สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

โควตาซื้อยาง150โล/ราย 3พันจุดทั่วประเทศ-คสช.สกัดพ่อค้าสวมสิทธิ์

จากประชาชาติธุรกิจ

เปิดจุดรับซื้อยาง 3 พันแห่งทั่วประเทศดีเดย์ 25 ม.ค. สั่ง กยท.-อคส.-คสช. บูรณาการทำงาน จัดสรรโควตารับซื้อตรงจากเกษตรกรไม่เกินรายละ150 กก. สวนยางเหนือ-อีสานได้อานิสงส์ด้วย กระทุ้งรัฐจับตา "ไอ้โม่ง" สวมสิทธิ์ กยท.เดินหน้ารับซื้ออีก 2 แสนตัน

นายเชาว์ ทรงอาวุธ ปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ แต่งตั้งคณะกรรมการ กยท. โดยมี พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข เป็นประธานกรรมการ สัปดาห์หน้าบอร์ด กยท.จะประชุมนัดแรกเพื่อเร่งแก้ไขปัญหายางพาราราคาตกต่ำ และเร่งจ่ายเงินให้กับชาวสวนยาง ไร่ละ 1,500 บาท รายละไม่เกิน 15 ไร่ ตามโครงการสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง



ซื้อยางแผ่นดิบชาวสวนโดยตรง

ในส่วนการแก้ปัญหาราคายางตกต่ำ หลังที่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาราคายางพารา ที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานมีมติให้ กทย. องค์การคลังสินค้า (อคส.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) บูรณาการร่วมกันในการแก้ปัญหา โดยให้รับซื้อยางจากชาวสวนยางรวม 1 แสนตัน ราคา กก.ละ 45 บาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าราคาตลาดปัจจุบันที่ 36-38 บาท/กก. สำหรับยางแผ่นดิบ ล่าสุดได้ข้อสรุปแล้วว่า วงเงินรับซื้อยางจะมาจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน ดอกเบี้ย 0% ขั้นตอนต่อจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะหารือกันแบ่งบทบาทหน้าที่ดำเนินการ จากนั้นจะเดินหน้าโครงการทันที

แบ่งโควตาจิ๊บจ้อย 150 กก./ราย

โดยจะเริ่มรับซื้อยางแผ่นดิบชั้น 3 จากเกษตรกรโดยตรง ไม่รับซื้อผ่านสหกรณ์ หรือสถาบันเกษตรกร ตั้งแต่่ 25 ม.ค.นี้เป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากชาวสวนยางมีจำนวนมาก รัฐบาลจำเป็นต้องกระจายความช่วยเหลือให้ทั่วถึง ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำเป็นต้องแบ่งโควตารับซื้อ โดยจะซื้อยางแผ่นดิบชั้น 3 จากเกษตรกรไม่เกินรายละ 15 ไร่ คิดเป็นปริมาณยางแผ่นดิบไร่ละ 10 กก. รวมรับซื้อยางแผ่นดิบจากเกษตรกรไม่เกินรายละ 150 กก. คิดเป็นวงเงินรวมต่อรายไม่เกิน 6,750 บาท

ตั้งจุดรับซื้อ 3,000 แห่งทั่ว ปท.

นายสุรพล จารุพงศ์ โฆษกกระทรวงเกษตรฯ เปิดเผยหลังการหารือกับแกนนำชาวสวนยางภาคเหนือและภาคอีสาน ที่ยื่นข้อเรียกร้องให้รัฐช่วยเหลือพร้อมกับภาคใต้ เมื่อ 15 ม.ค. ที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมมีมติให้กระทรวงเกษตรฯร่วมกับ กทย.ตั้งจุดรับซื้อยาง 1 แสนตัน รวม 3,000 แห่ง แบ่งเป็นภาคใต้ 2,000 แห่ง ภาคเหนือกับอีสาน 1,000 แห่ง

นอกจากนี้ที่ประชุมได้หารือเเนวทางการเพิ่มปริมาณการใช้ประโยชน์จากยางพาราในประเทศรวม 8 กระทรวง คาดว่าน่าจะได้ข้อยุติภายในวันที่ 17 ม.ค.นี้

