สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

นักวิชาการจี้ปฏิรูปยุทธศาสตร์น้ำ ภัยแล้งรุนแรงขึ้นทุกปี-จีดีพีภาคเกษตรทรุดหนัก

จากประชาชาติธุรกิจ

นักวิชาการชี้ภัยแล้งในอนาคตจะรุนแรงขึ้น รัฐต้องเร่งปรับยุทธศาสตร์และการบริหารการจัดการน้ำใหม่ เขื่อนใหญ่สร้างลำบาก ต้องสร้างอ่างหลายจุดลดความเสี่ยงแทน สศก.เผยภัยแล้งพ่นพิษจีดีพีภาคเกษตรปี′58 หดตัว 4.2% คาดแนวโน้มปี′59 ฟื้นตัวขยาย 2.5-3%

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) จัดอภิปรายเรื่อง "โลกร้อน น้ำแล้ง เกษตรกรจะรับการเปลี่ยนแปลงอย่างไร" ขึ้น ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น โดย ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการและคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า วิกฤตภัยแล้งถือเป็นโอกาส เพราะไทยต้องประสบปัญหานี้ในวันข้างหน้าอีกมาก ทุกฝ่ายรวมทั้งเกษตรกรต้องปรับตัว รัฐต้องปฏิรูปและปรับยุทธศาสตร์ ต้องวางแผนเชิงนโยบายจากภาวะโลกร้อน ยุทธศาสตร์และการบริหารการจัดการจะเป็นเรื่องใหญ่ ไทยมีจุดแข็งด้านเกษตรกรรม แต่ก็มีหลายจุดที่อ่อนแอเกินกว่าจะเป็น

วันนี้ลูกหลานเกษตรกรไม่อยากทำงานเกษตร ดังนั้น โครงสร้างภาคเกษตร ต้องมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนทั้งเกษตรอินทรีย์ เกษตรแปลงใหญ่ ภัยจากโลกร้อนเกิดมาตลอด แต่จะรุนแรงขึ้นจากก๊าซเรือนกระจกที่มากขึ้น ซึ่งจะกระทบภาคอุตสาหกรรม การย้ายถิ่นฐาน ผลกระทบต่อเกษตรกร ปริมาณน้ำฝนสถิติฝนตกลดลง 0.4% จึงต้องพึ่งตนเองและการจัดการชลประทานให้ดี อิสราเอลฝนน้อย ทำเกษตรไม่ดี จึงมีการลงทุนการจัดการน้ำ ดังนั้น ปริมาณน้ำต้นทุนไม่เพียงพอต่อการใช้ หากจัดการดี ๆ ทำไมจะเพิ่มไม่ได้ แต่อย่าแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแล้วส่งผลกระทบระยะยาว การสร้างเขื่อนใหญ่ จะทำลายป่าไม้ ไม่ควรทำ เพราะไม่มีป่า น้ำก็จะไม่มี ด้านอุปสงค์ เป็นโอกาสที่จะไม่ใช้น้ำสิ้นเปลือง การเก็บค่าน้ำภาคเกษตรแต่ไม่กระทบเกษตรกรรายย่อย จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ต้องใช้หลักคิดทางเศรษฐศาสตร์ แล้วจะมีน้ำเหลือใช้

อย่างไรก็ตาม การขาดแคลนแรงงานภาคเกษตร หากลูกจ้างต่างด้าวทยอยกลับประเทศ เกษตรกรก็ต้องใช้เครื่องจักรและนวัตกรรมมากขึ้น แต่เกษตรกรจะทำไม่ได้ หากเข้าไม่ถึงแหล่งทุน ฉะนั้นวิกฤตมาแน่ แต่ต้องอยู่กับมันให้ได้

รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ในอีก 100 ปีข้างหน้า ภาวะภัยแล้งจะมีมากกว่าภาวะน้ำท่วม ปี 2559 ฝนยังมาล่าช้าอยู่ ถ้าจะปลูกข้าวในเดือน พ.ค. 2559 จะยังมีความเสี่ยง ฝนจะตกดีในปี 2560 ดังนั้นหากน้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ณ วันที่ 1 พ.ค. 2559 เหลือปริมาณน้ำใช้การได้ 1,200 ล้าน ลบ.ม. หากชาวนาแห่ปลูกเหมือนปี 2558 มีปัญหาแน่ และกลางปี 2559น้ำจะเหลือ 300 ล้าน ลบ.ม. ฉะนั้นทุกฝ่ายต้องบริหารจัดการให้ดีแต่เนิ่น ๆ

