สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ฝันร้ายของเกษตรกร เมื่อเขื่อนเจ้าพระยาใช้งานครบ 60 ปี

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ช่วยกันคิด โดย ฉลอง เกิดพิทักษ์

เขื่อนเจ้าพระยาออกแบบโดย หน่วยงานชลประทานของสหรัฐอเมริกา ภายใต้โครงการเงินกู้จากธนาคารโลก โดยตัวเขื่อนก่อสร้างแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2498 และระบบส่งน้ำก่อสร้างแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2504 สามารถส่งน้ำให้พื้นที่เพาะปลูกสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ จ.ชัยนาทลงไปจนจดชายฝั่งทะเลได้มากกว่า 7 ล้านไร่

โครงการชลประทานบนลุ่มน้ำเจ้าพระยา เริ่มวางโครงการครั้งแรกโดยชาวต่างประเทศในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งมีค่าก่อสร้างประมาณ 9 ล้านบาท แต่รัฐบาลในสมัยนั้นไม่มีเงิน จึงเริ่มวางโครงการบริเวณพื้นที่ราบลุ่มสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ชายฝั่งทะเลขึ้นไปจนถึง จ.พระนครศรีอยุธยาก่อน ต่อเมื่อมีงบประมาณค่าก่อสร้างจึงก่อสร้างจากพื้นที่ตอนบนลงมาบรรจบกับพื้นที่ตอนล่าง

การวางโครงการชลประทานบนพื้นที่ราบลุ่มตอนล่างสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาประกอบด้วยฝั่งตะวันออก ขุดคลองเชื่อมระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำนครนายก และแม่น้ำบางปะกง ได้แก่ คลองรังสิต คลองแสนแสบ และคลองพระโขนง เป็นต้น และได้ก่อสร้างเขื่อนพระราม 6 กับแม่น้ำป่าสักที่ อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา แล้วผันน้ำจากหน้าเขื่อนผ่านคลองระพีพัฒน์ (โดยมีความจุที่ปากคลอง 150 ลบ.ม.ต่อวินาที) คลองระพีพัฒน์แยกใต้ คลองหกวาสายล่างและทิ้งน้ำลงคลองแสนแสบ แล้วคลองแสนแสบระบายน้ำผ่านคลองพระองค์ไชยานุชิต ลงไปจนจดฝั่งทะเลที่คลองด่าน จ.สมุทรปราการ โดยพื้นที่ชายฝั่งทะเลมีคันป้องกันน้ำเค็มไม่ให้ไหลเข้ามาท่วมพื้นที่ด้านใน

ส่วน ฝั่งตะวันตก ขุดคลองเชื่อมระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำท่าจีนเป็นส่วนใหญ่ ประกอบด้วย คลองเจ้าเจ็ด-บางยี่หน ขุดคลองเชื่อมระหว่างแม่น้ำน้อยและแม่น้ำท่าจีน คลองพระยาบันลือ คลองพระพิมล และคลองภาษีเจริญ (เชื่อมระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยา-ท่าจีน) เป็นต้น และมีคลองเชื่อมระหว่างคลองทั้ง 4 ด้านเหนือ-ใต้

ในระยะแรกของการพัฒนา จะใช้คลองขุดที่เชื่อมระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำนครนายกและบางปะกง และแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำท่าจีน เพื่อการคมนาคมทางน้ำด้วย โดยมีประตูควบคุมน้ำพร้อมทั้งประตูเรือสัญจรที่ปากคลองทั้งสองด้านของจุดเชื่อม

ต่อมามีการกู้เงินจากธนาคารโลกมาก่อสร้าง"เขื่อนเจ้าพระยา"ที่ อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ณ จุดที่แม่น้ำโค้งงอโดยก่อสร้างเขื่อนบนช่องลัด ประกอบด้วย ประตูระบายบานโค้งกว้างบานละ 12.50 ม. จำนวน 16 บานรวมความกว้าง 200 ม. ซึ่งแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณนั้นกว้างประมาณ 250 ม. ธรณีประตูอยู่สูงจากท้องแม่น้ำประมาณ 4.00 ม. และมีประตูเรือสัญจรอยู่ทางฝั่งขวา (หันหน้าตามน้ำ) และมีทางระบายน้ำฉุกเฉินอยู่บนถนนเข้าสู่เขื่อนทางฝั่งซ้าย

