สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

NOW Choose news "โอปอล์" ยิ้มออก ลูกแฝดพ้นวิกฤตชีวิต เห็นสัจธรรมต่อรองกับความตายไม่ได้ แกลลอรี่/วีดีโอ ประชาชาติไลฟ์ นสพ.ฉบับล่าสุด เรื่องน่าฟัง! บล็อกเกอร์ดังเล่า จัดงานประดับไฟอย่างไรให้ได้เงิน บทเรียนจากญี่ปุ่น

จากประชาชาติธุรกิจ

โดย : เกตุวดี

หลังจากงานประดับไฟ LED ของ กทม. ณ ลานคนเมือง เพื่อต้อนรับเทศกาลปีใหม่ กลายเป็นประเด็นร้อนอย่างต่อเนื่อง เพราะมูลค่าการจัดงานสูงถึง 39 ล้านบาท และเป็นงานที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ทั้งยังมีเสียงวิพากษ์จากชาวเน็ตในทางลบ ล่าสุด เรื่องนี้ย้ายมาสู่ประเด็นการตรวจสอบทุจริตจากโครงการดังกล่าวแล้ว

เกตุวดี บล็อกเกอร์และนักเขียนดัง ผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมและวัฒนธรรมญี่ปุ่น ได้เขียนบทความเล่าเรื่องการจัดงานประดับใจในญี่ปุ่น เผยแพร่ผ่าน เว็บไซต์ www.marumura.com ชื่อบทความว่า "จัดงานประดับไฟอย่างไรให้ได้เงิน…บทเรียนจากงาน Luminarie เมืองโกเบ"

โดยบทความดังกล่าว เล่าถึงวิธีการหาเเงินของเมืองโกเบมาจัดงานประดับไฟโดยไม่จำเป็นต้องใช้ภาษีประชาชนจำนวนมาก และยังมีรายได้ ซึ่งเนื้อหาในบทความระบุดังนี้


 

ช่วงปลายปีที่ผ่านมา มีสถานที่ท่องเที่ยวใหม่สร้างความคึกคักให้ชาวกรุงเทพฯ นั่นก็คือ ลานประดับไฟหน้าศาลาการกรุงเทพมหานครนั่นเอง ใช้งบ 39 ล้านบาทพร้อมหลอดไฟคริสตัล 5 ล้านดวง จัดเป็นของขวัญปีใหม่ให้ชาวกรุงเทพฯ และส่งเสริมการท่องเที่ยวได้อย่างดีเยี่ยม (ข่าวเขียนว่างั้น…ลอกเขามาอีกที)

แม้ว่าดิฉันเองยังไม่มีโอกาสได้ไปดูไฟ แต่เห็นข่าวแล้วชวนนึกถึงเทศกาลการจัดไฟที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในญี่ปุ่น นั่นคือ งานประดับไฟ Luminarie ในเมืองโกเบ เผอิญ สมัยเป็นนักเรียน ดิฉันเรียนอยู่ที่เมืองนี้พอดี ก็มีโอกาสฝ่าฟันฝูงคนทนไปดูได้ทุกปี

การไปดู Luminarie จัดว่าเป็นการดูไฟที่ต้องใช้ความอดทนสูงมาก เพราะงานจัดช่วงเดือนธันวาคม อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 3-4 องศา คนดูต้องทนยืนท่ามกลางลมหนาวกว่า 1.5-2 ชั่วโมงเพราะคนมันแน่นมาก ใช้เวลานานกว่าจะเดินไปถึงสถานที่จัดงาน แต่แหม….งานมันโรแมนติคนิ่ ทำไงได้ ก็ต้องทนกันไป งานจัดแค่ปีละ 10 วันเท่านั้นเอง แต่ละปีก็เลยมีคนทั่วประเทศแห่กันมาดูกว่า 4 ล้านกว่าคน



งาน Luminarie จัดขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกแก่ผู้เสียชีวิตและเหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่ในปีค.ศ. 1995 โดยเมืองโกเบเริ่มจัดตั้งแต่ปี 1995 จนปัจจุบัน ก็เป็นปีที่ 21 แล้ว ตั้งแต่ดิฉันอยู่มหาลัยปี 1 ก็ได้ยินข่าวลือมาตลอดว่า ปีหน้า เมืองโกเบจะไม่จัดแล้ว เพราะไม่มีเงิน … แต่เรียนตั้งแต่ตรียันจบปริญญาเอก ดิฉันก็ยังคงเห็นงานนี้อยู่

