สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

GMO มาแล้ว โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์

จากประชาชาติธุรกิจ

ในที่สุดลิ้นปี่ของประชาชนก็จุกอีกครั้งเพราะปฏิบัติการหักคอตีเข่าโดยตัวแทนที่ประชาชนไม่ได้เลือกในร่างกฎหมายจีเอ็มโอ ที่จะเปิดทางให้ปลูกและขายพืชตัดต่อพันธุกรรมในเมืองไทยได้ ซึ่งเป็นเรื่องค่อนข้างสุ่มเสี่ยงต่ออนาคตระยะยาวในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประเทศส่งออกพืชผลทางการเกษตรและอาหารสำคัญประเทศหนึ่งในโลก หากกฎหมายที่ออกมามีผลบังคับใช้ไม่รอบคอบรัดกุมเพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นที่มีผู้ชี้เอาไว้แล้วในเรื่องความรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น

ฝ่ายไม่เอาจีเอ็มโอมักจะถูกตราหน้าว่าเป็นพวกล้าหลังไม่ทันโลก ไม่ใช้ความคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ ละเมอเพ้อพกอยู่ในฝันร้ายของอาหารแฟรงเก้นสไตน์ ดีไม่ดีถูกตะคอกใส่ผ่านสื่อด้วยซ้ำ

ที่จริงเขียนถึงเรื่องพืชจีเอ็มโอทีไรผมมักจะชี้ให้เห็นว่าโดยเนื้อแท้แล้วพืชจีเอ็มโอส่วนใหญ่ที่ปลูกกันแพร่หลาย เช่น ข้าวโพด ถั่วเหลือง ในสหรัฐอเมริกาและอีกหลายประเทศนั้นไม่ได้ตัดต่อพันธุกรรมเพื่อให้มันทนทานต่อโรคและแมลง แต่ให้มันทนทานต่อสารเคมีที่ใช้ปราบศัตรูพืช กลยุทธ์ของบริษัทพัฒนาพืชจีเอ็มโอคือให้เกษตรกรใช้สารเคมีของตัวเองมากขึ้นไม่ใช่น้อยลง และเป็นเมล็ดพันธุ์แบบที่เรียกด้วยภาษาสมัยใหม่คือ "บันเดิ้ล" หรือพ่วงนั่นเอง

เมล็ดพันธุ์ตัดต่อพันธุกรรมของบริษัท พ่วงปุ๋ยและสารเคมีของบริษัทเดียวกันที่ต้องใช้ควบคู่กัน ถ้าไม่ใช้ก็ไม่ได้ผล หนำซ้ำยังมีผลข้างเคียงทำให้ศัตรูพืชพัฒนาภูมิต้านทานสูงขึ้น สุดท้ายกลับกลายเป็นว่าต้องใช้สารเคมีมากขึ้น ไม่ใช่น้อยลง

นี่ก็ไม่ใช่เรื่องกุกันขึ้นมาแต่เป็นผลการศึกษาที่เผยแพร่เมื่อปลายปี 2012 โดยศาสตราจารย์ชาร์ลส เบนบรูก แห่งศูนย์ส่งเสริมทรัพยกรธรรมชาติและเกษตรกรรม มหาวิทยาลัยวอชิงตันสเตท (WSU) ที่พบว่าการปฏิวัติจีเอ็มโอในรอบ 15 ปีที่ผ่านมาส่งผลให้เกิด "ซุปเปอร์วีด" วัชพืชมีความต้านทานสารไกลโฟเสตที่ใช้ในการกำจัดวัชพืชสูงขึ้นมาก

โดยรวมแล้วการใช้สารเคมีปราบศัตรูพืชเพิ่มขึ้นอีก 183 ล้านกิโลกรัม หรือ 7 เปอร์เซ็นต์


นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของข้อโต้แย้ง ซึ่งเมื่อพิจารณาให้ดีจะเห็นว่ามีปัญหาใหญ่แฝงอยู่ในพืชจีเอ็มโอที่ไม่ใช่เรื่องวิทยาศาสตร์ นั่นคือตัวแบบของธุรกิจหรือบิซิเนส โมเดลที่ใช้และมีบทบาทครอบงำอยู่

ริชาร์ด เจฟเฟอร์สัน หนึ่งในทีมนักวิทยาศาสตร์ที่สร้างพืชตัดต่อพันธุกรรมสำเร็จเป็นครั้งแรกของโลกก่อนมอนซานโต้ 1 วัน มีชื่อเสียงมากในฐานะผู้คิดค้นเยเนติก มาร์กเกอร์ หรือเครื่องหมายพันธุกรรม ที่เป็นตัวบ่งชี้ลักษณะทางพันธุกรรม อันเป็นพื้นฐานในด้านการศึกษาพันธุกรรม ชี้ปัญหาเรื่องนี้เอาไว้ว่าบิซิเนส โมเดลคือปัญหาที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะจีเอ็มโออย่างเดียวเท่านั้น