ทางฝั่งซ้ายหรือฝั่งตะวันออก ขุดคลองส่งน้ำสายใหญ่ เริ่มต้นที่ อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท ผ่านช่องแค โคกกะเทียม และทิ้งน้ำลงแม่น้ำป่าสักเหนือเขื่อนพระราม 6 คลองยาวประมาณ 120 กม. โดยส่งน้ำสู่พื้นที่เพาะปลูกฝั่งขวาของคลองส่งน้ำเป็นหลัก

ส่วนฝั่งขวาหรือฝั่งตะวันตก ดัดแปลงแม่น้ำน้อยและแม่น้ำสุพรรณบุรี เป็นคลองส่งน้ำสายใหญ่ 2 สาย ความจุที่ปากคลองสายละ 260 ลบ.ม.ต่อวินาที สำหรับแม่น้ำน้อยมีประตูระบายน้ำ (ปตร.) ปากคลองที่บรมธาตุเหนือเขื่อนเจ้าพระยาขึ้นไปเล็กน้อย ส่วน ปตร.ปลายคลองอยู่ที่ อ.ผักไห่ และมีคลองส่งน้ำรับน้ำจากหน้า ปตร.ผักไห่ส่งไปยังคลองเจ้าเจ็ด-บางยี่หน เพื่อส่งน้ำรับน้ำให้พื้นที่เพาะปลูกบนฝั่งตะวันตกตอนล่าง ส่วนแม่น้ำสุพรรณบุรีมี ปตร.ปากคลองที่มะขามเฒ่า และ ปตร.ที่ อ.โพธิ์พระยา จ.สุพรรณบุรี และทิ้งน้ำลงแม่น้ำท่าจีน

สำหรับคลองส่งน้ำสายใหญ่ทั้ง 3 สาย เรือบรรทุกสินค้าสามารถผ่านได้ ส่วนพื้นที่ชลประทานฝั่งตะวันออกตอนล่าง ตั้งแต่ จ.พระนครศรีอยุธยา จดชายฝั่งทะเลจะรับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำนครนายก และบางปะกง กับแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีนบนฝั่งตะวันตก โดยเมื่อน้ำในแม่น้ำมีระดับสูง จึงเปิดประตูรับน้ำเข้ามา เมื่อระดับน้ำในแม่น้ำมีระดับต่ำกว่าด้านใน ก็ปิดประตูไม่ให้น้ำไหลออก แล้วเกษตรกรรับน้ำทั้งจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ และโดยการสูบจากคลองซอยเข้าแปลงนา

ต่อเมื่อก่อสร้างเขื่อนเจ้าพระยา จึงมีการผันน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยามาเพิ่มให้ ทั้งพื้นที่ชลประทานฝั่งตะวันออกตอนล่าง โดยผ่านคลองระพีพัฒน์ และพื้นที่ชลประทานฝั่งตะวันตกตอนล่าง โดยผ่านคลองผักไห่-เจ้าเจ็ด เป็นต้น

เนื่องจากพื้นที่ชลประทาน โดยเฉพาะฝั่งตะวันออกตอนล่าง สองฝั่งของคลองพระองค์ไชยานุชิตในเขต จ.ฉะเชิงเทรา และสมุทรปราการ เป็นดินเค็ม เมื่อก่อสร้างคันป้องกันน้ำเค็มจากทะเลไม่ให้ไหลเข้ามาท่วม และหลังจากระบบส่งน้ำเขื่อนเจ้าพระยาก่อสร้างแล้วเสร็จ จึงผันน้ำจืดเข้ามาเจือจางความเค็ม โดยเก็บกักน้ำจืดไว้บนแปลงนาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้วจึงระบายน้ำเค็มบนแปลงนาทิ้งทะเล ทำซ้ำ ๆ เช่นนี้หลาย ๆ ครั้งใน 1 ปี และดำเนินการอยู่หลายปีจนดินมีความเค็มน้อยลง และสามารถเพาะปลูกข้าวได้

