สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อุตสาหกรรมสัตว์ปีก กับข้อกังขาการใช้ ฮอร์โมน เร่งโต

จากประชาชาติธุรกิจ

โดย นฤนาถ พงษ์ธร

กว่า 60 ปีที่อุตสาหกรรมสัตว์ปีกของสหรัฐอเมริกามีการวิจัยพัฒนาและสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ ส่งผลให้สหรัฐ กลายเป็นประเทศผู้ผลิตเนื้อไก่อันดับ 1 ในที่สุด

ความสำเร็จอย่างไม่น่าเชื่อในอุตสาหกรรมนี้ ก่อให้เกิดความสงสัยในหมู่ผู้บริโภคว่า มีการเลี้ยงไก่ให้โตเร็วกว่าในอดีตได้อย่างไร ? ซึ่งนำไปสู่การคาดเดาต่าง ๆ นานา โดยเฉพาะการคาดเดาที่ว่า "ไก่โตเร็วได้ด้วยฮอร์โมนเร่งโต?"

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผู้เขียนได้รับคลิปชิ้นหนึ่งที่กำลังเผยแพร่อยู่ในสหรัฐอเมริกา เนื้อหาในคลิปเป็นการให้ความรู้โดย Dr.Susan E.Watkins ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ปีก จากศูนย์ความเป็นเลิศทางวิทยาศาสตร์สัตว์ปีกแห่งมหาวิทยาลัย Arkansas ว่า "ไม่มีการใช้ฮอร์โมนเร่งโตในอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่" โดยให้เหตุผล 3 ประการ

ประการแรก : ในเชิงเศรษฐกิจ การใช้ฮอร์โมนเร่งโตต้องลงทุนด้วยจำนวนเงินทุนและแรงงานอย่างมหาศาล

เนื่อง จากวิธีการใช้นั้นจะเป็นไปในลักษณะฉีดหรือฝังฮอร์โมนเข้าไปที่ตัวไก่ทีละตัว ขณะที่สหรัฐมีการเลี้ยงไก่หลายล้านตัวต่อปีการจ้างแรงงานเพื่อให้มาทำการฝัง ฮอร์โมนย่อมเป็นการลงทุนที่ไม่สมเหตุสมผลและจะนำไปสู่การขาดทุน จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่ภาคธุรกิจซึ่งมีภารกิจที่ต้องทำกำไรให้แก่ผู้ถือหุ้น จะเลือกใช้วิธีนี้

ประการที่สอง:ผิดกฎหมายทั้งในสหรัฐเองและประเทศผู้นำเข้า

ในสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ตลอดจนในประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ ล้วนมี คำสั่งห้ามใช้สารเร่งการเจริญเติบโตใด ๆ ในการเลี้ยงสัตว์ หากตรวจพบสารตกค้างกลุ่มเร่งการเจริญเติบโต จะนำไปสู่การ Reject สินค้า และ Ban ผลิตภัณฑ์ ไม่รับซื้อเนื้อไก่จากประเทศผู้ผลิตนั้นทันที ซึ่งแน่นอนว่าย่อมไม่มีบริษัทใดวางอนาคตของบริษัทไว้กับการกระทำผิดกฎหมาย และเสี่ยงต่อการล้มละลายของอุตสาหกรรมไก่ทั้งประเทศ

ประการที่สาม : วิทยาศาสตร์คือคำตอบ

Dr.Susan E.Watkins ระบุชัดเจนว่าการใช้ฮอร์โมนเร่งโตในไก่เป็นเพียงการย่อยสลายสารเคมีในร่างกายของไก่ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพของไก่ แต่เหตุผลที่ในปัจจุบันใช้เวลาในการเลี้ยงไก่

น้อยกว่าในอดีต ไก่มีสุขภาพแข็งแรงกว่าในอดีต และมีโภชนาการที่ดีสำหรับผู้บริโภคมากกว่าเดิม นั่นเป็นเพราะความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ ตั้งแต่การพัฒนาสายพันธุ์ การใช้สูตรอาหารที่ดี และการมีโรงเรือนอันทันสมัยนั่นเอง

สำหรับประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้ผลิตไก่เนื้ออันดับ 9 ของโลก และเป็นผู้ส่งออกเนื้อไก่เป็นอันดับ 4 ของโลก ยังมีคำถามในประเด็นนี้เช่นกัน ทั้งนี้ คำอธิบายของผู้รู้ในประเทศไทยสอดคล้องกับข้อมูลของ Dr.Susan E.Watkins

