สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ล้งจีน กับ ภาคเกษตรไทย มือใครยาว...ให้รีบสาวเอา

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ชั้น 5 ประชาชาติ โดย รัตนา จีนกลาง

ปรากฏการณ์ที่พ่อค้าจีนแห่ เข้ามาสร้างโกดังและจุดรับซื้อผลไม้ขนาดใหญ่ถึงหน้าสวน หรือที่เรียกกันว่า "ล้ง" ผุดขึ้นราวดอกเห็ดในแหล่งปลูกผลไม้สำคัญของไทย ทั้งที่จังหวัดระยอง จันทบุรี ตราด ซึ่งใน 3 จังหวัดนี้มีกว่า 250 แห่ง และที่จังหวัดชุมพรก็มีล้งรับซื้อทุเรียน/มังคุดขนาดใหญ่ 144 แห่ง นับว่าเป็นกรณีที่ต้องสังเคราะห์ข้อมูลผลดี-ผลเสีย และรับมือกันตั้งแต่เนิ่น ๆ

แม้ว่าล้งรับซื้อทุเรียนจะยังไม่เกิดปัญหากับเกษตรกร แต่จุดที่ปะทุขึ้นเมื่อต้นปีนี้ก็คือ "ล้งรับซื้อลำไย" ที่จังหวัดจันทบุรี ที่มีล้งนินจา พ่อค้าจีนขาจรเข้ามาทำสัญญารับซื้อลำไยนอกฤดูจากชาวสวนแล้วก็หนีเข้ากลีบเมฆ ผิดสัญญา ทิ้งสวนลำไย ทำให้เจ้าของสวนขาดทุนยับ สุดท้ายอ้างว่าเศรษฐกิจจีนไม่ดี ประกอบกับลำไยไทยตกเกรดเพราะอากาศแปรปรวน

ทางออกที่มีการนำเสนอในตอนนี้ก็คือ รัฐควรมีการจัดระเบียบล้ง และร่างสัญญากลาง เพราะที่ผ่านมาสัญญาถูกกำหนดมาจากพ่อค้าจีนฝ่ายเดียว และจำเป็นต้องสร้างความเข้มแข็ง เร่งพัฒนาคุณภาพผลไม้ เสริมสภาพคล่องให้กับกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์เกรดเอที่สามารถส่งออกทุเรียนได้ เพื่อบาลานซ์ผู้ส่งออกต่างชาติกลุ่มเดียว ส่วนฝั่งไทยเองก็มีปัญหาที่ต้องสะสางเช่นกัน โดยเฉพาะนายหน้าที่ก่อปัญหา

นับเป็นเรื่องดีมากที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (ท่านสุวิทย์ เมษินทรีย์)รุดลงมาดูแลเรื่องนี้ด้วยตนเอง เพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุดจริง ๆ ซะที เพราะทุเรียน มังคุดในภาคตะวันออก สร้างรายได้เข้าประเทศปีละหลายพันล้านบาท  การปลูกผลไม้ต้องใช้เวลาประคบประหงมหลายปี ลงทุนสูง และพึ่งพาดินฟ้าอากาศ ยามใดแล้ง ลมแรง มรสุมถล่ม อากาศแปรปรวน ก็ทำให้ผลผลิตเสียหายได้ง่าย ซึ่งปีนี้ภัยแล้งรุนแรงจะซ้ำเติมแน่นอน

แต่พอจะขายผลผลิตได้กำไรบ้าง ก็มาเจอกลเกมของพวกพ่อค้าหัวใสเอาเปรียบแบบนี้อีก ภาคเกษตรของไทยจึงไม่ก้าวหน้า

ตอนนี้ต้องยอมรับว่า พืชเกษตรส่งออกของไทยย่ำแย่ไปหมดแล้ว ทั้งยางพารา ข้าว มันสำปะหลัง ก็เหลือเพียงผลไม้นี่แหละที่เป็นตัวค้ำจุนรายได้ให้ภาคเกษตร มีออร์เดอร์จากต่างประเทศเข้ามาจนผลิตไม่พอขาย โดยเฉพาะทุเรียน มังคุด ลำไย มะม่วงมะพร้าวน้ำหอม กล้วยหอมทอง ฉะนั้นเราก็ต้องหันมาฟูมฟัก พัฒนาคุณภาพ และดูแลระบบการค้าพืชเหล่านี้ให้แข่งขันได้