จากลักษณะของพื้นที่เพาะปลูกในเขตชลประทาน ทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกตอนล่าง ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบลุ่มถึงแม้จะมีคันป้องกันน้ำท่วมทั้งสองด้านที่ติดกับแม่น้ำ แต่มักเกิดน้ำท่วมจากฝนที่ตกลงบนพื้นที่เป็นประจำ เกษตรกรที่มีนาบนที่ลุ่มจึงไม่เพาะปลูกข้าวฤดูฝน แต่จะเริ่มเพาะปลูกข้าวตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม หรือเมื่อระดับน้ำบนแปลงนาลดลงสู่ระดับน้ำมากพอจึงใช้น้ำที่เหลือบนแปลงนาเตรียมแปลงเพาะปลูกข้าว หลังจากปักดำหรือหว่านข้าวไปได้สักระยะหนึ่ง จึงจะขอใช้น้ำชลประทาน และหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวที่เพาะปลูกครั้งแรกแล้วเสร็จ จึงเพาะปลูกข้าวต่อเป็นครั้งที่สอง และเก็บเกี่ยวข้าวก่อนน้ำท่วม ฉะนั้น การเพาะปลูกข้าวครั้งแรกจึงใช้น้ำชลประทานน้อย

พ.ศ. 2522 เป็นปีแรกที่เกษตรกรในโครงการชลประทานเจ้าพระยาเพาะปลูกข้าวนาปรังเต็มพื้นที่ โดยพื้นที่ตอนล่างที่รับน้ำจากคลองพระองค์ไชยานุชิตเริ่มเพาะปลูกก่อน ซึ่งเริ่มประมาณเดือนพฤศจิกายน โดยใช้น้ำที่เหลือบนแปลงเพาะปลูกจากฤดูฝน เตรียมแปลงแล้วหว่านหรือปักดำ ส่วนพื้นที่ตอนบนเริ่มส่งน้ำให้เพาะปลูกฤดูแล้งในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ เนื่องจากความจุของคลองส่งน้ำตอนบนที่ส่งน้ำจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ ออกแบบเพื่อส่งน้ำสำหรับการเพาะปลูกข้าวฤดูฝน กรณีที่เกิดฝนทิ้งช่วง

เมื่อใช้ส่งน้ำให้การเพาะปลูกข้าวฤดูแล้ง จะส่งน้ำให้ได้ประมาณ 30-35% ของพื้นที่เพาะปลูกข้าวฤดูฝน ดังนั้น เมื่อพื้นที่ตอนบนเริ่มเพาะปลูกข้าวนาปรัง ก็ไม่สามารถส่งน้ำลงมาให้พื้นที่เพาะปลูกท้ายน้ำสองฝั่งของคลองพระองค์ไชยานุชิตได้ ทำให้พื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังเสียหายไปประมาณ 50,000 ไร่ จึงศึกษาถึงความจุสูงสุดของระบบส่งน้ำที่จะส่งน้ำมาให้พื้นที่เพาะปลูกในเขต จ.ฉะเชิงเทรา และสมุทรปราการ (สองฝั่งของคลองพระองค์ไชยานุชิต) ในการเพาะปลูกข้าวนาปรัง โดยเฉพาะส่งน้ำผ่านคลองระพีพัฒน์ คลองระพีพัฒน์แยกใต้ คลอง 13 และปริมาณน้ำสูงสุดที่คลอง 13 สามารถระบายลงคลองแสนแสบ (เมื่อพื้นที่ตอนบนเริ่มเพาะปลูกข้าวนาปรัง) ซึ่งในปี 2554 ได้ระบายน้ำอุทกภัยส่วนหนึ่งผ่านเส้นทางนี้