การทำนาปรัง 1 ไร่ต้องใช้น้ำ 1,600 ลบ.ม. ในขณะที่หลายปีที่ผ่านมาปริมาณน้ำต้นทุนใช้การได้อยู่ระดับ 5,000 ล้าน ลบ.ม./ปีใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา จึงหนีไม่พ้นการทำนวัตกรรม เช่น การทำนาเปียกสลับแห้งที่ใช้น้ำน้อย การทำเศรษฐกิจพอเพียง เพราะอนาคตข้างหน้า ฝนไม่ตกตามที่ต้องการ เขื่อนใหญ่จะสร้างลำบาก ต้องกระจายความเสี่ยง ทำหลายจุดแทนแล้วต่อเชื่อมอ่างแทน

ทางด้านนายสุรพงษ์ เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงผลวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2558 พบว่าหดตัวร้อยละ 4.2 เมื่อเทียบกับปี 2557 โดยสาขาพืช สาขาประมง และสาขาบริการทางการเกษตร หดตัวลง ขณะที่สาขาปศุสัตว์ และสาขาป่าไม้ ขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ ทั้งปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2557 ต่อเนื่องมาจนถึงเดือนเมษายน 2558 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการผลิตพืชไร่ และข้าวนาปรังในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา และลุ่มน้ำแม่กลองซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกพืชที่สำคัญของประเทศ ประกอบกับในเดือนพฤษภาคม 2558 ซึ่งเป็นช่วงต้นฤดูเพาะปลูก หลายพื้นที่ของประเทศยังคงประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ขอความร่วมมือเลื่อนการเพาะปลูกข้าวนาปีออกไปในช่วงเดือนกรกฎาคม 2558 ในส่วนของการทำประมงหดตัว เป็นผลมาจากการยกเลิกสัมปทานประมงในน่านน้ำของประเทศอินโดนีเซีย และการปฏิบัติตามกฎหมายประมงฉบับใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาการทำประมงให้ถูกต้องและยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม การดำเนินนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ เช่น การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจภาคเกษตร การส่งเสริมการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ การลดต้นทุนการผลิต ทำให้การผลิตสินค้าเกษตรมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในส่วนของการผลิตสินค้าปศุสัตว์มีระบบการผลิตที่ได้มาตรฐาน รวมถึงการเฝ้าระวังและควบคุมโรคระบาดอย่างต่อเนื่อง เป็นปัจจัยบวกส่งผลให้ผลผลิตปศุสัตว์ที่สำคัญเพิ่มขึ้น ส่วนปัญหาโรคตายด่วนในกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงคลี่คลายลง ทำให้มีปริมาณผลผลิตกุ้งออกสู่ตลาดมากขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันที่ลดลง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตทางการเกษตรลดลงไปด้วย

ทั้งนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรปี 2559 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.5-3.5 ซึ่งปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้ภาคเกษตรกลับมาขยายตัวได้ในปี 2559 เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัว มีการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนภาคเกษตรมากขึ้น เช่น โครงการ motor pool การปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตร และสถานการณ์ดินฟ้าอากาศที่จะไม่รุนแรงไปกว่าปีนี้ อีกทั้งคาดว่าราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ต้นทุนการผลิตไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก และค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง รวมทั้งการกำหนดนโยบายด้านการเกษตรต่าง ๆ ของรัฐบาล ได้แก่ ระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ เกษตรอินทรีย์ การแก้ปัญหา IUU เขตเศรษฐกิจพิเศษ การพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ (National Single Window : NSW) การพัฒนาแหล่งน้ำและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง การจัดสรรที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกร การส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจชุมชน การดำเนินงานของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร การพัฒนาสหกรณ์ การกำหนดมาตรฐานบัญชีสหกรณ์ และเขตเศรษฐกิจ (Zoning)


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : นักวิชาการจี้ปฏิรูปยุทธศาสตร์น้ำ ภัยแล้งรุนแรงขึ้นทุกปี-จีดีพีภาคเกษตรทรุดหนัก

view