สวนยางเหนือ-อีสานโวย

นายวีระศักดิ์ สินธุวงศ์ ประชาสัมพันธ์สภาเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ได้เรียกร้องให้รัฐช่วยดูแลในส่วนของยางก้อนถ้วยในภาคเหนือและอีสานเพิ่มเติม เนื่องจากขณะนี้ราคาหน้าโรงงานยางก้อนถ้วย 100% แค่ 18.50 บาท/กก. เพราะพ่อค้าคนกลางไม่ยอมเพิ่มราคารับซื้อ ปรับให้เฉพาะน้ำยางสด

นายศิริชัย ห่านวิบูลย์พงศ์ ประธานคณะกรรมการเครือข่ายเกษตรกร สถาบันเกษตรกรด้านยางพาราครบวงจร จ.บึงกาฬ กล่าวว่า มาตรการรับซื้อยางจากเกษตรกรโดยตรงไม่ได้ช่วยเหลือชาวสวนยางภาคเหนือและอีสาน เนื่องจากกำหนดรับซื้อปลายเดือน ม.ค.เป็นต้นไป ซึ่งเป็นช่วงที่ภาคอีสานปิดกรีดยางพอดี ขณะที่ชาวสวนยางในภาคใต้ยังคงกรีดยางไปจนถึงเดือน มี.ค.จึงได้ประโยชน์ นอกจากนี้ การจัดสรรโควตารับซื้อยางครัวเรือนละ 150 กก. หรือ 6,000 บาท เป็นเพียงแค่มาตรการน้ำจิ้ม ไม่ช่วยแก้ไขปัญหาได้ และรู้สึกว่ารัฐบาลช่วยเหลือชาวสวนยาง 2 มาตรฐาน ภาคใต้ได้ประโยชน์ แต่ภาคอื่นไม่ได้อะไร

ขู่เปิดช่องพ่อค้าสวมสิทธิ์เจอดีแน่

นายสุพิต กุลวงศ์ ผู้ช่วยสมาคมชาวสวนยางภาคอีสานกล่าวว่า จากการประชุมได้รับชี้แจงว่าการรับซื้อยางพารา 1 แสนตันจะซื้อที่ภาคใต้ก่อน และจะเริ่มซื้อเรื่อย ๆ ในจังหวัดที่มีการกรีดยาง โดยภาคอีสานเริ่มกรีดยางอีกทีกลางเดือน พ.ค. นี้ โดยธรรมชาติของภาคอีสาน ส่วนใหญ่เป็นยางก้อนถ้วย ขายได้ในราคาต่ำกว่ายางแผ่นดิบ

ส่วนนายสวัสดิ์ ลาดปาละ นายกสมาคมเครือข่ายเกษตรสถาบันเกษตรกรยางพาราไทยภาคเหนือระบุว่า พอใจในมาตรการรับซื้อยางแผ่นดิบชั้น 3 ในราคากิโลกรัมละ 45 บาท แต่เป้าหมายในอนาคตต้องการให้ราคาสูงขึ้นไปถึง 60 บาท/กก. ให้ชาวสวนยางอยู่ได้อย่างยั่งยืน และช่วยให้เศรษฐกิจฐานรากฟื้น กำลังซื้อขยับ ช่วยให้เศรษฐกิจภูมิภาคขยายตัวได้ดีขึ้น ธุรกิจเกี่ยวเนื่องได้รับอานิสงส์เป็นลูกโซ่

ขณะนี้กำลังสำรวจอยู่ว่าพ่อค้าคนกลางมีการตุนยางแผ่นดิบชั้น 3 เพื่อเทขายให้รัฐหรือไม่ หากมีเกษตรกรตัวจริงจะไม่ได้อะไร และมาตรการดังกล่าวจะไม่สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้ อย่างไรก็ตาม กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางภาคเหนือเตรียมเคลื่อนไหวประท้วงแน่ หากเกิดเหตุการณ์ขึ้น

