออกเฉียงใต้ และดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง โดยจะเน้นที่การสร้างสายพันธุ์กล้วยที่เหมาะสมกับสภาพอากาศ และมีมูลค่าตอบแทนสูง รวมถึงการให้ความรู้แก่เกษตรกรเพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมกล้วยสามารถแข่งขันและเข้าถึงตลาดโลกได้อย่างครอบคลุม

การกำหนดนโยบายการพัฒนาที่ชัดเจนเป็นกลยุทธ์สำคัญที่จะทำให้เวียดนามบรรลุผลสำเร็จในการเพิ่มช่องทางสร้างรายได้ให้กับประเทศ


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : เวียดนามดัน กล้วย บุกโลก ออเดอร์ จีน-ญี่ปุ่น ทะลักผลิตไม่ทัน

view