เช่น น.สพ.บริสุทธิ์ วรรณสุทธิ์ นักวิชาการจากคอบบ์ แวนเทรส เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทผู้ผลิตและพัฒนาสายพันธุ์ไก่เนื้อ (สายพันธุ์ COBB) ประเทศสหรัฐอเมริกา อธิบายว่ากระบวนการคัดเลือกสายพันธุ์ตามธรรมชาติที่พัฒนาโดยใช้หลักการพื้นฐานวิชาพันธุศาสตร์ โดยไก่จะต้องผ่านเกณฑ์ลักษณะเด่นทางพันธุกรรมมากกว่า 50 ลักษณะ จึงจะถูกคัดเลือกเพื่อนำไปขยายพันธุ์ต่อ เมื่อไก่ที่ได้รับการพัฒนาด้านพันธุกรรมที่ดีแล้ว นำไปเลี้ยงในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม ให้อาหารที่มีโภชนาการที่ดีกับการเจริญเติบโตของไก่แต่ละช่วงวัย ภายใต้การเลี้ยงที่ถูกต้อง และมีมาตรฐานการป้องกันโรคที่ดี ไก่เนื้อจะแสดงลักษณะภายนอกที่ชัดเจน คือ เติบโตรวดเร็ว และแข็งแรง

ส่วน ผศ.ดร.ยุวเรศ เรืองพานิช ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตรกำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่าอุตสาหกรรมไก่เนื้อของไทย ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโต เนื่องจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาอยู่ตลอดเวลา สามารถสนับสนุนให้ไก่เนื้อเติบโตเร็วได้ ซึ่งเกิดจากปัจจัย 5 ประการ ได้แก่ พันธุ์สัตว์ที่ดี อาหารสัตว์คุณภาพดี โรงเรือนและอุปกรณ์ทันสมัยการดูแลด้านสวัสดิภาพสัตว์ที่ดีและระบบการป้องกันโรคที่ดี

นอกจากนี้ ยังอธิบายถึงการคาดเดาว่าอาจมีการใส่สารบางอย่างเข้าไปในอาหารไก่เพื่อเร่งการเจริญเติบโต ว่าเป็นการคาดเดาที่เลื่อนลอย เพราะอาหารไก่ในปัจจุบันจะถูกคิดค้นสูตรเฉพาะ เน้นคุณค่าทางโภชนาการ และสารอาหารที่เหมาะสมทำให้ไก่เติบโตได้รวดเร็วตามมาตรฐาน ขณะเดียวกัน วัตถุดิบอาหารสัตว์ยังถูกควบคุมอย่างเข้มงวด จากกฎหมายที่ห้ามใช้สารฮอร์โมนเร่งโตที่ครอบคลุมถึงอาหารสัตว์ว่าต้องไม่มีสารฮอร์โมนเร่งโตด้วย

ด้านศ.น.สพ.ดร.จิโรจศศิปรียจันทร์คณะสัตวแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยืนยันว่าจากความรู้และประสบการณ์การใช้ฮอร์โมนเร่งโต เป็นเพียงความเชื่อแต่ครั้งโบราณ เพราะในอดีตยุโรปและอเมริกาสามารถใช้ฮอร์โมนเร่งให้ไก่อ้วนตัวโตได้โดยไม่ผิดกฎหมาย แต่ต่อมามีการประกาศห้ามใช้เมื่อกว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ที่สำคัญ วิธีการใช้ฮอร์โมนนั้น ต้องจับไก่ทีละตัวไปฝังฮอร์โมน ถ้าเลี้ยง 2 หมื่นตัว กี่วันจึงจะแล้วเสร็จ

วันนี้ประเทศไทยผลิตไก่ราว ๆ สัปดาห์ละ 30 ล้านตัว จึงไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปได้เลยที่จะนำไก่ทีละตัวมาฝังฮอร์โมน และนอกจากจะผิดกฎหมาย เสี่ยงถูกดำเนินคดีแล้ว ฮอร์โมนที่ต้องลักลอบใช้เช่นนี้ย่อมมีราคาแพง ทำให้ต้นทุนสูง จึงไม่มีผู้ประกอบการรายใดทำกัน เพราะไม่คุ้มค่าการลงทุน

ทั้งหมดเป็นข้อมูลจากนักวิชาการทั้งเทศและไทย ซึ่งไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องอาศัยฮอร์โมนเร่งโตในการเลี้ยงไก่ เพราะความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ของไทยไปไกลกว่าจะมาเสี่ยงในเรื่องที่ผิดกฎหมาย และไม่คุ้มค่ากับการลงทุน


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : อุตสาหกรรมสัตว์ปีก กับข้อกังขาการใช้ ฮอร์โมน เร่งโต

view