ดึง 8 ผู้ผลิตยางมะตอยรับซื้อ

ด้านความเคลื่อนไหวของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นายพิศักดิ์ จิตวิระยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) กล่าวว่า 15 ม.ค.ที่ผ่านมานายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม ได้เชิญผู้ผลิตยางมะตอยผสมยางพารา 8 บริษัท อาทิ บจ.ทิปโก้แอสฟัลท์, บจ.ไทยบิทูเมน, บจ.เรย์โคลแอสฟัลท์, บจ.โซล่าแอสฟัลท์, บจ.เอเชี่ยนแอสฟัลต์, บจ.เชลล์แห่งประเทศไทย มาหารือร่วมกับกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทถึงแนวทางการรับซื้อน้ำยางข้น จาก กยท. ซึ่งในปี 2559 มีความต้องการใช้น้ำยางข้นเป็นส่วนผสมสร้างถนน 2 หมื่นตัน วงเงินประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ทั้ง 8 บริษัทยินดีรับซื้อยางจาก กยท.ในราคาที่รัฐรับซื้อจากเกษตรกร 45 บาท/กก. โดย บจ.ทิปโก้ต้องการซื้อ 1 หมื่นตัน และพร้อมสนับสนุนงานวิจัยให้สามารถนำยางมาเป็นส่วนผสมสร้างถนนเพิ่มขึ้น 7-8% จากปัจจุบัน 5%

ทำบัญชีปลูกพืชเสริมแทนยาง

ส่วนแหล่งข่าวจากกระทรวงมหาดไทยเปิดเผยว่า หลัง ครม.มีมติอนุมัติช่วยเหลือราคายางตกต่ำ มหาดไทย โดยนายประทีป กรติเรขา รองปลัดกระทรวง ได้ทำหนังสือด่วนที่สุดถึงผู้ว่าราชการจังหวัด 69 จังหวัดที่ปลูกยางพารา ให้ทุกจังหวัดสนับสนุนการดำเนินโครงการตามมติ ครม.เมื่อ 8 ธ.ค. 2558 ซึ่งอนุมัติงบประมาณเพื่อดำเนินการโครงการสนับสนุนสินเชื่อเกษตรกรชาวสาวนยางรายย่อยเพื่อประกอบอาชีพเสริม วงเงิน 15,000 ล้านบาท โดยสนับสนุนสินเชื่อแก่เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราครัวเรือนละ 1 แสนบาท โดยมหาดไทยจัดทำข้อมูลพืชที่เหมาะสม พืชที่แนะนำ เช่น พืชแซมยาง อาทิ ข้าวไร่ ข้าวโพด พืชตระกูลถั่ว พืชร่วมยาง อาทิ มังคุด ลองกอง ขนุน จำปาดะ ระกำ ไม้ยืนต้น เช่น สะตอ เนียง เหมียง หวาย สมุนไพรและเครื่องเทศ ฯลฯ

คลังสั่งแบงก์รัฐหนุนเต็มที่

ก่อนหน้านี้ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ได้ประชุมร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมและธนาคารรัฐ เมื่อ 14 ม.ค. และเห็นชอบ 3 แนวทางแก้ปัญหาราคายางตกต่ำ 1.ให้ธนาคารรัฐ คือ ธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ย 0 % ให้ อคส. และ กยท. เข้าไปรับซื้อยางจากเกษตรกรโดยตรง 1 แสนตัน ซึ่งจะใช้วงเงิน 4,500-5,000 ล้านบาท โดยรัฐจะชดเชยดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส.และออมสิน เท่ากับต้นทุนเงินฝาก ณ ปัจจุบัน โดยเตรียมนำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.เพื่อของบประมาณชดเชยสัปดาห์หน้า

2.ให้ธนาคารรัฐทั้ง 4 แห่ง ทั้ง ออมสิน, ธ.ก.ส., ธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) และกรุงไทย ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับผู้ประกอบการที่รับซื้อยางจากหน่วยงานภาครัฐนำไปผลิตและแปรรูปสินค้าต่าง ๆ และ 3.คือให้ธนาคารพาณิชย์ 5 แห่ง อาทิ ธนาคารกรุงเทพ, กสิกรไทย,ไทยพาณิชย์, ทหารไทย, ธนชาต และกรุงไทย ร่วมปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรนช่วยเหลือผู้ประกอบการยางรับซื้อสต๊อกยาง โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยภายหลัง

