สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

2 ยุทธศาสตร์พืชเกษตร ฤๅไทยกำลังเดินหลงทาง

จากประชาชาติธุรกิจ

หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ต่างช็อกไปตาม ๆ กัน เมื่อคณะรัฐมนตรีได้ผ่านความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ. ... ไปอย่างกะทันหันเมื่อวันที่ 24 พ.ย.ที่ผ่านมา สัปดาห์ที่ผ่านมา นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ จึงได้เชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นองค์กรภาคเอกชนหรือเอ็นจีโอ ชมรมเกษตรอินทรีย์แห่งประเทศไทย สมาคมการค้าพืชไร่และผักผลไม้ มาร่วมปรึกษาหารือ วิเคราะห์ในประเด็นที่จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรให้เกิดความกระจ่างชัด ก่อนให้ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติรวบรวมจุดยืนและยื่นข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาโดยเร็ว

โดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีความเห็นร่วมกันว่า ควรยับยั้งร่างกฎหมายฉบับนี้ไว้ก่อนด้วย 9 เหตุผล คือ 1.ไม่ยึดหลักความปลอดภัยไว้ก่อน 2.ไม่มีการคุ้มครองผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคม 3.มุ่งเปิดเสรีจีเอ็มโอหรือการตัดแต่งทางพันธุกรรมพืชและสัตว์ 4.ไม่ต้องประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม 5.ไม่ประเมินผลกระทบต่อสุขภาพของจีเอ็มโอที่ปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม 6.ไม่กำหนดผู้รับผิดชอบความเสียหายของจีเอ็มโอที่ปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม 7.ไม่คุ้มครองเกษตรกรที่ผลผลิตถูกปนเปื้อน 8.ขาดการมีส่วนร่วมของผู้ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง 9.การไม่ระบุหลักประกันทางการเงินเมื่อเกิดผลเสียหาย

ทั้งนี้ นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า จะเสนอให้รัฐบาลชะลอร่างกฎหมายฉบับนี้แล้วนำกลับมาทบทวนใหม่ ให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมพิจารณาอย่างละเอียด เพราะห่วงว่าจะควบคุมการดำเนินการในภาคสนามไม่ได้ เมื่อปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมจะเสียหายหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้ทักท้วงในเรื่องนี้ไว้ ทั้งนี้ กลุ่มเกษตรกรจะรวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอความเห็นต่อรัฐบาล



นายปริญญา พรศิริชัยวัฒนา ประธานชมรมเกษตรอินทรีย์แห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่า ในขณะที่รัฐผลักดันเกษตรอินทรีย์ให้ยั่งยืน แต่การอนุมัติร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพของ ครม. กลับเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งในการพัฒนาประเทศ ในการให้ผลผลิตที่ดีไม่มีความเป็นไปได้เลย การปนเปื้อนจะไม่สามารถแก้ไขได้อีก ไม่เป็นที่น่าเชื่อถือในตลาดโลกอีกนาน

ขณะที่ นายปรีชา จงประสิทธิพร ผู้จัดการฝ่ายวัตถุดิบ บริษัท ผลิตข้าวโพดหวานส่งออก จำกัด จ.กาญจนบุรี กล่าวว่า โพซิชั่นของประเทศไทย คือ ครัวของโลก ลูกค้าซื้อข้าวโพดหวานของไทย คือ ยุโรป และญี่ปุ่น เนื่องจากผลิตได้เพียง 4-5 เดือน แต่ไทยผลิตได้ตลอด 365 วัน มูลค่า

การส่งออกข้าวโพดหวานของไทยตกปีละ 1 หมื่นล้านบาท เมื่อกฎหมายนี้ออกมาจะเอื้ออำนวย ผู้ทำไม่ต้องรับผิด ไม่ต้องชดเชยความเสียหาย เกสรปลิวไปตกที่ใดก็มีปัญหาแล้ว ยุโรปต้องการพืชจีเอ็มโอน้อยมาก บางประเทศแบนไม่ให้เข้า ดูตัวอย่างจากมะละกอจีเอ็มโอ ไทยยังคุมไม่ได้ เยอรมนีมีการตรวจสอบทุกครึ่งปี และของไทยถูกตีกลับทั้งลอตมาแล้ว ข้าวโพดหวานที่เกษตรกรไทยปลูกตั้งแต่กาญจนบุรีไปจนถึงเชียงใหม่ เชียงราย มีเกษตรกรปลูกกว่า 5 หมื่นครอบครัว หากมีการปนเปื้อนมาก ผู้ที่จะได้รับผลกระทบคือเกษตรกรรายย่อยเหล่านี้จะเห็นได้ว่ารัฐบาลไทยกำลัง หลงทางที่จะใช้ทั้ง 2 ยุทธศาสตร์ ทั้งการหนุนยุทธศาสตร์จีเอ็มโอ และยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์ไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งรู้อยู่แก่ใจว่าหนีไม่พ้นการปนเปื้อนตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เหมือนกับหลายประเทศที่หนุนยุทธศาสตร์จีเอ็มโอแล้วแก้ไม่ตก ท้ายที่สุดประเทศไทยจะขาดความเชื่อถือจากกลุ่มประเทศยุโรป ญี่ปุ่น ที่ซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์ เพราะกลัวปนเปื้อน ผู้ที่จะเดือดร้อนคือกลุ่มเกษตรกรรายย่อยของไทยจำนวนมหาศาลที่ผลิตสินค้าพรี เมี่ยมขายตลาดเหล่านี้ต้องเลิกราอาชีพและไทยต้องตกเป็นลูกไล่ของสหรัฐ อเมริกาและยักษ์ใหญ่พืชเกษตรของไทยเองที่จะใช้พืชจีเอ็มโอมาใช้ในระบบเกษตร พันธสัญญา หรือคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่งกับเกษตรกรรายย่อยแทน ซึ่งรายได้จะน้อยกว่าพืชเกษตรอินทรีย์ที่ต้องใช้ฝีมือและภูมิปัญญาในการผลิต เพื่อยกระดับหนีประเทศเพื่อนบ้านและที่ผ่านมาสินค้าเกษตรอินทรีย์ขายได้ราคา ดีกว่าพืชเกษตรจีเอ็มโอค่อนข้างมาก

อย่าลืมว่าบริษัทที่ผลิตเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอและเกษตรกรสหรัฐมีพื้นที่เกษตรปลูกพืชจีเอ็มโอกันรายละเป็นพันเป็นหมื่นหรือหลายหมื่นไร่ การใส่แบคทีเรียในเมล็ดพันธุ์เพื่อให้หนอนที่มาเจาะกินตายหรืออื่น ๆ ในเมล็ดจีเอ็มโอ จะได้ผลผลิตเพิ่มเติม ทำรายได้ค่อนข้างมาก ไม่ต่างจากการที่สหรัฐใช้สารเร่งเนื้อแดงให้สุกรกิน ในขณะที่ไทย เกษตรกรมีพื้นที่ปลูกกันประมาณครอบครัวละ 10-20 ไร่ ต้นทุนการผลิตจึงต่างกันมหาศาล ฉะนั้นหากเกิดการปนเปื้อนของสินค้าทั้ง 2 ประเภทในไทย จึงยากที่จะแก้ไขได้นานนับ 100 ปี และสายเกินไปในการกลับตัว


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : 2 ยุทธศาสตร์พืชเกษตร ฤๅไทยกำลังเดินหลงทาง

view