สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ล้อมคอก"ล้งจีน"เบี้ยวซื้อลำไย ตีทะเบียน-ทำสัญญามาตรฐาน

จากประชาชาติธุรกิจ

จันทบุรีตื่นแก้ปัญหาล้งจีนเบี้ยวรับซื้อลำไย-กดราคา ผู้ว่าฯตั้งทีมเร่งยกร่าง "สัญญาฉบับกลาง" หวังสร้างมาตรฐานรับซื้อเป็นธรรม ไล่บี้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านเร่งสำรวจตีทะเบียนล้ง-เกษตรกรตัวจริง พร้อมแก้ปัญหานายหน้าเหมาสวนขายต่อ ด้านกรมการค้าภายใน-กกร.เตรียมประชุมแก้ปัญหาลำไย-ทุเรียน-มังคุด

กรณีที่พ่อค้าจีนได้เข้ามายึดหัวหาดตั้งจุดรับซื้อ/โกดังสินค้าหรือล้ง ในแหล่งปลูกผลไม้ยอดฮิตของไทย โดยเฉพาะทุเรียน ลำไย มังคุดนั้น ล่าสุดได้เกิดปัญหาล้งรับซื้อลำไยผิดสัญญา ทิ้งลำไยในสวน ถูกกดราคา ทำให้ชาวสวนลำไยในจังหวัดจันทบุรีสูญเสียรายได้หลายล้านบาท

สำหรับ จังหวัดจันทบุรีเป็นแหล่งผลิตลำไยนอกฤดูมากที่สุดของประเทศ ผลิตได้มากถึงปีละเกือบ 3 แสนตัน โดยปี 2558 จำนวน 272,618 ตัน ทำรายได้กว่า 1 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ทำรายได้อยู่ที่ 9,600 ล้านบาท แหล่งปลูกใหญ่สุดอยู่ที่ อ.โป่งน้ำร้อนและ อ.สอยดาว

ล้งจีนเอาเปรียบชาวสวน

นายอรรธวุฒิ เวชปรีชา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 6 ต.คลองใหญ่ อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี และเกษตรกรสวนลำไย 30 ไร่ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เมื่อเดือนมกราคม 2559 ที่ผ่านมา ในพื้นที่หมู่ 6 ได้เกิดปัญหาล้งจีนเหมาสวนลำไยผิดสัญญาจำนวนหลายราย เกษตรกรได้รับความเสียหายตั้งแต่หลักแสนถึงหลักล้านบาท ซึ่งการผิดสัญญาเป็นเทคนิคของแต่ละล้ง เช่น เก็บครั้งแรกเลือกเก็บเฉพาะขนาดใหญ่ เบอร์ 1-2-3 จากนั้นไม่มาเก็บตามกำหนด หากชาวสวนนำไปขายให้ล้งอื่นก็จะถูกปรับ ในที่สุดลำไยจะสุกงอมและร่วง ทำให้ตกเกรดมาเป็นเบอร์ 5 หรือการคัดเลือกลำไยก็มีมาตรฐานต่างกัน ทำให้ราคาต่างกัน เกษตรกรเสียเปรียบสัญญาล้งจีนมาตลอด

"ล้งจีนจะมีนายหน้าคนไทยมาติดต่อเหมาสวนตั้งแต่ยังไม่ราดสารเร่งให้ลำไยออกนอกฤดู โดยจ่ายเงินมัดจำให้ 20-30% การทำสัญญาจะกำหนดราคาซื้อเหมาสวน กำหนดวันราดสารเร่งและกำหนดระยะเวลาที่เก็บผลผลิตประมาณ 6 เดือน และห้ามขายลำไยให้พ่อค้ารายอื่น หากทำผิดสัญญาแต่ละล้งจะระบุค่าปรับไว้ เช่น การขายลำไยให้พ่อค้ารายอื่นจะถูกปรับ 5-6 เท่าของเงินมัดจำ หากคุณภาพลำไยไม่ได้มาตรฐานต้องปรับราคาเหมาลดลง ข้อดีของล้งจีนคือการให้เงินมัดจำล่วงหน้า 20-30% โดยไม่คิดดอกเบี้ย เพื่อนำมาบำรุงให้ผลผลิตมีคุณภาพ เพราะการปลูกลำไยนอกฤดูมีต้นทุนสูง" นายอรรธวุฒิกล่าว