จากเอกสารที่ทางเมืองประกาศ ค่าใช้จ่ายในการจัดงาน Luminarie ปีที่ผ่านๆ มาเฉลี่ยประมาณ 500 ล้านเยน (ประมาณ 170 ล้านบาท) แค่ค่าไฟก็ปาไป 3 ล้านกว่าเยนแล้ว งบประดับไฟกรุงเทพฯ 39 ล้านบาทบ้านเราที่เป็นข่าวฮือฮาอยู่นี่ ฟังดูเด็กๆ ไปเลย

ถามว่าเมืองโกเบเอาเงินจัดงานมาจากไหนเยอะแยะ แถมจัดได้ทุกปีด้วย ขืนเอาภาษีพลเมืองไปใช้ทุกปี ได้โดนประชาชนญี่ปุ่นด่าตายเลย

คำตอบ คือ ใช้ความพยายามบวกอำนาจการตลาด….สิคะ




เมืองโกเบ มีวิธีหารายได้แบบนี้ค่ะ

1. ทำของที่ระลึกจำหน่าย

ของที่ระลึกในงานมีตั้งแต่ที่คั่นหนังสือ พวงกุญแจ ปากกา สแตมป์ ปฏิทิน แฟ้ม คุ้กกี้ ช็อคโกแล็ต แถมทุกปี ลายของไฟประดับแตกต่างกัน สินค้าที่เหลือปีก่อนๆ ก็นำมาขายปีถัดๆ ไป เผื่อมีใครสนใจสะสมเป็นคอลเลคชั่น

Kobe Luminarie kobe luminarie จัดงานประดับไฟอย่างไรให้ได้เงิน...บทเรียนจากงาน Luminarie เมืองโกเบ 4

ขณะเดินในงาน เขาจะเปิดเพลงบรรเลงกุ๊งกิ๊งอบอุ่นไปกับแสงไฟ เป็นเพลงอารมณ์ Music box ฟังแล้วโรแมนติคมาก ใครฟังแล้วอินพี่ก็ขายแผ่นละ 1,500 เยน (500 บาท) ให้คนซื้อกลับไปเปิดอินดื่มด่ำกับไฟ LED ต้นคริสต์มาสปลอมที่บ้านต่อได้

Kobe Luminarie kobe luminarie จัดงานประดับไฟอย่างไรให้ได้เงิน...บทเรียนจากงาน Luminarie เมืองโกเบ 5

มีอะไรที่เกี่ยวกับ Luminarie พี่ญี่ปุ่นทำออกมาขายหมด ขายในงานไม่พอ เผื่อใครมางานไม่ได้ ก็สั่งซื้อ Online ได้ด้วย สะดวกมากๆ
อ้อ … อย่าห่วงว่า งี้ทางเมืองก็ต้องวุ่นวายกับการดีไซน์สินค้าต่างๆ สิ! ข้าราชการงานยุ่งอยู่แล้ว จะเอาเวลาที่ไหนไปจัดการเรื่องแบบนี้
ไม่ต้องห่วงจ้ะพี่ เขาขายลิขสิทธิ์ให้บริษัทเอกชนไป ให้บริษัทผู้ชำนาญเหมาไปทำ จบเรื่อง ปีนี้พี่ทำยอดจากการขายสิทธิ์ของที่ระลึกไปได้ 8 ล้านกว่าเยน ….



2. รับเงินบริจาค

หากเดินๆ ในงาน เราจะเห็นหนุ่มสาวสวมเสื้อโค้ทสีขาวหนาๆ ยืนถือกล่องรับบริจาค พร้อมสั่นกระดิ่งและตะโกนว่า “ขอความร่วมมือบริจาคด้วยครับ/ค่ะ” โดยเขียนแปะที่กล่องว่า “เหรียญ 100 เยนของท่านมีความหมาย” นัยว่าช่วยบริจาคมาหน่อยเถอะ อย่างน้อยคนละ 100 เยน (35 บาท)

ทางเมืองฉลาดมาก … กำหนดตัวเลขเป๊ะๆ ให้คนไปเลย และเป็นตัวเลขที่ไม่ต่ำไม่สูงเกินไป ใส่ไปเลยจ้ะเหรียญเดียวง่ายๆ 100 เยน (ศักดิ์ศรีประมาณแบงค์ 20 บาทบ้านเรา) ทำให้คนตัดสินใจง่ายขึ้น … เออ มาเดินดูไฟอลังการขนาดนี้ บริจาคให้หน่อยก็ได้

ปีนี้ทางเมืองได้เงินบริจาคในงานไป 48 ล้านเยน บวกกับเงินจากกล่องรับบริจาคที่วางตามร้านค้าต่างๆ อีก 4.6 ล้านเยน รวมๆ เงินบริจาคจากนักท่องเที่ยวและประชาชนได้อีก 52 ล้านเยน


