สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สุเมธ จี้รัฐเร่งจัดระเบียบซาเล้ง ข้องใจกองทุนรีไซเคิลใครจัดการ

จากประชาชาติธุรกิจ

มูลนิธิ 3R จี้รัฐทบทวน พ.ร.บ.ขยะอิเล็กฯ ย้ำบทบาทที่มาเงิน "กองทุนรีไซเคิล" ต้องชัด แนะดึงต้นแบบไต้หวัน เก็บค่ากำจัดขยะตามประเภท ตั้งบทลงโทษบ้านที่ไม่มีการแยกประเภทขยะต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง พร้อมชงรัฐจัดโซนนิ่งซาเล้ง

นายสุเมธ ตันติเวชกุล ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์มูลนิธิการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน (มูลนิธิ 3R) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ภายหลังการประชุมระดับนานาชาติในการจัดการขยะและซากอิเล็กทรอนิกส์ว่า เนื่องจากปัญหาขยะล้นเมืองไม่มีการจัดการที่ถูกต้องตั้งแต่ภาคครัวเรือนและโรงงานอุตสาหกรรม ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในวงกว้างทั้งทางอากาศ น้ำ ดังนั้น จึงต้องการเสนอภาครัฐให้มีการจัดระเบียบซาเล้งทั่วประเทศ ในรูปการจัดโซนนิ่งเพื่อกำหนดพื้นที่เก็บขยะทั้งแบบรีไซเคิลได้และขยะทั่วไป ซึ่งหน่วยงานที่ต้องเข้ามารับหน้าที่ดูแลเหมาะสมที่สุดคือ กรุงเทพมหานคร (กทม.) จากนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวอย่างกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กระทรวงอุตสาหกรรมจะต้องเข้ามาบริหารจัดการต่อ

ขณะที่ พ.ร.บ.บริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ ของไทยผ่านมติคณะรัฐมนตรีในเรื่องของหลักการแล้ว กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ต้องทบทวน และตั้งเงื่อนไขแย้งให้มีการแก้ไข ในประเด็นที่ว่า กองทุนรีไซเคิลจะให้ใครบริหาร เงินสมทบจะมาจากไหน ผลกระทบหากเก็บค่ารีไซเคิลจากครัวเรือนจะเป็นภาระอย่างไร และเรื่องมาตรการเยียวยาซาเล้ง เป็นต้น

"อย่างตอนนี้ที่ จ.สุราษฎร์ธานีให้ซาเล้งมาลงทะเบียนว่ามีจำนวนเท่าไร จากนั้นกำหนดพื้นที่เพื่อจัดโซนนิ่งห้ามเก็บขยะข้ามเขตกัน ซึ่งจะคล้ายกับการจัดระเบียบวินมอเตอร์ไซค์ แต่ห่วงเรื่องซาเล้งบางรายจากเดิมมีรายได้ขายของเก่า แต่พอกำหนดพื้นที่เก็บ อาจได้รับความเดือดร้อน อาจต้องมีเงินชดเชยและมาตรการเยียวยาด้วย นอกจากนี้ต้องกำหนดมาตรฐานของรถซาเล้ง เช่น ขนาดของรถ พื้นที่ใส่ขยะจะต้องมีกรงหรือเป็นตู้ที่สามารถเก็บขยะได้มิดชิด ไม่หล่นขณะขนย้าย"

ยกตัวอย่าง ประเทศไต้หวันออกกฎหมายการบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่ปี 2531 และมีการปรับระดับให้สอดคล้องกับชุมชนในปัจจุบัน เนื่องจากกระบวนการกำจัดขยะนั้นจะครอบคลุมตั้งแต่การแยกประเภทขยะในบ้าน หน่วยงานจัดเก็บ โรงงานกำจัด และการรีไซเคิล ซึ่งไต้หวันใช้เวลากว่า 30 ปี กว่าจะประสบความสำเร็จ ซึ่งกฎหมายของไต้หวันจะกำหนดให้ผู้ผลิตสินค้าและผู้นำเข้าสินค้าต้องรับผิดชอบต่อการรีไซเคิล

ดังนั้น จึงเห็นว่าเมื่อลูกค้าซื้อสินค้าจะต้องจ่ายค่าถุงหิ้วเพราะถือว่าซื้อขยะไปและต้องรับผิดชอบการรีไซเคิล ทั้งนี้ กฎหมายจะครอบคลุมทุกระดับ เช่น แต่ละบ้านหากไม่มีการแยกประเภทขยะที่รีไซเคิลออกมาจะถูกเก็บค่าใช้จ่ายสูงกว่าบ้านที่แยกขยะรีไซเคิล ทั้งนี้ ภายใต้กฎหมายจะมีกองทุนรีไซเคิล เพื่อเป็นเงินสนับสนุนให้หน่วยงานที่รับผิดชอบไปบริหารจัดการ ซึ่งจะได้เงินสมทบมาจากบริษัทกำจัดขยะส่วนหนึ่งและรัฐส่วนหนึ่ง

นายสุเมธกล่าวต่อไปว่า สำหรับประเทศไทยปัญหาขยะมูลฝอยโดยเฉพาะขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือขยะเครื่องใช้ไฟฟ้า ปัจจุบันมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้น ด้วยการบริหารจัดการให้นำกลับมาใช้ใหม่ และนำไปกำจัดอย่างเหมาะสม และควรส่งเสริมการลงทุนให้โรงงานกำจัดขยะได้สิทธิประโยชน์ด้วย

โดยควรยึดหลักการ 3R ซึ่งประกอบด้วย Reduce คือ ลดการใช้ เลือกใช้แต่พอดี Reuse คือ การใช้ซ้ำ และ Recycle หมายถึง สิ่งของที่มีสภาพเสียหายเกินกว่าจะซ่อม แต่ยังคงแยกนำกลับมาหลอมหรือแปรรูปใช้ใหม่ได้ ซึ่งทั้ง 3 หลักการ จะช่วยลดจำนวนของเสียและใช้ทรัพยากรที่คุ้มค่ามากที่สุด

สำหรับการประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมรวมตัวกันขององค์กรเพื่อสิ่งแวดล้อมของภูมิภาคเอเชียเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ยุทธศาสตร์ เทคโนโลยี ประสบการณ์ด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อม เช่น การจัดการซากอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนความร่วมมือของเอกชนในการจัดตั้งกองทุนรีไซเคิล


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะ

Tags : สุเมธ จี้รัฐเร่งจัดระเบียบซาเล้ง ข้องใจกองทุนรีไซเคิลใครจัดการ

view