สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ที่แท้คนพื้นราบยึดธรณีสงฆ์ วัดพระธาตุดอยสุเทพ ตั้งแผงลอย จับแล้ว-ขอแล้วยังมาอีก

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

ที่แท้คนพื้นราบยึดธรณีสงฆ์ “วัดพระธาตุดอยสุเทพ” ตั้งแผงลอย จับแล้ว-ขอแล้วยังมาอีก

       ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - สังคมออนไลน์กระหน่ำทวงคืน “บันไดพญานาควัดพระธาตุดอยสุเทพฯ” สถานที่ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่ต่อเนื่อง วันนี้ร้านค้าแผงลอยยังเกลื่อนธรณีสงฆ์ พบคนพื้นราบจากหางดง-สันป่าตอง ขึ้นไปยึดหมด กรรมการมูลนิธิฯ บอก “อย่าเอาแต่ติแต่ด่าพระสงฆ์องคเจ้า ช่วยหาทางออกดีกว่า” เผย จนท.จับแล้ว-ขอแล้ว ไม่ได้ผล
       
       วันนี้ (22 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจาก “MGR online” นำเสนอข่าวการทวงคืน “บันไดพญานาค ทางขึ้นวัดพระธาตุดอยสุเทพ” พื้นที่ธรณีสงฆ์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่ ที่เต็มไปด้วยแผงลอยร้านค้า และร่มกันแดด (บิณฑบาตแล้วไม่ได้! ธรณีสงฆ์เชิงบันไดพญานาค “วัดพระธาตุดอยสุเทพ”) ตั้งแต่ 11 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างต่อเนื่องนั้น ล่าสุด จนถึงขณะพื้นที่เชิงบันไดพญานาควัดพระธาตุดอยสุเทพ ก็ยังเต็มไปด้วยแผงลอยร้านค้าเช่นเดิม
       
       ล่าสุด เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีการโพสต์ภาพเชิงบันไดพญานาควัดฯ ของ Siriporn Sitdhirasdr ผ่านเพจ “Raks Mae Ping” พร้อมตั้งหัวข้อเชิงกระแหนะกระแหนว่า ภาพประกวดชนะรางวัลชื่อ “สูนอ่ะสูนอานที่บันไดวัดพระธาตุดอยสุเทพ” ซึ่งมีคนเข้าไปกดไลก์กว่า 500 คนแชร์ 56 ครั้ง และมีผู้เข้าไปแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก
       
       ผู้ที่เข้าไปแสดงความคิดเห็นส่วนใหญ่จะวิพากษ์วิจารณ์ แสดงออกถึงความไม่พอใจเกี่ยวกับสภาพที่เกิดขึ้นต่อเชิงบันไดวัดพระธาตุดอยสุ เทพ เพราะวัดพระธาตุดอยสุเทพ เป็นที่เคารพสักการะของคนทั้งประเทศ และบันไดพญานาคก็ถือว่าเก่าแก่พอๆ กับวัด ฉะนั้นควรให้ความเคารพ และรักษาสภาพคงเดิมให้ดีที่สุด ไม่ควรใช้พื้นที่บริเวณดังกล่าวไปทำธุรกิจ หรือตั้งเป็นร้านค้าอย่างในภาพ และส่วนใหญ่จะพากันตั้งชื่อเป็น “ตลาดนัดบันไดนาค” ไปแล้ว
       
       ด้าน นายวัลลภ นามวงศ์พรหม กรรมการผู้ช่วยเลขานุการมูลนิธิพระบรมธาตุดอยสุเทพ และกรรมการสภาวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ ชี้แจงถึงปัญหาพ่อค้าแม่ค้าตั้งร้านค้าแผงลอยบริเวณบันไดพญานาค วัดพระธาตุดอยสุเทพฯ ว่า เรื่องดังกล่าวมีการพยายามแก้ไขปัญหากันมาตลอด
       
       โดยก่อนหน้านั้น ได้มีการประชุมร่วมกัน 6 ฝ่าย ทั้งวัดฯ อุทยานฯ นายอำเภอ เทศบาล ตำรวจภูพิงค์ฯ และชาวบ้านที่ค้าขาย เพื่อหาทางออกในเรื่องนี้ร่วมกัน ช่วงแรกใช้กฎหมายเป็นหลักอุทยานฯ ฟ้องไปแล้ว 18 ราย แต่พอ 18 รายโดนฟ้องไป กลับมีคนเข้ามาเพิ่มใหม่อีก
       
       หลังจากนั้น ก็ใช้กฎชุมชน ให้ชุมชนควบคุมกันเอง ใครเข้าใครออกให้ดูแลกันเอง และจำนวนต้องไม่เพิ่มขึ้น แต่แล้วก็ควบคุมกันไม่ได้ มีการรุกล้ำเข้ามาเรื่อยๆ ทางวัดก็เข้าไปเจรจาก็ไม่เป็นผล หรือแม้แต่ทางอุทยานฯ เองก็เข้ามาขอร้องเรื่องการจัดระเบียบต่างๆ ก็จะดีเฉพาะช่วงแรกๆ นานวันเข้าก็เหมือนเดิมอีก
       
       นายวัลลภ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมามีการใช้ทั้งหลักกฎหมาย และกฎชุมชนแล้ว แต่ไม่เป็นผล มาถึงตอนนี้ก็คงต้องฝากไว้กับกฎสังคมว่า จะช่วยเข้ามาหาทางออกให้แก่เรื่องนี้อย่างไร อย่าเอาแต่วิพากษ์วิจารณ์ หรือต่อว่า แม้กระทั่งเจ้าอาวาสกันอยู่เลย ช่วยกันเสนอแนะดีกว่าว่าจะให้ทำอย่างไร เพราะวัดเองก็ไม่ได้มีผลประโยชน์อะไรกับร้านค้าเหล่านั้น
       
       “ถามว่าควรจะจัดการขั้นเด็ดขาดด้วยการใช้ความรุนแรง ซึ่งวัดไม่สามารถทำได้ เพราะสถานภาพเป็นวัด อาจโดนกล่าวหาว่าไม่มีความเมตตา และความรุนแรงก็ไม่ได้แก้ปัญหา แต่เรื่องนี้คงต้องระดับจังหวัดลงมาคุย เหมือนกับที่กรุงเทพฯทำ แบบค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป”
       
       ทั้งนี้ มีรายงานว่า บรรดาพ่อค้าแม่ค้าที่ตั้งร้านค้าแผงลอยตามบันไดพญานาค วัดพระธาตุดอยสุเทพฯ มีเพียง 1 %เท่านั้นที่เป็นชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง เพราะชาวเขาส่วนใหญ่จะอยู่ที่ดอยปุยมากกว่าจะลงมาที่วัดฯ แต่คนที่มาค้าขายกันในปัจจุบันนี้ มีผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่งใน อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ไปชักชวนญาติพี่น้องคนรู้จักใน อ.หางดง สันป่าตอง ฯลฯ ซึ่งเป็นคนพื้นราบแทบทั้งสิ้นมาปักหลักค้าขายกัน ส่วนค่าเช่า หรือรายจ่ายอื่นใดนั้นแทบจะไม่มีปรากฏว่ามีการเก็บแต่อย่างใด จะมีก็แต่เพียงค่าขยะรายเดือนเท่านั้น



ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : ที่แท้คนพื้นราบยึดธรณีสงฆ์ วัดพระธาตุดอยสุเทพ ตั้งแผงลอย จับแล้ว-ขอแล้วยังมาอีก

view