สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปิด อ่างคลองหลวงฯ ชลบุรี ป้อนเกษตร-กันน้ำท่วมและเชิงพาณิชย์

จากประชาชาติธุรกิจ

กรมชลประทานพร้อมเปิดโครงการอ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทร อันเนื่องมาจากพระราชดำริ พัฒนาแหล่งน้ำต้นทุน การเกษตร พร้อมส่งเสริมพัฒนาอาชีพเพิ่มรายได้รอบอ่างเก็บน้ำ

เป็นที่ทราบกันดีว่าตลอดระยะเวลากว่า40 ปี กรมชลประทานมีแผนดำเนินการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำคลองหลวง จังหวัดชลบุรี โดยได้เริ่มดำเนินการเตรียมความพร้อมตั้งแต่ พ.ศ. 2508 แม้ว่าจะมีกรอบระยะเวลาที่ยาวนาน เนื่องจากต้องมีการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่ได้ดำเนินการก่อสร้างตามขั้นตอนเรื่อยมาจนแล้วเสร็จถึงปัจจุบัน

28 มกราคม 2559 ที่จะถึงนี้ กรมชลประทานได้ขอพระราชทานเชิญเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดโครงการอ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทรฯ อย่างเป็นทางการ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ซึ่งโครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนและเพิ่มพื้นที่ชลประทาน โดยเฉพาะเพื่อประโยชน์ในการเกษตรกรรม อุปโภคบริโภค อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว

ลักษณะของลุ่มน้ำคลองหลวงและที่ตั้งโครงการ ครอบคลุมพื้นที่ทั้งสิ้น 1,897 ตารางกิโลเมตร เป็นโครงการในแผนพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มน้ำคลองหลวง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในลุ่มน้ำบางปะกงตอนบนและสาขา สามารถกักเก็บน้ำได้ 98 ล้านลูกบาศก์เมตร และเพิ่มพื้นที่ชลประทานในฤดูฝนตามแนวคลองชลประทาน 44,000 ไร่ 2 อำเภอ คือ อำเภอเกาะจันทร์และอำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี

นายชยันต์ เมืองสง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ กรมชลประทาน กล่าวว่า ในช่วงปลายปีที่แล้วเก็บกักน้ำได้ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะช่วงเดือนตุลาคม มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ 103.80 ล้านลูกบาศก์เมตร กรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำและกักเก็บน้ำไว้ใช้ในการเกษตร ทำนา และประมง สำหรับพื้นที่นามีปริมาณน้ำเพียงพอทุกปี ไม่มีเเล้ง สามารถระบายน้ำออกได้ถึงวันละ 1-2 แสนลูกบาศก์เมตร แม้ที่ผ่านมาจะยังไม่ได้เปิดโครงการอย่างเป็นทางการ แต่ชาวนาที่นี่ก็สามารถทำนาได้ถึงปีละ 3 ครั้ง จึงไม่มีปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำ

อย่างไรก็ดี พื้นที่ 21,000 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ชุมชน ชาวบ้านอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก จึงต้องมีการเพิ่มกรอบระยะเวลาและขออนุมัติวงเงินเพิ่มเติม เช่น การจ่ายเงินชดเชยพิเศษให้ราษฎรในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ซึ่งงบประมาณโครงการจากเดิม 6,700 ล้านบาท เป็น 9,341.36 ล้านบาท และขยายระยะเวลาโครงการจากเดิม 7 ปี เพิ่มเป็น 10 ปี (พ.ศ. 2553-2562) เพราะมีแผนก่อสร้างถนนรอบอ่าง และเพื่อป้องกันลดผลกระทบด้านคุณภาพอากาศเนื่องจากการก่อสร้าง

กรมชลประทานจึงผลักดันส่งเสริมให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบมีการพัฒนาอาชีพและเสริมรายได้ในระยะหลังจึงมีการจัดทำแพปลา เป็นการส่งเสริมการทำประมงในพื้นที่ แต่ละวันจะมีเรือประมงจับปลาประมาณ 200 ลำ ที่มากที่สุดคือปลานิล ได้ปริมาณวันละ 10 กว่าตัน สามารถสร้างรายได้วันละ 350 บาทต่อคน

นางกันนิกา ทีปกากร ผู้นำชุมชน กล่าวว่า มีเกษตรกรหลายกลุ่มหันมาปลูกพืชอื่นเสริมจากการปลูกมันสำปะหลังและปลูกอ้อยซึ่งเป็นรายได้หลัก เนื่องจากพืชเหล่านี้ปลูกได้รวมปีละครั้งทั้งต้นทุนสูง จึงหันมาปลูกมะนาวแป้นพิจิตร รายได้ต่อเดือน 20,000 บาท มะนาวพันธุ์นี้ใช้น้ำค่อนข้างมากแต่รดน้ำวันเว้นวัน ใช้เวลาประมาณ 5 เดือนจะสามารถเก็บผลผลิตได้ส่งตามออร์เดอร์

"เรารอคอยโครงการนี้มานาน และหวังว่าจะได้ใช้น้ำจากกรมชลฯโดยเฉพาะการเพาะปลูก ในช่วงหน้าแล้งเรามีสระ บ่อน้ำในชุมชน สำหรับโครงการนี้เรายังไม่ได้ใช้ แต่หากมีลำรางของกรมชลฯผ่านรอบหมู่บ้านอยู่เเล้ว เราก็อยากใช้ตรงนี้ด้วย และฝากถึงภาครัฐในการส่งเสริมอาชีพสำหรับตลาดในการรับซื้อยังค่อนข้างมีน้อย อยากให้มาช่วยดูในเรื่องราคารับซื้อด้วย เพราะฤดูมะนาวเดือน เม.ย.จะแพงขึ้น ตอนนี้ลูกละ 4 บาท พอถึงหน้าแล้งออร์เดอร์จะเข้ามาที่เราเยอะมาก อาจจะถึงลูกละ 10-15 บาท ก็เป็นได้ ไม่ใช่เพียงแต่มะนาว พืชผักและผลิตภัณฑ์แปรรูปอื่น ๆ ด้วย"

นายสัญชัย เกตุวรชัย รองอธิบดีฝ่ายก่อสร้าง กรมชลประทาน กล่าวทิ้งท้ายว่า โครงการอ่างเก็บน้ำเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมมาก แม้ว่ายังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ก็ทำให้ราษฎรใช้น้ำมาได้ 2-3 ปีแล้ว เพราะเมื่อเกิดอุทกภัยหากไม่มีแหล่งกักน้ำก็จะสร้างความเสียหาย โดยเฉพาะในห้วงสามสี่ปีที่ผ่านมานิคมอมตะนครได้รับผลกระทบหนัก เราสามารถชะลอน้ำได้ถึง 70 ล้านลูกบาศก์เมตร

"บ้านเราเป็นเมืองเกษตรกรรม เราต้องส่งต่อน้ำเพื่อการเกษตรให้มากที่สุด เป้าหมายอนาคตต้องการส่งน้ำผันน้ำจากคลองหลวงให้ถึงอ่างบางพระได้เลย และพัฒนาไปสู่การท่องเที่ยวเชิงพาณิชย์ ทั้งเพื่ออุตสาหกรรมและการอุปโภคบริโภคต่อไป"


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : เปิด อ่างคลองหลวงฯ ชลบุรี ป้อนเกษตร-กันน้ำท่วมและเชิงพาณิชย์

view