เนื่องจากข้อกำหนดในการใช้งานเขื่อนเจ้าพระยาข้อหนึ่งที่ใช้ในการออกแบบคือ ระดับน้ำเหนือและท้ายเขื่อนแตกต่างกันไม่เกิน 9.00 ม. (ซึ่งเน้นเฉพาะการเพาะปลูกข้าวฤดูฝน) และเนื่องจากในปี 2522 เป็นปีแรกที่เกษตรกรในโครงการชลประทานเจ้าพระยาเพาะปลูกข้าวนาปรังเต็มพื้นที่ (เต็มตามความสามารถที่คลองส่งน้ำจะส่งให้ได้) จึงมีความจำเป็นที่จะต้องยกระดับน้ำเหนือเขื่อนจาก 16.00 ม.รทก. เป็น 16.50 ม.รทก. ทำให้ต้องระบายน้ำลงท้ายน้ำให้ได้ระดับ 7.50 ม.รทก. ซึ่งต้องระบายน้ำทิ้งท้ายเขื่อนเกินความจำเป็นประมาณ 90 ลบ.ม.ต่อวินาที (ตัวเลขขณะนั้น) จึงมีการศึกษาเพื่อตรวจสอบความมั่นคงของเขื่อนเจ้าพระยา ว่าจะใช้งานที่ระดับน้ำเหนือ-น้ำท้ายน้ำต่างกันเกิน 9.00 ม.ได้หรือไม่

ผลการศึกษาปรากฏว่าใช้ได้ ด้วยเหตุผลที่ว่ามีตะกอนเม็ดละเอียดตกทับถมบนท้องแม่น้ำหน้าเขื่อน มีความหนาประมาณ 0.60 ม. (หลังจากใช้งานเขื่อนมาเป็นเวลา 24 ปี) ทำให้ลดแรงดันขึ้นของน้ำใต้ฐานเขื่อน (Uplift Pressure) เมื่อน้ำไหลลอดใต้เขื่อน เพราะมีการฝังท่อขนาดเล็กที่ใช้วัดแรงดันขึ้นของน้ำใต้ฐานเขื่อน (Piezometer) ไว้ที่หัวและท้ายตอม่อเขื่อนทุกตอม่อ

ประมาณ พ.ศ. 2520 ธนาคารโลกซึ่งให้กู้เงินมาก่อสร้างโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่บนลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แนะนำให้ว่าจ้างบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาจากต่างประเทศ มาศึกษาการใช้น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา-แม่กลอง (Chao Phraya-Maklong Basin Study)

ผลการศึกษาปรากฏว่าปริมาณน้ำที่สามารถเก็บกักได้ในอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ มีไม่เพียงพอสำหรับการเพาะปลูกฤดูแล้งในเขตโครงการชลประทานเจ้าพระยาได้เต็มพื้นที่ทุกปี เป็นผลให้โครงการชลประทานพิษณุโลกฝั่งซ้าย (หันหน้าตามน้ำ) (ระยะที่ 2) ในเขต จ.พิษณุโลก พิจิตร และนครสวรรค์ หลายแสนไร่ต้องหยุดการพัฒนา

การศึกษาดังกล่าวมีข้อเสนอแนะ ที่สำคัญข้อหนึ่ง คือ "ไม่ควรก่อสร้างอ่างซ้อนอ่าง แล้วเปิดพื้นที่ชลประทานท้ายอ่างเก็บน้ำด้านเหนือน้ำเพิ่ม ซึ่งจะเป็นการย้ายพื้นที่เพาะปลูกฤดูแล้งจากโครงการชลประทานเจ้าพระยาไปยัง พื้นที่ชลประทานท้ายอ่างด้านเหนือน้ำซึ่งต้องเสียค่าก่อสร้างเพิ่ม"

อย่างไรก็ดี ต่อมามีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัด พร้อมระบบชลประทานท้ายอ่างในเขต จ.เชียงใหม่ และอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวง พร้อมระบบชลประทานท้ายอ่างในเขต จ.ลำพูน ซึ่งอ่างเก็บน้ำทั้งสองอยู่เหนืออ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล

สำหรับลุ่มน้ำแม่กลอง อ่างเก็บน้ำก่อสร้างได้เร็วกว่าระบบชลประทาน ในระยะแรกที่ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแล้วเสร็จ แต่ระบบชลประทานยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ จึงทำให้มีน้ำเหลือ ถ้าสามารถผันน้ำมาใช้ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้เร็วเท่าใด ก็จะเกิดประโยชน์มากเท่านั้น จึงมีการผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองผ่านคลอง 1 ซ้าย และคลองท่าสาร-บางปลามาใช้บนพื้นที่ชลประทานฝั่งตะวันตกตอนล่าง