วันนี้ล้งทุเรียนยังไม่เกิดปัญหา แต่คนไทยก็ต้องตระหนักว่า การยืมจมูกคนอื่นหายใจ โดยพึ่งพาผู้ซื้อตลาดเดียวก็นับว่าเสี่ยงมากอยู่แล้ว และคงไม่ลืมบทเรียนจากการส่งออกรังนกอีแอ่น ซึ่งหวังว่าประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำรอยอีก

นั่นคือหลังจากที่รังนกอีแอ่นของไทยส่งออกไปเมืองจีน ขายได้ราคาสูงลิ่ว โดยเฉพาะรังนกอีแอ่นธรรมชาติ กิโลกรัมละ 5 หมื่น-1 แสนบาท ขายดิบขายดีจนนกทำรังไม่ทัน

จึงเกิดการลงทุนทำ "รังนกบ้าน" แห่สร้างบ้านนกหรือคอนโดนกทั้งในภาคตะวันออก เพชรบุรี และภาคใต้ สุดท้ายก็หัวทิ่มขาดทุนยับเนื่องจากทางการจีนสั่งห้ามนำเข้า โดยระบุว่าตรวจพบสารปนเปื้อนที่เป็นอันตราย

ในครั้งนั้นราคารังนกของไทยดิ่งเหว ถูกทุบราคาลงมาเหลือกิโลละ 1-3 หมื่นบาท ตลาดรังนกปั่นป่วนมาก ขาดทุนระนาวจนป่านนี้ก็ยังไม่ฟื้นตัว

อีกเรื่องที่อยากให้ผู้เกี่ยวข้องช่วยกันตรวจสอบ อัพเดตข้อมูลในเชิงลึก เพื่อรับมือปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตก็คือ การค้าผัก-ผลไม้จากเมืองจีน ที่ทะลักเข้ามาทางด่านเชียงของ จังหวัดเชียงราย ผ่านเส้นทาง R3A ที่ขนส่งตรงมาที่ใจกลางเมืองหลวง

นักธุรกิจที่เชียงรายเป็นห่วงว่า ปัจจุบันกลุ่มทุนจีนได้เข้ามาควบคุมธุรกิจนำเข้า-ส่งออกโลจิสติกส์การค้าชาย แดนฝั่งเชียงรายเกือบจะ100% ชัดเจนที่สุดก็คือ สินค้าในกลุ่มผัก ผลไม้ ดอกไม้ เพราะในอดีตจะมีการขนถ่ายสินค้ากันที่เชียงแสน ผู้ค้าคนไทยจะเป็นผู้ลำเลียงสินค้ากระจายมาสู่ตลาดค้าส่งในกรุงเทพฯ และภาคกลาง แต่ทุกวันนี้ระบบการค้าไม่ผ่านมือคนไทยแล้ว

ล่าสุดมีการเข้ามาซื้อที่ดินสร้างห้องเย็นเองเกือบ 30 แห่งในโซนตลาดไท และหลายรายไม่เปิดหน้าร้าน ก็หันมาใช้วิธีเปิดท้าย "ตู้คอนเทนเนอร์ห้องเย็น" ให้ลูกค้าคนไทยมารอรับซื้อได้เลย ลดต้นทุนการมีหน้าร้าน ซึ่งการค้าแบบนี้ประเทศไทยได้ประโยชน์อะไรบ้าง ได้คุ้มเสียหรือไม่

ถึงเวลาแล้วที่คนไทย ทางการไทย ต้องเท่าทันเกมการค้าที่รุก-รบเร็ว ทำอย่างไรที่จะวางกรอบกติกาให้เป็นคู่ค้าที่ Win-Win กันทั้งสองฝ่าย

ไม่ใช่เปิดบ้านให้ต่างชาติทะลวงเข้ามาเพื่อฉกฉวยทำมาหากิน และใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดในผืนแผ่นดินไทย โดยที่คนไทยมิได้ประโยชน์ หรือได้แค่เศษเสี้ยว


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : ล้งจีน กับ ภาคเกษตรไทย มือใครยาว...ให้รีบสาวเอา

view