สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ท้าวเสียวสวาด

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์สามัญสำนึก โดย สกุณา ประยูรศุข

ขณะที่ปัญหา "นกแอร์" สายการบินโลว์คอสต์ระดับชาติของไทยยังไม่ยุติ ก็มีอันต้องเดินทางไป เมืองหลวงพระบาง สปป.ลาว โดย บางกอกแอร์เวย์ส ของคุณหมอ ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ถือเป็นโอกาสทองของบางกอกแอร์เวย์สเลยทีเดียว เพราะวันนั้นผู้โดยสารเต็มลำแบบไม่มีที่ว่าง ขณะที่ แอร์เอเชีย ของ เสี่ยโจ-ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ก็เพิ่งเปิดตัวได้เพียงสองสัปดาห์

หลวงพระบาง ปัจจุบันเป็นเมืองมรดกโลก มีประชากรราว 5 แสนคน พื้นที่กว่า 80% เป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อนและมีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ ด้วยเพราะที่ตั้งของเมืองอยู่บนเนินเขา ประกอบกับความเป็นอยู่ในแบบ "สโลว์ไลฟ์" เงียบสงบ จึงกลายเป็นเสน่ห์ที่นักท่องเที่ยวทั้งหลายหลงรัก และอยากไปเยือนอยู่เสมอ

เมืองหลวงพระบางในอดีตเคยเป็นราชธานีของลาว มาก่อน เรียกว่าเป็นเมืองหลวงทางภาคเหนือของลาว เป็นเมืองที่อยู่ของกษัตริย์และพวกเจ้าทั้งหลาย ราษฎรสมัยก่อนต้องทำนาข้าวเจ้าไปถวายให้กษัตริย์เสวย เลยเรียกข้าวที่กษัตริย์หรือเจ้าเสวยว่า "ข้าวเจ้า" เป็นที่มาของชื่อข้าวเจ้า

ที่ตั้งของเมืองหลวงพระบาง อยู่ฝั่งซ้ายติดแม่น้ำโขง มีแม่น้ำคานไหลลงมาบรรจบตอนเหนือเมือง บริเวณที่แม่น้ำสองสายมาบรรจบกัน เป็นที่ตั้งของวัดโบราณของลาววัดหนึ่ง คือ วัดเชียงทอง ที่ชื่อเชียงทองนั้นตามคำบอกเล่าของคนลาวว่า เดิมเป็น บ่อทองคำ และมี ต้นไม้ทอง ต้นใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง ตอนหลังถูกโค่นลงแล้วเอาดินถมบ่อทอง สร้างวิหารครอบไว้

วัด เชียงทองมีฐานะเป็นวัดหลวง สมัยโบราณถือเป็น "ประตูเมือง" ของหลวงพระบาง และเป็นท่าเทียบเรือสำหรับกษัตริย์ พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชเป็นผู้สร้าง เมื่อ พ.ศ. 2103 ในวัดเชียงทองมี "ของดี" ของหลวงพระบางที่อยากจะกล่าวถึง คือ พระอุโบสถ ซึ่งถือกันว่าเป็นสถาปัตยกรรมล้านช้างขนานแท้ที่สวยงามที่สุด และ วิหาร อีกสองหลัง สวยงามไม่แพ้กัน

กล่าวแต่เฉพาะ วิหาร ตั้งอยู่ด้านหลังและด้านข้างพระอุโบสถ วิหารด้านข้างเรียก วิหารสีชมพู เป็นการเรียกตามสีผนังของวิหารที่ทาสีชมพู ภายในมีพระพุทธรูปปางไสยาสน์ประดิษฐานอยู่ พระพุทธรูปองค์นี้เคยนำไปแสดงที่กรุงปารีส ในปี 2474 และนำไปประดิษฐานที่นครเวียงจันทน์หลายสิบปี ก่อนจะนำกลับมายังหลวงพระบาง ในปี 2507

จุดเด่นของวิหารคือผนังด้านนอกที่ทาสีชมพูแล้วตกแต่งด้วย กระจกสี ตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ นำมาต่อเป็นรูปต่าง ๆ ทั้งภาพวิถีชีวิตของชาวหลวงพระบาง และนิทานพื้นบ้านของลาวเอง แท้ที่จริงแล้วการทำศิลปะแบบนี้อีกนัยหนึ่งเพื่อดึงดูดความสนใจของผู้คน โดยเฉพาะกับเด็ก ๆ ที่มาเที่ยววัดแล้วได้ฟังนิทานไปด้วย เป็นการให้ความรู้และปลูกฝังทัศนคติแบบไม่ต้องบังคับ ผิดกับวัดไทยหลายแห่งที่เข้าไปแล้ว เห็นแต่ "ป้ายคำกลอน" แขวนเต็มไปหมด เขียนข้อความบังคับให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้

เรื่องราวจากชิ้นกระจก เป็นนิทานพื้นบ้าน ชื่อเรื่อง "สีเสลียว เสียวสวาด" หรือ "ท้าวเสียวสวาด" ฟังชื่อแล้วอาจเข้าใจไปในทางสองแง่สามง่าม แต่ความจริงแล้วไม่เกี่ยวกับเรื่องลามกทำนองนั้นเลย เรื่องของท้าวเสียวสวาด เป็นเรื่องของคนมีปัญญาฉลาดหลักแหลม คือคำว่าเฉลียว-ฉลาดนั่นเอง ท้าวเสียวสวาดใช้ปัญญาแก้ไขปัญหาต่าง ๆ กระทั่งสุดท้ายเป็นที่ยอมรับของคนทั้งหลาย ได้เป็นที่ปรึกษาของกษัตริย์ คนลาวนำเรื่องของท้าวเสียวสวาดมาเป็นคำสอนลูกหลานและเป็นหลักปฏิบัติสืบมา ตราบถึงทุกวันนี้

ยังมีอีกหลายเรื่องล้วนเป็นคติสอนใจ อย่างเช่นเรื่องลูกสาวพญานาคที่พกความโกรธหนุ่มเมืองมนุษย์ ไปฟ้องพ่อที่เมืองบาดาลใส่ร้ายป้ายสีจนพ่อเกือบหลงเชื่อ แต่สุดท้ายพ่อรู้ความจริง จึงลงโทษลูกสาวจนตายไปด้วยความแค้น กี่ชาติก็คงความแค้นไว้ไม่รู้จบ จนชาติสุดท้ายที่ได้รู้ว่า "ความแค้นต้องชำระด้วยความดี ถ้าแค้นชำระด้วยความแค้นแล้ว จะไม่มีวันสิ้นสุด"

ฝากไว้ให้คิดกันยามบ้านเมืองวิปริต แต่ถ้ามีโอกาสไปหลวงพระบาง ลองแวะไปดูของจริง


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : ท้าวเสียวสวาด

view