ภายใต้ระบบที่ใช้กันอยู่สิทธิบัตรตกอยู่ในมือของบริษัทที่ร่ำรวยกลุ่มเล็กๆ ระบบซึ่งมุ่งกำไรเป็นเป้าหมายหลัก พยายามรักษาไว้ซึ่งอภิสิทธิ์ และกีดกันการแข่งขัน ขณะที่เกษตรกรยากจนในประเทศกำลังพัฒนาโดยพื้นฐานแล้วขาดโอกาสเข้าถึงการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ

เจฟเฟอร์สันระบุว่า ปัญหาใหญ่อยู่ที่ระบบสิทธิบัตร ซึ่งโดยตัวสิทธิบัตรเองไม่ได้เลวร้าย แต่ระบบสิทธิบัตรที่ใช้กันคือสิ่งเลวร้าย พัฒนาขึ้นมาซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ จนมีแต่ผู้เชี่ยวชาญจำนวนน้อยเท่านั้นที่สามารถเข้าใจมันได้ แทนที่จะเป็นระบบเปิดสำหรับการแบ่งปันกันอย่างเรียบง่ายภายใต้กติกา มันกลับซับซ้อนและมุ่งไปสู่การผูกขาดมากกว่า

ตัวอย่างเช่นพืชตัดต่อพันธุกรรม 1 ชนิด ไม่ได้มีสิทธิบัตรเดียวในตัวมัน แต่แยกส่วนสิทธิบัตรเป็นหลายๆ สิทธิบัตร นอกจากนั้นยังมีลิขสิทธิ์คลุมสิทธิบัตรอยู่อีก ซึ่งก็คือกำแพงกีดกันคนหรือองค์กรอื่นๆ ที่จะนำไปศึกษาค้นคว้าและเผยแพร่ต่อ เว้นแต่ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของ

ผลก็คือการศึกษา "ที่เป็นวิทยาศาสตร์" เกี่ยวกับจีเอ็มโอส่วนใหญ่จึงออกมาจากบริษัทผู้พัฒนาจีเอ็มโอ ซึ่งแน่นอนว่าก็จะเต็มไปด้วยข้อดี

ในความเห็นของเจฟเฟอร์สัน ระบบสิทธิบัตรแบบที่ใช้อยู่จำกัดการพัฒนาไปโดยปริยาย เขายกตัวอย่างเปรียบเทียบย้อนไปในคริสต์ศตวรรษที่ 16 สมัยที่ชาวโปรตุเกสมีแผนที่ที่ดีที่สุด คาบสมุทรไอบีเรียควบคุมข้อมูลข่าวสารทุกชนิดที่จำเป็นสำหรับการเดินเรือไปสู่เอเชียหรือโลกใหม่เอาไว้ แน่นอนว่าพวกเขาลงทุนอย่างหนักในการสำรวจและพัฒนาโดยส่งคนอย่างเช่น เดอ แกมมา, แมกเจลแลน และโคลัมบัส เดินเรือออกไปสำรวจจัดทำแผนที่โลก ซึ่งถือว่ามีคุณค่ามหาศาลและเป็นความลับแห่งรัฐ

และเพราะเป็นชาวยุโรปพวกเดียวที่มีแผนที่ที่เชื่อได้ของอีสต์ อินดีส ชาวโปรตุเกสจึงเป็นผู้ผูกขาด ร่ำรวยขึ้น แต่ผลของการผูกขาดนำมาซึ่งความตกต่ำของเทคนิคการต่อเรือ ศาสตร์การเดินเรือซบเซา วิวัฒนาการด้านการเงินชะงักงัน ไม่มีการคิดค้นพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพราะการผูกขาดทำให้ไม่มีแรงกระตุ้นให้ทำสิ่งใหม่ๆ หรือพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้น

ทั้งหมดนี้เปลี่ยนแปลงไปโดย ยาน ฮอยเก็น ฟาน ลินโชเท็น เลขานุการของอาร์คบิช็อปท่านหนึ่งในรัฐกัว ประเทศอินเดีย ซึ่งมีโอกาสเดินทางไปทั่วโลกและได้สัมผัสกับแผนที่ของชาวโปรตุเกส เขาแอบคัดลอก (และขโมย) แต่เมื่อกลับไปยังบ้านเกิดในฮอลแลนด์ แทนที่จะนำไปใช้เองหรือขายต่อ กลับเลือกเผยแพร่มันออกสู่สาธารณะ

หลังจากตีพิมพ์เผยแพร่ในปี 1596 เมื่อการผูกขาดโดยชาวไอบีเรียสิ้นสุดลงโลกก็เปลี่ยนแปลงไป ถัดจากนั้นสี่ปีเกิดบริษัทบริติช อีสต์ อินเดีย ให้หลังอีกสองปีก็ตามด้วย ดัทช์ อีสต์ อินเดีย เกิดนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ ขึ้นหลายอย่าง

เจฟเฟอร์สันชี้ให้เห็นว่าตอนนี้เรากำลังเผชิญกับสิ่งเดียวกันที่ระบบสิทธิบัตรทำให้มีแต่บริษัทใหญ่ๆ ไม่กี่รายเท่านั้นที่ผูกขาดความรู้และการพัฒนาเอาไว้ในมือ ระบบที่เอื้อต่อการพัฒนาต่อยอดเฉพาะภายในเท่านั้น



นสพ.มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 30 พ.ย.2558


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : GMO มาแล้ว โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์

view