3. ขอสปอนเซอร์

เงินจากการขายของที่ระลึกกับเงินบริจาคนั้นกว่าจะได้มาค่อนข้างยากลำบากทีเดียว แถมจำนวนเงินที่ได้ก็จิ๊บจ๊อย อย่างที่คุณผู้อ่านเห็น เงินของที่ระลึกบวกเงินบริจาค ได้มาแค่ 60 ล้านเยนเอง

รายได้หลักของงาน มาจากข้อ 3. นี่แหละค่ะ กล่าวคือ ขอสปอนเซอร์จากบริษัทต่างๆ

Kobe Luminarie kobe luminarie จัดงานประดับไฟอย่างไรให้ได้เงิน...บทเรียนจากงาน Luminarie เมืองโกเบ 6
ตัวอย่างรายชื่อสปอนเซอร์
สปอนเซอร์ใหญ่ คือ บริษัท JR West กับ Hankyu เป็นบริษัทการรถไฟทั้งคู่ ซึ่งก็วินวิน เพราะรถไฟช่วยโปรโมทงาน ส่วนใครที่อยากมางาน ก็ต้องนั่งรถไฟมาดู

เมืองโกเบแบ่งสปอนเซอร์เป็นหลาย tier เอาคร่าวๆ ก็ … สปอนเซอร์ที่บริจาคเงินเกิน 100,000 เยน มี 184 บริษัท ส่วนบริษัทที่บริจาคเงินต่ำกว่า 100,000 เยน มีอีก 394 บริษัท รวมแล้ว ทางเมืองได้รับเงินสนับสนุนจากเอกชนประมาณ 230 ล้านเยน

4. เก็บค่าเช่าพื้นที่

ไหนๆ จัดงานมาขนาดนี้ จะให้คนมาดูไฟอย่างเดียวแล้วกลับบ้านก็กระไรอยู่ ทางเมืองเขาก็ดีไซน์แผนผังงานว่า พอคนดูไฟเสร็จก็มีร้านค้า ร้านอาหาร ร้านขายของฝากดักอยู่ปลายทาง เผื่อใครมารอดูไฟจนเหงือกแห้ง จะได้หาน้ำท่าดื่มและหาอาหารเพิ่มพลัง

ปีนี้ทางเมืองเก็บค่าเช่าร้านได้ 56 ล้านเยน

5. ขายล็อตเตอรี่และขอเงินสนับสนุนจากจังหวัด

รวมๆ แล้ว ทางเมืองได้รายได้ประมาณ 400 ล้านเยน ตนเองแบกรับเพียงร้อยกว่าล้านเยนเท่านั้น โดยได้เงินสนับสนุนมาจากจังหวัดเฮียวโกะ (25 ล้านเยน) และเงินของทางเมืองเองอีก (114 ล้านเยน) ในจำนวนนี้ทางเมืองทำล็อตเตอรี่เวอร์ชั่น Luminarie ออกมาจำหน่ายโดยสร้างรายได้ไป 40 ล้านเยน

++++++++++++++++++++++

แม้จะจัดงานระดับเมือง แต่ทางเมืองก็ไม่กล้านำเงินที่มีมาจัดงานเทศกาลอยู่ดี เพราะเกรงประชาชนจะด่าว่าภาษีบำรุงท้องที่จ่ายไปให้บำรุงเมือง ไม่ใช่ให้มาบำเรอนักท่องเที่ยวด้วยแสงสีเสียง เห็นคนญี่ปุ่นสุภาพๆ แบบนี้ แต่เวลาเขาเคลมเขาก็เขียนจดหมายร้องเรียนกันเอาเรื่องอย่างดุเดือดค่ะ

เพื่อหลีกเลี่ยงคำด่าทอทางเมืองโกเบก็เลยจัดงานดีๆโดยพยายามหารายได้มาจุนเจือและใช้เงินภาษีประชาชนให้น้อยที่สุดด้วย5 วิธีข้างต้นเช่นนี้เอย


เรื่องและภาพโดย : เกตุวดี www.marumura.com


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : NOW Choose news "โอปอล์" ยิ้มออก ลูกแฝดพ้นวิกฤตชีวิต เห็นสัจธรรมต่อรองกับความตายไม่ได้ แกลลอรี่/วีดีโอ ประชาชาติไลฟ์ นสพ.ฉบับล่าสุด เรื่องน่าฟัง! บล็อกเกอร์ดังเล่า จัดงานประดับไฟอย่างไรให้ได้เงิน บทเรียนจากญี่ปุ่น

view