เพื่อ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาบริษัทที่ปรึกษาจึง ได้พัฒนาแบบจำลองสำหรับจัดสรรน้ำล่วงหน้ารายสัปดาห์เพื่อใช้จัดสรรน้ำอย่าง เป็นระบบลุ่มน้ำทั้งฤดูฝนและฤดูแล้ง และการจัดสรรน้ำล่วงหน้ารายสัปดาห์ด้วยแบบจำลองบนลุ่มน้ำเจ้าพระยา และได้หยุดการใช้งานเมื่อสิ้นสุดสัญญาจ้าง (ประมาณปี พ.ศ. 2525) เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สามารถดำเนินการต่อได้

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันกำลังดำเนินงานได้แก่ 1.ก่อสร้างเขื่อนผาจุก (เขื่อนผันน้ำ)บนแม่น้ำน่านท้ายอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ประมาณ 30 กม. ในเขต จ.อุตรดิตถ์ พร้อมระบบชลประทานอีกนับแสนไร่ ซึ่งจะทำให้ลดปริมาณน้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ที่ระบายลงมาใช้ในเขต โครงการชลประทานเจ้าพระยา 2.กำลังจะก่อสร้างระบบผันน้ำจากแม่น้ำปิงไปยังอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดและ เขื่อนแม่กวงพร้อมทั้งขยายระบบชลประทานท้ายอ่างเก็บน้ำทั้งสองเพิ่มซึ่งจะทำ ให้ลดปริมาณน้ำที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลซึ่งปัจจุบันมีปริมาณอ่าง ว่างโดยเกณฑ์เฉลี่ยปีละประมาณ 4,000 ล้านลบ.ม.

อนึ่ง สำหรับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในข้อ 1 และ 2 เป็นโครงการที่ไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ เพราะจะเป็นการย้ายการใช้น้ำเพื่อการเพาะปลูกฤดูแล้งในเขตโครงการชลประทาน เจ้าพระยาขึ้นไปใช้ในโครงการที่เปิดใหม่ทางด้านเหนือน้ำซึ่งต้องเสียค่าก่อ สร้างเพิ่ม

ถ้ารัฐบาลดำเนินการต่อ ก็จะเป็นฝันร้ายของเกษตรกรในโครงการชลประทานเจ้าพระยา หลังจากที่ได้ใช้เขื่อนเจ้าพระยาผันน้ำเข้าสู่พื้นที่เพาะปลูกมาครบ 60 ปีในปี 2558

ดังนั้น จึงเสนอแนะให้รัฐบาลดำเนินการโดยเร่งด่วน ประกอบด้วย 1.หยุดพัฒนาโครงการเขื่อนผาจุก และโครงการผันน้ำจากแม่น้ำปิงไปยังอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดและเขื่อนแม่กวงในเขต จ.เชียงใหม่และลำพูน เหนืออ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล เพราะเป็นโครงการที่ไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ และยังจะเพิ่มความขัดแย้งในการแย่งชิงน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาในอนาคตอีกด้วย และให้เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบลุ่มน้ำด้วยแบบจำลอง ทั้งโครงการที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว และโครงการที่จะพัฒนาขึ้นมาใหม่ ซึ่งแบบจำลองดังกล่าวได้เคยลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันจันทร์ที่ 27 กรกฎาคม 2558 หน้า 21

ถ้าไม่ดำเนินการตามข้อเสนอ ภัยพิบัติจากน้ำที่ไม่น่าเกิดก็อาจเกิดขึ้นได้ ดังเช่นเกิดน้ำท่วมบนพื้นที่รังสิต เขตดอนเมือง และเขตหลักสี่ในปี พ.ศ. 2554


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : ฝันร้ายของเกษตรกร เมื่อเขื่อนเจ้าพระยาใช้งานครบ 60 ปี

view