สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ทุบทิ้ง อาดังรีสอร์ท ที่อุทยานตะรุเตา! อีกความพ่ายแพ้ของ ทุนการเมือง

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

       “อาดังรีสอร์ทแอนด์สปา” สถานที่พักตากอากาศสุดหรูบนเกาะอาดัง ต.เกาะสาหร่าย อ.เมือง จ.สตูล มูลค่าเมื่อราวสิบปีที่แล้วกว่า 80 ล้านบาท แม้จะสร้างเสร็จตั้งแต่ปี 2552 แต่หลายต่อหลายปีที่ผ่านมากลับไม่สามารถเปิดบริการได้ ทั้งที่มีนักการเมืองใหญ่อยู่เบื้องหลัง เนื่องจากมีปัญหาฟ้องร้องกรณีก่อสร้างพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตามา อย่างต่อเนื่อง
        
       ณ เวลานี้ต้องถือว่าเรื่องราวความขัดแย้งได้ปิดฉากลงอย่างชนิดที่ต้องเรียกว่า “จบบริบูรณ์” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
        
       ด้วยศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 11 ก.พ.ที่ผ่านมา ให้อุทยานแห่งชาติตะตุเตาสามารถใช้อำนาจตามาตรา 22 ของ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 เข้ารื้อถอนอาดังรีสอร์ทได้แล้ว หลังจากต่อสู้คดีกันมานานกว่า 7 ปี โดยฝ่ายพ่ายแพ้คือ ผู้ฟ้องคดีในนาม บริษัท อาดังรีสอร์ท จำกัด กับผู้ร้องสอดคือ กรมธนารักษ์ ขณะที่ฝ่ายชนะคือ ผู้ถูกฟ้องคดีได้แก่ อุทยานแห่งชาติตะรุเตา ที่ 1 และหัวหน้าอุทยานแห่งชาติตะรุเตา ที่ 2

      จากการเปิดเผยของ นายณัฐพล รัตนพันธุ์ ผู้อำนวยการส่วนฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์ สำนักบริหารพื้นอนุรักษ์ที่ 5 จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นอดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติตะรุเตาว่า ศาลปกครองสูงสุดมีคำตัดสินไม่เห็นพ้องด้วยกับคำตัดสินของศาลปกครองสงขลา ซึ่งวินิจฉัยห้ามมิให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ใช้อำนาจบังคับทางปกครอง เข้ารื้อถอนทำลายสิ่งปลูกสร้างที่ผู้ฟ้องคดีได้ก่อสร้างไว้ในที่ราชพัสดุ แปลงหมายเลขทะเบียนที่ ส.ค.35 เพราะเห็นว่าเป็นการใช้มาตรการทางปกครอง
        
       นายณัฐพลกล่าวว่า ตนได้รายงานคำตัดสินให้นายธัญญา เนติธรรมกุล รก.อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุพืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เรียบร้อยแล้ว หลังจากนี้ตามขั้นตอนหัวหน้าอุทยานแห่งชาติตะรุเตาจะต้องนำป้ายประกาศตาม มาตรา 22 ไปติดที่รีสอร์ทดังกล่าว และสามารถเข้ารื้อถอนได้ทันที เพราะถือว่าคดีสิ้นสุดแล้ว
        
       สำหรับอาดังรีสอร์ทแอนด์สปาเป็นการลงทุนในนามบริษัท อาดังรีสอร์ท จำกัด โดยในปี 2550 ชนะการประมูลเช่าที่ดินราชพัสดุมาจากกรมธนารักษ์รวมพื้นที่ 5 ไร่ 11 ตารางวา แล้วมีการก่อสร้างอาคารที่พักและอื่นๆ ในปี 2551 แบบไม่ได้รับอนุญาตจากอุทยานแห่งชาติตะรุเตา ทั้งที่ที่ดินดังกล่าวตั้งอยู่ในเขตอุทยาน มีการถางพื้นที่ป่า ทำให้ตั้งแต่ปี 2551 เกิดการฟ้องร้องเข้ารื้อถอนทรัพย์สินรวม 37 รายการ อาทิ อาคารห้องพัก 25 หลังประมาณ 50 ห้อง อาคารสำนักงาน ร้านอาหาร เรือนพักคนงาน ห้องครัว อาคารสปา และอาคารโรงผลิตไฟฟ้าและอ่างเก็บน้ำ เป็นต้น
        

     แม้จนถึงวันนี้ก็ยังไม่เป็นที่กระจ่างชัด ว่า กลุ่มนายทุนที่เป็นเจ้าของรีสอร์ทหรูบนเกาะอาดังตัวจริงเสียงจริงเป็นใคร เพียงแต่ทราบจากข่าวที่ถูกนำเสนอมาต่อเนื่องว่า นางปริศนา อรุณเวชกุล เจ้าของธุรกิจท่องเที่ยวรายใหญ่ในพื้นที่ และเป็นถึงอดีตประธานหอการค้าจังหวัดสตูล ได้รับหน้าเสื่อเป็นผู้จัดการบริษัท อาดังรีสอร์ท จำกัด แถมมีเสียงกล่าวขานว่า “โกเส้ง” นับเป็นผู้มีบทบาทแท้จริงผู้หนึ่ง
        
       แต่เบื้องหลังที่ผู้คร่ำหวอดวงการท่องเที่ยวในทะเลฝั่ง อันดามันต่างทราบกันดีก็คือ นายทุนที่อยู่เบื้องหลังที่แท้จริงคือ นักการเมืองดังคนหนึ่งของพรรคชาติไทย 
        
       ทั้งนี้ คดีความระหว่างนายทุนเจ้าของอาดังรีสอร์ทกับอุทยานแห่งชาติตะรุเตา ซึ่งยืดยาวมาเกือบทศวรรษก่อนที่จะจบได้ด้วยคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดใน วันนี้ ต้องนับว่าเป็นอีกหนึ่งกรณีที่ทั้งอื้อฉาวและเป็นบทเรียนให้กับสังคมไทยได้ เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในด้านความขัดแย้งระหว่างนายทุนกับกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
        
       อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งในเรื่องของการแย้งชิงทรัพยากรอันยืดยาว ซึ่งสุดท้ายจบลงด้วยการตัดสินของศาลอย่างเป็นที่สิ้นสุดเยี่ยงนี้ กรณี “อาดังรีสอร์ทแอนด์สปา” จะสามารถเป็นต้นแบบให้กับความขัดแย้ง โดยเฉพาะที่กำลังเป็นคดีความระหว่างนายทุนกันชาวเลที่มีอยู่มากมายบนหลีเป๊ะ ซึ่งก็คือเกาะท่องเที่ยวชื่อก้องโลกที่ตั้งอยู่เคียงข้างเกาะอาดัง อันเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตาด้วยกันได้หรือไม่ ก็คงต้องจับตาดูกันต่อไป


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : ทุบทิ้ง อาดังรีสอร์ท ที่อุทยานตะรุเตา! อีกความพ่ายแพ้ของ ทุนการเมือง

view