ด้านเกษตรกรรายใหญ่ บ้านเขาชะอม อ.เขาสมิง จ.ตราด เปิดเผยว่า ประสบปัญหาล้งเช่นกัน ซึ่งตนทำสวนลำไยมา 10 กว่าปี มีผลผลิตปีละ 150 ตัน เดิมขายให้คนไทยที่รวบรวมไปให้ล้งจีนกิโลกรัมละ 35 บาท ล่าสุดเพิ่งเปลี่ยนมาขายให้ล้งจีนครั้งแรก เพราะผลผลิตออกในเดือนมกราคมน่าจะได้ราคาดีเพราะใกล้ตรุษจีน โดยตกลงราคาเหมาที่ 40 บาท/กก. วางเงินมัดจำไว้ 1 ล้านบาท ตอนเก็บจะเลือกเฉพาะลูกใหญ่เบอร์ 1 เบอร์ 2 โดยเก็บผลผลิตไปแค่วงเงินที่มัดจำไว้ประมาณ 30 ตัน ที่เหลือ 100 ตัน ไม่มาเก็บอีก ถ้ามาเก็บก็จะกดราคาเหลือ 20 บาท/กก. จึงต้องปล่อยลำไยร่วงหล่นเสียหาย ขาดรายได้ไปกว่า 2 ล้านบาท

เร่งยกร่างสัญญากลาง

นาย อาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร เกษตรจังหวัดจันทบุรี เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า อ.โป่งน้ำร้อนและสอยดาว จ.จันทบุรี เป็นแหล่งผลิตลำไยนอกฤดูแหล่งใหญ่ที่สุดของประเทศ ผลผลิตเฉลี่ยสูงถึง 2,043 กก./ไร่ สูงกว่าภาคเหนือถึง 2 เท่า ตลาดจีนเป็นตลาดสำคัญ ซื้อขายกันมา 10 กว่าปีไม่มีปัญหาแต่เพิ่งจะเกิดปัญหาเมื่อต้นปี 2559 นี้ที่ล้งจีนมาซื้อแล้วผิดสัญญาทิ้งลำไยในสวน หรือต่อรองราคาลงมา ทำให้ชาวสวนสูญเสียรายได้หลายล้านบาท ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรีได้เร่งหาทางช่วยเหลือจัดทำร่างสัญญากลาง ที่เป็นธรรมทั้งผู้ซื้อ-ผู้ขาย ตัดปัญหานายหน้า และให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านสำรวจข้อมูลเกษตรกรตัวจริง จัดทำรหัสไม่ให้ทำสัญญาซ้ำซ้อน

"เมื่อ 2-3 ปีก่อน ตลาดจีนขยายตัวอย่างรวดเร็ว ปีที่แล้วแข่งกันรับซื้อสูงถึง 50 บาท/กก. มีล้งจีนมาตั้งเพื่อรับซื้อในพื้นที่ อ.โป่งน้ำร้อนและสอยดาวเพิ่มขึ้นประมาณ 54 ล้ง โดยล้งจีนจะมีหุ้นส่วนกับคนไทย และส่งนายหน้าไปแย่งลูกค้ากัน ทำให้ราคาสูงถึง 40-45 บาท/กก. และทำสัญญา "ซื้อใบ" แทนการ "ซื้อดอก" กับเกษตรกรโดยตรง ซึ่งเมื่อต้นปีนี้ ล้งจีนแจ้งว่าตลาดตัน จึงทิ้งมัดจำ หรือเลือกเก็บเฉพาะเบอร์ใหญ่ กดราคาเบอร์เล็กและไม่รับซื้อ"

นายชำนาญ บัวเฟื่อง เกษตรอำเภอโป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี กล่าวว่า ล้งใน อ.โป่งน้ำร้อนและสอยดาวจำนวน 54 ล้ง แบ่งเป็นล้งจีน 29 ล้ง ล้งคนไทย 25 ล้ง นายหน้าคนหนึ่งอาจจะทำสัญญาซื้อขายกับล้งแทนเจ้าของสวนหลายสวน เมื่อล้งผิดสัญญา เกษตรกรเป็นผู้เสียเปรียบ สัญญาไม่สามารถใช้ฟ้องร้องอะไรได้ ซึ่งการร่างสัญญากลางนี้จะกำหนดมาตรฐานต่าง ๆ ให้ทุกล้งปฏิบัติเหมือนกัน และการทำสัญญาต้องเป็นเกษตรกรตัวจริงเท่านั้น ซึ่งในทางปฏิบัติเจ้าของสวนและล้งจะต้องตกลงร่วมกันเพื่อหาจุดกลางของความ ยุติธรรม

"ล้งจีนจะมีเงินทุนหนา ลงทุนซื้อได้จำนวนมาก ปีที่แล้วจะแย่งกันซื้อ บางรายซื้อสูงถึง 40-100 บาท/กก. โดยเฉพาะช่วงตรุษจีน ลำไยนอกฤดูที่จันทบุรีส่งออกทั้งหมด ทำรายได้ปีละ 5,800 ล้านบาท"

