สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ภัยแล้งพ่นพิษ นำเข้าปุ๋ยปีก่อนลด5แสนตัน-ผู้ค้าหนุนขุดโปแตช

จากประชาชาติธุรกิจ

ภัยแล้งทำพื้นที่ปลูกข้าวลดกว่า 10 ล้านไร่ ส่งผลกระทบยอดนำเข้าปุ๋ยเคมี ปี 2558 ลด 5 แสนกว่าตัน สมาคมการค้าผู้ผลิตปุ๋ยไทยหนุนโครงการอาเซียน โปแตช หวังให้ชาวนาใช้ปุ๋ยราคาถูกและเพิ่มผลผลิตข้าวหอมมะลิ หารือกรมวิชาการเกษตรตรวจสอบมาตรฐานปุ๋ยที่โกดังก่อนส่งให้ตัวแทนจำหน่ายใน ต่างจังหวัดแทนการตรวจสอบปลายทาง

นางวรารัตน์ วีรยวรางกูร นายกสมาคมการค้าผู้ผลิตปุ๋ยไทย เปิดเผยถึงสถานการณ์ปุ๋ยเคมีในไทยปีที่ผ่านมาว่า มีการนำเข้าประมาณ 5 ล้านตัน เทียบกับปี 2557 ที่มีการนำเข้า 5.59 ล้านตัน ความต้องการใช้ที่ลดลงมาจากพื้นที่ปลูกข้าวทั้งนาปี-นาปรังลดลงจาก 76.83 ล้านไร่ในปี 2557 เหลือ 65.53 ล้านไร่ จากปัญหาภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง ทำให้พื้นที่นาปรังลดลง และจากการที่ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ กำลังซื้อของเกษตรกรน้อยลง ส่งผลให้ความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีของเกษตรกรลดลงไปด้วย ประกอบกับนโยบายรัฐบาลในการนำโซนนิ่งการเกษตรเพื่อส่งเสริมให้เกษตรปลูกพืช ให้เหมาะสมกับดินและสภาพแวดล้อม อาจมีผลต่อการเลือกใช้สูตรปุ๋ยและปริมาณปุ๋ยเคมีที่เปลี่ยนไป

ส่วน ความต้องการใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อใช้ในการผลิตที่เติบโตตามกระแสความต้องการ บริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์นั้น จากการประมาณการเบื้องต้น คาดว่าความต้องการใช้ปุ๋ยอินทรีย์มีปีละประมาณ 5.8 แสนตัน ขณะที่การนำเข้าปุ๋ยอินทรีย์ใน 9 เดือนแรกปี 2558 เท่ากับ 1,964 ตัน มูลค่า 144 ล้านบาท และส่งออก 59,686 ตัน มูลค่า 386 ล้านบาท

นางวรารัตน์ กล่าวต่อว่า ไทยต้องนำเข้าปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศถึง 95% ส่งผลให้ราคาปุ๋ยต้องเป็นไปตามราคาที่นำเข้า ในขณะที่การจำหน่ายปุ๋ยเคมีในประเทศยังถูกควบคุมราคาโดยกรมการค้าภายใน ทางสมาคมจึงขอสนับสนุนให้มีการผลิตปุ๋ยโปแตชและปุ๋ยอื่น ๆในประเทศ โดยเฉพาะการผลิตปุ๋ยโปแตชของไทยตามโครงการอาเซียน โปแตชที่จะผลิตออกสู่ตลาดในปี 2560 ปริมาณ 1 ล้านตัน จะช่วยให้ราคาปุ๋ยลดลงประมาณตันละ 20 เหรียญสหรัฐ เพราะไม่ต้องเสียค่าระวางเรือนำเข้า ซึ่งการใช้ปุ๋ยโปแตชในนาข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ที่ผ่านมา สามารถเพิ่มผลผลิตข้าวหอมมะลิจากไร่ละ 600 กว่า กก.เป็น 1,050 กก./ไร่มาแล้ว เนื่องจากปุ๋ยชนิดนี้จะช่วยเพิ่มน้ำหนักเพิ่มความเต่งของข้าวเต็มเมล็ดได้ดี มาก หากมีการขุดขึ้นมาใช้จะช่วยชาวนาภาคอีสานได้มาก อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ รวมถึงจัดสรรผลประโยชน์ให้กับผู้มีส่วนได้เสียอย่างเหมาะสม

"เท่าที่ ทราบมาโครงการอาเซียน โปแตช ที่ อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ มีพื้นที่โครงการ 4,000-5,000 ไร่ ใช้พื้นที่จริงประมาณ 2,000 ไร่ ที่เหลือจะเป็นบัฟเฟอร์โซน ป้องกันความปลอดภัย จากการไปดูงานที่เยอรมนีที่ทำเหมืองโปแตช ก็เป็นไปด้วยดี ทั้งที่ขุดตามสายแร่ใต้ดินยาวถึง 4,000 กม."

ส่วนปัญหาของผู้ประกอบ การผลิตและจำหน่ายปุ๋ยเคมีในขณะนี้ ทางสมาคมร่วมกับกรมวิชาการเกษตรกำลังหารือกันเรื่อง การให้กรมวิชาการเกษตรมาตรวจสอบมาตรฐานปุ๋ยเคมีหน้าโกดัง ก่อนส่งให้ตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศแทนการตรวจสอบที่ปลายทางโดยสารวัตรเกษตร เพราะช่วงการส่งมอบปุ๋ยให้ตัวแทนจำหน่ายอาจมีการปลอมปนระหว่างการขนส่งได้

"ปุ๋ย เคมีที่มีธาตุอาหารหลัก N-P-K ทางกรมวิชาการเกษตร กำหนดเคร่งครัด ธาตุอาหารแต่ละชนิดจะต่ำกว่ามาตรฐาน 10% จากที่กำหนดไว้ไม่ได้ ปุ๋ยเคมีที่ไทยส่งออกก็เหมือนกัน ต้องทำตามมาตรฐานนี้ ในขณะนี้จีนคู่แข่งไทยไม่สนใจว่าผู้ส่งออกของตนจะทำตามมาตรฐานหรือไม่ ทำให้ไทยส่งออกปุ๋ยเคมีไปยังประเทศเพื่อนบ้านค่อนข้างสูง เฉพาะปีที่ผ่านมาส่งออกผ่านด่านศุลกากรไม่ต่ำกว่าปีละ 3.3 แสนตัน"


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : ภัยแล้งพ่นพิษ นำเข้าปุ๋ยปีก่อนลด5แสนตัน-ผู้ค้าหนุนขุดโปแตช

view