สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สภาเกษตรลุยคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่ง เสนอสนช.ออกกฎหมายระบุใครเอาเปรียบโมฆะ

จากประชาชาติธุรกิจ

ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ นำคณะทำงานอนุกรรมการเกษตรพันธสัญญา ยื่นร่างพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการคุ้มครองระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. ...ต่อนายพีรศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เผยข้อตกลงในสัญญา ที่เป็นเงื่อนไขให้ได้เปรียบโดยไม่เป็นธรรมให้ถือว่าข้อสัญญาส่วนนั้นเป็น โมฆะ ให้บังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณี ชี้หากมีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมต้องรับผิดร่วมกัน

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า สภาเกษตรกรแห่งชาติได้ยื่นร่างพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการคุ้มครองระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. ...ต่อนายพีรศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ช่วยผลักดันร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เพื่อส่งเสริมคุ้มครองสร้างความเป็นธรรมให้กับเกษตรกรในระบบเกษตรพันธสัญญาโดยเร็ว แม้ว่าเกษตรกรที่อยู่ในระบบพันธสัญญาจะสร้างรายได้ และเอื้อประโยชน์ต่อเกษตรกรในระบบพันธสัญญาด้วยกันหลายประการ แต่จากปัญหาที่สัมผัสได้จริงกับสิ่งที่เกษตรกรถูกกระทำคือ ข้อตกลงหรือเงื่อนไขระหว่างบริษัทกับเกษตรกร ที่มีลักษณะเป็นสัญญาสำเร็จรูป กำหนดเงื่อนไขเพียงฝ่ายเดียว เกษตรกรมีสิทธิ์เพียงยอมรับและทำสัญญาหรือไม่เท่านั้น เกษตรกรในระบบพันธสัญญาจึงก่อให้เกิดปัญหาความไม่เป็นธรรม เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างบริษัทกับเกษตรกร ซึ่งแน่นอนว่าคนเสียเปรียบคือเกษตรกร ผลที่ได้รับคือภาระหนี้สินที่ตามมา

กลุ่มเกษตรกรเลี้ยงปลาในกระชัง ผู้เลี้ยงไก่ ได้เล่าให้ฟังถึงความไม่เป็นธรรมในระบบพันธสัญญา ซึ่งทำให้เกษตรกรเป็นหนี้สินเพิ่มมากขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงเกิดความร่วมมือกันระหว่างสภาเกษตรกรแห่งชาติ กับเครือข่ายพร้อมนักวิชาการและหน่วยงานจากภาครัฐ ขับเคลื่อนเพื่อเกษตรกรในระบบพันธสัญญา โดยได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการคุ้มครองระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. ... เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมกับเกษตรกรในระบบพันธสัญญา

โดยสาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้คือ

1.ก่อนทำสัญญา มีการควบคุมโดยให้ออกกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์พื้นที่ควบคุมหรือส่งเสริมสำหรับการผลิตและบริการทางการเกษตร กำหนดรูปแบบของสัญญา การให้เกษตรกรได้ทราบเป็นการล่วงหน้าถึงข้อมูลการตลาด แผนการผลิต คุณภาพผลผลิต ปัจจัยการผลิตที่เกี่ยวข้องตามสัญญา ความคุ้มค่าในการผลิต ภาระความเสี่ยงที่อาจต้องรับผิดชอบร่วมกัน

2.ข้อตกลงในสัญญา ที่เป็นเงื่อนไขให้ได้เปรียบโดยไม่เป็นธรรมให้ถือว่าข้อสัญญาส่วนนั้นเป็นโมฆะ และให้บังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณี หากมีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมต้องรับผิดร่วมกัน มีการทำประกันภัยผลผลิต การบอกเลิกสัญญาต้องกำหนดเงินชดเชยการลงทุนอย่างเป็นธรรม

3.การทำสัญญา จัดทำขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร และนำไปจดทะเบียน

4.การระงับข้อพิพาท ให้มีคณะกรรมการระงับข้อพิพาทในจังหวัดพิจารณาตัดสิน

5.บทลงโทษ กำหนดโทษทั้งจำทั้งปรับ ทั้งผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตร และเกษตรกร

นายประพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวจะให้ความเป็นธรรมกับทั้งฝ่ายเกษตรกรและผู้ประกอบธุรกิจ โดยผู้ประกอบธุรกิจจะมีความชัดเจนมากขึ้นในการได้ผลผลิต ตามวันเวลา และคุณภาพที่กำหนด ส่วนตัวเกษตรกรเองต้องมีการพัฒนาให้ได้ผลผลิตที่ดี มีคุณภาพยิ่งขึ้น เป็นไปตามสัญญาที่กำหนดระหว่างกัน ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ สภาเกษตรกรแห่งชาติได้ดำเนินงานมาเกือบครบ 4 ปี ร่วมมือกับทุกภาคส่วนเดินหน้าเพื่อเกษตรกรในการแก้ปัญหาที่สะสม การพัฒนาที่จะเกิดขึ้นใหม่ เพื่อให้อาชีพเกษตรกรรมของคนไทยยั่งยืน นอกจากเรื่องยางพารา ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ปศุสัตว์ ประมง ที่ได้ขับเคลื่อนผลักดันมา การเดินหน้าเพื่อเกษตรกรในระบบพันธสัญญาครั้งนี้เป็นเรื่องสำคัญในสถานการณ์การทำการเกษตรของคนไทยที่ลดลง การใช้เทคโนโลยีทำการเกษตรของบริษัทธุรกิจการเกษตรขนาดใหญ่ จึงขอให้เกษตรกรไทย คนไทย รัฐบาลไทยร่วมใจกันผลักดันต่อไป


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : สภาเกษตรลุยคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่ง เสนอสนช.ออกกฎหมายระบุใครเอาเปรียบโมฆะ

view