สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

นักวิชาการ-เอกชนหนุนพืชจีเอ็มโอ เจษฎา บ่นเสียดาย พ.ร.บ.ถูกยกเลิก

จากประชาชาติธุรกิจ

"อ.เจษฎา" หนุนไทยปลูกพืชจีเอ็มโอ ชี้มีผลเสียต่อร่างกายแค่ความเชื่อผิดๆ เหลือเพียง 3-4 ประเทศยังต่อต้าน อ้างองค์การอนามัยโลกมีข้อสรุปยืนยันปลอดภัย ทั่วโลกแห่ปลูกเป็นพืชพาณิชย์ ยกสารพัดข้อดี "พรศิลป์"เผยที่ดินปลูกพืชน้อยลง สุดท้ายต้องนำเข้าพืชจีเอ็มโออยู่ดี

เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม ที่โรงแรมสวิสโซเทล เลอ คองคอร์ด สมาคมเมล็ดพันธุ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย และสมาคมเกษตรปลอดภัย มั่นคง ยั่งยืนแห่งชาติ จัดงานอภิปรายเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) พืชเทคโนชีวภาพ หรือจีเอ็มโอ หัวข้อ "สถานการณ์ล่าสุดเกี่ยวกับพืชเทคโนชีวภาพ"

นายเจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เมื่อ 20-30 ปีที่ผ่านมา ได้รับข้อมูลแต่ว่าการตัดต่อหรือเปลี่ยนพันธุกรรม พืช สัตว์ หรือจีเอ็มโอ เป็นเรื่องชั่วร้าย ทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกาย ซึ่งไม่เป็นความจริงเลย เพราะปัจจุบันเหลือเพียง 3-4 ประเทศในโลกเท่านั้นที่ไม่ได้มีการปลูกพืชจีเอ็มโอภายในประเทศ แม้แต่องค์การอนามัยโลก องค์กรอาหารโลก และสถาบันอื่นๆ ต่างมีข้อสรุปตรงกันว่าอาหารหรือพืชที่มาจากจีเอ็มโอปลอดภัยเทียบเท่ากับต้นแบบ ซึ่งในหลายประเทศต่างพากันปลูกพืชจีเอ็มโอเพื่อผลิตและส่งออกแล้วเป็นจำนวนมาก

นายเจษฎากล่าวว่า ประโยชน์ของจีเอ็มโอยังมีมาก โดยเฉพาะทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น และคุณภาพชีวิตหรือเกษตรกรดีขึ้น โดยพืชที่ถูกดัดแปลงหรือจีเอ็มโอ เช่น ข้าวโพด ถั่วเหลือง ฝ้าย อื่นๆ อาจจะได้รับการดัดแปลงให้ป้องกันแมลงได้ เกษตรกรไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลง รวมทั้งลดใช้แรงงานคนในการกำจัดวัชพืชหรือแมลงด้วย ซึ่งจะตามมาด้วยกำไรสูงขึ้น และทั้งหมดนี้สามารถทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น ดินไม่เสีย และเกษตรกรไม่ต้องเจอกับพิษของยาสารเคมีต่างๆ ดังนั้นเทคโนโลยีเข้ามาช่วยได้จริง

นายเจษฎากล่าวว่า การยกเลิก พ.ร.บ.ดังกล่าวถือเป็นเรื่องน่าเสียดาย เนื่องจาก พ.ร.บ.ดังกล่าวจะช่วยควบคุมการวิจัยและพัฒนาพืชจีเอ็มโอได้ ทั้งนี้จากข้อมูลจะพบว่ามีชาวนากว่า 18 ล้านคนใน 28 ประเทศที่ปลูกพืชจีเอ็มโอกว่า 449 ล้านไร่ ในปี 2557 พร้อมทั้งยังส่งออกพืชดังกล่าวได้ โดยสหรัฐอเมริกาถือเป็นอันดับ 1 ตามมาด้วยบราซิลและอาร์เจนติน่า ส่วนจีนและอินโดนีเซียอยู่ในช่วงพัฒนาการปลูกพืชจีเอ็มโอมากขึ้น แม้แต่พม่าก็เริ่มปลูกมา 5 ปีแล้ว

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานหอการค้าไทย กล่าวว่า จากการศึกษายุทธศาสตร์อาหารสัตว์ไทย ใน 20 ปีข้างหน้า หรือปี 2575 พบว่าความต้องการพืชที่ใช้ในวัตถุดิบโดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จะเพิ่มขึ้น 1.91 เท่า ซึ่งจะมีความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็น 7.72 ล้านตัน ขณะที่พื้นที่การผลิตจะลดลงเหลือ 0.74 เท่า รวมทั้งมีพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมต่อการปลูกอีก 55% หากไทยไม่เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตต่อไร่ได้ การนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านจึงเป็นทางออกซึ่งล้วนเป็นพืชจีเอ็มโอทั้งสิ้น ทั้งจากเวียดนาม ฟิลิปปินส์ต่างอนุญาตให้ทดลองและปลูกเพื่อพาณิชย์แล้ว ดังนั้นทางเลือกเชิงนโยบายของรัฐบาลถือเป็นเรื่องสำคัญ

 

 

 

 

ที่มา : นสพ.มติชน


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : นักวิชาการ-เอกชนหนุนพืชจีเอ็มโอ เจษฎา บ่นเสียดาย พ.ร.บ.ถูกยกเลิก

view