นายสมพล แสนคำ เกษตรจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่กำลังเร่งสำรวจพื้นที่ที่สามารถเก็บเกี่ยวผล ผลิตได้กว่า 2 แสนไร่ จากพื้นที่ปลูกทั้งหมด 3 แสนไร่ เพื่อไม่ให้เกษตรกรเสียเปรียบพ่อค้าจีน เนื่องจากปีนี้สถานการณ์ลำไยราคาดี รับซื้อหน้าสวน 45 บาท/กก. และยังมีการปลูกลำไยนอกฤดูอีก 9 หมื่นไร่ ปัจจุบันจำหน่ายให้ล้งจากจีน 70-80% และ 20% จำหน่ายตลาดในประเทศ ขณะนี้พ่อค้าจากจีนมีการคัดคุณภาพลำไยสูงขึ้น บางรายมีการทิ้งเงินมัดจำ โดยอ้างว่าลำไยคุณภาพต่ำลง ทำให้เกษตรกรต้องหาตลาดใหม่

ผู้ว่าฯจันท์เดดไลน์ 31 มี.ค.

นายสมศักดิ์ ปะริสุทโธ เหมทานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เปิดเผยว่า ปัญหาล้งลำไยเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขเร่งด่วน โดยได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาร่างสัญญากลาง ซึ่งอัยการจะดูเรื่องแบบฟอร์มตามข้อกฎหมาย เป็นสัญญาระหว่างล้งกับเกษตรกร โดยมีภาครัฐช่วยดูแล ถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดผิดสัญญาจะใช้สัญญานี้เป็นหลักในการฟ้องศาล และได้เร่งสำรวจจดทะเบียนล้งลำไยทั้งหมดทุกขนาดในจังหวัดจันทบุรี รวมทั้งเกษตรกรผู้ปลูกและผู้เช่าทำสวนลำไย เพื่อเป็นข้อมูลจัดทำแผนการตลาด การจัดทำมาตรฐานของลำไยให้เป็นแบบเดียวกัน เช่น ขนาดของลูกตามเบอร์/กิโลกรัม การกำหนดเปอร์เซ็นต์เก็บลำไยขาย และจัดตั้งศูนย์ตรวจสอบรหัสแปลงเพื่อตรวจเช็กนายหน้าทำสัญญาซ้ำซ้อน เพราะนายหน้าบางรายจะทำสัญญานำผลผลิตสวนเดียวกันไปขายหลายล้ง ซึ่งจะดำเนินการให้เสร็จภายในเดือนมีนาคมนี้ จากนั้นจังหวัดจะเชิญล้งและเกษตรกรมารับรู้ พร้อมนำไปปฏิบัติได้ในช่วงฤดูกาลต่อไป

กกร.แก้ลำไย-ทุเรียน-มังคุด

นางสาววิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายในกล่าวว่า ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2559 นี้ กรมการค้าภายในเตรียมเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) สำหรับการหามาตรการดูแลสินค้าควบคุม 3 รายการ ได้แก่ ลำไย-ทุเรียน-มังคุด ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญ โดยจะหารือถึงมาตรการที่จะเข้ามาดูแลภายใต้ พ.ร.บ.กำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด ซึ่งสามารถควบคุมในเรื่องของการขนย้าย ปริมาณ สถานที่จัดเก็บ อย่างไรก็ดี ก่อนที่จะมีมาตรการใดออกมา กรมการค้าภายในจะเชิญภาคเอกชนเข้ามาหารือถึงปัญหาและวิธีการในการแก้ไขในวัน ที่ 19 กุมภาพันธ์นี้ก่อน

สำหรับการประชุมกับภาคเอกชนนั้นจะหารือถึง รายละเอียดการประกอบการ การดำเนินธุรกิจ และการส่งออก เนื่องจากผู้ส่งออกไม่ได้มีการขึ้นทะเบียนไว้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพราะได้รับการยกเว้นสำหรับผู้ส่งออกผลไม้ แต่มีการขึ้นทะเบียนไว้กับกรมวิชาการเกษตร เพื่อทางกรมจะได้ทราบว่า ในระบบมีผู้ประกอบการเท่าไร ผู้ส่งออก และเกษตรกร เพื่อจะหามาตรการในการดูแลต่อไป

"เดิมสำหรับปัญหาของ ลำไย-ทุเรียน-มังคุด มีผู้ส่งออกเข้ามาทำพันธสัญญากับเกษตรกร จัดเป็นการซื้อสินค้าเกษตรล่วงหน้าก่อนที่ผลผลิตจะออก แต่เมื่อใกล้ถึงสัญญาซื้อขายกลับถูกปฏิเสธในการซื้อสินค้าก็ได้รับความเสีย หายจึงเกิดการฟ้องร้องกันขึ้น ขณะนี้กระทรวงยุติธรรมก็อยู่ระหว่างการดำเนินคดี และอยู่ระหว่างการยกร่างแก้ไขกฎหมายพันธสัญญาที่ไม่เป็นธรรมอยู่" อธิบดีกรมการค้าภายในกล่าว


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : ล้อมคอก"ล้งจีน"เบี้ยวซื้อลำไย ตีทะเบียน-ทำสัญญามาตรฐาน

view