สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

หอสมุดเมือง กรุงเทพมหานคร เล่าอดีตสู่ปัจจุบัน

จากประชาชาติธุรกิจ

โดย  ณัชพิมพ์ รัตนาสินนอก
boatchanat@me.com

ที่มา มติชนรายวัน

“กรุงเทพมหานคร” เป็นเมืองหลวงที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก แต่กลับไม่มีห้องสมุดประจำเมืองที่เป็นสัญลักษณ์ประจำเมืองจริงๆ ไว้บริการประชาชนอย่างเป็นทางการ ในขณะที่เมืองใหญ่ๆ ทั่วโลก ต่างมีห้องสมุดประจำเมืองขนาดใหญ่ให้เป็นศูนย์รวมแหล่งสืบค้นข้อมูลครบวงจร และเป็นแหล่งบอกเล่าความเป็นมา จนกลายเป็นจุดสำคัญที่พลเมืองและนักท่องเที่ยวได้เข้ามาศึกษาเรื่องราวของเมือง

เหตุใดกรุงเทพฯ จึงไม่มีห้องสมุดประจำเมือง

จริงอยู่ ที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้สร้างห้องสมุดประชาชนหลายแห่งใน 50 เขต ไม่นับรวมห้องสมุดเอกชนอีกมาก แต่การสร้างห้องสมุดเมืองขนาดใหญ่กลับทำได้ยากยิ่งนัก อาจเพราะไม่มีพื้นที่ที่เหมาะสม เพราะพื้นที่ในกรุงเทพฯ มีการใช้ประโยชน์ทุกตารางเมตร ทั้งเป็นที่อยู่อาศัย ห้างสรรพสินค้า สถานบันเทิง ฯลฯ การสร้างห้องสมุดเมือง จึงเป็น 1 ในพันธกิจของ กทม.ที่จะต้องทำเป็นเมืองหนังสือโลกตามที่ได้เสนอไว้กับยูเนสโก

kon01130359p3

ก่อนหน้านี้ กทม.มีแผนจะปรับปรุงศาลาว่าการ กทม.1 (เสาชิงช้า) เป็นพิพิธภัณฑ์เมืองและหอสมุดเมือง ซึ่งจะดำเนินการหลังย้ายที่ทำการไปยังศาลาว่าการ กทม.2 (ดินแดง) แต่เมื่อยังไม่สามารถย้ายที่ทำการได้ กทม.จึงต้องหาพื้นที่ใหม่ สุดท้ายได้ข้อสรุปที่อาคารเก่าแก่สูง 4 ชั้น ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ บริเวณสี่แยกคอกวัว มุมถนนตะนาว พื้นที่ใช้สอย 4,880 ตารางเมตร

ถือเป็นทำเลที่ดีมาก เพราะตั้งอยู่บนเกาะรัตนโกสินทร์ จุดท่องเที่ยวสำคัญของกรุงเทพฯ ซึ่งใกล้เคียงทั้งพระบรมมหาราชวัง วัดพระแก้ว อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ศาลาว่าการ กทม.เสาชิงช้า ถนนข้าวสาร เป็นต้น

กทม.ตัดสินใจเช่าอาคารกับสำนักทรัพย์สินฯ เป็นเวลา 30 ปี ใช้วิธีจ่ายปีต่อปี เฉลี่ยปีละ 20 ล้านบาท เพื่อสร้าง “หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร” ซึ่งล่าสุดได้ว่าจ้างบริษัท ไร้ท์แมน (Right Man) จำกัด ออกแบบและปรับปรุงอาคาร วงเงินราว 298 ล้านบาท และมีพิธีบวงสรวงไปเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ แต่ผู้รับจ้างได้เริ่มงานตามสัญญามาตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2558 กำหนดสิ้นสุดสัญญาวันที่ 17 มิถุนายน 2560 หรือราว 540 วัน นั่นแสดงว่าราวกลางปี 2560 คนกรุงเทพฯ จะได้ยลโฉมหอสมุดเมืองแห่งนี้

“ปราณี สัตยประกอบ” ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กทม. เล่าว่า หอสมุดเมืองแห่งนี้ จะเป็นห้องสมุดแห่งแรกของกรุงเทพฯ ที่รวบรวมความเป็นกรุงเทพฯ ทั้งหมด ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

“ความตั้งใจนั้นคือ จะพยายามรวบรวมให้ได้ครบถ้วนมากที่สุด โดยได้ร่วมมือกับเครือข่ายทุกภาคส่วน ทั้งผู้จัดพิมพ์หนังสือ นักเขียน สถาบันการศึกษา และประชาชน ซึ่งหอสมุดแห่งนี้ได้กำหนดคอนเซ็ปต์คือ ?แสงคือปัญญา? (Wisdom of Light) เน้นการปรับปรุงให้อาคารได้รับแสงจากธรรมชาติ” ปราณีกล่าว

สำหรับการออกแบบแต่ละชั้น กำหนดให้ “ชั้น 1” เป็นจุด Information บริการ ยืม-คืน พื้นที่นิทรรศการหมุนเวียนและถาวร ชั้นอ่านหนังสือพิมพ์และนิตยสารทั่วไป ห้องสมุดผู้พิการ ร้านอาหารและบริการอินเตอร์เน็ต-ไวไฟ “ชั้นลอย” หรือชั้น M เป็นห้องสมุดสำหรับเด็ก รวบรวมวรรณกรรมสำหรับเด็กและเยาวชน “ชั้น 2” รวบรวมหนังสือและวรรณกรรมจากต่างประเทศ หนังสือทั่วไป หนังสืออ้างอิง มุมศึกษาค้นคว้า และห้องอเนกประสงค์ ส่วน “ชั้น 3” เป็นชั้นรวบรวมหนังสือเพื่อนบ้านอาเซียนทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ หนังสือหายาก หนังสือวรรณกรรมไทย วรรณกรรมอาเซียนและวรรณกรรมโลก หอจดหมายเหตุ นอกจากนี้ มีหอเกียรติยศ (Hall of Fame) ที่รวบรวมประวัติของผู้ว่าฯกทม. รวมถึงประวัติของนักประพันธ์ และกวีแห่งชาติ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน

หอสมุดเมืองแห่งนี้ จะเปิดให้บริการในอีกไม่นานเกินรอ

ณัชพิมพ์ รัตนาสินนอก
boatchanat@me.com

ที่มา มติชนรายวัน


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : หอสมุดเมือง กรุงเทพมหานคร เล่าอดีตสู่ปัจจุบัน

view