ออมสินตุนเกินหมื่น ล.ปล่อยกู้ยาง

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารเตรียมสภาพคล่องรองรับการปล่อยสินเชื่อภาคเกษตรและภาคอื่น ๆ จากสภาพคล่องส่วนเกินที่มีเกิน 2 แสนล้านบาท โดยออมสินเข้าไปมีบทบาทปล่อยให้ อคส.และ กยท.ซื้อยาง 1 แสนตัน 4,500 ล้านบาท คนละครึ่งกับ ธ.ก.ส. แห่งละเฉลี่ย 2,250 ล้านบาท และปล่อยสินเชื่อผู้ประกอบการ ที่นำยางพาราไปผลิตต่อเป็นสินค้าแปรรูปต่าง ๆ จากหน่วยงานราชการ 15,000-20,000 ล้านบาท หากแบ่งเท่ากันทั้ง 4 ธนาคารก็เฉลี่ยธนาคารละ 5,000 ล้านบาท

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า จากการประเมินการเข้าไปชดเชยดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส.และออมสิน คำนวณต้นทุนดอกเบี้ยเงินฝาก 2% คาดว่ารัฐจะต้องชดเชยปีละ 80-100 ล้านบาท

เสี่ยปั้นแนะแก้พืชผลตกต่ำ

นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย ให้ความเห็นว่า ปัจจุบันราคาสินค้าเกษตรทั่วโลกตกต่ำ การทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) แรงงานข้ามชาติ ปัญหาการบิน รวมทั้งปัญหาราคายางตกต่ำก็เป็นเรื่องที่ผู้มีอำนาจต้องอ่านโจทย์นี้ให้ออก และต้องแก้ปัญหาระยะยาว หากยังใช้วิธีเดิม ๆ จะไม่มีเงินเหลือไปดูแลพืชผลอื่น ๆ

ปรับโครงสร้าง 4 สินค้าเกษตร

ส่วนนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมช.พาณิชย์ กล่าวภายหลังการประชุมร่วมกับผู้ส่งออกข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวที่มีนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อหารือแผนการผลิตและพัฒนาข้าวให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดว่า พาณิชย์เตรียมปรับโครงสร้าง 4 สินค้าเกษตร ได้แก่ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน ภายใน 3-5 ปี โดยใช้ตลาดเป็นตัวนำด้านการผลิต พร้อมเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรให้สูงขึ้น ผ่านการพัฒนาด้วยนวัตกรรมใหม่ การวิจัยผลิตภัณฑ์ป้อนเข้าสู่ตลาด และนำสินค้าเกษตรดังกล่าวมาทดแทนวัตถุดิบเดิม เชื่อว่าบางรายการสามารถเพิ่มมูลค่าจาก 10 บาทได้ถึง 10,000 บาท

เดินหน้ารับซื้อขายจีน 2 แสนตัน

ขณะเดียวกัน กยท.ยังเดินหน้ารับซื้อยางพาราอีก 2 แสนตัน ซึ่งทำสัญญาซื้อขายไว้กับบริษัทจีน โดยทยอยรับซื้อตามสถานการณ์และเป็นการรับซื้อปกติ อย่างไรก็ตาม การรับซื้อยางภายใต้โครงการนี้ไม่สามารถรับซื้อในราคาสูงกว่าตลาดได้ เพราะเป็นการซื้อเพื่อขายต่อให้กับต่างประเทศ ทำได้เพียงเป็นการรับซื้อชี้นำราคาตลาด เสริมกับมาตรการรับซื้อยางเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางที่รัฐบาลจัดทำขึ้น โดยจะซื้อเดือนละราว 1.6 หมื่นตันต่อเนื่องทั้งปี


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : โควตาซื้อยาง150โล/ราย 3พันจุดทั่วประเทศ-คสช.สกัดพ่อค้าสวมสิทธิ์

view